อุตสาหกรรม FinTech อีกหนึ่งตลาดที่ทั้งโลกกำลังจับตามอง โดยเฉพาะในแถบเอเชีย-แปซิฟิก ที่ต้องยอมรับเลยว่า มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดขึ้นเป็นอย่างมากจากการเติบโตของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี โดยเฉพาะดิจิทัลแพลตฟอร์ม ทำให้โลกของการเงินดิจิทัลมีโอกาสเติบโต ก้าวหน้าไม่แพ้กับอุตสาหกรรมอื่น ๆ เลย
โดยเมื่อวันที่ 15 กันยายนที่ผ่านมา Techsauce ได้มีโอกาสเข้าร่วม Virtual Event ของโครงการ “10x1000 Flex for Inclusion” แพลตฟอร์มที่รวบรวมการอบรมและการเรียนรู้ด้านฟินเทค เพื่อนำเสนอหลักสูตรที่จะให้องค์ความรู้ ให้แนวคิดเกี่ยวกับฟินเทคและได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรงของผู้นำองค์กรระดับนานาชาติ และเป็นโครงการที่เกิดจากความร่วมมือของ IFC หรือ International Finance Corporation หนึ่งในสมาชิกของ World Bank Group และ Alipay ในเครือ Ant Group ซึ่งโครงการนี้ ตั้งเป้ารับสมัครผู้อบรมที่มีคุณสมบัติและผ่านการคัดเลือกเข้าจำนวน 1,000 รายจากทั่วโลก โดยหลักสูตรดังกล่าวนี้จะเป็นการเรียนการสอนออนไลน์เต็มรูปแบบ
จากกิจกรรมงานเสวนา 10x1000 Flex for Inclusion ที่เป็น Flex Insights ได้มีการขึ้นมานำเสนอถึงภาพรวมการดำเนินงานในอุตสาหกรรมการเงินดิจิทัลของแต่ละประเทศในแถบเอเชีย-แปซิฟิก นำโดย
คุณเจสัน พาว ประธานกรรมการบริหารและ ประธานพนักงาน (Chife of Staff) จาก Ant Group
คุณชลเดช เขมะรัตนา นายกสมาคมฟินเทคประเทศไทย
คุณชาดับ ไทยาบิ นายกสมาคมฟินเทคประเทศสิงคโปร์
คุณคาเรน เอส พัวฮ์ นายกสมาคมฟินเทคประเทศมาเลเซีย
คุณลิโต วิลลานูเอวา ประธาน FinTech Alliance ประเทศฟิลิปปินส์
คุณเฮเลน หลี่ ผู้จัดการทั่วไป สมาคมฟินเทคแห่งฮ่องกง
คุณนาเมียร ข่าน ประธานและกรรมการผู้ก่อตั้ง MENA Fintech Association
แขกรับเชิญแต่ละคน ได้ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนกันถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรม Fintech ในมุมมองที่อ้างอิงจากภูมิหลังของแต่ละประเทศ ทั้งในแง่ของระบบเศรษฐกิจ ปัญหาเชิงโครงสร้าง ทิศทางของอุตสาหกรรมการเงินดิจิตอลในอนาคต และนโยบายสนับสนุนผู้ประกอบการด้านฟินเทคของแต่ละที่ รวมไปถึงความคาดหวังจากโครงการ 10x1000 Flex for Inclusion
เริ่มที่ คุณคาเรน เอส พัวฮ์ นายกสมาคมฟินเทคจากประเทศมาเลเซีย ได้กล่าวว่า มาเลเซียเริ่มจัดตั้ง ‘สามปีแห่งนวัตกรรม’ ขึ้นตั้งแต่ปีก่อน ด้วยมองเห็นถึงทิศทางการยอมรับในเทคโนโลยีที่เป็นไปในทางบวก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ Infratech และสิ่งสำคัญที่สุดที่ขาดไปไม่ได้ก็คือตัวผู้คน เช่น ผู้สูงอายุ แรงงานข้ามชาติ หรือคนงานในภาคเศรษฐกิจ โดยอธิบายต่อว่าสิ่งที่คนของเขาขาดในตอนนี้คือเรื่องของประกันสุขภาพ โดยยกตัวอย่างถึง Policy Street สตาร์ทอัพที่ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2017 ที่ให้ความร่วมมือกับกลุ่มบริษัทและสถาบันทางการเงิน เพื่อให้การบริการด้านประกันสุขภาพแบบดิจิตอลในมาเลเซีย เพื่อสนับสนุนให้คนเข้าถึงบริการเหล่านี้ได้ง่ายยิ่งขึ้น และสำหรับบริษัทต่าง ๆ คุณคาเรนมองว่าความท้าทายขององค์กรเหล่านี้ ไม่ได้มีเพียงเรื่องของการให้บริการลูกค้าเท่านั้นที่ต้องทำให้ดี แต่ต้องสร้างประสบการณ์ที่น่าตื่นเต้นได้ด้วย
ทางด้าน คุณนาเมียร ข่าน ประธานและกรรมการผู้ก่อตั้ง MENA Fintech Association องค์กรไม่แสวงผลกำไรที่ดูแลด้านฟินเทค ได้แบ่งปันข้อมูลที่น่าสนใจว่า ภูมิภาคตะวันออกกลาง และแอฟริกาเหนือเป็นเหมือนกับเหมืองทองคำสำหรับวงการฟินเทค ด้วยจำนวนผู้เข้าถึงสมาร์ทโฟนที่มีมากถึง 480 ล้านคน อายุเฉลี่ยของประชากรในภูมิภาคที่เหมาะสม และการสร้างหน่วยงานดูแลส่งเสริมนโยบาย Open Banking ด้วยปัจจัยต่าง ๆ ชี้ให้เห็นถึงโอกาสของการพัฒนาเทคโนโลยีทางการเงินได้แบบไร้ขีดจำกัด
คุณนาเมียร เสริมอีกว่า หนึ่งปีที่ผ่านมาเขาเห็นแนวโน้มการเติบโตอย่างมีนัยยะสำคัญในอุตสาหกรรมการชำระเงิน (Payment Industry) เฉพาะในภูมิภาคดังกล่าว มีตัวเลขการทำธุรกรรมเพิ่มขึ้นถึง 71% และมีการเพิ่มขึ้นของธนาคารดิจิตอลอย่างรวดเร็ว พร้อมวิเคราะห์แนวโน้มว่าการเติบโตของบริการธนาคารดิจิตอลจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องไปถึงปีหน้า ดังนั้นแล้ว อุตสาหกรรมการชำระเงิน จะกลายเป็นโอกาสที่สำคัญมากสำหรับพวกเรา และจะกลายเป็นหัวใจของวงการฟินเทคในอนาคต
สำหรับประเทศไทย คุณชลเดช เขมะรัตนา นายกสมาคมฟินเทคประเทศไทย เกริ่นถึงปัจจัยสำคัญที่ใช้ในการสนับสนุนวงการฟินเทคอย่างปัจจัยด้านเงินลงทุน ว่าแม้มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงต้นปีก่อน แต่ทางสมาคมทราบมาว่าประเทศไทยมีนักลงทุน เพิ่มจาก 1.2 ล้านเป็น 2 ล้านคนในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งเป็นระยะเวลาที่สั้นมาก แต่อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีประชากรมากถึง 70 ล้านคน จำนวนของนักลงทุนอาจไม่มากเพียงพอรองรับการเติบโตของนักพัฒนาและเทคโนโลยี ดังนั้นแล้วทางสมาคมมองว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรีบหาแหล่งสนับสนุนด้านเงินลงทุนเพิ่มเติม โดยคุณชลเดชมองว่าหลักสูตร 10x1000 Flex for Inclusion ที่สร้างขึ้น อาจเข้ามาช่วยอุตสาหกรรมฟินเทคในไทยได้ทั้งในแง่ของเงินทุนและองค์ความรู้
ทั้งนี้เสริมว่า กระแสคริปโตเคอเรนซี่ในประเทศไทยได้รับความนิยมและมีการยอมรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว สะท้อนภาพเทรนด์การเงินของโลกเราในขณะนี้ ว่าถึงเวลาแล้วที่องค์การธนาคารทั่วโลกควรเตรียมตัวพร้อมรับการเกิดใหม่ของทรัพย์สินดิจิตอลและสร้างตลาดเงินทุนมารองรับการเกิดขึ้นของนวัตกรรมฟินเทคให้ได้ รวมถึงควรจัดให้มีเทคโนโลยีจัดเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์ (DLT) ที่ทำให้การประสานงานสามารถทำได้สะดวกขึ้นในตลาดทุน
สำหรับประเทศที่กำลังเป็นผู้นำด้าน Wealth Management อย่างฮ่องกงได้ตัวแทนจากสมาคมฟินเทคแห่งฮ่องกง ซึ่งก็คือ คุณเฮเลน หลี่ มาพูดถึงอุตสาหกรรมการเงินว่าขณะนี้ฮ่องกงให้ความสนใจในสามสิ่งด้วยกัน อย่างแรกคือ นวัตกรรม Wealthtech เทคโนโลยีด้านการเงินที่แยกตัวออกมาจากฟินเทคอย่างชัดเจน โดยเน้นไปที่การให้ความสำคัญกับเรื่องของการบริหารความมั่งคั่งเป็นหลัก ถัดไปคือเรื่องของการประกันภัย เน้นว่าธุรกิจประกันภัยดิจิตอลควรได้รับการเข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้น และการร่วมมือกันของทุกภาคส่วนจะเป็นสิ่งสำคัญมากในระยะยาว สุดท้ายคือเรื่อง การเข้าถึงบริการทางการเงิน ทาง Bank for International Settlements Innovation Hub ที่มีศูนย์กลางอยู่ในฮ่องกง พยายามจะพัฒนาการทำธุรกรรมรายย่อยของภาคธุรกิจและประชาชน (Retail CBDC) มาโดยตลอด รวมไปถึงการทำระบบธุรกรรมระหว่างสถาบันการเงิน (Wholesale CBDC) ด้วย พร้อมปิดท้ายว่าทางสมาคมจึงยินดีเป็นอย่างมากที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้
ถัดมาที่ประเทศสิงคโปร์ คุณชาดับ ไทยาบิ นายกสมาคมฟินเทคประเทศสิงคโปร์ เกริ่นนำอย่างอบอุ่นว่าเพื่อให้เกิดผลดีต่อไปกับอุตสาหกรรมนี้ในระยะยาว สิงคโปร์มีความพร้อมในการสนับสนุนทุกทีมที่เข้าร่วมโครงการนี้ พร้อมให้ข้อมูลถึงแบ็คกราวน์ของวงการฟินเทคในประเทศสิงคโปร์ว่า ตั้งแต่ปี 2015 จนมาถึงปัจจุบัน สิงคโปร์มีสตาร์ทอัพด้านการเงินเพิ่มขึ้นถึง 1,500 บริษัท
สำหรับสิ่งที่ประสบความสำเร็จและเป็นประโยชน์มากที่สุดคือ API exchange โครงการที่ริเริ่มโดย ASEAN Financial Innovation Network ที่ทางสิงคโปร์เข้าไปให้ความร่วมมือ โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์การด้านการเงินระดับนานาชาติมากมาย อาทิ IFC และ ASEAN Bankers Association คุณชาดับย้ำว่าแพลทฟอร์มนี้จะกลายเป็นตัวช่วยผลักดันนวัตกรรมทางการเงินทั้งจากในอาเซียนและรอบโลก
ไม่เพียงเท่านั้น สิงคโปร์ยังพยายามสร้างสะพานเชื่อมต่อการทำงานร่วมกันระหว่างบริษัท Fintech ต่าง ๆ กับที่ปรึกษาทางธุรกิจ เพื่ออุดช่องโหว่ในการจัดตั้งและพัฒนานวัตกรรมให้มีความเหมาะสมกับขนาดและขีดความสามารถองค์กร ด้วยการจัดงาน Singapore FinTech Festival ขึ้นทุกปี โดยอีเว้นท์นี้ไม่เพียงช่วยให้ที่ปรึกษาสามารถวิเคราะห์และจัดการปัญหาการพัฒนาแพลทฟอร์มได้ดีขึ้น แต่ยังทำให้แพลทฟอร์มด้านการเงินที่พัฒนามามีระบบการโค้ดที่ดีกว่าเดิม
ในส่วนของตัวแทนคนสุดท้าย คุณลิโต วิลลานูเอวา ประธาน FinTech Alliance จากประเทศฟิลิปปินส์ กล่าวถึงบทบาทของธนาคารกลางฟิลิปปินส์ในขณะนี้ ว่ากำลังมีแผนพัฒนาเพื่อรองรับโครงข่ายฟินเทคที่เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ โดยมีการร่างเกณฑ์กำกับดูแลการธนาคารดิจิตอลขึ้น ซึ่งในขณะนี้มีการออกใบอนุญาตทั้งหมด 5 ใบแล้ว และจะออกเพิ่มอีก 3 ใบภายในสิ้นปีนี้ ทั้งนี้ก็เพื่อรองรับมาตรฐานใหม่ของอุตสาหกรรมทางการเงินที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ และเพื่อเปิดตัวระบบการชำระเงินดิจิตอลของประเทศ อีกทั้งพูดถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจาดการระบาดของโควิดครั้งใหญ่ กล่าวว่าทำให้มีภาค Ecommerce ในประเทศฟิลิปปินส์เติบโตแบบทวีคูณ กระตุ้นการบริโภคในช่องทางออนไลน์ให้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว พร้อมสร้างให้เกิดการเติบโตของธุรกรรมและการชำระเงินแบบดิจิตอลตามมาอย่างเลี่ยงไม่ได้
โดยในเชิงโครงสร้าง โซลูชันดิจิตอลด้านการเงินที่สมาชิกของ FinTech Alliance ได้พัฒนาในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กลายเป็นส่วนช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในด้านการเข้าถึงแหล่งเงินของคนในประเทศได้ด้วย โดยธุรกิจขนาดเล็กและประชากรที่มีรายได้ต่ำ สามารถจัดการรายได้ของตนและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจของตนได้มากกว่าเดิม ทั้งนี้เสริมถึงเป้าหมายขององค์กรว่า ต้องการเสริมสร้างการเข้าถึงบริการทางการเงินให้กับชาวฟิลิปปินส์อย่างต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าไว้ว่า 50% ของการใช้จ่ายต้องย้ายมาอยู่บนดิจิตอลแพลตฟอร์ม และผู้ใหญ่ในประเทศ 70% ต้องมีบัญชีธนาคารเป็นของตนเอง ภายในปี 2023
แขกรับเชิญทุกคนได้แบ่งปันถึงเป้าหมายและสิ่งที่คาดว่าจะได้รับจากการเป็นส่วนหนึ่งในหลักสูตร Flex ของ 10X1000 โดยต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่ารู้สึกยินดีเป็นอย่างมากที่ได้เข้าโครงการที่เป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมฟินเทค
ในการเสวนาครั้งนี้ ทุกคนได้พูดถึงองค์กรต่าง ๆ ทั้งในภาคเอกชนและภาครัฐของแต่ละประเทศ ที่เริ่มมีการคิดนโยบายสนับสนุนด้านการพัฒนาฟินเทคออกมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยกระแสโลกดิจิทัลที่เติบโตอย่างไม่หยุดยั้ง ดังนั้นแล้ว หลักสูตร Flex จาก 10x1000 จะไม่ใช่เพียงการช่วยส่งเสริมกันและกันให้เกิดการเชื่อมต่อขององค์ความรู้แบบไร้ขีดจำกัด แต่ยังเป็นการส่งเสริมพัฒนา Fintech Ecosystem ต่อไปในระยะยาว ให้มีการเกิดขึ้นของฟินเทคใหม่ ๆ อยู่ตลอด นอกจากนี้ มีความคาดหวังว่าการสร้างโครงการเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมการเงินดิจิตอลโดยเฉพาะ จะช่วยส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืน พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานได้ในสเกลใหญ่ และสร้างผลกระทบในเชิงบวกให้กับภาคเศรษฐกิจต่อไป
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด