อาณาจักรฟาร์มปลูกพืชในร่มของ Plenty Inc. และเดิมพันครั้งประวัติศาสตร์จาก Softbank | Techsauce

อาณาจักรฟาร์มปลูกพืชในร่มของ Plenty Inc. และเดิมพันครั้งประวัติศาสตร์จาก Softbank

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของการประกวด Tech Saucier of The Year 2018 ในระดับ Professional เขียนโดย ผศ. ดร. สิริวัฒน์ สาครวาสี คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เชียงใหม่

ธุรกิจการจัดการฟาร์มรูปแบบใหม่ในปีที่ผ่านมาถือว่ากำลังอยู่ในช่วงขาขึ้นแบบสุดๆ เห็นได้จากข้อมูลของเว็บไซต์ Agfunder ที่บ่งชี้ว่าเงินลงทุนกับบริษัทสตาร์ทอัพในกลุ่มนี้เพิ่มสูงขึ้นแบบก้าวกระโดดเมื่อเทียบกับปีก่อน เมื่อพิจารณาข้อมูลโดยละเอียดจะพบว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้เงินลงทุนเพิ่มขึ้นมาจากการลงทุนครั้งใหญ่มูลค่าถึง 200 ล้านเหรียญสหรัฐให้กับบริษัทที่ดำเนินธุรกิจฟาร์มปลูกพืชในร่มจากเมืองซานฟรานซิสโก ชื่อว่า Plenty Inc. การลงทุนครั้งนี้มี Softbank เป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ซึ่งคาดว่าจะเป็นจำนวนเงินไม่ต่ำกว่า 100 ล้านเหรียญ ถือได้ว่าเป็นการระดมทุนที่มีมูลค่าสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ของธุรกิจสตาร์ทอัพในกลุ่มเทคโนโลยีด้านการเกษตร ผ่านมาแล้วกว่าหนึ่งปีเรื่องนี้ยังคงเป็นที่สนใจของผู้คนทั่วไปและนักลงทุนว่าเพราะเหตุใด Softbank จึงเลือกลงทุนกับ Plenty Inc. ในจำนวนเงินที่สูงขนาดนั้น

กลุ่มธุรกิจฟาร์มปลูกพืชในร่มโดยใช้แสงไฟแอลอีดีมีผู้เล่นหลักอยู่หลายรายแต่มีเพียงสามรายที่ระดมเงินทุนได้สูงติดสิบอันดับแรกของปี 2017 ที่ผ่านมา โดยแต่ละรายมีจุดเด่นที่แตกต่างกันออกไป รายแรกคือบริษัท Plenty Inc. ใช้เทคโนโลยีการปลูกพืชในแนวตั้งที่เป็นเอกลักษณ์ โดยระบบปลูกมีลักษณะเป็นเสาหรือกำแพงที่ให้พืชเจริญออกมาจากด้านข้าง การวางระบบแบบนี้ทำให้ประหยัดวัสดุสำหรับใช้ทำโครงสร้างได้มาก รายที่สองคือบริษัท AeroFarms ซึ่งตั้งอยู่ในนิวเจอร์ซีย์ บริษัทนี้ใช้การปลูกพืชแนวนอนอยู่ในชั้นที่ซ้อนกันในแนวตั้งสูงถึงราว 12 ชั้น จุดเด่นของ AeroFarms คือเทคโนโลยีแอโรโพนิกส์ซึ่งเป็นการพ่นสารละลายธาตุอาหารพืชเป็นฝอยขนาดเล็กให้กับรากพืชโดยตรง ระบบลักษณะนี้มีปริมาณน้ำที่ขังอยู่บนชั้นน้อยทำให้น้ำหนักของชั้นปลูกเบาจึงซ้อนกันขึ้นไปในแนวตั้งได้หลายชั้น รายที่สามคือบริษัท Bowery Farming Inc.จากนิวยอร์ก ใช้ระบบปลูกพืชในสารละลายตามแนวนอนโดยมีชั้นปลูกที่ซ้อนกันขึ้นไปประมาณ 5 ชั้น จุดเด่นของโบเวอรี่คือการนำระบบอัตโนมัติมาใช้ในกระบวนการผลิตทำให้ประหยัดแรงงานคนได้มาก เมื่อดูผิวเผินทั้งสามบริษัทที่กล่าวมาต่างก็มีเทคโนโลยีที่มีความโดดเด่นแตกต่างกันไปคนละอย่าง แต่เพราะเหตุใด Softbank ถึงเลือกหนุนหลัง Plenty Inc. เพื่อตอบคำถามนี้เราอาจต้องทำความเข้าใจวิสัยทัศน์ในการลงทุนของ Softbank เสียก่อน

Softbank ก่อตั้งโดย มาซาโยชิ ซัน (Masayoshi Son ชื่อเล่นที่เรียกกันคือ มาซา) ชาวญี่ปุ่นเชื้อสายเกาหลีที่ถูกจัดอันดับให้เป็นผู้ที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศญี่ปุ่นเวลานี้ Softbank ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1981 โดยเริ่มต้นจากการทำธุรกิจขายชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์และมีการเติบโตอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นบริษัทโฮลดิ้งที่เน้นการลงทุนในธุรกิจด้านเทคโนโลยี ในปี ค.ศ. 1999 Softbank ลงทุน 20 ล้านเหรียญกับธุรกิจ e-Commerce ขนาดกลางจากประเทศจีนรายหนึ่งที่มีเจ้าของชื่อ แจ็ค หม่า ใช่แล้วครับ บริษัท อาลีบาบา นั่นเอง ในปัจจุบันเงินจำนวนนั้นมีมูลค่าเพิ่มกลายเป็น 100,000 ล้านเหรียญ มาซา ถูกยกย่องว่าเป็นนักลงทุนที่มีวิสัยทัศน์ยอดเยี่ยมที่สุดคนหนึ่ง เมื่อปลายปี 2016 เขาเขย่าวงการเทคโนโลยีด้วยการประกาศระดมทุนก้อนใหญ่ที่เรียกว่า “Vision Fund” ซึ่งตั้งเป้าไว้ที่ 100,000 ล้านเหรียญ ทุนก้อนนี้จะถูกนำไปลงทุนกับบริษัทสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีที่มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยที่การลงทุนแต่ละครั้งจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 100 ล้านเหรียญ ในปี 2017 ที่ผ่านมา Plenty Inc. ก็เป็นหนึ่งในบริษัทสตาร์ทอัพหลายแห่งที่ได้รับเงินลงทุนจาก Vision Fund เป็นที่เข้าใจกันว่าเป้าหมายสูงสุดของ มาซา ในการระดมทุนก้อนนี้นั้นคือการปฏิวัติโลกของเทคโนโลยีครั้งยิ่งใหญ่ในทุกมิติ ดังนั้นบริษัทที่เขาจะลงทุนด้วยก็จะต้องมีความทะเยอทะยานในระดับที่สูงกว่าบริษัทสตาร์ทอัพทั่วๆไปอย่างชัดเจน

ย้อนกลับมาที่คำถามที่ได้เริ่มไว้ตั้งแต่ต้นว่าเพราะเหตุใด Softbank ถึงเลือกลงทุนกับ Plenty Inc. โดยส่วนตัวแล้วผมวิเคราะห์ว่ามีสามเหตุผลหลักที่เป็นไปได้ เหตุผลแรกคือ Plenty Inc.มีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนในแง่ของการสร้างเครือข่ายระบบฟาร์มในร่มให้ครอบคลุมทั้งโลก โดยเมื่อต้นปี 2018 ที่ผ่านมา แมทธิว บาร์นาร์ด (Matthew Barnard) CEO ของบริษัทเดินทางไปที่กรุงปักกิ่งเพื่อจ้างพนักงานสำหรับการมองหาสถานที่สำหรับการสร้างฟาร์มในจีนแล้ว โดยในเบื้องต้นบาร์นาร์ดระบุว่าฟาร์มของ Plenty Inc.แต่ละแห่งจะมีขนาดมโหฬารถึงราว 12,000 - 40,000 ตารางเมตร (ปกติต้นทุนของระบบปลูกพืชในร่มเฉลี่ยอยู่ที่ราว 120,000 บาทต่อตารางเมตร ลองคิดดูว่าต้องใช้ทุนสูงขนาดไหนในการสร้าง) นอกจากจีนแล้วบาร์นาร์ดยังพบกับตัวแทนรัฐบาลจากประเทศอื่นๆอีกจำนวนหนึ่งด้วยเพื่อหารือถึงความเป็นไปได้ในการขยายกิจการในประเทศเหล่านั้น เมื่อเปรียบเทียบกับบรรดาบริษัทสตาร์ทอัพอื่นๆที่ดำเนินธุรกิจฟาร์มปลูกพืชในร่ม Plenty Inc. นั้นเป็นบริษัทเดียวที่แสดงท่าทีอย่างชัดเจนที่สุดว่าต้องการสร้างเครือข่ายฟาร์มในร่มระดับโลกมาตั้งแต่แรก ด้วยวิสัยทัศน์ที่อลังการแบบนี้เองที่น่าจะตรงกับความต้องการของ Softbank

เหตุผลที่สองคือ Plenty Inc. นั้นอาจจะมี “หมัดเด็ด” เป็นเทคโนโลยีบางอย่างซึ่งกำลังถูกพัฒนาอยู่และยังไม่ได้เปิดเผยสู่สาธารณชน เป็นไปได้ว่าสิ่งนี้เกี่ยวข้องกับระบบอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์ เนื่องจากในตอนหนึ่งของการสัมภาษณ์โดยนักข่าวจากเว็บไซต์ Agfunder บาร์นาร์ด พูดถึงความสำคัญของการใช้ระบบอัตโนมัติเพื่อลดการพึ่งพาแรงงานคน พร้อมกับเผยออกมาว่าบริษัทกำลังพัฒนาบางสิ่งที่แปลกใหม่สุดๆเกี่ยวข้องกับหุ่นยนต์ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการผลิต อีกหนึ่งความเป็นไปได้ของหมัดเด็ดนี้คือเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน เนื่องจากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา Plenty Inc รับอดีตพนักงานของ Tesla เข้าทำงาน 2 คนและหนึ่งในนั้นคือ เคิร์ท เคลตี้ (Kurt Kelty) ซึ่งเคยเป็นผู้อำนวยการด้านเทคโนโลยีแบตเตอรี่ของ Tesla มาก่อน เคลตี้นั้นเข้ามาร่วมกับ Plenty Inc. หลังจากที่บริษัทได้รับทุนจาก Vision Fund เพียงไม่นาน พลังงานไฟฟ้าถือเป็นปัจจัยหลักของการทำฟาร์มในร่มโดยคิดเป็นประมาณ 28% ของต้นทุนดำเนินการทั้งหมด ดังนั้นความสำเร็จของการทำฟาร์มในร่มจึงขึ้นอยู่กับการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพเป็นสำคัญ

เหตุผลที่สามคือ Plenty Inc. นั้นไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเพียงแค่การผลิตผักใบเหมือนกับบริษัทอื่นๆ แต่สนใจที่จะผลิตผักกินผลอย่าง มะเขือเทศ รวมไปถึงผลไม้ด้วย ทั้งนี้บาร์นาร์ดเคยให้ข้อมูลว่าฟาร์มของ Plenty Inc. สามารถผลิตสตรอเบอร์รี่ได้แล้ว นอกจากนี้ทีมวิจัยของบริษัทยังทดลองปลูกพืชที่ไม่ใช่ผักใบอีกหลายชนิดมาระยะหนึ่งแล้วด้วย โดยบริษัทมีเป้าหมายที่จะทำให้ต้นทุนการผลิตผักและผลไม้เหล่านี้ใกล้เคียงกับการผลิตในรูปแบบดั้งเดิมมากที่สุด ด้วยศักยภาพการผลิตที่ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ผักใบนี้เอง ที่อาจทำให้ Plenty Inc. ถูกมองว่ามีเทคโนโลยีที่เหนือชั้นกว่าบริษัทอื่นในกลุ่มธุรกิจเดียวกันอยู่ในระดับหนึ่ง

สามเหตุผลที่กล่าวมาทั้งหมดนี้น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้ Softbank เลือกลงทุนกับ Plenty Inc. เชื่อแน่ว่า มาซา คงคาดหวังให้ Plenty Inc.เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิวัติเทคโนโลยีครั้งยิ่งใหญ่ของมวลมนุษยชาติที่เขาเป็นคนจุดประกายขึ้นอย่างแน่นอน

อ้างอิงที่มาของข้อมูล

  • agfunder.com
  • crunchbase.com
  • bloomberg.com
  • cnbc.com
  • plenty.ag
  • Kozai, T., Niu, G., and Takagaki, M. (2016) Plant Factory: An indoor vertical farming system for efficient quality food production. Ed. Academic Press, Elsevier.

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

สองวิธีเรียกคืนอำนาจบริหารจากบริษัทตัวเอง ถกประเด็นน่ารู้จากซีรีส์ Queen of tears

เจาะลึกประเด็นซีรีส์ Queen of tears การต่อสู้แย่งชิงอำนาจบริหาร Queens Group กำลังทวีความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ในความเป็นจริงแล้ว ในความเป็นจริงแล้ว ตระกูลฮงจะกลับมายึดคืนอำนาจบริหาร ...

Responsive image

17 เรื่อง AI ต้องรู้ จากรายงาน AI Index 2024

Techsauce ได้สรุป 17 ประเด็นสำคัญจากรายงาน AI Index Report 2024 ซึ่งจัดทำโดย Stanford Institute for Human-Centered Artificial Intelligence (HAI) ที่รวบรวมประเด็นต่างๆ ของปัญญาประดิ...

Responsive image

แนะเทรนด์ลงทุนในสตาร์ทอัพปี 2024 พร้อมช่องทางใหม่ในการระดมทุนจากงาน KATALYST TALK MEETUP #3

บทความที่เอสเอ็มอี สตาร์ทอัพควรอ่านเพื่อเป็นไกด์ไลน์ในการเผชิญความท้าทายในปีนี้ จากการรับฟังภายในงาน KATALYST TALK MEETUP #3 ‘Navigating the Startup Challenges in 2024 and Beyond’...