BANPU บริหารจัดการพลังงานอย่างชาญฉลาด สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน | Techsauce

BANPU บริหารจัดการพลังงานอย่างชาญฉลาด สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

จากปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากมาย ไม่ว่าจะเป็นน้ำแข็งขั้วโลกละลาย หรือระดับน้ำทะเลปรับตัวสูงขึ้น ทำให้หลายอุตสาหกรรมหันมาตระหนักถึงประเด็นดังกล่าว และผลักดันเรื่องของ Go Green ให้กลายเป็น Mega Trand ระดับโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของภาคพลังงาน ที่จะต้องลดการพึ่งพาการเผาไหม้ฟอสซิล มาสู่การใช้พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) มากขึ้น

บ้านปู

แน่นอนว่าแนวโน้มดังกล่าวได้สร้างความท้าทายให้กับ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ผู้นำธุรกิจพลังงานแบบครบวงจรแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ที่ดำเนินธุรกิจครอบคลุมกว่า 10 ประเทศทั่วโลก โดยกว่า 70-80% ของ EBITDA มาจากธุรกิจพลังงานถ่านหิน ดังนั้นบริษัทจึงต้องมีการปรับเปลี่ยนธุรกิจเพื่อมุ่งสู่พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น 

ในงาน Techsauce Global Summit 2020 คุณสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของบ้านปูได้มาพูดคุยถึงกลยุทธ์ในการปรับเปลี่ยนธุรกิจไปสู่การเป็นผู้บริการด้านพลังงานอย่างยั่งยืน 

คุณสมฤดี ชัยมงคล ในฐานะ CEO ของ บ้านปู กล่าวว่า บ้านปู เดินหน้าดำเนินงานภายใต้กลยุทธ์ Greener & Smarter ที่มุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีความชาญฉลาด โดยอาศัยนวัตกรรมเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนช่วย เพื่อให้สอดคล้องกับความท้าทายด้านความเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมพลังงานที่จะเกิดขึ้น ซึ่งจะประกอบไปด้วย 3D ด้วยกัน ได้แก่  Digitalization Decarbonization และ Decentralization

Digitalization : เป็นแนวคิดของการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ในอุตสาหกรรมพลังงาน โดยบ้านปูอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบการจัดการพลังงาน ซึ่งจะเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่จะเข้ามารองรับการใช้พลังงานทางเลือกอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการสนับสนุนการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ  ร่วมกัน 

นอกจากนี้บ้านปู ยังมีการจัดตั้ง Banpu Innovation Venture ภายใต้การดำเนินงานของ  Banpu VC เพื่อมุ่งเน้นการลงทุนในเทคโนโลยี contactless โดยที่ผ่านมาได้มีการลงทุนในแอพพลิเคชั่น เช่น Muvmi บริการรถสามล้อ และ HAUPCAR แพลตฟอร์มสำหรับเช่ารถ เป็นต้น ทั้งนี้บ้านปูยังได้มีการใช้ Data ในการวิเคราะห์ และออกแบบบริการที่สามารถให้บริการลูกค้าได้อย่างเหมาะสมเฉพาะคนด้วย

Decarbonization : ปัจจุบันหลายประเทศต่างให้ความสำคัญในการวางเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอน ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง โดยบ้านปู ได้มีการวางเป้าหมายเพื่อให้สอดคล้องกับ sustainable development goal ขององค์การสหประชาชาติประการที่ 7 ที่มุ่งเน้นด้านการจัดหาพลังงานที่ยั่งยืนให้กับทุกคน (sustainable energy for all) 

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา บ้านปูได้มีการจัดสรรการลงทุนกว่า 95% ในโครงการพลังงานสะอาด โดยบริษัทคาดว่าสัดส่วนของพลังงานทางเลือกจะมีมากกว่า 60% ในพอร์ตการลงทุนทั้งหมดของบ้านปูภายในปี 2568 โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อการลงทุนนั้น บ้านปูจะคำนึงถึง 3 ด้านด้วยกัน ได้แก่ ความคุ้มค่า ความน่าเชื่อถือและความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านพลังงานสีเขียว 

Decentralization : การกระจายตัวของแหล่งผลิตและจำหน่ายพลังงาน ที่จะทำให้สามารถเข้าถึงประชาชนได้มากขึ้น ในบริบทของประเทศไทยรัฐบาลเป็นผู้ผูกขาดการให้บริการไฟฟ้า ดังนั้นหนึ่งในกลยุทธ์ของการกระจายอำนาจ หรือ การดิสรัประบบผูกขาดที่พึงกระทำได้นั้น คือ การติดตั้ง Solar Cell ให้กับลูกค้ารายย่อย ที่ประชาชนต่างก็สามารถผลิตไฟฟ้าใช้เองได้

โดยที่ผ่านมา บ้านปู ได้เข้าซื้อหุ้นกว่า 47.7% ของบริษัทผลิตแบตเตอรี่ในประเทศสิงคโปร์ เป็นบริษัทที่สามารถผลิตแบตเตอรี่ที่มีสามารถกักเก็บพลังงานได้สูงถึง 1 Gigawatt-hour ซึ่งมีกำลังการผลิตสูงที่สุดในอาเซียน จากการที่แบตเตออรี่ถือเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญของโครงสร้างพื้นฐานสำหรับพลังงานทางเลือก และเพื่อรองรับความมั่นคงด้านพลังงานในอนาคตด้วย   

ด้วยนวัตกรรมดังกล่าว จะทำให้กลยุทธ์การกระจายตัวของแหล่งผลิตพลังงานของบ้านปู มีความยืดหยุ่นสูง โดยบริษัทจะสามารถนำเสนอ  Solar Cell ให้กับกลุ่มค้าที่หลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น บ้านเรือน มหาวิทยาลัย โรงพยาบาล หรือแม้กระทั่งงานเทศกาลดนตรี อย่าง Big Mountain ซึ่งจะต้องใช้พลังงานไฟฟ้าตลอดเวลา ได้ใช้บริการพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ของบ้านปูเช่นกัน

เป้าหมายของบ้านปู ในระยะต่อไป คือ การพัฒนาระบบไมโครกริดขนาดใหญ่ และการทำ Solar Farm ที่สามารถขับเคลื่อนได้ทั้งเกาะ ที่ไม่สามารถเข้าถึงการใช้พลังงานไฟฟ้าจากส่วนกลางของประเทศไทย  

นอกจากนี้บ้านปู ยังได้มีการขยายธุรกิจไปยัง รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งอยู่ภายใต้การดำเนินงานของ Banpu NEXT บริษัทย่อยของบ้านปู ที่ก่อนหน้านี้เพิ่งได้มีการเปิดแพลตฟอร์มสำหรับการใช้รถยนต์ EV เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปในอุตสาหกรรมยานยนต์ ทั้งนี้ที่ผ่านมา Banpu NEXT ยังได้เปิดตัว eFerry ซึ่งเป็นเรือเฟอร์รี่ไฟฟ้าลำแรกในประเทศไทยอีกด้วย  

นอกจากนี้ Jeffrey Char ผู้ก่อตั้ง SOGO Energy ซึ่งเป็นผู้ดำเนินรายการตลอดการสัมภาษณ์ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ บ้านปู โดยเขาได้ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับผลกระทบของ  COVID-19 ที่มีต่อภาคพลังงาน ว่าทางบ้านปูเตรียมความพร้อมอย่างไรต่อประเด็นดังกล่าว โดยคุณสมฤดี ได้เปิดเผยว่า การเข้ามาของ COVID-19 ได้ส่งผลให้ผู้คนต้องมีการทบทวน และคิดใหม่เกี่ยวกับวิถีชีวิตในเมือง ไม่ว่าจะเป็นการปรับเปลี่ยนการทำงานมาทำที่บ้านมากขึ้น แน่นอนว่าการใช้พลังงานก็ย่อมมากขึ้นไปด้วย และจากการที่บ้านปูเอง อยู่ระหว่างเตรียมพร้อมสำหรับการพัฒนา Smart City จึงได้เห็นถึงโอกาสที่จะขยายกลยุทธ์การกระจายแหล่งผลิตพลังงาน ไปสู่ภาคบ้านเรือนมากขึ้น  

อย่างไรก็ตาม  COVID-19 ยังได้เข้ามาทำให้เห็นโอกาสใหม่ ๆ ของการพัฒนา Smart City ที่ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่แวดวงของการใช้พลังงาน แต่ทำให้เกิดเป็นแนวคิดของการสร้างแพลตฟอร์มที่รวมเทคโนโลยีทั้งหมดเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรอีกด้วย โดยบ้านปูจะใช้ประโยชน์จากโอกาสดังกล่าวที่จะมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับร้านค้าปลีก และระบบไมโครกริดที่ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ อย่างครบวงจร 

“ท้ายที่สุดแล้วเราเชื่อว่า พลังงานสะอาด จะเป็นอนาคตของอุตสาหกรรมพลังงาน" คุณสมฤดี กล่าว

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

‘Yindee’ แชตบอตในแอป ttb Touch ใช้ Gen AI จับความรู้สึก ตอบเร็วและฉลาดกว่าที่เคย

Yindee แชตบอตที่อยู่บน Mobile Banking ของ ttb ทำงานผ่านแอป ttb Touch สามารถจับ Mood & Tone ของลูกค้าหรือผู้ใช้บริการ ว่าขณะแชตนั้น ลูกค้าอยู่ในอารมณ์ไหน ด้วย Generative AI โดย Azur...

Responsive image

คนอยากใช้พลังงานเยอะ แต่โลกอยากได้ปล่อยคาร์บอนน้อย บริษัทพลังงานแก้ไขความย้อนแย้งนี้อย่างไรดีในยุค AI

The Energy/Prosperity Paradox หรือภาวะย้อนแย้งแห่งพลังงาน และความเจริญ ถือเป็นความท้าทายระดับโลกที่บริษัทด้านพลังงานกำลังพบเจอ เพราะในตอนนี้โลกกำลังต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นอย่างไม่เ...

Responsive image

เศรษฐกิจไทย ‘ฟื้นตัว’ แล้วหรือยัง ? ฟังความเห็นจาก 3 ผู้นำธุรกิจยักษ์ใหญ่ไทย

ค้นพบศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงไทย จีน สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม และกัมพูชา พร้อมโอกาสการลงทุนที่น่าสนใจในภาคอุตสาหกรรม การเงิน และเทคโนโลยี...