Thailand Policy Lab หรือห้องปฏิบัติการณ์นโยบายของประเทศไทย คือหน่วยงานที่เพิ่งก่อตั้งได้ไม่นานโดยความร่วมมือกันระหว่างสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทยหรือ UNDP เพื่อเปลี่ยนแปลงกระบวนการออกแบบนโยบายให้ตอบโจทย์ประชาชนมากที่สุด หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือเพื่อผสมผสานนวัตกรรมให้กลายเป็นหัวใจของการออกนโยบาย เพื่อนโยบายที่รวดเร็ว ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และมีผู้คนเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง
การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 แสดงให้เห็นเด่นชัดแล้วว่ายิ่งคุณเพิกเฉยต่อความเหลื่อมล้ำในสังคมมากเท่าไหร่ ปัญหานั้นก็จะก่อตัวให้มีขนาดใหญ่ขึ้นแล้วกลับมาโจมตีคุณแรงกว่าเดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่า
ถ้าปีหน้ามีโรคระบาดสายพันธุ์ใหม่อุบัติขึ้น จะกลายเป็นวิกฤตซ้อนวิกฤตเหมือนในตอนนี้หรือเปล่า นี่จึงเป็นเวลาที่ดีที่สุดที่เราจะได้เรียนรู้จากวิกฤต ด้วยการชวนทุกคนไปพูดคุยในระดับนโยบาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกแบบนโยบายด้วยนวัตกรรมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง
และ TPLab ก็เข้าใจถึงความท้าทายของกระบวนการออกแบบนโยบายเป็นอย่างดี จึงได้จัดงาน Policy Innovation Exchange (PIX) เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 ที่ได้ดึงนักออกแบบนโยบายตั้งแต่ระดับปฏิบัติการถึงระดับผู้บริหารกว่า 800 คนจากสำนักนโยบายทั่วประเทศ มาเรียนรู้ และแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับวิธีการทำนโยบายใหม่ๆ กับแล็บทั่วโลก ที่อยู่ในแวดวงการออกแบบนโยบายและสร้างนวัตกรรมโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งถือเป็นงานเกี่ยวกับการสร้างนโยบายที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่ประเทศไทยเคยจัดมา
เพื่อให้ประเทศไทยก้าวเดินไปข้างหน้าได้เร็วขึ้น แต่ยั่งยืนกว่าเดิม
นโยบายที่ดี คือนโยบายที่คาดการณ์ถึงวิกฤตในอนาคต
ปัจจัยอย่างหนึ่งที่สามารถลดความเสี่ยงของวิกฤตได้คือรัฐที่มีวิสัยอันกว้างไกล รัฐสมัยใหม่ควรมีเครื่องมือรวบรวมข้อมูลเพื่อประเมินและหาแผนรองรับเมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน Joshua Polchar นักสังเกตการณ์จากหน่วยงานนวัตกรรม OECD ได้นำเสนอกระบวนการ Strategic Foresight in Policy-making หรือการคาดการณ์อนาคตเชิงยุทธ์ศาสตร์ในการกำหนดนโยบาย เขายกตัวอย่างว่า “อนาคตเปรียบเสมือนแผนภาพรูปทรงกรวยที่แสดงให้เห็นถึงโลกปัจจุบันและโลกอนาคตที่ถูกแบ่งแยกออกมาจากกัน ตัวอย่างที่ชัดเจนสุดคือการฉีดวัคซีนที่หลายคนไม่อยากทำ แต่ก็ต้องไปฉีดเพราะส่งผลดีต่ออนาคต เหมือนกับการออกกำลังกายที่หลายคนไม่ชอบแต่ก็ต้องทำเพราะรู้ว่ามันส่งผลดีต่อร่างกาย” เขาอธิบายต่อว่า “เคยมีการพูดถึงโรคระบาดใหญ่มาตั้งแต่ปี 2017 แล้ว ปัญหาไม่ได้อยู่ที่การคาดการณ์อนาคต แต่ความท้าทายคือการใช้ข้อมูลที่เคยถูกพูดถึงมาปรับเปลี่ยนและดำเนินการตามนโยบายที่เป็นรูปธรรม”
Joshua Polchar เสนอว่านวัตกรรมสำหรับอนาคตต้องปรับเปลี่ยนได้ง่ายเพราะโลกเรามีแต่ความไม่แน่นอนและเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ อุปสรรคก็คือการหาว่าความท้าทายอยู่ตรงไหน และการมองหาโอกาสที่คาดคะเนไว้ในปัจจุบัน เขาเชื่อว่าโครงการที่ช่วยให้นวัตกรรมที่คาดการณ์ไว้เกิดขึ้น “จะลดความรุนแรงของผลกระทบ บางปัญหาอาจไม่ได้เกิดขึ้นในเร็ววัน แต่เราจำเป็นต้องนำมาพิจารณาและศึกษาในระยะยาวเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีต่อวันข้างหน้า เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันจะเป็นอนาคตที่กำลังเกิดขึ้น วิธีทำความเข้าใจปัญหาคือการที่มนุษย์ได้มีส่วนร่วมกับอนาคตด้วยวิธีต่างๆ”
คาดการณ์อนาคตเชิงยุทธ์ศาสตร์คือทักษะที่สำคัญขององค์กรในการรับรู้ เข้าใจถึงเหตุผลต่างๆ ว่าเราทำสิ่งในปัจจุบันไปเพื่อให้ส่งผลในอนาคตอย่างไร เขาแนะนำว่า “วิธีที่ทุกคนเอามาปรับใช้ได้ก็คือการสร้างสถานการณ์สมมติขึ้นมาเพื่อปรับเปลี่ยนและเรียนรู้ กระบวนการแบบนี้องค์กรของเราเคยทำร่วมกับรัฐบาลของประเทศสโลเวเนียเกี่ยวกับอนาคตของภาครัฐที่จะเชื่อมโยงการผลิตในท้องถิ่น และการปกครองระบอบประชาธิปไตยรูปแบบใหม่ที่ให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ที่ดีของพลเมือง โดยผ่านกระบวนการสร้างต้นแบบ และเชื่อมช่องว่างของผลกระทบผ่านการทดลองต่างๆ เพราะการเอาอนาคตเข้ามาอยู่ในมือจะนำไปสู่ความสำเร็จที่ดีที่สุดในอนาคตจริงๆ”
อย่ามองหาทางออกเดียวในโลกที่ซับซ้อน
ด้าน Kate Sutton หัวหน้าศูนย์ Asia Pacific Regional Innovation Center - UNDP กล่าวแสดงความกังวลถึงสถานการณ์ในปัจจุบัน โดยพูดถึงภาพรวมทั่วเอเชียแปซิฟิกที่เธอทำงานด้านนวัตกรรมด้วย รวมถึงประเทศไทย “ยังมีเรื่องของภาวะโลกร้อนที่มีสถิติแตกต่างกันออกไปในแต่ละเมือง ซึ่งงานวิจัยได้คาดคะเนเอาไว้ว่ากว่า 50% ของเทคโนโลยีที่ใช้ในการดูแลจะไม่สามารถใช้ได้ เนื่องจากจากวิกฤตมากมายที่เกิดขึ้นพร้อมกัน ซึ่งคือความท้าทายของผู้วางนโยบายเพราะส่งผลไปถึงประชากรทุกคน และมากกว่า 70% ของภัยพิบัติทางธรรมชาติเกิดขึ้นในทวีปเอเชีย”
สิ่งที่เธอนำเสนอจึงเป็นเหมือนประตูบานแรกของการแก้ปัญหา นั่นก็คือการแก้ไขไม่จำเป็นต้องมองในจุดเดียวหรือมองหาทางออกทางเดียว “แต่เราควรเน้นไปที่การคิดค้นหรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบการแก้ไขปัญหา เพื่อหาผลลัพธ์ที่ดีขึ้น โดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมของยุคสมัยนี้เข้ามาแก้ไขวิกฤตเร่งด่วน ทั้งเรื่องไวรัสโควิด 19, การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ, ความไม่เท่าเทียมกันในสังคม หรือการขยายตัวของเมือง” เธอขยายปัญหาที่ทับซ้อนกันให้ทุกคนได้เห็นอย่างชัดเจนมากขึ้น และเน้นย้ำว่า “เรากำลังเผชิญปัญหาที่ซับซ้อนและยากทั้งเชิงระบบและมนุษยชาติ และบางปัญหามีข้อแก้ไขที่ไม่ชัดเจน ฉะนั้นเราต้องไม่ยึดติดกับแนวทางการแก้ไขปัญหาแบบเดิมๆ ต้องมีชุดแนวคิดแบบใหม่อยู่ตลอด ควรนำสิ่งที่ทั้งเคยหรือไม่เคยเจอมาใช้จัดการปัญหา และต้องปรับตัวให้ตอบสนองทันกับปัญหาต่างๆ อย่างทันท่วงที”
Kate Sutton ยกตัวอย่างเกี่ยวกับการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนซึ่งเป็นโจทย์ต่อไปสำหรับประเทศไทยที่เม็ดเงินต่างชาติในภาคส่วนนี้ลดลงทันทีตั้งแต่โควิดมาเยือน เธอบอกว่าคนวางนโยบายต้องนำความคิดเห็นของทุกภาคส่วนมาช่วยกันผลักดันเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีที่สุด “การร่างกฎหมายคือกระบวนการที่สำคัญที่ต้องให้คนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม” เธอย้ำ “เพราะบางนโยบายถูกเอาออกไปเนื่องจากไปเนื่องจากไม่สอดคล้องกันทางกฎหมาย กลายเป็นว่าไม่ได้แก้ไขปัญหาอย่างที่ควรจะเป็น” เช่นเดียวกับทาง TPLab ที่ได้ร่วมกับหลายภาคส่วนในการสร้าง mindset การออกนโยบายให้สอดคล้องกับสังคม เพื่อหาทางออกใหม่ๆ ที่ประชาชนได้ประโยชน์มากที่สุด เธอบอกกับนักออกแบบนโยบายทุกคนว่า “การจัดการต้องมีแรงจูงใจในการทำงานและการเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ ให้ไปในทิศทางที่ดีขึ้น โดยค้นหานวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อการทำงานตลอดเวลา”
ใช้เทคโนโลยีเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน
ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสร้ายตลอด 2 ปีที่ผ่านมา การใช้เครื่องมือดิจิทัลเป็นตัวแปรสำคัญต่อโลกในอนาคต แต่ยังไม่ใช่ทุกคนที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ต หรือการบริการบางอย่างของภาครัฐเองก็ยังไม่ใช้ดิจิทัลเข้ามาอำนวยความสะดวกให้ประชาชน Calum Handforth ผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัลและเมืองอัจฉริยะประจำ UNDP Global Center ตั้งคำถามง่ายๆ กับนักออกแบบนโยบายว่าถ้าโลกออนไลน์ดีที่สุด “ทำไมการทำใบขับขี่ไม่ง่ายเหมือนสมัคร Facebook ล่ะ?”
ก่อนที่ Calum Handforth จะเข้ามารับตำแหน่งนี้ เข้าเคยสร้างนวัตกรรมชิ้นสำคัญเอาไว้นั่นก็คือ “แชทบอท” สำหรับพัฒนาความรู้ด้านสุขภาพในหมู่วัยรุ่นเอเชียแปซิฟิกและซับซาฮาราแอฟริกา ที่ได้เห็นข้อมูลการเดินทางของคนแบบเรียลไทม์ ซึ่งช่วยให้เข้าใจชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ใช้ได้ง่ายขึ้น และกลายเป็นวิธีวัดความสำเร็จที่เป็นธรรมชาติและมีประโยชน์สำหรับโลกดิจิทัล ในขณะที่ UNDP ก็ใช้นวัตกรรมที่เรียกว่า PPI ซึ่งเป็นชุดคำถาม 10 ข้อสำหรับการวัดดัชนีการเติบโตของความยากจน ที่ช่วยประเมินและวัดภูมิหลังทางประชากรศาสตร์ในสังคมได้อย่างรวดเร็ว แทนที่จะสำรวจแบบเดิมซึ่งอาจใช้เวลามากกว่าถึง 6-7 ชั่วโมง
Calum Handforth กล่าวว่าความท้าทายของการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยออกแบบนโยบายคือ “การเลือกใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ ที่ยากและมีความเสี่ยง เพราะเล่นกับการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมของคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งต่างจากออฟไลน์ที่เราจะไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงนี้ ดังนั้นต้องหาตัวชี้วัดให้ดีว่าอะไรคือนโยบายที่ออกแบบได้ถูกต้อง” เขาแนะนำว่า “ควรเน้นไปในช่องทางที่พวกเขาใช้งานจริง เช่นเดียวกับบริการสาธารณะที่เน้นถึงความต้องการและความเป็นจริงของประชาชน หากคนไม่สามารถเข้าถึงแม้กระทั่งแชทบอทได้ก็ไม่มีประโยชน์ต่อการออกแบบนโยบาย ซึ่งตรงนี้ภาครัฐมีส่วนสำคัญในการพัฒนา สามารถสนับสนุนได้ทั้งเรื่องค่าใช้จ่าย ความรู้ ความพร้อมทางภาษา ความรู้เท่าทันดิจิทัล รวมทั้งมีแหล่งจัดเก็บข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ และควรนำมาใช้ให้ถูกวิธีจึงจะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาสังคม”
อีกประเด็นสำคัญที่เขาอยากเน้นย้ำคือเมื่อรัฐบาลนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ในหลายภาคส่วนแล้ว ไม่ได้หมายความว่าต้องเอาเข้ามาแทนที่งานสาธารณะสุขแบบออฟไลน์หรือความเฉลียวฉลาดของมนุษย์ เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเพียงส่วนเสริมและตัวขยาย รัฐจึงต้องพิจารณาบริบทของงานบริการเพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงสุดต่อสังคมและประชาชน
ใช้โซเชียลมีเดียเป็นสะพานให้ประชาชนออกแบบทางออกของปัญหาร่วมกัน
อีกหนึ่งตัวอย่างที่น่าสนใจของการออกแบบนโยบายโดยเน้นประชาชนเป็นศูนย์กลางคือศูนย์นวัตกรรม Pulse Lab Jakarta จากประเทศอินโดนีเซีย Dwayne Carruthers ผู้จัดการฝ่ายการสื่อสารบอกว่าพวกเขาได้นำโซเชียลมีเดียมาประยุกต์ใช้ในการวิเคราะห์ และทำความเข้าใจความรู้สึกของพลเมืองที่มีต่อนโยบายและระบบโครงสร้างพื้นฐานใหม่ๆ ซึ่งปีที่แล้ว Pulse Lab Jakarta ได้สร้างระบบตรวจสอบคุณภาพอากาศภายในชุมชนโดยเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษที่เกิดขึ้น ความสำคัญอยู่ตรงที่ “มีคนในชุมชนมากมายเข้ามามีส่วนร่วมกับการใช้ System Mapping ที่ใช้เซ็นเซอร์อันแม่นยำจับคุณภาพของอากาศ พวกเขาคือผู้ได้รับผลประโยชน์จากระบบนี้ ซึ่งหมายถึงมนุษย์คือปัจจัยสำคัญและเป็นศูนย์กลางของความช่วยเหลือทั้งหมด”
เช่นเดียวกับการจัดการปัญหาโควิด 19 ในจังหวัดชวาโดย Pulse Lab Jakarta ได้เลือกใช้การรวบรวมข้อมูลแบบดั้งเดิมและแบบใหม่เข้าด้วยกัน และมองหาช่องว่างของข้อมูลว่ามีประเภทไหนอีกบ้างที่จะเติมเต็มลงไปให้สมบูรณ์มากที่สุดเพื่อระบุจุดที่อาจเกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรค และดูว่าจุดไหนมีการระบาดน้อยที่สุด ประชาชนสามารถโต้ตอบกับระบบที่ทีมงานได้เซ็ทเอาไว้ พวกเขาจะได้รับข้อมูลจากผู้ที่อยู่ในจุดเกิดเหตุอย่างรวดเร็ว และเป็นประโยชน์ต่อการช่วยเหลือผู้คน
Dwayne Carruthers บอกว่าสิ่งที่เขาและทีมได้เรียนรู้ก็คือ “จุดสะท้อน” ของการสร้างต้นแบบ และสร้างเครื่องมือใหม่ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาที่ส่งผลกระทบน้อยที่สุด แต่สร้างคุณค่ากับผู้คนมหาศาล นักออกแบบนโยบายหรือสร้างสรรค์นวัตกรรม “ต้องแน่ใจว่าทุกการเปลี่ยนแปลงจะมีความต้องการของผู้ใช้ได้จริงๆ และสอดคล้องกับเงื่อนไขของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียที่แตกต่างกันในสังคมที่พวกเขาต้องอยู่ร่วมกัน ฉะนั้นประดิษฐกรรมทางสังคมรูปแบบใหม่ๆ ควรคำนึงถึงเรื่ององค์ประกอบด้านจริยธรรมเพื่อการพัฒนาแบบองค์รวม ถึงจะกลายเป็นนโยบายที่มีประสิทธิภาพและเป็นแนวทางใหม่ในการแก้ไขปัญหาของสังคมได้”
จากประสบการณ์ที่ผู้เชี่ยวชาญการออกแบบนโยบายได้นำมาแลกเปลี่ยนกัน ผู้เชี่ยวชาญทุกคนกล่าวถึงการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ แต่ก็เน้นย้ำว่าการใช้เครื่องมือเหล่านั้นให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด คือการใช้มันโดยมี “ประชาชน” เป็นศูนย์กลาง ไม่ว่าโลกจะเดินไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วหรือมีวิทยาการล้ำสมัยขนาดไหน การพูดคุยเพื่อสร้างความเข้าใจหรือออกแบบเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ก็ยังคงเป็นสาระสำคัญของงานนโยบาย
ประชาชนในประเทศสามารถมีส่วมร่วมในการสร้างสรรค์นวัตกรรมหรือออกแบบนโยบายได้ เพื่อเป็นบรรทัดฐานใหม่ของประเทศไทยที่โอบอุ้มคนทุกคนและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังอีกต่อไปและการพานักออกแบบนโยบายทั่วประเทศไปสู่ทัศนคติและทักษะเช่นนี้คือจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด