ONNEX by SCG Smart Living รุก 'ตลาดโซลาร์' รับโลกเดือด ดันโมเดลธุรกิจ EPC+ 5 รูปแบบ | Techsauce

ONNEX by SCG Smart Living รุก 'ตลาดโซลาร์' รับโลกเดือด ดันโมเดลธุรกิจ EPC+ 5 รูปแบบ

หลังจากทีมงาน ONNEX by SCG Smart Living พาสื่อมวลชนสำรวจระบบโซลาร์ 4 รูปแบบ ได้แก่ Solar Carport, Solar Roof, Solar Floating และ Solar Farm รวมถึง Inverter Room คณะผู้บริหารจาก SCG Smart Living ก็มาร่วมเปิดตัว “EPC+” BUSINESS MODEL ประกาศแผนรุกตลาดโซลาร์ โดยตั้งเป้าขยายกำลังการผลิตและติดตั้งโซลาร์ให้โตไม่น้อยกว่า 1,000 เมกะวัตต์ ภายใน 5 ปี (2025-2029) จากที่มีกำลังการผลิตไฟฟ้าอยู่ 200 เมกะวัตต์ ณ ปี 2024

คุณวชิระชัย คูนำวัฒนา Head of Living Solution Business ธุรกิจเอสซีจี สมาร์ทลีฟวิ่ง 

คุณวชิระชัย คูนำวัฒนา Head of Living Solution Business ธุรกิจเอสซีจี สมาร์ทลีฟวิ่ง กล่าวว่า ONNEX by SCG Smart Living เน้นนวัตกรรมและบริการด้านระบบโซลาร์มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2011 โดยเริ่มต้นจากการผลิตพลังงานไฟฟ้าใช้เองภายในโรงงานต่างๆ ทำให้สามารถประหยัดพลังงานได้มากสุดถึง 40% ด้วยประสบการณ์ที่มีมาอย่างยาวนาน จึงมีความพร้อมที่จะตอบรับความต้องการในตลาดโซลาร์ที่มีอัตราการเติบโตสูงมากในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากการติดตั้งระบบโซลาร์ในปัจจุบันนั้นมีราคาถูกลง  ขณะที่ค่าใช้จ่ายด้านพลังงานไฟฟ้ายังมีราคาสูง

"เราตั้งความหวังไว้มากและเชื่อว่าด้วยประสบการณ์มากกว่า 10 ปี เรามีศักยภาพ มีความพร้อมในทุกๆ สเกลของการทำระบบโซลาร์ ไม่ว่าจะเป็นหลังคาอาคาร หลังคาโรงงาน ที่จะทำให้ธุรกิจตอบโจทย์เทรนด์ตอนนี้และตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้เป็นอย่างดี" 

คุณดุสิต ชัยรัตน์ Smart Home Living Solution Director ธุรกิจเอสซีจี สมาร์ทลีฟวิ่ง

คุณดุสิต ชัยรัตน์ Smart Home Living Solution Director ธุรกิจเอสซีจี สมาร์ทลีฟวิ่ง กล่าวว่า ด้วยแนวโน้มตลาดที่เปลี่ยนไป ทั้งด้วยนโยบายจากภาครัฐและจากความต้องการของลูกค้าในการใช้พลังงานสะอาด อีกทั้งในระยะหลังมีนักลงทุนที่สนใจลงทุนในธุรกิจพลังงานสะอาดมากขึ้นจากผลตอบแทนการลงทุนที่ดีและมีความผันผวนต่ำในระยะยาว 

"ทาง ONNEX by SCG Smart Living จัดให้มีบริการ EPC (Engineering Procurement and Construction) ทั้งด้านการออกแบบทางวิศวกรรม การขออนุญาตโครงการ รวมถึงการติดตั้งโครงสร้างระบบแบบครบวงจรอยู่แล้ว เพื่อขยายตลาดให้เติบโตขึ้นอย่างแข็งแกร่ง จึงได้เตรียมกลยุทธ์ EPC+ Business Model ที่ออกแบบมาเป็นพิเศษสำหรับผู้เกี่ยวข้องแต่ละกลุ่มในระบบโซลาร์ ที่จะช่วยสร้าง ecosystem ให้แข็งแกร่งเพื่อสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจโซลาร์ให้สามารถตอบโจทย์ได้ทั้งกลุ่มธุรกิจ ผู้ประกอบการ และนักลงทุน ส่งผลดีให้กับกลุ่มผู้บริโภค เพื่อลดภาวะโลกร้อนและสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ โดยคาดว่า EPC+ Business Model จะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตติดตั้งในระบบพลังงานโซลาร์รวมแล้วไม่น้อยกว่า 1,000 เมกะวัตต์ ภายใน 5  ปี” 

EPC+ Business Model 5 รูปแบบ โมเดลไหน เหมาะกับใคร?

  • 1. EPC+F (Finance) 

เหมาะสำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการเปลี่ยนระบบไฟฟ้าพื้นฐานมาติดตั้งระบบโซลาร์ นอกจากธุรกิจจะได้ใช้พลังงานสะอาดแล้ว ผู้ประกอบการยังได้ประโยชน์จากส่วนลดค่าไฟสูงสุดถึง 40% ซึ่งแผน EPC+F นี้ ทางผู้ประกอบการไม่ต้องลงทุนเอง แต่ทาง ONNEX จะดำเนินการหาผู้ลงทุนให้ 

  • 2. EPC+D (Project Development) 

เหมาะสำหรับนักลงทุนที่เป็นกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ สถาบัน กองทุน ที่สนใจลงทุนในโครงการโซลาร์ แต่ไม่มีประสบการณ์ ไม่มีทีมงานจัดทำโครงการ หรือไม่สามารถหาโครงการที่เหมาะสมได้ โดยทาง ONNEX จะทำหน้าที่คัดสรรโครงการที่สอดคล้องกับนโยบายการลงทุน ขนาดโครงการ ความเสี่ยง และผลตอบแทนที่มีผลประโยชน์สูงสุดให้แก่ผู้ลงทุน 

  • 3. EPC+ O&M (Operations & Maintenance) 

เหมาะสำหรับเจ้าของโครงการที่ติดตั้งโซลาร์ในหลายโครงการ และเริ่มมีปัญหาในการบริหารจัดการแบบองค์รวม (Centralized monitoring & maintenance) ทาง ONNEX มีบริการตั้งแต่ Efficiency Audit, การทำ Centralized Dashboard ตลอดจนการดูแลระบบให้สามารถผลิตไฟได้ตามเป้าหมาย โดยมี Performance Warranty ในกรณีที่ลูกค้าต้องการ เพื่อให้ลูกค้ามั่นใจว่าไฟฟ้าที่ผลิตได้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางแผนไว้

  • 4. EPC+Alliance 

เป็นรูปแบบความร่วมมือกับพันธมิตรใน EPC ด้วยกัน โดยมีแนวคิดที่จะช่วยให้ในกลุ่มพันธมิตรสามารถมีศักยภาพในการบริหารต้นทุนที่ดีที่สุดในระบบการจัดซื้อ (Cost effectiveness)  โดยทาง ONNEX มีแผนงานเพื่อลดความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาแผงและอุปกรณ์ต่างๆ ในระบบโซลาร์ที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในระยะยาว โดย EPC+Alliance เริ่มดำเนินการแล้วและเปิดรับกลุ่มพันธมิตรทางธุรกิจที่มีความสนใจร่วมกันอยู่ในขณะนี้

  • 5. EPC+Authorized Referral 

เหมาะสำหรับตัวแทนอิสระ บุคคลทั่วไป ที่มีเครือข่ายลูกค้าซึ่งมีศักยภาพในธุรกิจโซลาร์ สามารถเข้ามาเป็น Authorized Referral ได้ เพื่อร่วมธุรกิจและรับผลตอบแทนจากโครงการ 

ONNEXคุณสุชาติ นอกพุดซา Associate Director – Solar Roof ธุรกิจเอสซีจี สมาร์ทลีฟวิ่ง 

ด้าน คุณสุชาติ นอกพุดซา Associate Director – Solar Roof ธุรกิจเอสซีจี สมาร์ทลีฟวิ่ง กล่าวว่า ONNEX by SCG Smart Living มีประสบการณ์ในการติดตั้งระบบโซลาร์เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ครบทุกรูปแบบ (Solar Roof, Solar Floating, Solar Farm และ Solar Carport) ที่ผ่านมา สามารถผลิตพลังงานสะอาดไปแล้วกว่า 200 เมกะวัตต์ (MWp) และยังมีโครงการที่อยู่ในระหว่างดำเนินการอีกถึง 400-600 เมกะวัตต์ (MWp)

"พื้นที่โซลาร์ฟาร์มขนาด 47.5 ไร่ ที่จังหวัดสระบุรี ถือเป็นโซลาร์ฟาร์มต้นแบบที่นำเสนอแพลตฟอร์มการบริหารจัดการพลังงานโรงไฟฟ้าเสมือนจริง (Virtual Power Plant) ภายใต้แนวคิด Smart Utilization -  Smart Investment -  Smart Flexibility  และ Smart Monitoring ที่ช่วยให้ธุรกิจสามารถรับรู้ปริมาณการผลิตโซลาร์และการนำพลังงานสะอาดไปใช้อย่างเหมาะสม ซึ่งถือเป็นโซลาร์ฟาร์มต้นแบบที่มีความสำคัญอย่างมากในการผลิตพลังงานไฟฟ้าเพื่อใช้ในโรงงานต่างๆ ในพื้นที่ โดยในส่วนของอัตราผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) ที่ทาง ONNEX by SCG Smart Living เคย Develop ได้สูงสุดจะอยู่ที่ IRR 34% และระยะเวลาคืนทุนภายใน 3 ปี" 

โมเดลธุรกิจทั้ง 5 รูปแบบข้างต้นสะท้อนว่า ONNEX by SCG Smart Living ให้บริการระบบโซลาร์ในลักษณะ 'Service Based' ทั้งสำหรับบุคคลและนิติบุคคล โดยกลุ่มที่มุ่งทำตลาดคือ EPC+F และ EPC+D ซึ่งเป็นโมเดลที่ช่วยแมตช์ความต้องการของผู้ลงทุนกับผู้ให้บริการด้านพลังงานสะอาด นอกจากนี้ ONNEX by SCG Smart Living ยังชูจุดขายเพิ่มเติมด้วยว่า ลูกค้าจะได้ทุนคืนภายใน 3-5 ปี หากไม่สามารถคืนทุนได้ตามที่ระบุหรือทำสัญญาไว้ บริษัทจะจ่ายส่วนต่างให้

สำรวจระบบโซลาร์แบบต่างๆ กับตัวอย่างการประหยัดค่าไฟ โดย ONNEX by SCG Smart Living

Solar Carport @เอสซีจี บางซื่อ ขนาด 735 kWp

จากโจทย์เพื่อใช้พื้นที่ลานจอดรถขนาด 3 ไร่ ให้สร้างประโยชน์เพิ่มขึ้นด้วยการติดตั้งระบบโซลาร์เพื่อผลิตไฟฟ้าให้กับสำนักงานใหญ่ ซึ่งความท้าทายของโครงการนี้คือ จำเป็นจะต้องคืนพื้นที่หน้างานให้เร็วที่สุดเพื่อให้ไม่เกิดปัญหาการก่อสร้างในพื้นที่จอดรถนานเกินไป การวางแผนการติดตั้งระบบโซลาร์ จึงใช้โครงสร้างที่ออกแบบและก่อสร้างจากโรงงานเพื่อลดเวลาติดตั้งหน้างาน ที่สำคัญไม่มีปัญหาเรื่องน้ำรั่วซึมจากแผงโซลาร์ จึงคุ้มค่ากับงบประมาณที่ลงทุนในระยะยาว โดยระบบ Solar Carport ที่ SCG ทำ เป็นหนึ่งในโครงการตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงการลงรายละเอียดด้านการออกแบบและคุณภาพของแผงโซลาร์จาก ONNEX by SCG Smart Living

  • สามารถผลิตไฟฟ้าต่อปี 993,000 kWh
  • จ่ายไฟฟ้าให้ออฟฟิศ SCG สำนักงานใหญ่
  • ช่วยประหยัดค่าไฟได้สูงถึง 3,525,150 บาทต่อปี

Solar Roof ขนาด 2,000 kWp

เปลี่ยนพื้นที่หลังคาให้เป็นพื้นที่สร้างพลังงานสะอาด Solar Roof Top เป็นระบบโซลาร์ที่ใช้งบลงทุนประหยัดที่สุด เนื่องจากเป็นการติดตั้งกับหลังคาที่ส่วนใหญ่จะมีโครงสร้างมาตรฐานอยู่แล้ว  จึงลดงบประมาณลงทุนในส่วนโครงสร้าง  และอุปกรณ์ต่างๆ และการติดตั้งระบบโซลาร์บนหลังคาก็ทำได้ง่ายกว่าการติดตั้งในระบบอื่นๆ โดยในพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ของ SCG มีค่าใช้จ่ายต้นทุนด้านพลังงานมากกว่าครึ่งหนึ่งของค่าใช้จ่ายทั้งหมด การใช้พื้นที่บนหลังคาที่มีขนาดใหญ่ถึง 13 ไร่ มาสร้างให้เป็นพื้นที่สร้างพลังงานสะอาด จึงเป็นการลงทุนที่มีความคุ้มค่าอย่างมากในการช่วยลดต้นทุนทางธุรกิจ

  • สามารถผลิตไฟฟ้าต่อปี 2,700,000 kWh
  • จ่ายไฟฟ้าไปใช้ที่โรงงานหินกองและหนองแค (ผลิตกระเบื้อง SCG Ceramics)
  • ช่วยประหยัดค่าไฟได้สูงถึง 9,585,000 บาทต่อปี

การลงทุนระบบ Solar Floating จะมีค่าใช้จ่ายมากกว่าระบบอื่นๆ เพราะต้องเสียค่า 'ทุ่น' และค่า 'ระบบยึดโยง' เพื่อรองรับสถานการณ์น้ำขึ้นน้ำลงด้วย แต่ขณะเดียวกัน ระบบ Solar Floating สามารถผลิตไฟฟ้าโดยเฉลี่ยได้มากกว่าระบบอื่นๆ ถึง 7%

สายยาวๆ ขดไปมาบนทุ่นคือ สายไฟที่รองรับการยกตัวของแผงโซลาร์ตามน้ำขึ้นน้ำลง โดยความสูงของระดับน้ำในสระแห่งนี้อยู่ที่ราว 5 เมตร ลดต่ำสุดได้ที่ 1 เมตร ส่วนน้ำที่ใช้ในพื้นที่ Solar Floating ต้องเป็นน้ำสะอาดเท่านั้น เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดในการผลิตไฟฟ้า ช่วยระบายความร้อน และไม่ก่อให้เกิดตะกรันอย่างการใช้น้ำบาดาล

Solar Floating ขนาด 999 kWp

ระบบโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ เป็นระบบที่แผงโซลาร์เซลล์สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้มากกว่าระบบโซลาร์อื่น ๆ ถึงประมาณ 5-20% แม้จะมีต้นทุนการผลิตที่สูงกว่า เนื่องจากต้องติดตั้งแผงด้วยทุ่นลอยน้ำ แต่ก็มีข้อได้เปรียบเรื่องการระบายอากาศและอุณหภูมิที่เย็นกว่า ทำให้ประสิทธิภาพในการสร้างพลังงานของแผงโซลาร์เพิ่มขึ้น โดยพื้นที่ในการติดตั้ง Solar Floating มักเป็นการเพิ่มมูลค่าให้พื้นที่บ่อพักน้ำสะอาดให้เกิดประโยชน์ ทั้งนี้การออกแบบระบบ Solar Floating จะมีต้นทุนการก่อสร้างทุ่นและระบบยึดโยงทุ่นที่ต้องคำนวณเผื่อระดับการขึ้น-ลงของน้ำตามหน้างานที่เพิ่มเติม

  • สามารถผลิตไฟฟ้าต่อปี 1,350,000 kWh
  • จ่ายไฟฟ้าไปใช้ในโรงงานผลิตสุขภัณฑ์สยามซานิทารีแวร์
  • ช่วยประหยัดค่าไฟได้สูงถึง 4,792,500 บาทต่อปี

การลงทุนทำ Solar Farm ในพื้นที่ 47.5 ไร่นี้ ได้ประโยชน์ด้านการลดหย่อนภาษีที่ดินจากการใช้ประโยชน์บนพื้นที่ว่างเปล่า และยังได้สิทธิประโยชน์จาก BOI ในการลดหย่อนภาษีถึง 8 ปี 

Solar Farm ขนาด 7.2 MWp

Solar Farm ขนาด 7.2 MWp ตั้งอยู่บนพื้นที่ขนาด 47.5 ไร่ เปรียบเสมือนเป็น Outdoor Experimental Space หรือพื้นที่ทดสอบประสิทธิภาพของระบบโซลาร์อย่างครบวงจร ทั้งในด้าน 1) คุณภาพและประเภทของแผงโซลาร์ชนิดต่างๆ 2) การติดตั้งแผงโซลาร์ในจุดที่เหมาะสมเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการสร้างพลังงานไฟฟ้า 3) การติดตั้ง Inverter, Energy Storage รวมถึงเทคโนโลยีด้านต่างๆ ที่ใช้ในระบบโซลาร์ เพื่อสร้างความเข้าใจและมั่นใจจากประสบการณ์ที่สามารถสัมผัสระบบโซลาร์ได้บนพื้นที่จริง 

  • สามารถผลิตไฟฟ้าต่อปี 9,723,600 kWh 
  • จ่ายไฟฟ้าไปใช้ในโรงงานผลิตกระเบื้องได้ 2 โรงงาน คือ โรงงานหนองแค 1 SCG Ceramics และโรงงานหนองแค 2 Sosuco Ceramics
  • ช่วยประหยัดค่าไฟได้สูงถึง 34,518,780 บาทต่อปี

การติดตั้งแผงโซลาร์แทนการสร้างหลังคา Inverter Room

Energy Storage ขนาด 200 kWh เก็บไฟในช่วง Off Peak มาใช้ในช่วง On Peak

ในส่วนของ INVERTER ROOM ขนาด 7.2 MWp ตรง Solar Farm ประกอบด้วย Inverter ทำหน้าที่แปลงไฟฟ้ากระแสตรงเป็นกระเเสสลับ และ Energy Storage ขนาด 200 kWh ทำหน้าที่สำรองไฟฟ้าจากระบบโซลาร์และเก็บไฟฟ้าในช่วงค่าไฟ Off Peak มาใช้ในช่วงค่าไฟ On Peak (Energy Arbitrage) และยังมีฟังก์ชันอื่นๆ อาทิ Peak Shaving ที่จะจ่ายพลังงานออกมาจากแบตเตอรี่ ในช่วงเวลาที่มีการใช้โหลดไฟฟ้าสูงสุด เพื่อลดภาระค่า Peak Demand จากการไฟฟ้า

จากการสำรวจระบบโซลาร์ของ ONNEX by SCG Smart Living ทำให้รู้ว่า...

  • 1) ONNEX by SCG Smart Living จัดทำระบบโซลาร์มากถึง 321 โครงการ ในจำนวนนี้เป็นการจัดทำโครงการให้ลูกค้า SCG ถึง 80% 
  • 2) ถ้าเทียบกำลังการติดตั้งแผงโซลาร์ที่เท่ากัน Solar Roof เป็นระบบที่ใช้เงินลงทุนต่ำที่สุด และได้รับความนิยมมากที่สุดในปีที่ผ่านมา ส่วน Solar Carport เป็นระบบที่ใช้เงินลงทุนสูงที่สุด เพราะต้องลงทุนในระดับโครงสร้าง กล่าวคือ ฐานรากที่ต้องยึดโยงตั้งแต่พื้นดินขึ้นไป
  • 3) ระบบหลักที่บริษัทจะใช้ทำตลาดโซลาร์ คือ Solar Farm กับ Solar Floating เพราะเป็นระบบที่นิยมทำเป็นโครงการขนาดใหญ่ซึ่งจะผลิตไฟฟ้าได้ในปริมาณมาก และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการใช้ระบบโซลาร์ผลิตไฟฟ้าให้ลูกค้าถึงหลัก 1,000 เมกะวัตต์ ภายใน 5 ปี ซึ่งในขณะนี้มีผู้สนใจใช้บริการอยู่ในไปป์ไลน์แล้ว 400-500 เมกะวัตต์ 
  • 4) ในตอนกลางวัน SCG ใช้ระบบโซลาร์ผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้งานเกือบเต็มประสิทธิภาพ 100%  แต่ตอนกลางคืนก็ยังคงใช้ไฟจากการไฟฟ้าฯ
  • 5) บางพื้นที่มีการใช้ Robot Cleaning ทำความสะอาดแผงโซลาร์ ขณะเดียวกันก็กำลังพัฒนาความสามารถให้ Robot เพื่อช่วยให้แผงโซลาร์รับแสงอาทิตย์ได้ดีที่สุด ส่งผลต่อการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าได้เป็นอย่างดี เช่น Solar Farm ที่ผลิตไฟฟ้าให้โรงงานหนองแค 1 SCG Ceramics จังหวัดสระบุรี เนื่องจากเป็นพื้นที่ผลิตเซรามิกซึ่งมีฝุ่นมาก Robot Cleaning ใน Solar Farm แห่งนี้ จึงทำความสะอาดแผงโซลาร์ด้วยการใช้แปรงปัดฝุ่นทุกเช้า โดยใช้เพียงน้ำจากน้ำค้างในการทำความสะอาดแผงเท่านั้น

สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ONNEX Solar หรือสนใจร่วมเป็นส่วนหนึ่งในแผน EPC+ Business Model สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทางเว็บไซต์ www.onnexbyscg.com/th/product/solar-solutions และไลน์ @SCGSolarRoof หรือสอบถามได้ที่เบอร์ 02-586-2222

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

รู้จัก LLMs’ Explainability การเข้าใจกลไกสมอง AI หนึ่งใน Tech Trends 2025 ที่จะมาเปลี่ยนโลกเอไอ

เจาะลึกเบื้องหลัง Large Language Models (LLMs) และเทคโนโลยี LLMs’ Explainability ที่ช่วยเปิดเผยกระบวนการทำงานของ AI จากกล่องดำสู่ความโปร่งใส ความก้าวหน้าที่เปลี่ยนโลก AI ในอนาคต!...

Responsive image

รู้จัก AI Product Management สายงานที่ Andrew Ng ชี้มาแรง

สำรวจบทบาท AI Product Management และเหตุผลที่ Andrew Ng ยกให้เป็นตำแหน่งสำคัญในการขับเคลื่อนผลิตภัณฑ์ AI ตั้งแต่การพัฒนาแนวคิดจนถึงการนำไปใช้งานจริง...

Responsive image

เปิดกลยุทธ์ธุรกิจยุคใหม่ พลิกข้อมูล สู่ขุมทรัพย์ด้วย analyticX ด้วยพลัง Telco Data Insights และ GenAI

ยุคนี้ใคร ๆ ก็พูดถึง Data แต่จะใช้ Data อย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่างหากคือกุญแจสำคัญ! ในสัมมนาสุดเอ็กซ์คลูซีฟ "Unlocking Data-Driven Decisions with Telecom Data Insights" ที่จั...