Smart City จะเป็นอย่างไรต่อไปในอนาคตกับ Julien Mialaret | Techsauce

Smart City จะเป็นอย่างไรต่อไปในอนาคตกับ Julien Mialaret

พูดคุยกับคุณ Julien Mialaret ผู้เป็น Operating Partner, Idinvest Partners (VC) กับประเด็น Smart City ว่าหลังจากมีการระบาดของ COVID-19 ได้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง และจริง ๆ แล้วความหมายของ Smart City คืออะไร รวมไปถึงอนาคตของ Smart City ว่าจะเป็นอย่างไรต่อไปในอนาคต

 Julien Mialaret

Smart City คืออะไร

ในมุมมองของคุณ Julien Mialaret ได้ให้รายละเอียดของ Smart City ไว้ 2 แบบ คือ

  • แบบที่ 1 เมืองที่สร้างใหม่ขึ้นมาเลย พร้อมกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่มาอำนวยความสะดวกในการสื่อสารและช่วยในการดูแลเมืองนั้น ๆ โดยตอนนี้มีหลายองค์กรที่กำลังสร้างเมืองใหม่ขึ้นมา อย่าง Tencent, Google, NTT และ Sumitomo แต่การสร้าง Smart City แบบนี้จะยากมาก เพราะต้องลงทุนเยอะ และต้องเริ่มทุกอย่างใหม่ทั้งหมด

  • แบบที่ 2 เป็นเมืองที่พัฒนามาจากเมืองที่มีเดิมอยู่แล้ว อย่างเช่น การพัฒนา Smart City ในกรุงเทพ ปารีส หรือกัวลาลัมเปอร์ โดยจะมีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาใช้ในเมืองแบบเดิม รวมทั้งมีบริการดิจิทัลต่าง ๆ (Digital Services) ให้คนที่อาศัยในเมืองนั้น ๆ ได้ใช้ โดยเทคโนโลยีเหล่านั้นจะต้องไม่ส่งผลต่อสภาพแวดล้อม มีราคาที่ไม่สูงเกินไป และทำให้เมืองมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ความท้าทายสำคัญของการสร้าง Smart City

  • จะต้องสร้างโปรดักส์ที่คนสามารถเข้าถึงได้ ในราคาที่เหมาะสม และต้องเป็นสิ่งที่คนต้องการจริง ๆ ต้องเป็นเทคโนโลยีที่สร้างขึ้นมาเพื่อตอบสนองความสะดวกสบายของผู้คน แต่มาในราคาที่ยอมรับได้ ดังนั้น จะต้องมีการออกแบบเทคโนโลยีเหล่านี้ดี ๆ เพื่อให้นำมาใช้ได้จริง

  • สำหรับการพัฒนาเมืองที่มีอยู่แล้ว จะไม่สามารถตัดโครงสร้างการบริการเก่า ๆ ที่มีมาหลายสิบปีแล้วออกไปได้ จะต้องอาศัยการปรับให้เข้ากันเท่านั้น

  • ต้องทำงานกับทางภาครัฐ ซึ่งในบางประเทศก่อให้เกิดความล่าช้าในการทำงาน แต่ก็ทำให้งานที่ออกมามีความมั่นคงมากกว่า

  • จะต้องมีการสร้างเทคโนโลยีที่ใช้ได้ในหลาย ๆ ภาคส่วน ทั้งด้านอสังหาริมทรัพย์ ด้านขนส่ง ด้านพลังงาน ดังนั้นทางที่ดีจะต้องให้บริษัทที่มีความถนัดในแต่ละด้านร่วมงานกันจะทำให้การทำงานไปได้ง่ายขึ้น

ผลกระทบของ COVID-19 กับการพัฒนา Smart City

ก่อนการระบาดของ COVID-19 นั้น จุดประสงค์หลัก ๆ ของการสร้าง Smart City คือ 

  • ต้องการจะลดมลภาวะ และช่วยสร้างความรับผิดชอบกับสภาพแวดล้อม เพราะผู้คนในเมืองเริ่มไม่ตระหนักถึงการใช้พลังงานอย่างประหยัด และมีกิจวัตรที่ก่อให้เกิดมลภาวะเพิ่มมากขึ้น 

  • ต้องการสร้างเมืองที่ทุกคนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีและความสบายในแบบที่ไม่ต้องลงทุนสูง

ซึ่งสองปัจจัยนี้จะต้องอาศัยความเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้คนในเมืองนั้น ๆ โดยบางพฤติกรรมนี้เราได้เห็นมาบ้างแล้วในช่วงก่อนการระบาดของ COVID-19 เช่น ความต้องการบริการเดลิเวอรี่ และการใช้บริการออนดีมานด์

แต่หลังจากการระบาดของ COVID-19 สิ่งที่เห็นชัดมากขึ้นคือ คนมีความต้องการที่เปลี่ยนไป รวมไปถึงมีพฤติกรรมในการใช้บริการต่าง ๆ ที่เปลี่ยนไปเยอะ ตัวอย่างเช่น ความต้องการบริการรถโดยสารแบบไร้คนขับ หรือความต้องการทำงานแบบ Remote working

ซึ่งจริง ๆ แล้ว การที่ COVID-19 ระบาดไม่ได้ส่งผลให้แนวทางการพัฒนา Smart City เปลี่ยนไป แต่มันเข้ามาเปลี่ยนพฤติกรรมของคนมากกว่า

นอกจากนี้คุณ Julien มองว่า หลัง COVID-19 คนจะหันไปให้ความสนใจกับ เมืองรอง (Second-tier city) มากขึ้น เพราะเมื่อคนทำงานทางไกลได้ ดังนั้นนอกเมืองจึงกลายเป็นตัวเลือกสำคัญ ทั้งมีราคาที่พักที่ถูกกว่า และมีบรรยากาศที่ดีกว่า ส่วนในเมืองนั้นจะมีคนน้อยลง และมีเทคโนโลยีพวกรถยนต์ไร้คนขับที่เพิ่มมากขึ้น ดังนั้น ในอนาคตอาจจะมีการเพิ่มเลนถนนที่มีไว้สำหรับยานยนต์ประเภทนี้โดยเฉพาะ

The next big thing ที่จะมาช่วยเดินหน้า Smart City ไปสู่อนาคต

ในการพูดคุยคุณ Julien ได้พูดถึงประเทศจีนไว้เยอะมาก เพราะว่ามีหลายเทคโนโลยีที่สร้างขึ้น และทดสอบในจีน และหลังจากนั้นก็นำมาส่งต่อให้ประเทศอื่น ๆ ใช้ในการพัฒนาเป็น Smart City ดังนั้น จีนจึงเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจแห่งหนึ่ง โดยเฉพาะเมืองเซินเจิ้น ที่เมื่อ 30 ปีก่อนเป็นเพียงเมืองท่าแห่งการประมง แต่ปัจจุบันนี้เซินเจิ้นคือเมืองแห่งเทคโนโลยีสำคัญแห่งหนึ่งของโลก ที่เป็นทางเชื่อมจีนแผนดินใหญ่กับฮ่องกง โดยในเมืองเซินเจิ้นมีการใช้เทคโนโลยีมากมายที่เอามาอำนวยความสะดวกให้ผู้คน มีการออกกฎให้มีการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น เช่น การบังคับให้แท็กซี่และบริการขนส่งให้ยานยนต์พลังงานไฟฟ้า และเซินเจิ้นยังเป็นเมืองแรกที่มีการใช้ 5G

สิ่งต่อไปที่เราต้องมองต่อจากนี้ไปคือ ประเทศที่กำลังพัฒนาจะมีการผลิตเทคโนโลยีที่ใช้สำหรับ Smart City ออกมามากขึ้น เพราะประเทศเหล่านี้หลาย ๆ ประเทศ กำลังอยู่ในขั้นการพัฒนาไปเป็น Smart City และกำลังสร้างโครงสร้างใหม่ให้รองรับการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี้นี้ เพราะฉะนั้นจะต้องจับตามองประเทศเหล่านี้มากขึ้น

ในส่วนของประเทศแถบเอเชียที่มีความกังวลเรื่องของสังคมผู้สูงอายุอาจจะมาทำให้การพัฒนา Smart City นั้นล่าช้าลง ทางด้านคุณ Julien มองว่า ยังมีข้อดีของสังคมผู้สูงอายุเช่นกัน อย่างเช่นในญี่ปุ่น ที่สังคมผู้สูงอายุเป็นตัวขับเคลื่อนให้มีการสร้างหุ่นยนต์ขึ้นมาทำงานแทน รวมไปถึงเกิดเทคโนโลยีทางการแพทย์ขึ้นมา ดังนั้น การที่มีสังคมผู้สูงอายุอาจจะส่งผลดีให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ขึ้นมา

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

รู้จัก Physical AI เอไอยุคใหม่ที่ Jensen Huang กล่าวถึงคืออะไร ? มีประโยชน์อย่างไร ?

หนึ่งในไฮไลต์สำคัญของงาน CES 2025 คือการที่ Jensen Huang ซีอีโอของ NVIDIA ได้มีการพูดถึงยุคต่อไปของ AI นั่นก็คือ ‘Physical AI’ ซึ่งนับเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญยิ่งที่ AI กำลังจะเข...

Responsive image

4 เทรนด์เทคโนโลยีสุดล้ำที่อาจเปลี่ยนโลกจาก CES 2025

สำรวจเทรนด์เทคโนโลยีล่าสุดจาก CES 2025 ตั้งแต่ AI อัจฉริยะ ยานยนต์ล้ำสมัย ไปจนถึงการพัฒนาชิปกราฟิกและเทคโนโลยีหน้าจอแห่งอนาคตที่เปลี่ยนโฉมการใช้ชีวิตประจำวัน!...

Responsive image

เปิดตัว ‘รถบินแยกร่าง’ XPeng ผสมเครื่องบินกับรถตู้ รุ่น Land Aircraft Carrier ราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท

XPeng Aero HT เปิดตัว Land Aircraft Carrier รถบินได้แบบแยกร่างสุดล้ำที่ CES 2025 พร้อม eVTOL พับเก็บได้ ใช้งานง่าย ราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท วางแผนผลิตเชิงพาณิชย์ในปี 2026...