ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเมื่อเราพูดถึงอีคอมเมิร์ซ แน่นอนว่าคำนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร แต่ด้วยพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป คนไปอยู่กันบนโลกโซเชียลมากกว่าการเปิดเว็บฯ ทั่วไป ทำให้เกิดรูปแบบการซื้อขายอย่าง Social Commerce และอีกหนึ่งคำที่คนไทยไม่รู้ไม่ได้ นั่นคือการที่รัฐบาลได้ประกาศเรื่อง PromptPay ออกมา ทั้ง 2 คำนี้เป็นสิ่งที่คนมักสอบถามเข้ามาทางเว็บฯ บ่อยๆ เราจึงมาขยายความเพื่อทำความรู้จักกับมันมากขึ้นดีกว่า
เราช็อปปิงกันได้ทุกวันทุกเวลา เพราะเดี๋ยวนี้ต้องการสินค้าอะไรก็เสิร์ชหาข้อมูลผ่าน Search Engine ผ่านเว็บไซต์ e-Commerce หรือที่นิยมมากก็ Social Commerce (SC) Social Commerce หรือ Social Business จัดว่าเป็นส่วนย่อยของ e-Commerce โดยพัฒนามาจาก Social Media ที่สร้างขึ้นจาก Web 2.0 software ซึ่งตอนแรกนิยมใช้เพื่อติดต่อสื่อสาร เปิดเป็นคอมมูนิตี้ต่างๆ เช่น Facebook, Instagram, Twitter, LINE แต่ใช้ไปใช้มา ก็ได้รับการพัฒนาให้มีพื้นที่สำหรับค้าขาย แบรนด์ใหญ่ๆ คนดังๆ คนเล็กคนน้อยก็เข้าไปขายของได้มากมายเหลือเกิน Social Commerce จึงเป็นทางผ่านของกิจกรรมและการซื้อขายที่เติบโตได้อย่างรวดเร็ว และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อย่างมหาศาล
มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก พูดไว้ตั้งแต่ปี 2553 แล้วว่า
“ถ้าให้ผมเดา สิ่งที่จะปฏิวัติวงการครั้งต่อไป คือ Social Commerce”
[Mark Zuckerberg said, “If I had to guess, social commerce is next to blow up.”]
เมื่อมองย่อยลงไปจาก Social Commerce ยกตัวอย่าง Facebook ที่เปิดโอกาสให้ผู้ใช้งานเข้าไปสร้างเพจ ซื้อขายสินค้าผ่านเฟซบุ๊ก จากที่เป็นคอมมูนิตี้ เป็น Social Media ที่มีไว้โพสต์ภาพ พูดคุยขำๆ ก็กลายเป็น Facebook Commerce หรือ f-Commerce ซึ่งผู้ประกอบการมากมายที่มีเว็บไซต์ มี e-Commerce ของตัวเองก็ยังกระโดดลงมาเป็น Player สร้างคอมมูนิตี้ โปรโมทสินค้าและบริการผ่านแบรนด์เพจ
เครื่องมือบน Facebook มีฟีเจอร์ที่เอื้อต่อการค้าขายสินค้าและบริการมาก เช่น ให้โพสต์ภาพและข้อมูลสินค้า ให้โพสต์วิดีโอ ให้แสดงความคิดเห็น ให้กด Like ให้แชร์ต่อ ให้ tag เพื่อนที่รูปสินค้าเพื่อให้เพื่อนเห็น การทำโฆษณาบนเฟซบุ๊กเพื่อให้ผ่านสายตาผู้บริโภคตามอายุ เพศ ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของสินค้า มี Bots for Messenger ระบบพูดคุย โต้ตอบ ที่แบรนด์ใช้กับลูกค้าของตัวเองได้ผ่านแอพ Messenger เหมือนคุยกับคนปกติ และใช้สั่งซื้อสินค้าได้
สินค้าและบริการที่มีคุณภาพ ซึ่งผู้ขายหรือพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ทำตลาดได้อย่างเหมาะสม ใช้แคปชั่นที่น่าสนใจ โดนใจ เรียกร้องความสนใจจากผู้ซื้อชาวไทยให้มาเป็นลูกค้าได้ ซึ่งการที่ลูกค้าเป็น User บน Facebook มีโอกาสเสมอที่ลูกค้าจะทำหน้าที่เป็นผู้เล่า ผู้กระตุ้น โน้มน้าวใจ สร้าง Viral Marketing ได้ว่าสินค้าหรือบริการใดมีคุณภาพดี หรือสร้างกระแสต่อต้านสินค้าและบริการนั้นๆ หากสินค้าไม่มีคุณภาพเพียงพอ ได้รับบริการที่ไม่พึงพอใจ หรือสินค้าชำรุดก่อนถึงมือ
การที่ผู้ค้าปลีก แบรนด์ เข้ามาเล่นหรือสร้างตลาดใน Social Commerce จึงช่วยให้ผู้ค้าเป็นที่รู้จักอย่างรวดเร็วผ่านเน็ตเวิร์ก โอกาสค้าขายได้กำไรก็มีมากขึ้น เพราะผู้บริโภคเห็นความเคลื่อนไหว ความน่าเชื่อถือ และหากมีข้อเสนอพิเศษก็อาจหนุนให้ตัดสินใจซื้อสินค้าได้เร็วขึ้น
แต่การทำ Social Commerce จากเทคโนโลยีของ Social Media หากแบรนด์ยังไม่เป็นที่รู้จักอาจต้องเหนื่อยกับการทำเพจ ทำเว็บไซต์ให้น่าสนใจ ร่วมกับการสร้างฐานลูกค้า สร้างความน่าเชื่อถือในช่วงแรก จากนั้นผู้ค้าปลีกหรือแบรนด์ก็จำเป็นที่จะต้องสร้างการรับรู้ (Brand Awareness) ให้แก่ลูกค้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อทำให้เกิดความนิยม มีลูกค้าขาประจำ และต่อยอดไปสู่กลยุทธ์ Search Engine Optimization (SEO) ที่ใครๆ ก็ค้นหาสินค้าเจอ เพิ่มโอกาสในการประชาสัมพันธ์สินค้า
กล่าวได้ว่า การค้าขายออนไลน์ผ่าน Social Commerce ต้องอาศัยความสัมพันธ์ 3 ด้านในการขับเคลื่อน ได้แก่ เทคโนโลยี Social Media (Social Media Technologies), ปฏิสัมพันธ์ทางสังคม Community Interactions และ กิจกรรมทางการค้า (Commercial Activities)
จะเห็นว่าหลังจากภาครัฐออกโครงการระบบชำระเงินที่เรียกว่า พร้อมเพย์ (PromptPay) นวัตกรรมทางการเงินที่เข้ามาสนับสนุน Digital Economy สถาบันทางการเงินมากมายก็แข่งขันโปรโมทเพื่อสร้างฐานลูกค้า เพราะเป็นโอกาสสำคัญที่จะสร้าง Engagement กับลูกค้าได้ในระยะยาว คนไทยเองก็เห็นประโยชน์ในด้านความสะดวก รวดเร็ว จึงหันมาใช้พร้อมเพย์กันมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงยื่นเรื่องขอคืนเงินภาษี
พร้อมเพย์ หรือในชื่อเดิม บริการรับจ่ายผ่าน Any ID ซึ่งเป็นบริการโอนเงินและรับเงิน หลักการก็คือ ลงทะเบียนพร้อมเพย์ด้วยบัญชีเงินฝากธนาคารกับหมายเลขบัตรประชาชน หรือเบอร์โทรศัพท์มือถือ เมื่อลงทะเบียนสำเร็จก็ใช้โอนเงิน รับเงินได้เลย แต่การโอนไม่ว่าจะผ่านตู้ ATM, Mobile Banking หรือ Internet Banking จะให้ใส่ Password ก่อนโอนไปยังหมายเลขบัตรประชาชนหรือเบอร์โทรศัพท์ของผู้รับที่ลงทะเบียนพร้อมเพย์แล้วทุกครั้ง
ข้อดีของคนมีพร้อมเพย์
โอนเงินไม่เกิน 5,000 บาท ไม่คิดค่าธรรมเนียม
โอนเงินมากกว่า 5,000-30,000 บาท ค่าธรรมเนียมรายการละไม่เกิน 2 บาท
โอนเงินมากกว่า 30,000-100,000 บาท ค่าธรรมเนียมรายการละไม่เกิน 5 บาท
โอนเงินมากกว่า 100,000-วงเงินสูงสุดตามแต่ละธนาคารกำหนด ค่าธรรมเนียมรายการละไม่เกิน 10 บาท
แนะนำ : คนทั่วไปจะใช้หรือไม่ใช้พร้อมเพย์ก็ได้ แต่คนที่รับเงินบ่อยๆ ควรจะใช้บริการพร้อมเพย์ที่ผูกบัญชีธนาคารกับหมายเลขโทรศัพท์ ส่วนคนที่จะรับเงินจากหน่วยงานภาครัฐให้ใช้บริการพร้อมเพย์ที่ผูกบัญชีธนาคารกับเลขบัตรประชาชน
เคล็ดลับการโอนไม่มีค่าธรรมเนียม : สมมติต้องการโอนเงินให้เพื่อน 10,000 บาท หากโอนเงิน 10,000 บาทรวดเดียวจะเสียค่าธรรมเนียม 2 บาท แต่ถ้าแบ่งการโอนเป็น 2 ครั้ง ครั้งละ 5,000 บาท ก็จะไม่เสียค่าธรรมเนียม
ยกตัวอย่างให้เข้าใจง่าย
สมมติว่า แม่ค้าแอนขายน้ำหอมแบรนด์ DOUBLE B สำหรับผู้ที่มีปัญหาผิวแพ้ง่าย โดยโปรโมทผ่านเพจ Social Commerce อย่าง Facebook แต่แม่ค้าแอนไม่ใช่ผู้ผลิตน้ำหอมจึงจ้างโรงงานผลิต (OEM) ซึ่งแม่ค้าแอนต้องสั่งทำเทสเตอร์ สั่งผลิตน้ำหอม สั่งขวดหรือกล่องมาเป็นบรรจุภัณฑ์ สั่งทำฉลากแบรนด์ สั่งซื้อกล่องพัสดุเพื่อจัดส่ง แม่ค้าแอนก็ต้องชำระเงินให้โรงงานผู้ผลิตน้ำหอม โรงงานผู้ผลิตขวดและฉลาก ตัวแทนจำหน่ายกล่องพัสดุ
หากแม่ค้าแอนมี 3 บัญชี :
บัญชีที่ 1 ลงทะเบียนพร้อมเพย์ไว้กับเลขบัตรประชาชน (ไว้รับเงินคืนจากภาครัฐ + ใช้จ่ายกับ supplier)
บัญชีที่ 2 ลงทะเบียนพร้อมเพย์ไว้กับเบอร์โทรศัพท์มือถือ (ไว้รับเงินจากลูกค้า + ตัวแทนสำหรับค่าสินค้า)
บัญชีที่ 3 ลงทะเบียนพร้อมเพย์ไว้กับเบอร์โทรศัพท์มือถืออีกหนึ่งเบอร์ (ไว้เป็นบัญชีเงินออม)
วันอังคารที่แล้ว แม่ค้าแอนทำเรื่องขอคืนเงินภาษีผ่านพร้อมเพย์ วันศุกร์ก็ได้เงินภาษีคืนเข้ามาในบัญชีที่ 1 และเริ่มสั่งผลิตน้ำหอมรอบใหม่ โดยเลือกใช้บัญชีที่ 1 สำหรับโอนเงิน 8,000 บาท ไปยังโรงงานผู้ผลิตน้ำหอม ซึ่งเสียค่าธรรมเนียมการโอน 2 บาท (ตอนที่ยังไม่ได้ใช้พร้อมเพย์ เสียค่าธรรมเนียม 25 บาท) โอนครั้งที่ 2 ไปยังโรงงานผู้ผลิตขวด 12,000 บาท เสียค่าธรรมเนียม 2 บาท และโอนครั้งที่ 3 ไปยังผู้ผลิตกล่อง 2,000 บาท โดยไม่เสียค่าธรรมเนียมใดๆ
แต่ถ้าบัญชีที่ 1 ของแม่ค้าแอนเป็นบัญชีจัดให้และมีบัตรจัดให้ของธนาคารกรุงศรีซึ่งผูกกับพร้อมเพย์ ไม่ว่าจะมียอดเงินโอนเท่าไรก็จะไม่เสียค่าโอนไปพร้อมเพย์ ตราบเท่าที่มีบัญชีและถือครองบัตรจัดให้
ปกติแม่ค้าแอนขายน้ำหอมผ่านเพจเฟซบุ๊กเป็นหลัก เน้นการค้าขายแบบรับเงินโอนเข้าบัญชีทางตรง วันนี้มีลูกค้าติดต่อซื้อน้ำหอมมาทาง messenger ในเพจเฟซบุ๊กของแม่ค้าแอนหลายสิบคน ซึ่งลูกค้าแต่ละคนก็ใช้บัญชีธนาคารแตกต่างกัน แต่แม่ค้าแอนบอกเบอร์โทรศัพท์ที่ลงทะเบียนกับพร้อมเพย์ไว้ ไม่ได้บอกเลขบัญชีธนาคารให้ยุ่งยากเหมือนแต่ก่อน จึงช่วยประหยัดเวลาและลดความผิดพลาดจากการที่ลูกค้าจดจำเลขบัญชีผิดไปได้มาก ลูกค้าที่ใช้พร้อมเพย์ก็สามารถโอนเงินซื้อสินค้าราคาปลีกในเรทไม่กี่ร้อยบาทเข้าบัญชีที่ 2 ได้ทันที ไม่ว่าจะใช้ธนาคารใดก็ไม่เสียค่าธรรมเนียม และเมื่อ แจน ลูกค้าวัยทำงานที่ชื่นชอบผลิตภัณฑ์มาก ขอเป็นตัวแทนจำหน่ายน้ำหอมต่อ ก็โอนเงินมัดจำค่าน้ำหอมเข้าบัญชีที่ 2 ของแม่ค้าแอน 4,000 บาท โดยไม่เสียค่าธรรมเนียม เมื่อได้สินค้าครบจึงโอนเงินที่เหลือไปสมทบ และหลังจากปิดรอบบัญชีของทุกเดือน แม่ค้าแอนก็จะโอนกำไรส่วนหนึ่งจากบัญชีที่ 2 เข้าบัญชีที่ 3 ไว้เป็นเงินเก็บ
จากตัวอย่างนี้สังเกตได้ว่า หากใช้บริการโอนเงิน รับเงินผ่าน e-Payment อย่างพร้อมเพย์ แม่ค้าแอนมี Transaction ในบัญชีธนาคารได้โดยไม่ต้องจับเงินสด ไม่ต้องเสียเวลาไปธนาคาร ทั้งฝั่งโรงงานและลูกค้าก็สะดวกโอนเงิน รับเงินได้เช่นเดียวกัน
พร้อมเพย์จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะเข้ามาร่วมเปลี่ยนวิธีที่ผู้บริโภคชาวไทยใช้โอนเงิน ชำระเงิน จับจ่ายใช้สอยในด้านต่างๆ ร่วมไปกับเทรนด์ Cashless Society ซึ่งหลายประเทศได้เปลี่ยนรูปแบบการใช้เงินล่วงหน้าไปหลายปีแล้ว เช่นที่สวีเดนปฏิวัติการจับจ่ายใช้สอยด้วยการประกาศยกเลิกการใช้เงินสดในการทำธุรกรรมและการค้าใดๆ แล้วให้ชาวสวีเดนหันไปใช้เงินดิจิทัล โดยรัฐออกแอปพลิเคชั่น Swish Payment มารองรับการทำธุรกรรมตั้งแต่ปี 2554 และตั้งแต่ใช้ e-Payment ชาวสวีเดนก็รู้สึกว่าชีวิตสะดวกสบายขึ้น ปลอดภัยขึ้นมากที่ไม่ต้องพกเงินสด
…………………………
บทความนี้เป็น Advertorial
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด