บทสรุปของหลักสูตร PPCIL ครั้งที่ 4 เมื่อการแก้ปัญหา ต้องเริ่มตั้งแต่แนวคิดของผู้นำ | Techsauce

บทสรุปของหลักสูตร PPCIL ครั้งที่ 4 เมื่อการแก้ปัญหา ต้องเริ่มตั้งแต่แนวคิดของผู้นำ

จบไปแล้วสำหรับหลักสูตรอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาความสามารถทางนวัตกรรมสำหรับกลุ่มผู้นำรุ่นใหม่ภาครัฐและเอกชน Public and Private Chief Innovation Leadership (PPCIL) รุ่นที่ 4 ซึ่งจัดโดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เพื่อสร้างเครือข่ายผู้นำรุ่นใหม่ทั้งภาครัฐและเอกชนให้มีแนวคิดเชิงนวัตกรรม และร่วมกันสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมที่สามารถก่อให้เกิดการพัฒนานโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาสำคัญของประเทศ

ในการจัดหลักสูตรครั้งนี้มีผู้สนใจสมัครเข้าร่วมอบรมเป็นจำนวนมาก ทั้งบุคลากรจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา สื่อมวลชน ภาคการเมือง  และความมั่นคง โดยมีผู้ได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการให้เข้าร่วมการอบรมจำนวน 83 ราย โดยบทความนี้ Techsauce จะพาท่านไปเจาะลึกบทสรุปและความสำเร็จของหลักสูตร พร้อมตอบคำถามว่าทำไมเราต้องสร้างผู้นำนวัตกรรม ?

ทำไมผู้นำควรมีทักษะการคิดแบบนวัตกรรม ? 

ปัจจุบันทุกองค์กรต่างพบเจอกับปัญหาที่ต้องแก้กัน ทั้งน้อยและใหญ่ ทั้งยากและง่าย ทักษะหนึ่งที่จะช่วยให้เราสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืนและมีประสทิธิภาพคือ ‘การคิดเชิงนวัตกรรม’ เพราะความสามารถในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ที่สามารถแก้ปัญหาได้จริง จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับองค์กร ทั้งการแก้ปัญหา การยกระดับคุณภาพการทำงาน การออกแบบผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่สู่ตลาด และการกำหนดนโยบาย ในที่นี้ผู้นำจึงเปรียบเสมือนแนวหน้าในการกรุยทางเพื่อสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมให้กับองค์กร และสร้างบรรยากาศการทำงานที่ช่วยกระตุ้นให้พนักงานมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ และสามารถพัฒนาทักษะการคิดแบบนวัตกรรมได้ด้วยเช่นกัน

PPCIL ครั้งที่ 4 ปั้นผู้นำนวัตกรรมยุคใหม่ ขับเคลื่อนประเทศไทยสู่อนาคต 

ดร. พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ได้กล่าวถึงความสำคัญของนวัตกรรมที่จะเป็นกุญแจสำคัญในการแก้ไขปัญหาให้กับประเทศ หลักสูตร  PPCIL จึงมีเป้าหมายและความตั้งใจที่จะสร้าง “ผู้นำนวัตกรรม” โดยการบ่มเพาะทักษะและกระบวนการคิดแบบนวัตกรรมให้กับกลุ่มผู้นำรุ่นใหม่ระดับกลางทั้งจากภาครัฐและเอกชนที่จะก้าวขึ้นไปเป็นผู้นำระดับสูงในอนาคตให้มีรากฐานการคิดแบบนวัตกรรมเชิงนโยบาย  (Policy Innovation)  เพราะนวัตกรรมเชิงนโยบาย เป็นการออกแบบ คิดค้นนโยบาย กลยุทธ์ หรือวิธีการใหม่ ๆ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานขององค์กร แน่นอนว่าหากเราพูดถึงบุคคลหรือกลุ่มบุคคลซึ่งมีหน้าที่กำหนดทิศทางและวิธีการดำเนินงานขององค์กร ก็ย่อมนึกถึงผู้นำเป็นอันดับแรก

นอกจากนั้นหลักสูตรนี้ยังต้องการสร้าง “ประชาคมนวัตกร” หรือเครือข่ายผู้นำรุ่นใหม่จากหลากหลายภาคส่วน ให้มีโอกาสได้มาเรียนรู้และทำงานร่วมกัน โดยหลักสูตร  PPCIL ถือเป็น “พื้นที่” ให้ผู้นำเหล่านี้ได้มีโอกาสแสดงศักยภาพผ่านการร่วมกันออกแบบนโยบาย ซึ่งนอกจากจะช่วยเพิ่มทักษะให้กับผู้นำและช่วยสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างผู้นำจากภาครัฐและเอกชนแล้ว นโยบายที่ผู้เข้าอบรมนำเสนอในหลักสูตรนั้นจะถูกนำไปผลักดันให้เกิดขึ้นจริงเพื่อแก้ปัญหาระดับชาติด้วย

โดยที่ผ่านมามี 20 ข้อเสนอนวัตกรรมเชิงนโยบาย และบางข้อเสนอสามารถผลักดันให้เกิดขึ้นได้จริงอย่างเป็นรูปธรรม เช่น ข้อเสนอด้านกำลังคนนวัตกรรม เป็นข้อเสนอในการสร้างกลไกให้ภาคอุดมศึกษาเชื่อมโยงกับตลาด แรงงาน และความต้องการของประเทศ ที่ส่งมอบให้กระทรวง อว. รับไปต่อยอดเชิงนโยบาย นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอด้านนวัตกรรมในกลุ่มสังคมวัยวุฒิ เป็นข้อเสนอในการปรับรูปแบบการจัดสวัสดิการผู้สูงอายุและการสร้างโอกาสทางอาชีพและกิจกรรมที่ตอบโจทย์ความชอบและศักยภาพของผู้สูงอายุ สถานประกอบการและสังคม โดยทางบริษัทเอกชนนำไปต่อยอดในองค์กร ทั้งนี้ NIA พร้อมเป็นส่วนหนึ่งที่จะร่วมผลักดันให้ทุกคนใช้ศักยภาพอย่างเต็มกำลัง เพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรมของประเทศไทยให้ก้าวไปข้างหน้า

“เราดึงเอาบุคคลจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา สื่อมวลชน ประชาสังคม ฝ่ายการเมืองและความมั่นคง เข้ามาเรียนรู้แนวคิดและกระบวนการนวัตกรรม กระบวนการทางนโยบายสาธารณะ ที่สุดท้ายเขาสามารถนำไปใช้ประโยชน์กับองค์กรได้”  ดร. พันธุ์อาจกล่าว 

ในแง่ของการสร้างเครือข่ายผู้นำนวัตกรภาครัฐและเอกชน ผศ.ดร.รักษ์พงศ์ วงศาโรจน์ ผู้อำนวยการโปรแกรมคาดการณ์อนาคตเชิงยุทธศาสตร์ สถาบันบันฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ในฐานะที่ปรึกษาหลักสูตร ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ผู้นำจากทั้งสองภาคส่วนมีวิธีการมองปัญหาและวิธีแก้ปัญหาแตกต่างกัน โดยภาคเอกชนสามารถมองเห็นปัญหาสังคมและวิธีการในการแก้ไขปัญหาได้ดี และการแก้ปัญหานั้นจะส่งผลเป็นรูปธรรมต่อผู้คนในวงกว้างมากขึ้น หากได้รับการสนับสนุนจากเครือข่ายภาครัฐ การสร้างพื้นที่ให้ทั้งสองกลุ่มผู้นำทำงานร่วมกันในหลักสูตร PPCIL  ทำให้เหล่าผู้นำมีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิด ทักษะการแก้ปัญหา และสร้างเครือข่ายความร่วมมือร่วมกันในอนาคต

สำหรับหลักสูตร PPCIL ถือว่าออกแบบมาเพื่อพัฒนาทักษะการคิดเชิงนโยบายให้กับผู้นำอย่างรอบด้าน โดย ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า

“ความแตกต่างของการเรียนรู้ด้านนวัตกรรมในหลักสูตรนี้ คือ การสร้างความสามารถของผู้นำรุ่นใหม่ที่ไม่ใช่เพียงการออกแบบและพัฒนานวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะจุด แต่เป็นการวางระบบจัดการเชิงนโยบายโดยอาศัยแนวทางการคาดการณ์และการคิดเชิงอนาคต ร่วมกับหลักการออกแบบนโยบายที่เข้าใจบทบาทของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดที่เกี่ยวข้องเพื่อให้นวัตกรรมเชิงนโยบายที่เกิดขึ้นสามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน”

5 ข้อเสนอนวัตกรรมเชิงนโยบายและผู้ชนะในโครงการของปีนี้ 

หลังจากได้ผ่านการอบรมร่วมกันอย่างเข้มข้นเป็นเวลา 10 สัปดาห์ ในวันที่ 16 กันยายนที่ผ่านมา กลุ่มผู้นำที่เข้าอบรมได้มีโอกาสนำเสนอนวัตกรรมเชิงนโยบายต่อคณะกรรมการทรงคุณวุฒิ ซึ่งในปีนี้มีการนำเสนอนโยบายที่น่าสนใจ 5 ข้อ ได้แก่

1. Thai Prompt ไทยพร้อม “Future-Ready as Thailand’s New Soft Power”

2. 1 ระบบครบทุกอย่าง เพื่อเสริมสร้างอนาคตข้าวไทย  

3. SoulKru การสร้างกลไกให้ครูสอนข้ามโรงเรียนได้

4. I hear project : การป้องกันดูแลและแก้ปัญหาสุขภาพจิตในกลุ่มเยาวชนกลุ่มเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้า

5. Single Data Map for City Management : Phase I Public Health Management in Bangkok

โดยเราจะเห็นว่าทุกนโยบายที่ถูกนำเสนอนั้นล้วนเป็นนโยบายที่สามารถผลักดันให้เกิดการปฏิบัติจริงอย่างเป็นรูปธรรมได้ และจะเป็นหนึ่งกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม และยกระดับคุณภาพชีวิตประชากรในประเทศ 

สำหรับทีมผู้ชนะในปีนี้นั้น ได้แก่ทีม Chang'E (ฉางเอ๋อ) กับข้อเสนอเชิงนโยบาย SoulKru การสร้างกลไกให้ครูสอนข้ามโรงเรียนได้ เพื่อแก้ไขปัญหาครูขาดแคลนในโรงเรียนรัฐขนาดเล็ก ตามจิตวิญญาณความเป็นครู ซึ่ง Techsauce ก็ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ความรู้สึกและความที่มาของนโยบายผู้ชนะด้วย

คุณอราคิน รักษ์จิตตาโภค หัวหน้าฝ่ายขับเคลื่อนนวัตกรรม บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด มหาชน ตัวแทนผู้เข้าอบรมจากทีม Chang'E (ฉางเอ๋อ) กล่าวว่า แรงบันดาลใจของนโยบายนี้มาจากการมองเห็นปัญหาการขาดแคลนของบุคลากรครูในระบบการศึกษา โดยเฉพาะในโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งสุดท้ายแล้วปัญหานี้จะส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ทั้งต่อตัวผู้เรียนครู และระบบเศรษฐกิจโดยรวม จึงเป็นที่มาของการออกแบบนโยบายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

คุณอายุธพร บูรณะกุล กรรมการบริหาร, หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์สำนักงานและบริหารโครงการ บริษัทไนท์แฟรงค์ ชาร์เตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด  อีกหนึ่งตัวแทนผู้เข้าอบรมจากทีม Chang'E (ฉางเอ๋อ) กล่าวเสริมว่า หลักสูตร  PPCIL เปิดโอกาสให้เรียนรู้การสร้างนวัตกรรมจากผู้เชี่ยวชาญ นอกจากนั้นยังได้ทำกิจกรรม Workshop ซึ่งคุณอายุธพรมองว่าสำคัญมาก

ทั้งสองท่านยังมองว่าหลักสูตร PPCIL ได้บ่มเพาะให้ผู้เข้าร่วมมีวิธีคิดแบบใหม่ในการวางนโยบายด้วย “ผมมาจากภาคเอกชน โดยปกติภาคเอกชนจะออกนโยบายแบบ Top down โดยที่ไม่ได้รู้ว่าข้างล่างเป็นยังไง โครงการนี้สอนให้เราคิดอีกแบบ คิดแบบ Startup และออกแบบนโยบายผ่านการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล  ซึ่งดีมาก”คุณอราคินกล่าว

ในฝั่งของคุณอายุธพร กล่าวเสริมว่าหลักสูตร PPCIL ทำให้ได้รู้จักแนวคิดนวัตกรรม การใช้เครื่องมือ และได้มีโอกาสเรียนกับอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ โดยได้ฝากถึงผู้ที่สนใจโครงการทั้งจากภาครัฐและเอกชนว่าควรจะต้องมาเข้าอบรมในหลักสูตรนี้

บทบาทของ WEDO กับการเป็น Incubator สร้างผู้นำนวัตกรรม 

สำหรับหลักสูตร PPCIL นั้น มี  WEDO หน่วยงานด้านนวัตกรรมของ SCG เป็น Incubator หรือผู้บ่มเพาะและให้คำปรึกษากับผู้เข้าร่วมกิจกรรม

โดยคุณอาร์ต อภิรัตน์ หวานชะเอม Chief Digital Officer บริษัท SCG ได้กล่าวถึงความสำคัญของนวัตกรรมเชิงนโยบายต่อการพัฒนาประเทศว่า นวัตกรรมเชิงนโยบายนั้นจะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการสร้างนวัตกรรมได้ และจะช่วยสนับสนุนให้โซลูชันของภาคเอกชนเป็นไปได้จริง WEDO จึงเห็นประโยชน์ที่หลักสูตรนี้จะมอบให้กับสังคมโดยรวม และเป็นเหตุผลที่ทำให้ WEDO พาทีม Incubation มาเป็นทั้งโค้ช เมนเทอร์ สนับสนุนหลักสูตรนี้เป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน

“คนไทยเก่งในการสร้างโซลูชัน แต่โซลูชันของเราอาจจะไปไม่ถึงไหนเลย ถ้าไม่มีนโยบายที่ช่วยผลักดัน” คุณอภิรัตน์กล่าว

คุณอภิรัตน์ยังกล่าวถึงความสำคัญในการสร้างผู้นำในอนาคตไว้ว่า หลักสูตร  PPCIL นั้นจะช่วยสร้างความรู้ความเข้าใจด้านแนวคิดนวัตกรรมให้กับกลุ่มผู้นำ ซึ่งประโยชน์สูงสุดคือการที่ผู้นำเหล่านี้สามารถนำแนวคิดนวัตกรรมไปสู่องค์กรของพวกเขาได้ และผู้นำเหล่านี้จะเป็นแนวหน้าสำคัญในการสร้างสภาพแวดล้อมที่จะเปิดโอกาสให้ผู้นำรุ่นต่อไปได้มีโอกาสสร้างนวัตกรรมด้วย 

นอกจากนั้นคุณอภิรัตน์มองว่าเป้าหมายของหลักสูตร  PPCIL นั้น สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของ SCG นั่นคือการสร้างเศรษฐกิจใหม่ (New economy) และ BIT หรือ Born In Thailand ซึ่งหมายถึงการที่คนไทยเป็นผู้ริเริ่มสร้างสรรค์นวัตกรรม

“ประเทศเราแก่แล้ว เราสู้ประเทศเพื่อนบ้านไม่ได้ในเชิงปริมาณแรงงาน เพราะฉะนั้นเราต้องสู้ด้วยสมองซึ่งคือการสร้างระบบเศรษฐกิจใหม่ที่เป็นเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ นอกจากนั้นเราอยากจะเปลี่ยนเมืองไทย จาก User econnomy สู่การเป็น Maker Economy ให้เราสามารถสร้างนวัตกรรมเองได้และส่งขายไปทั่วโลก”

คุณอภิรัตน์มองว่าทั้งสองวิสัยทัศน์ของ SCG จะเกิดขึ้นจริงไม่ได้เลยหากขาดนโยบายมารองรับ หลักสูตร PPCIL ที่เปิดพื้นที่ให้ผู้นำในอนาคตมาทำงานร่วมกันจึงกันถือเป็นจุดตั้งต้นหลักที่จะช่วยผลักดันให้เกิดการสร้างนโยบายใหม่ ๆ มารองรับระบบเศรษฐกิจแห่งอนาคต ด้วยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน ภาคการศึกษา ฯลฯ จะช่วยผลักดันการสร้างระบบเศรษฐกิจใหม่และการสร้างนวัตกรรมโดยคนไทยเกิดขึ้นได้จริง

เดินหน้าต่อกับการสร้างผู้นำนวัตกรรมรุ่นต่อไป 

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า ปัจจุบันหลักสูตร PPCIL เดินทางมาถึงรุ่นที่ 4 แล้ว โดยปีนี้เป็นปีที่ได้กลับมาจัดอบรมแบบออนไซต์ ซึ่งดร. พันธุ์อาจ มั่นใจว่าจะช่วยให้การสร้างเครือข่ายนวัตกรด้านนโยบายมีประสิทธิภาพ และจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างด้านนโยบายอย่างเป็นรูปธรรม

ซึ่งในปี 2566 ประเทศไทยจะเริ่มเดินหน้าขับเคลื่อนตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ด้วย ดร. พันธุ์อาจ จึงเชื่อว่ากลุ่มผู้นำจากหลักสูตรนี้จะสามารถสร้างแนวคิดที่สดใหม่ให้กับระบบเศรษฐกิจ และจะมีส่วนร่วมในการนำเสนอนโยบายให้ไปถึงระดับปฏิบัติได้

สำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการ PPCIL ในรุ่นต่อไป (PPCIL#5) สามารถติดตามข้อมูลการเปิดรับสมัครของโครงการได้ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2566 ทาง

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ทำไมคนสหรัฐฯ เดือดร้อนกับการแบน TikTok ? 3 เหตุผลที่ TikTok สำคัญกับชาวสหรัฐฯ มากกว่าที่คิด

เจาะลึก 3 เหตุผลที่การแบน TikTok อาจส่งผลกระทบต่อชาวอเมริกันมากกว่าที่คิด ทั้งด้านเศรษฐกิจ อาชีพ และการเชื่อมโยงในยุคดิจิทัล...

Responsive image

รู้จัก Physical AI เอไอยุคใหม่ที่ Jensen Huang กล่าวถึงคืออะไร ? มีประโยชน์อย่างไร ?

หนึ่งในไฮไลต์สำคัญของงาน CES 2025 คือการที่ Jensen Huang ซีอีโอของ NVIDIA ได้มีการพูดถึงยุคต่อไปของ AI นั่นก็คือ ‘Physical AI’ ซึ่งนับเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญยิ่งที่ AI กำลังจะเข...

Responsive image

4 เทรนด์เทคโนโลยีสุดล้ำที่อาจเปลี่ยนโลกจาก CES 2025

สำรวจเทรนด์เทคโนโลยีล่าสุดจาก CES 2025 ตั้งแต่ AI อัจฉริยะ ยานยนต์ล้ำสมัย ไปจนถึงการพัฒนาชิปกราฟิกและเทคโนโลยีหน้าจอแห่งอนาคตที่เปลี่ยนโฉมการใช้ชีวิตประจำวัน!...