ความมั่นคงในอนาคตที่ยั่งยืน กำลังเป็นประเด็นร่วมสมัยอยู่ในตอนนี้ ถือเป็นหัวข้อที่ได้รับความนิยมจนอยู่ในทุกแวดวงของสังคม ความยั่งยืนนั้นเป็นเรื่องที่ผู้คนเริ่มจริงจังกันมากขึ้น แต่ทว่าการแยกภาคส่วนกันทำงาน ประเทศต่าง ๆ จะไม่สามารถทำได้โดยลำพัง ดังนั้นเราจึงต้องโฟกัสไปที่ระดับภูมิภาค
วิธีที่เราจะเข้าใกล้ความยั่งยืนได้มากที่สุด คือการหารือร่วมกันในระดับภูมิภาคอย่างแท้จริง ซึ่งบริบทของประเทศต่าง ๆ จะร่วมมือกันอย่างสอดประสานได้อย่างไร ? วิสัยทัศน์ของอนาคตที่ยั่งยืนนี้จะเป็นอย่างไรบ้าง ? มาร่วมค้นหาคำตอบกันผ่าน Panel Discussion ในหัวข้อ Opportunities Made Possible: Enhancing Regional Economic Cooperation for Sustainable Future โดยมีวิทยากร และผู้ร่วมการอภิปรายครั้งนี้ คือ
คุณกอบกาญจน์: โดยส่วนตัวนั้นตนเองมีบทบาทในหลายด้าน แต่ที่เกี่ยวข้องกับด้านความยั่งยืนที่สุด คือ การเป็นรองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และเป็นหัวหน้าคณะกรรมการด้านความยั่งยืน ตรงจุดนี้ทำให้ตระหนักดีว่าตนเองนั้นเปรียบเสมือนสมาชิกคนหนึ่งในครอบครัวของประชากรโลก
ช่วงเวลานี้เหมาะสมที่สุดที่เราจะมาทบทวนในเรื่องความยั่งยืน สิ่งต่าง ๆ สอนให้เราเรียนรู้ที่จะสร้างสมดุลในชีวิต ไม่ใช่แค่ตัวเอง แต่ต้องใส่ใจถึงคนอื่นด้วย รวมทั้งการทำธุรกิจแบบสายกลาง ถ้าหากถามว่า ความสำเร็จคืออะไร การได้ส่วนแบ่งการตลาด หรือการได้ตำแหน่งสูงสุดในบริษัทหรืออะไรแบบนั้น โดยส่วนตัวมองว่าสิ่งเหล่านี้ยังไม่ใช่ความสำเร็จที่แท้จริง เพราะสุดท้ายแล้ว ความสำเร็จในระยะยาว ความยั่งยืนในอนาคตควรมาจากการกระจายความมั่งคั่ง การแบ่งปันความสุข ซึ่งไทยเราต้องร่วมกันค้นหาความหมายที่แท้จริงของความยั่งยืน ไม่ใช่ในบริบทตัวคนเดียว หรือบริษัทเดียว แต่เป็นการร่วมมือเพื่อการอยู่รอดร่วมกัน
นอกจากนี้ เรากำลังทำสิ่งเหล่านี้อยู่ตลอดในรูปของการค้า และการกระจายรายได้ ไม่ให้ความเจริญกระจุกอยู่แต่ในกรุงเทพฯ แต่ละจังหวัดมีความสำคัญเท่าเทียมกัน ธุรกิจ SME ก็มีความสำคัญพอ ๆ กับความร่วมมือขนาดใหญ่ ดังนั้น เพื่อความอยู่รอด เราต้องเรียนรู้กันและกัน การเรียนรู้ไม่ได้หมายความว่าลอกเลียนแบบกันแล้วเราจะประสบความสำเร็จ แต่เราควรจะปรับตัวได้
Mr.Ben: ความยั่งยืนเป็นหัวข้อที่ใหญ่มากจริง ๆ เป็นสิ่งที่มนุษยชาติต้องตั้งคำถามว่าเราจะรังสรรค์โลกที่ทุกคนสามารถดำรงอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขได้หรือไม่ ในขณะที่เรามีทรัพยากรบนโลกอยู่อย่างจำกัด และใช่ว่าเราจะหาดาวเคราะห์อื่นมาทดแทนได้ เราจะสร้างเศรษฐกิจที่ค้ำจุนเราอย่างแท้จริงได้อย่างไร
เราต่างอยู่ในโลกที่ถูกปลูกฝังว่า มาตรวัดความสำเร็จอยู่บนพื้นฐานการบริโภควัตถุนิยมที่มากขึ้น ทำให้ยากที่จะให้คนทั่วโลกเปลี่ยนมุมมอง ว่าจริง ๆ แล้วการบริโภควัตถุที่มากเกินควร จะทำให้เราพบปัญหามากขึ้นแทน แนวคิดที่เรากำลังท้าทายกับแนวคิดดั้งเดิมคือ เราจะสร้างเศรษฐกิจที่ช่วยให้ผู้คนมีมาตรฐานการครองชีพที่มากขึ้นได้หรือไม่ โดยไม่ให้กระทบกับสิ่งแวดล้อมที่เราอาศัย ซึ่งนี่เป็นแรงผลักดันให้มนุษยชาติปัจจุบันหาหนทางสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ดีขึ้น เพราะที่ผ่านมา เราทำร้ายเพื่อนร่วมโลกของเราไปมาก ดังนั้น สำหรับความยั่งยืนคือ เราจะหาจุดสมดุลที่ยังคงสร้างความมั่งคั่งไปด้วยและสร้างคุณภาพการดำรงชีวิตที่มีมาตรฐานไปด้วยได้หรือไม่
Mr.Ben: มันขึ้นอยู่กับวิธีที่เรานิยามรูปแบบการแข่งขัน การแข่งขันไม่ได้เลวร้ายเสมอไป เพราะมันทำให้เกิดนวัตกรรม เกิดการขับเคลื่อนเทคโนโลยี สร้างการเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งโซลูชันที่ยั่งยืนจะเป็นวิธีที่ดีกว่า
โดยยกตัวอย่างที่ประเทศของ Mr.Ben เอง ที่สหราชอาณาจักร ราคาไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานลมนั้นราคาถูกกว่าพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลมาก นั่นถือว่าเป็นความสำเร็จอย่างยิ่งที่สหราชอาณาจักรไม่ได้ใช้เชื้อเพลิงจากการเผาถ่านหินมานานแล้วแต่ยังมีสิ่งที่สำคัญอีก คือการสร้าง Framework เพื่อจัดการความยั่งยืน ซึ่งนี่เป็นบทบาทที่รัฐบาลต้องสร้าง Framework บนพื้นฐานการแข่งขันที่มีจรรยาบรรณ อย่างเช่น การสร้างสิ่งจูงใจ การเสียภาษีที่น้อยลงสำหรับผู้ประกอบการหรือนักลงทุนที่สนใจในด้านความยั่งยืน
เมื่อพิจารณาบริบททั่วโลกตอนนี้ รัฐบาลแต่ละที่จะต้องตอบโจทย์ในสิ่งที่ยากขึ้นเรื่อย ๆ เช่นการทำตามพันธะสัญญาด้านสิ่งแวดล้อมจากการประชุม COP 26 ในปีที่แล้วที่เมือง Glasgow, Scotland ซึ่งน่าสนใจว่า แต่ละประเทศจะทำตามข้อตกลงนี้เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นจริงได้หรือไม่
คุณกอบกาญจน์: วิกฤตในปัจจุบันไม่ได้มีแค่ COVID-19 แต่ยังมีวิกฤต Semi-conductor และอื่น ๆ ที่ทำให้เราเรียนรู้ว่าอะไรคือภัยคุกคามที่ใหญ่ที่สุด ตอนนี้เราตระหนักถึงความสำคัญของการมีหุ้นส่วนในระดับภูมิภาค คุณกอบกาญจน์เคยเป็นอดีต รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งแต่ก่อนนั้นประเทศไทยพยายามที่จะเป็น Hub No.1 ด้านการท่องเที่ยว โดยไม่ให้ใครแย่งที่หนึ่งไปจากเรา แต่ตอนหลังเราเรียนรู้ว่าการเอาชนะเป็นที่หนึ่งจะทำให้เราไปได้ไม่ไกล ดังนั้นจึงหันกลับมามองยังประเทศรอบข้าง เน้นความสัมพันธ์กับ ASEAN
ทุกวันนี้ หากภูมิภาคของเราเติบโต เราก็เติบโตด้วย แต่หากภูมิภาคของเราอ่อนแอลง เราก็จะได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน ตอนนี้ไม่เน้นการขึ้นเป็นอันดับ 1 อีกต่อไป อย่างเช่นกรณี ไทยและลาว ซึ่งในอดีตไทยเราอาจจะพูดว่า เราเป็นเหมือนเมืองพี่เมืองน้องกัน คนลาวก็อาจจะถามกลับได้ว่า แล้วใครเป็นพี่ ใครเป็นน้องกันแน่ จริง ๆ แล้วลาวอาจจะมีอายุประวัติศาสตร์มากกว่าไทยก็ได้
ดังนั้นทุกวันนี้เราจึงมองว่าทุกประเทศเป็นเพื่อน เป็นมิตรสหายกันดีกว่า หรืออย่างกรณีที่เวียดนามมี GDP สูงมากๆ ใน ASEAN เราก็จะได้รับอานิสงส์ด้วยทางอ้อม เพราะผู้คนที่หลั่งไหลมาเวียดนาม ก็อาจจะแวะมาที่ไทยเพื่อท่องเที่ยว จับจ่ายใช้สอยก็เป็นได้ จะเห็นได้ว่าความร่วมมือระดับภูมิภาค กลายเป็นสิ่งที่ชัดเจนมากขึ้น จากเศรษฐกิจแบบ Globalization ตอนนี้ ได้ย่อส่วนลงไปยังระดับ Regional
ในแง่ของอุตสาหกรรมการผลิต ไทยเราเคยมีสำนักงานใหญ่หลายแห่ง แต่เมื่อเราเริ่มประสบปัญหาวัตถุดิบ ปัญหาต้นทุนจม ฯลฯ จึงดีกว่าที่จะมีความร่วมมือกับเพื่อนบ้าน บางทีเราอาจเป็นผู้ผลิตสินค้าหนึ่ง แต่วัตถุดิบก็อาจมาจากเพื่อนบ้านเรา และส่งต่อให้อีกประเทศประกอบชิ้นส่วน เป็นต้น นี่คือวิธีที่เราจะเติบโต และอาจเป็นหนทางรอดในฐานะภูมิภาค ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเราจะหยุดการผลิตไปเพราะเราหยุดการแข่งขัน อย่างที่คุณ Ben กล่าว การแข่งขันจะสร้างนวัตกรรมให้เกิดขึ้น แต่เราจะเป็นคู่แข่งที่เป็นมิตรกัน ถ้าสิ่งไหนที่ประเทศอื่นทำได้ดีกว่า เราก็จะให้ประเทศนั้นทำ จากนั้นเรียนรู้ร่วมกัน สิ่งที่เราล้มเหลว คุณก็สามารถเรียนรู้จากเรา และเราก็สามารถเรียนรู้จากคุณได้เช่นกัน การแลกเปลี่ยนนี้จะนำไปสู่ภูมิภาคที่ยั่งยืน
Mr.Ben: เห็นด้วยกับประเด็นนี้ ทุกชาติไม่จำเป็นต้องแย่งส่วนแบ่งการตลาดจากพายชิ้นเดียวกัน (Market Share Pie Chart) ตรงข้ามเราสามารถสร้างให้พายชิ้นเดิมใหญ่ขึ้น ทุกชาติจะมั่งคั่งขึ้นพร้อมกัน กุญแจสำคัญก็คือ เราจะขยายพายชิ้นนั้นร่วมกันในภูมิภาคอย่างไร ในขณะที่สร้างความอย่างยั่งยืนไปด้วย
Mr.David: เราสามารถกล่าวได้ไหมว่า เทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อนที่อยู่เบื้องหลังความร่วมมือระดับภูมิภาค
คุณกอบกาญจน์: เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกันอย่างแน่นอน โดยเฉพาะในช่วงโควิด ที่บรรดาร้านขายของชำ ร้านของคุณลุงคุณป้าได้เข้ามาแลกเปลี่ยนข้อมูลว่า ก่อนหน้านี้ยังไม่รู้จักการทำ Mobile Banking เป็นอย่างไร หรือการค้าผ่านโซเชียลมีเดียออนไลน์ทำให้เข้าถึงตลาดที่เปิดกว้างขึ้นแค่ไหน ช่วยให้พวกเขาอยู่รอดในช่วงโควิด ตรงนี้กล่าวได้ว่า เทคโนโลยีเป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้ แต่สิ่งที่อยากจะเน้นก็คือ เรื่องของคนด้วย เพราะสุดท้ายแล้วเรานำเทคโนโลยีมา เราก็ต้องให้ความรู้กับคน การที่เรามีเทคโนโลยี ทำให้เราเข้าถึงข้อมูล และข้อมูลที่ถูกประมวลผลแล้วจะช่วยให้เกิดประโยชน์ต่อธุรกิจได้นั้น ต้องเป็นการที่คนมาเจอกับเทคโนโลยีผสมผสานกัน
Mr.Ben: ผมคิดว่าเป็นเรื่องของผู้คนที่เหมาะสมมารวมตัวกันมากกว่าจึงเกิดการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีกัน เพราะเทคโนโลยีไม่สามารถแยกตัวออกจากเรื่องของคนได้ การทำธุรกิจในภูมิภาคคุณสามารถมีเทคโนโลยีที่ดีที่สุดในโลกก็ได้ แต่ถ้าคุณไม่มีทีม ไม่มีนักการตลาด หรือนักลงทุนที่เหมาะสมอยู่กับคุณ คุณอาจล้มเหลวได้ ดังนั้น การมีเทคโนโลยีที่ยอดเยี่ยมก็ส่วนหนึ่ง แต่ที่สำคัญต้องเป็นเรื่องของบุคลากรด้วย
ด้วยประสบการณ์ที่เคยทำงานให้กับรัฐบาลอังกฤษในสำนักงาน Innovate UK ซึ่งมีพาร์ทเนอร์เป็นหน่วยงานต่างๆ ในเอเชีย เทคโนโลยีไม่ใช่ของที่ผูกขาดว่าสิ่งนี้มาจากประเทศใดๆ เท่านั้น ในตอนนี้ ถ้าจะพูดให้แม่นยำ เทคโนโลยีเกิดขึ้นพร้อมกันทั่วทุกมุมโลกมากกว่าที่จะเคลื่อนย้ายย้ายจากที่หนึ่งไปสู่อีกที่หนึ่ง ไม่เหมือนกับสมัยก่อนที่ผลัดกันเป็นเจ้าอุตสาหกรรม
เช่น ในช่วงศตวรรษที่ 18 ชนชาติที่ขึ้นเป็นผู้นำโลกก็เป็นอีกชาติหนึ่ง หรือทศวรรษ 1980 ผุ้นำอุตสาหรรมโลกก็เป็นอีกชาติหนึ่ง สิ่งเหล่านี้เปลี่ยนไปเพราะอินเทอร์เน็ต เมื่อก่อนการสรรหาความรู้คุณอาจต้องเป็นนักวิจัยหรือไปประชุมวิชาการ แต่ปัจจุบันคุณสามารถหาดูได้บน YouTube หรือ Tiktok ดังนั้นจึงคิดว่าเทคโนโลยีไม่ได้มีการผูกขาด
คุณกอบกาญจน์: หัวข้อที่ผ่านมาเป็นประเด็นในแง่มุมธุรกิจ การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่โดยเฉพาะในไทม์ไลน์อนาคตนั้น ย่อมกระทบกับเยาวชนคนรุ่นใหม่ ซึ่งพวกเขากำลังมองหาอนาคตที่ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ในอีก 10 ปี 15 ปีข้างหน้า ตรงนี้เราสามารถสร้างการสนับสนุนด้านเศรษฐกิจหรือภูมิภาคตลอดจนความยั่งยืนเพื่อคนรุ่นใหม่ด้วย เพราะแน่นอนว่าทรัพยากรและจิตสำนึกของคนเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด
ขณะเดียวกัน ในองค์กรที่คุณกอบกาญจน์ดูแลอยู่ก็ให้ความสำคัญแก่คนรุ่นใหม่เป็นอย่างมาก ให้ได้มีส่วนร่วมในภาคส่วนสำคัญขององค์กร เน้นการรับฟังความคิดเห็นของคนรุ่นใหม่ โดยส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับคำบอกเล่าที่ว่า คนรุ่นใหม่นั้นไม่รักประเทศและไม่ขยัน สิ่งที่สำคัญ คือ การสื่อสารบนเป้าหมายเดียวกันกัน ใช้ใจสื่อสารกัน คนรุ่นใหม่ก็จะเข้าใจและเห็นความสำคัญ
สำหรับในองค์กรนั้น เราไม่ต้องสอนทฤษฎีความซับซ้อนใดๆ เพราะพวกเขามีวิจารณญาณเองอยู่แล้ว แต่เราจะสอนทฤษฎีนอกบทเรียน สอนการมองเห็นชีวิต การมองเห็นตนเอง ไม่ว่าสิ่งนั้นจะสำคัญหรือไม่ก็ตาม ไม่ว่าเขาจะมาจากถิ่นบ้านเกิดจังหวัดใด สร้างศรัทธาในสังคมโดยรวม และทำธุรกิจให้น่าศรัทธาบนแนวคิดที่นึกถึงผลกระทบต่อสังคมโดยรวมเป็นหลัก
Mr.Ben: การสื่อสารกับคนรุ่นใหม่เป็นสิ่งสำคัญ เพราะคุณค่าของการส่งต่อ มอบสิ่งดีๆ คืนสู่สังคม เป็นสิ่งที่ต้องได้รับการปลูกฝังโดยตรง โดยอาจเริ่มที่ภาคส่วนเล็กๆ ในแต่ละท้องถิ่น ดังเช่นที่ทุกวันนี้เราก็จะเห็นผู้ประกอบการรุ่นเยาว์ในแต่ละที่เริ่มเห็นคุณค่าของท้องถิ่นของตนเองมากขึ้น และมีความร่วมมือจากหลายภาคการผลิตและอุตสาหกรรมร่วมกัน สิ่งนี้ก็จะเป็นปัจจัยที่ดีในการต่อยอดความยั่งยืนในอนาคตได้เช่นกัน
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด