วิเคราะห์เบื้องหลังรัฐบาลจีน ทำไมถึงต้องเล่นงาน Big Tech โดยเฉพาะประเด็น Big Data ? | Techsauce

วิเคราะห์เบื้องหลังรัฐบาลจีน ทำไมถึงต้องเล่นงาน Big Tech โดยเฉพาะประเด็น Big Data ?

ช่วงที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าจะมีข่าวที่รัฐบาลจีน เล่นงานบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ในประเทศ ด้วยเหตุผลด้านการผูกขาด แต่ถ้าตัดประเด็นนี้ออกไป ยังก็มีกรณีของการเรียกร้องให้บรรดาบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่แชร์ข้อมูลของบริษัทให้รัฐบาลจีนด้วยเช่นกัน อะไรคือเหตุผลลึก ๆ ของรัฐบาลจีนกันแน่

เทคโนโลยีจีน

ทำไม Xi Jinping ถึงจ้องเล่นงานบริษัทเทคโนโลยี ?

จากการที่รัฐบาลจีนได้เรียกร้องให้บรรดาบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่แชร์ข้อมูลของบริษัทให้แก่รัฐ โดยอ้างว่าทำไปเพื่อผลประโยชน์ของประเทศ และยืนยันว่าทางรัฐบาลจีนมีอำนาจในข้อมูลมากกว่าบริษัทสหรัฐฯ ในจีน ดังนั้น บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ของจีนอย่าง Tencent, Alibaba และ TikTok ByteDance จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเปิดเผยข้อมูลที่รวบรวมจากทั้งโซเชียลมีเดีย อีคอมเมิร์ซ และธุรกิจอื่น ๆ ให้แก่รัฐบาล 

แม้รัฐบาลจะระบุว่า กฎหมายความปลอดภัยของข้อมูลที่เพิ่งประกาศใช้นี้ ต้องการผลักดันรัฐในเรื่องของการเข้าถึงข้อมูลสำคัญ แต่แท้จริงแล้ว เบื้องหลังของการออกกฎหมายนี้ อาจเป็นเพราะรัฐบาลจีนมองว่าการเติบโตของ Big Data และปัญญาประดิษฐ์ เมื่อบวกกับพลังของบริษัทเทคโนโลยีจีนแล้วนั้น อาจส่งผลต่อพรรคคอมมิวนิสต์จีนในอนาคตได้ จึงต้องขอเข้าถึงข้อมูลของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่หลายแห่งโดยอ้างความมั่นคงของชาติ

ประเด็นข้างต้นนี้มีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูง เพราะในหนังสือเล่มใหม่ที่เพิ่งตีพิมพ์ชื่อว่า “Excerpts of Xi Jinping’s Discourse on Cyberspace Superpower” นั้น ได้เล่าถึงความพยายามของ สี จิ้นผิง และพรรคคอมมิวนิสต์จีนในด้านความต้องการที่จะเข้าควบคุมบริษัทเทคโนโลยีจีนเพราะมองว่า “อินเทอร์เน็ตในปัจจุบัน คือพื้นที่สำคัญของการต่อสู้ในการแย่งชิงความเห็นของสาธารณชน” ซึ่งเป็นประเด็นเดียวกันกับที่ได้กล่าวไป

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นับตั้งแต่ปี 2021 เป็นต้นมา รัฐบาลจีนก็ได้เร่งทำการสอบสวนบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ในประเทศอย่าง Tencent และ Alibaba ในกรณีผูกขาดธุรกิจ รวมถึงขอให้บริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้แบ่งปันข้อมูลให้รัฐบาลรับรู้ด้วย

การแทรกแซงของรัฐบาลจีน ส่งผลกระทบต่อหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี 

การขอเข้าถึงข้อมูลนี้ทำให้เกิดผลกระทบหลายอย่าง เนื่องจากเมื่อบริษัททั้งหลายต้องเผยแพร่ข้อมูลทั้งหมดให้แก่รัฐ การทำธุรกิจก็ไม่ใช่แค่เรื่องของภายในองค์กรอีกต่อไปเพราะมีรัฐเข้ามาแทรกแซง ทำให้หุ้นส่วนบริษัทเทคโนโลยีในจีนร่วงลงอย่างรวดเร็ว กล่าวคือ Alibaba ร่วงลง 3.74% Tencent ร่วงลง 5% และรายอื่นๆ ก็ร่วงลงเช่นกัน ทว่าก็สามารถฟื้นตัวได้ในเวลาต่อมา เช่น ByteDance เจ้าของ TikTok และ Meituan แต่รายที่หนักที่สุดคือ iQIYI ที่ร่วงถึง 20% ตลอดจน Tencent Music Entertainment ที่ร่วงถึง 27% นับว่าหนักที่สุดตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นมา และ Vipshop อีคอมเมิร์ซจีนอีกรายที่หุ้นร่วง 21% ซึ่งถือเป็นอาการหนักที่สุดในรอบ 5 ปี

เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่าการกระทำดังกล่าวของรัฐบาลจีน อาจนำธุรกิจเทคโนโลยียักษ์ใหญ่เหล่านี้ไปสู่จุดต่ำสุดเท่าที่เคยมีมาได้...

Morgan Stanley ประจำภูมิภาคเอเชีย ก็ได้เปิดเผยกับ CNBC ว่า ยังคงต้องจับตาเฝ้าระวัง โดยเฉพาะหุ้นจีนประเภทจดทะเบียนในตลาดต่างประเทศ หรือ  off-shore เพราะขณะนี้รัฐบาลจีนยกระดับคุมเข้มกฎระเบียบสำหรับหุ้นบริษัทเทคโนโลยีที่เข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ เช่น ฮ่องกง หรือสหรัฐฯ มากขึ้นหลังจากที่ Didi ถูกรัฐบาลจีนตรวจสอบจนแอปพลิเคชันถูกระงับการใช้งานแล้ว  โดยทั้งบริษัทเดิมและบริษัทใหม่ที่ต้องการจะขายหุ้นต่อสาธารณะในตลาดต่างประเทศจะต้องผ่านการตรวจสอบความปลอดภัยทาง Data จากหน่วยงานไซเบอร์ของจีนก่อน ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นในระดับสูงนี้จะส่งผลกระทบต่อแนวทางการลงทุนและการเติบโตของบริษัทเทคโนโลยีจีนในอนาคต

ขณะเดียวกัน การที่จีนเข้มงวดด้านกฎระเบียบก็จะส่งผลให้ มีการตรวจสอบถึงกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย เช่นการซื้อขายหุ้นจากข้อมูลภายในของบริษัท (Insider Trading) หรือ การฉ้อโกงทางการเงิน ในตลาดหุ้นภายในประเทศเองด้วย  ในส่วนนี้เอง หุ้นบริษัทเทคโนโลยีจีนที่อยู่ในประเทศ หรือ หุ้น A-share จะได้รับผลประโยชน์มากกว่าเนื่องจากจะได้รับความเชื่อใจจากนักลงทุน

อย่างไรก็ตาม สำหรับนักลงทุนระยะสั้นที่มองการลงทุนหุ้นเทคโนโลยีจีนในระยะเวลาต่ำกว่า 1 ปี อาจต้องเผชิญความผันผวนสูงหากคิดจะลงทุนในช่วงนี้ เนื่องจากยังมีความเสี่ยงที่รัฐบาลจีนจะยังเดินหน้าตรวจสอบข้อมูลของบริษัทอยู่

อ้างอิง  Bloomberg, CNBC

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ทำไมคนสหรัฐฯ เดือดร้อนกับการแบน TikTok ? 3 เหตุผลที่ TikTok สำคัญกับชาวสหรัฐฯ มากกว่าที่คิด

เจาะลึก 3 เหตุผลที่การแบน TikTok อาจส่งผลกระทบต่อชาวอเมริกันมากกว่าที่คิด ทั้งด้านเศรษฐกิจ อาชีพ และการเชื่อมโยงในยุคดิจิทัล...

Responsive image

รู้จัก Physical AI เอไอยุคใหม่ที่ Jensen Huang กล่าวถึงคืออะไร ? มีประโยชน์อย่างไร ?

หนึ่งในไฮไลต์สำคัญของงาน CES 2025 คือการที่ Jensen Huang ซีอีโอของ NVIDIA ได้มีการพูดถึงยุคต่อไปของ AI นั่นก็คือ ‘Physical AI’ ซึ่งนับเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญยิ่งที่ AI กำลังจะเข...

Responsive image

4 เทรนด์เทคโนโลยีสุดล้ำที่อาจเปลี่ยนโลกจาก CES 2025

สำรวจเทรนด์เทคโนโลยีล่าสุดจาก CES 2025 ตั้งแต่ AI อัจฉริยะ ยานยนต์ล้ำสมัย ไปจนถึงการพัฒนาชิปกราฟิกและเทคโนโลยีหน้าจอแห่งอนาคตที่เปลี่ยนโฉมการใช้ชีวิตประจำวัน!...