SCB EIC ชี้ธุรกิจเลิกเยอะกว่าจัดตั้ง ชี้อาจเกิดเศรษฐกิจซบเซาแต่ยังมีโอกาสโต | Techsauce

SCB EIC ชี้ธุรกิจเลิกเยอะกว่าจัดตั้ง ชี้อาจเกิดเศรษฐกิจซบเซาแต่ยังมีโอกาสโต

SCB EIC รายงานบทวิเคราะห์สถานการณ์ธุรกิจช่วงต้นปี 2563 ชี้มีจำนวนธุรกิจจดทะเบียนเลิกกิจการเพิ่มขึ้น ขณะที่ธุรกิจจดทะเบียนจัดตั้งลดลง ชี้สัญญาณเศรษฐกิจซบเซา โดยสงครามการค้าและ COVID-19 ส่งผลกระทบเป็นอัตราเร่งให้เกิดเหตุดังกล่าว

EIC ทำการวิเคราะห์ข้อมูลสถานะนิติบุคคลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในช่วง 9 สัปดาห์แรกของปี 2563 (ข้อมูลล่าสุดจนถึงวันที่ 6 มีนาคม 2563) พบว่าข้อมูลดังกล่าวถือเป็นอีกเครื่องชี้หนึ่งที่สะท้อนถึงภาวะความซบเซาของธุรกิจภาคเอกชน โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

ธุรกิจเก่าไป ใหม่ไม่มา จากข้อมูลพบว่าจำนวนธุรกิจที่แจ้งเลิกกิจการเพิ่มสูงขึ้นจาก 4 พันรายในช่วง 9 สัปดาห์แรกของปี 2562  มาเป็น 4.9 พันรายในช่วงเดียวกันปี 2563 คิดเป็นการเพิ่มขึ้น 22.3% นอกจากนี้จำนวนบริษัทที่มีปัญหาทางการเงิน ได้แก่ กิจการที่มีสถานะถูกพิทักษ์ทรัพย์และล้มละลายก็เพิ่มขึ้นเช่นกันจาก 138 เป็น 202 ราย คิดเป็นการเพิ่มขึ้นสูงถึง 46.4% ขณะเดียวกันยอดการจดทะเบียนนิติบุคคลใหม่กลับลดลงจาก 1.5 หมื่นเหลือ 1.4 หมื่นราย หรือคิดเป็นการลดลง -5.3% การออกจากธุรกิจที่มากขึ้น (“เก่าไป”) และการจัดตั้งกิจการที่ลดลง (“ใหม่ไม่มา”) เป็นอีกภาพสะท้อนของสภาวะเศรษฐกิจที่เต็มไปด้วยปัจจัยลบในหลายด้านซึ่งส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของหลายกิจการ รวมถึงความเชื่อมั่นในการทำธุรกิจของภาคเอกชน

สถานการณ์ยิ่งน่าเป็นห่วงสำหรับธุรกิจที่ได้รับผลกระทบสะสมมาในช่วงก่อนหน้า ปัจจัยลบทางเศรษฐกิจในช่วงก่อนหน้าทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก สงครามการค้า ความซบเซาของกำลังซื้อในประเทศ ตลอดจนผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี (tech disruption) ได้ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งในภาคการส่งออกสินค้าและภาคบริการทรุดตัวลงจึงกระทบต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้องมากเป็นพิเศษ ข้อมูลสถานะกิจการที่ธุรกิจรายงานต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าในช่วง 9 สัปดาห์แรกของปีได้สะท้อนภาพที่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

  • จำนวนการเลิกกิจการและจำนวนกิจการที่มีปัญหาทางการเงินเพิ่มสูงขึ้นในหลายสาขาธุรกิจ โดยธุรกิจที่พึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวอย่างธุรกิจโรงแรมมียอดรวมของทั้ง 2 กลุ่มเพิ่มขึ้นสูงถึง 56.5% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยอย่างชัดเจน ขณะที่ธุรกิจค้าส่ง-ค้าปลีกเพิ่มขึ้น 20.8% สำหรับภาคการผลิตและภาคบริการหลักอื่น ๆ ได้แก่ ร้านอาหาร ขนส่ง ก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ ล้วนแล้วแต่มีการเลิกกิจการและมีปัญหามากขึ้นเช่นกัน
  • จำนวนการจัดตั้งนิติบุคคลใหม่ในธุรกิจโรงแรม และค้าส่ง-ค้าปลีกลดลง 17.7% และ 9.7% ตามลำดับเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ในภาคการผลิต (manufacturing) ที่ได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อทั้งในและต่างประเทศที่ลดลงมาอย่างต่อเนื่องและในปัจจุบันยังมีอุปสรรคในการผลิตและขนส่งสินค้า (supply chain disruption) มียอดการจัดตั้งกิจการใหม่ลดลง 16.7% โดยมีสาขาธุรกิจที่มียอดจัดตั้งใหม่ลดลงมาก เช่น ยานยนต์ (-46.2%) คอมพิวเตอร์ (-37.5%) เครื่องจักร (-24.8%) อย่างไรก็ดี ในช่วงดังกล่าวยังคงมีสาขาธุรกิจที่มีการจดทะเบียนเพิ่มขึ้น ได้แก่ ร้านอาหาร ขนส่ง และก่อสร้าง

ในระยะต่อไปภาวะการเข้า-ออกธุรกิจของไทยยังมีความเสี่ยง เพราะยังมีแนวโน้มที่จะมีการปิดกิจการอีกมากจากผลกระทบจากการระบาดของไวรัส Covid-19 ที่อาจยืดเยื้อโดยเฉพาะกลุ่มที่มีสภาพคล่องทางการเงินไม่เพียงพอ หรือมีภาระหนี้สูง นอกจากนี้ความเชื่อมั่นที่ลดต่ำลงจากเหตุการณ์ดังกล่าวก็จะทำให้การเริ่มธุรกิจใหม่ถูกชะลอออกไปอีกด้วย ทั้งนี้ยังอาจมีสาเหตุอื่นในเชิงโครงสร้างที่ทำให้กิจการไทยมีจำนวนน้อยลงในระยะยาว เช่น การกระจุกตัวของยอดขายในธุรกิจขนาดใหญ่น้อยราย (market concentration) ที่มักส่งผลให้การเพิ่มขึ้นของธุรกิจหน้าใหม่ลดน้อยลง หรือแนวโน้มการลดลงของการเป็นผู้ประกอบการในกลุ่มคนอายุน้อย (จากข้อมูลการสำรวจกำลังแรงงานล่าสุดในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2562 สัดส่วนของคนที่อายุน้อยกว่า 35 ปีที่ประกอบอาชีพเป็นเจ้าของธุรกิจอยู่ที่เพียง 15.2% ของจำนวนแรงงานอายุน้อยกว่า 35 ปีทั้งหมด ลดลงจากค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปีที่ 21.4%) การลดลงของธุรกิจหน้าใหม่นี้มีแนวโน้มส่งผลให้การเติบโตของระดับผลิตภาพและการขยายตัวของการลงทุนของภาคธุรกิจลดต่ำลงในระยะยาว

 การรักษาสถานะทางการเงิน การบริหารคน และการปรับใช้เทคโนโลยี เป็น 3 ปัจจัยสำคัญสำหรับการเอาตัวรอดในภาวะวิกฤติ การศึกษาในต่างประเทศจากบทความ “How to Survive a Recession and Thrive Afterward” ในวารสาร Harvard Business Review ชี้ว่าในภาวะเศรษฐกิจขาลงธุรกิจยังสามารถเอาตัวรอด หรือกระทั่งเติบโตได้หากมีการเตรียมพร้อมรับมือที่ดี โดยธุรกิจควรให้ความสำคัญกับการบริหารการเงินโดยเฉพาะการลดหนี้และการเพิ่มสัดส่วนเงินสด เพื่อทำให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้และยังเป็นการเพิ่มความสามารถในการลงทุนอีกด้วย ในด้านการบริหารคน การพิจารณาการปลดคน (layoff) อาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีเสมอไป เพราะแม้จะช่วยลดต้นทุน แต่จะทำให้พนักงานที่เหลืออยู่เสียกำลังใจซึ่งจะกระทบผลิตภาพ รวมถึงอาจจะหาคนทดแทนยากช่วงที่เศรษฐกิจฟื้นตัว ธุรกิจจึงอาจพิจารณาทางเลือกแบบชั่วคราว เช่น การลดชั่วโมงทำงาน หรือการให้พักงานโดยไม่ได้รับค่าจ้าง (leave without pay) เป็นต้น และหากยังพอมีกำลัง ธุรกิจควรใช้โอกาสในการลงทุนด้านดิจิทัลและเทคโนโลยีอื่น ๆ เช่น การใช้เทคโนโลยีลดต้นทุนการผลิต การลงทุนในด้าน data analytics ที่จะช่วยให้เข้าใจสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนอย่างในภาวะวิกฤติได้ดีขึ้น ทั้งนี้การลงทุนในเทคโนโลยีจะช่วยเพิ่มความว่องไว (agility) ให้กับองค์กรมากขึ้นสำหรับการปรับตัวทั้งในช่วงเวลาที่แย่และช่วงที่กลับมาฟื้นตัว

Infographic จาก SCB EIC

ขอบคุณภาพปกจาก Craig Whitehead on Unsplash

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

สรุปเทคโนโลยีในปี 2025 เทรนด์ไหนกำลังจะมา ? ฟังความเห็นจาก 3 มุมมองสำคัญ : นักพัฒนา ผู้ประกอบการ และนักอนาคตศาสตร์

ปี 2025 กำลังจะมาถึงพร้อมกับคลื่นแห่งการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี บทความนี้สรุปและอธิบายเทรนด์สำคัญจากมุมมองของผู้เชี่ยวชาญ 3 ท่านผ่านบทสัมภาษณ์พิเศษของ Techsauce เพื่อให้เห็นภาพรวมแ...

Responsive image

4 เทรนด์เทคโนโลยีสุดล้ำที่อาจเปลี่ยนโลกจาก CES 2025

สำรวจเทรนด์เทคโนโลยีล่าสุดจาก CES 2025 ตั้งแต่ AI อัจฉริยะ ยานยนต์ล้ำสมัย ไปจนถึงการพัฒนาชิปกราฟิกและเทคโนโลยีหน้าจอแห่งอนาคตที่เปลี่ยนโฉมการใช้ชีวิตประจำวัน!...

Responsive image

เปิดตัว ‘รถบินแยกร่าง’ XPeng ผสมเครื่องบินกับรถตู้ รุ่น Land Aircraft Carrier ราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท

XPeng Aero HT เปิดตัว Land Aircraft Carrier รถบินได้แบบแยกร่างสุดล้ำที่ CES 2025 พร้อม eVTOL พับเก็บได้ ใช้งานง่าย ราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท วางแผนผลิตเชิงพาณิชย์ในปี 2026...