SWIFT ระบบโอนเงินระดับโลกที่อยู่เบื่องหลังการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ | Techsauce

SWIFT ระบบโอนเงินระดับโลกที่อยู่เบื่องหลังการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ

การทำธุรกรรมระหว่างประเทศเกิดขึ้นได้อย่างไร ? เมื่อมีการค้าระหว่างประเทศย่อมมีการชำระราคา หรือการโอนเงินจากผู้ซื้อไปยังผู้ขาย เช่น ถ้าผู้นำเข้าสินค้าซื้อสินค้าจากผู้ส่งออกชาวจีน ผู้นำเข้ามีหน้าที่ในการชำระค่าสินค้า หรือโอนเงินจากธนาคารในประเทศไทย ไปยังบัญชีธนาคารของผู้ส่งออกในประเทศจีน ซึ่งในชีวิตจริงการโอนเงินไม่ได้มีการส่งเงินในรูปแบบ ธนบัตร หรือเหรียญกษาปณ์ แต่จะใช้การส่งข้อความไปหักบัญชีระหว่างธนาคารที่มีบัญชีของผู้ซื้อสินค้า และไปเพิ่มเข้าบัญชีธนาคารของผู้ขายสินค้า ซึ่งการส่งข้อความนี้จำเป็นต้องมีการสื่อสารระหว่างธนาคารของผู้ซื้อและผู้ขาย ว่ามูลค่าธุรกรรมมูลค่าเท่าไร ทำธุรกรรมเมื่อใด ดังนั้นแล้วระบบสื่อสารที่ทำหน้าที่รับส่งข้อความระหว่างธนาคารทั่วโลกจึงถือกำเนิดขึ้น

SWIFT หรือมีชื่อเต็มว่า Society for Worldwide Interbank Financial Telecommunication คือระบบการสื่อสารของผู้ให้บริการสถาบันทางการเงินระหว่างประเทศ ก่อตั้งขึ้นในปี 1973 จากความร่วมมือของธนาคาร 239 แห่งจาก 15 ประเทศทั่วโลก ได้รวมตัวกันเพื่อแก้ไขเรื่องปัญหาด้านการสื่อสารระหว่างธนาคารในการส่งข้อความข้ามพรมแดน โดยมีสำนักงานใหญ่ในประเทศเบลเยียม โดยเริ่มมีการใช้งานในการส่งข้อความระหว่างธนาคารครั้งแรกในปี 1997 เพื่อทดแทนการใช้งาน Telex Technology

Telex Technology หรือ โทรเลขซึ่งเป็นระบบสื่อสารที่ใช้รับ-ส่งข้อความระหว่างประเทศโดยผู้ที่เป็นสมาชิกในเครือข่ายสามารถส่งต่อข้อความระหว่างกันได้โดยตรง ผ่านการป้อนหมายเลขที่กำหนดโดยเป็นวิธีในการส่งข้อความทางอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างธุรกิจต่าง ๆ ก่อนจะมีการใช้งานที่ลดลงเนื่องจากเครื่อง Fax ได้รับความนิยมมากขึ้นในปี 1980

ในช่วงแรกการโอนเงินระหว่างประเทศต้องอาศัยระบบ Correspondent Banking หรือ ธนาคารตัวแทนต่างประเทศ ผ่านสายโทรเลขที่ธนาคารผู้ส่งเงินและผู้รับเงินใช้ เพื่อรับส่งข้อความคำสั่งการโอนเงิน แม้ว่าจะสามารถใช้งานได้แต่มีข้อจำกัดด้านระยะเวลาการรับข้อความที่ช้า ทำรายการได้ไม่เกิน 10,000 รายการต่อวัน และไม่มีมาตราฐานในการส่งข้อความ ทำให้มีความเสี่ยงในการทำธุรกรรมที่ผิดพลาด

ตัวอย่างการทำธุรกรรมด้วยระบบ Correspondent Banking ระหว่างธนาคารผู้นำเข้าที่มีบัญชีกับธนาคาร A ไปยังผู้ส่งออกที่มีบัญชีกับธนาคาร C

  • กรณีที่ 1 หากธนาคาร A และ ธนาคาร C มีเครือข่ายที่เชื่อมต่อกันโดยตรง 

  • กรณีที่ 2 หากธนาคาร A และ ธนาคาร C ไม่มีเครือข่ายที่เชื่อมต่อกันโดยตรง จึงจำเป็นต้องหาตัวกลางมาเชื่อมโดยทั่วไปมักจะเป็นธนาคารของประเทศที่เป็นศูนย์กลางทางการเงิน เช่น สหรัฐฯ เช่น ธนาคาร B เพื่อให้สามารถทำธุรกรรมได้ ธนาคาร A จำเป็นต้องส่งข้อความผ่าน ธนาคาร B แล้วให้ธนาคาร B ส่งต่อข้อความต่อไปยังธนาคาร C จึงจบกระบวนการทำธุรกรรม ซึ่งใช้ระยะเวลานาน ประกอบกับค่าธรรมเนียมที่สูง

เมื่อมีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีทำให้อุตสาหกรรมการเงินการธนาคารพัฒนาอยู่ในยุคดิจิทัล ธนาคารแต่ละประเทศจึงร่วมมือกันพัฒนาระบบสื่อสารกลางอย่างระบบ SWIFT ที่เป็นแพลตฟอร์มที่มีรูปแบบข้อความเป็นของตัวเอง เพื่อให้ธนาคารที่เป็นสมาชิกสามารถส่งข้อความการทำธุรกรรมได้อย่างเป็นมาตรฐานสากล รวดเร็ว ปลอดภัย และลดความผิดพลาด

ภาษาที่ใช้ในระบบ SWIFT จะไม่ได้เป็นรูปแบบเบอร์โทรศัพย์มือถืออย่างระบบ PromptPay หรือเลขบัญชีธนาคารแต่จะใช้รูปแบบ ระบบส่งข้อความมาตรฐาน SWIFT Bank Identifier Codes (BIC) หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า SWIFT Code คือ ภาษาในระบบ SWIFT เป็นรูปแบบมาตรฐานของรหัสธนาคารที่ใช้ในการโอนเงินระหว่างประเทศ ประกอบด้วย

  • รหัสธนาคาร 4 หลัก
  • รหัสประเทศ 2 หลัก
  • รหัสที่อยู่ธนาคาร 2 หลัก
  • รหัสสาขาธนาคาร 3 หลัก (optional)

เช่น หากต้องการโอนเงินไป Bank of America สาขาสำนักงานใหญ่ ที่นครนิวยอร์ก ต้องระบุรายละเอียดของผู้รับเงิน เช่น ชื่อบัญชี เลขที่บัญชี ที่อยู่ของผู้รับเงิน และ SWIFT Code "BOFAUS3NXXX" ทั้งนี้ ยังมีข้อมูลรายละเอียดอื่น ๆ ที่จะส่งไปพร้อมกันด้วย อาทิ หมายเลขอ้างอิง และรูปแบบของการโอน โดยรหัสทั้งหมดอยู่ในรูปแบบมาตรฐานของ SWIFT

ปัจจุบันระบบ SWIFT มีธนาคารและสถาบันที่เป็นสมาชิกกว่า 11,000 แห่งจาก 200 ประเทศทั่วโลกตั้งแต่ ธนาคาร บริษัทบริหารสินทรัพย์ สถาบันนายหน้า ธุรกิจองค์กร นายหน้าแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ไปจนถึงหน่วยงานรัฐบาล โดยข้อมูล ณ 15 พฤศจิกายน 2022 มีจำนวนข้อความที่ถูกส่งหากันผ่านระบบสื่อสารกว่า 47.20 ล้านข้อความต่อวัน หรือ 9,681 ล้านข้อความในปี 2022 คิดเป็นการเติบโตจากต้นปีถึง 7.57% โดยมีค่าความเสถียรของระบบ (Network Availability) ที่ 99.999%

สุดท้ายแล้วแม้ SWIFT จะเป็นที่นิยม แต่ยังคงมีค่าธรรมเนียมสูงและใช้เวลานาน เช่น โอนเงินจำนวน 200 ดอลลาร์สหรัฐฯ จากไทยไปบางประเทศมีค่าธรรมเนียมสูงถึง 1,650 บาท หรือคิดเป็นประมาณ 28% ของยอดเงินที่โอน เนื่องจากเป็นการบริการที่มีหลายขั้นตอน บางกรณีที่ธนาคารที่ทำธุรกรรม ไม่ได้มีเครือข่ายเชื่อมต่อกับธนาคารปลายทางทำให้ต้องส่งข้อความผ่านธนาคารหลายทอด ทำให้ค่าธรรมเนียมต่อครั้งสูง และใช้เวลาการโอนเงินอย่างน้อย 3-5 วันทำการ ประกอบกับเวลาทำการของธนาคารในแต่ละประเทศที่แตกต่างกันทำให้มีการรับและส่งข้อความไม่ต่อเนื่อง จึงเหมาะกับการทำธุรกรรมที่มีมูลค่าสูง ไม่ค่อยพบการใช้งานสำหรับผู้ใช้งานบุคลธรรมดาในชีวิตประจำวัน หรือการโอนเงินของกลุ่มที่ไปทำงานจากต่างประเทศและต้องการส่งต่อรายได้กลับมายังประเทศตน

นอกจากนี้ยังมีทางเลือกอื่นในการทำธุรกรรมระหว่างประเทศอย่างระบบ SPFS หรือ System for Transfer of Financial Messages ของธนาคารกลางรัสเซีย, CIPS หรือ Cross-Border Interbank Payment System ของประเทศจีน หรือการพัฒนาสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อมีเป้าหมายในการเป็นระบบในการส่งต่อมูลค่าระหว่างประเทศ ที่จะช่วย ลดระยะเวลาและลดค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมอย่างโครงการ mBridge ของธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ เพื่อพัฒนาการโอนเงินข้ามพรมแดนผ่านการใช้งาน CBDC

อ้างอิง : บิทคับ อินฟินิตี้ Bitkub Infinity

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

‘Yindee’ แชตบอตในแอป ttb Touch ใช้ Gen AI จับความรู้สึก ตอบเร็วและฉลาดกว่าที่เคย

Yindee แชตบอตที่อยู่บน Mobile Banking ของ ttb ทำงานผ่านแอป ttb Touch สามารถจับ Mood & Tone ของลูกค้าหรือผู้ใช้บริการ ว่าขณะแชตนั้น ลูกค้าอยู่ในอารมณ์ไหน ด้วย Generative AI โดย Azur...

Responsive image

คนอยากใช้พลังงานเยอะ แต่โลกอยากได้ปล่อยคาร์บอนน้อย บริษัทพลังงานแก้ไขความย้อนแย้งนี้อย่างไรดีในยุค AI

The Energy/Prosperity Paradox หรือภาวะย้อนแย้งแห่งพลังงาน และความเจริญ ถือเป็นความท้าทายระดับโลกที่บริษัทด้านพลังงานกำลังพบเจอ เพราะในตอนนี้โลกกำลังต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นอย่างไม่เ...

Responsive image

เศรษฐกิจไทย ‘ฟื้นตัว’ แล้วหรือยัง ? ฟังความเห็นจาก 3 ผู้นำธุรกิจยักษ์ใหญ่ไทย

ค้นพบศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงไทย จีน สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม และกัมพูชา พร้อมโอกาสการลงทุนที่น่าสนใจในภาคอุตสาหกรรม การเงิน และเทคโนโลยี...