เป็นที่ทราบกันดีว่า ระบบจดจำใบหน้าทำงานได้ไม่มีประสิทธิภาพมากพอเมื่อต้องทำการสแกนหน้าคนผิวคล้ำ บางครั้งมันก็ไม่สามารถระบุเพศได้ตรงตามความเป็นจริง รายละเอียดเล็ก ๆ เช่น ความยาวของผมก็มีส่วนทำให้การทำนายผลผิดพลาด วิธีพัฒนาระบบให้มีความแม่นยำมากขึ้นคือการป้อนข้อมูลที่หลากหลาย อย่าง รูปผู้หญิงผิวสี หรือผู้ชายผมยาว อย่างไรก็ตาม การนำรูปของผู้อื่นมาใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต ก็อาจเป็นเรื่องไม่ถูกต้องนัก
โดยล่าสุด สำนักข่าว CNBC รายงานว่า บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง IBM เผยชุดข้อมูลภาพถ่ายนับล้านที่ถูกดึงมาจากเว็บไซต์บริการแชร์ภาพอย่าง Flickr พร้อมรายละเอียดเกี่ยวกับรูปภาพอย่างเช่นสีผิว โดยทางบริษัทอ้างว่า ความพยายามดังกล่าวก็เพื่อต้องการลดอคติ (biased) ต่างๆ ที่ระบบจดจำใบหน้าล้มเหลวในการอ่านอย่างใบหน้าของคนที่มีสีผิวคล้ำ
อย่างไรก็ดี การนำรูปมาใช้ทำวิจัยนั้นไม่ได้ผ่านการยินยอมจากเจ้าของภาพมาก่อน อีกทั้งตอนนี้มันก็เป็นไปได้ยากที่จะทำการลบรูปออก โดยเจ้าของภาพที่ต้องการให้ทาง IBM ลบรูปออกจากฐานข้อมูลจะต้องทำการส่งลิงค์รูปภาพที่ต้องการให้กับทางบริษัท แต่มันก็ไม่ได้ง่ายขนาดนั้น เพราะทาง IBM ไม่ได้เผยแพร่รายชื่อต่อสาธารณะว่าได้นำรูปของผู้ใช้ Flickr ใดหรือมีรูปภาพไหนบ้างที่ทางบริษัทนำมาใช้ในฐานข้อมูล อีกทั้งยังไม่ได้ออกมาให้รายละเอียดเกี่ยวกับการดำเนินการ
กระนั้น IBM ก็ไม่ใช่บริษัทเดียวทำเช่นนี้ หลายบริษัทต่างก็ได้มีการแย่งชิงข้อมูลเพื่อป้อนระบบอัลกอริทึมของตัวเองในการปรับปรุงเทคโนโลยีการจดจำใบหน้า จริงอยู่ที่ว่าการถ่ายภาพแล้วอัปโหลดลงอินเทอร์เน็ตเป็นวิธีที่รวดเร็ว อีกทั้งการนำมาใช้ก็ง่ายมาก อย่างไรก็ตามมันก็ไม่ถูกหลักจริยธรรมอยู่ดี
อย่างกรณีการนำระบบจดจำใบหน้ามาใช้ในการปลดล็อคมือถือ มันอาจสะดวกก็จริง แต่ในอีกแง่มันก็อาจเป็นเครื่องมือเฝ้าระวังที่น่ากลัวอยู่ไม่น้อย การที่มีการนำข้อมูลผู้ใช้งานไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อีกทั้งไม่ได้มีการควบคุมที่รัดกุมดีพอนั้น การที่หลายฝ่ายออกมาประกาศว่าจะต้องมีการควบคุมการนำข้อมูลมาใช้ให้รัดกุมมากขึ้นนั้น ก็น่าคิดว่านะว่ามันจะไม่เป็นการสายเกินไปใช่หรือเปล่า?
อ้างอิงเนื้อหาข่าว:
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด