Standard QR Code ปฏิวัติประเทศไทยเข้าสู่สังคมไร้เงินสด การร่วมมือครั้งสำคัญของ ธปท. ธนาคารและเครือข่ายบัตรต่างๆ | Techsauce

Standard QR Code ปฏิวัติประเทศไทยเข้าสู่สังคมไร้เงินสด การร่วมมือครั้งสำคัญของ ธปท. ธนาคารและเครือข่ายบัตรต่างๆ

เราได้เห็นตัวอย่างในต่างประเทศ ยกตัวอย่างเช่นประเทศจีน ที่มีการใช้ QR Code กันอย่างแพร่หลาย แม้แต่ร้านขายของทั่วไปจนถึงขอทาน ที่ใช้ QR Code ในการรับเงิน ส่วนในประเทศไทยเรามีบริการต่างๆไม่ว่าจะเป็น Alipay , Wechat Pay ที่ได้เข้ามาเอื้อประโยชน์ให้นักท่องเที่ยวในการชำระเงินอีกเช่นกัน และในครั้งนี้เรียกได้ว่าเป็นการร่วมมือครั้งใหญ่นำโดยภาครัฐคือธนาคารแห่งประเทศไทยและธนาคาร รวมถึงเครือข่ายการชำระเงิน ในการผลักดันประเทศสู่ Cashless Society หรือ สังคมไร้เงินสด อย่างแท้จริง โดยเปิดตัว Standard QR Code ในนิยามว่า ‘QR Code มิติใหม่ของการชำระเงิน’ เพื่อร่วมกันสร้าง Ecosystem และศักยภาพการแข่งขันของระบบการเงินไทย โดยมีมาตรฐาน QR code ที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งสามารถใช้ร่วมกันได้ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ โดยจะเป็นเครื่องมือชำระเงินที่สำคัญ ในการเจาะกลุ่มตลาดกลาง และตลาดล่าง คาดว่าจะสามารถเริ่มใช้ได้ทั่วไปภายในไตรมาส 4 ปี 2560 นี้

โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมกับผู้ให้บริการเครือข่ายบัตรต่างๆ ได้แก่ American Express, JBC International (Thailand) , Mastercard, UnionPay International  และ VISA พร้อมทั้งผู้ให้บริการทางการเงินในไทย ประกอบด้วยสมาคมธนาคารแห่งประเทศไทย สภาสถาบันการเงินของรัฐ สมาคมธนาคารนานาชาติ สมาคมการค้าผู้ให้บริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ไทย สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ บริษัท National  ITMX จำกัด และบริษัท Thai Payment Network จำกัด แถลงการณ์ความร่วมมือการใช้มาตรฐาน QR code เพื่อการชำระเงิน

มาตรฐานสากล ใช้ QR Code เดียวทุกบัตร

โดยแนวทางการพัฒนามาตรฐาน QR Code นั้นไม่ต้องการให้ 1 ร้านค้ามีหลาย QR Code แต่ต้องการให้รวมเป็น QR Code เดียว เพื่อง่ายต่อการชำระเงิน จึงร่วมมือกับเครือข่ายการชำระเงิน ประกอบด้วย American Express, JCB ,MasterCard , UnionPay , Visa รวมเป็นมาตรฐานสากล ใช้เพียง QR Code เดียวเป็นประเทศแรกของโลก สามารถรองรับการชำระเงินได้หลากหลาย ประกอบด้วย บัตรเดบิต เครดิต บัญชีเงินฝากธนาคาร และบัญชี E-wallet และรองรับการชำระเงินจากต่างประเทศ

ด้านผู้ให้บริการเครือข่ายระดับโลกทั้ง 5 แห่ง มีความยินดีในการร่วมผลักดันและส่งเสริมการใช้มาตรฐาน QR Code เพื่อการชำระเงินในประเทศไทย เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ดี่ เป็นประโยชน์กับทางร้านค้าและประชาชน สำหรับผู้ให้บริการชำระเงินในประเทศไทย ได้เห็นพ้องในการนำมาตรฐานกลางนี้มาใช้ในการให้บริการชำระเงิน ซึ่งจะช่วยให้เข้าถึงและเพิ่มทางเลือกในการชำระเงิน เป็นการยกระดับการให้บริการแก่ลูกค้าให้การใช้จ่ายในชีวิตประจำวันมีความทันสมัย สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย

การใช้มาตรฐาน QR Code เพื่อการชำระเงิน มีหลักการและประโยชน์สำคัญใน 4 ด้าน คือ

  1. เป็นมาตรฐานที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล เปิดโอกาสให้ผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงและใช้งานร่วมกันได้ ทั้งรายการชำระเงินในประเทศและต่างประเทศ ร้านค้ามี QR Code เดียวก็สามารถรับชำระเงินผ่านช่องทางที่หลากหลายจากลูกค้าได้
  2. เป็นการเพิ่มช่องทางการชำระเงินที่สะดวกและมีต้นทุนต่ำให้แก่ประชาชนและร้านค้า ช่วยให้การจัดทำบัญชีและกระทบยอดเงินเข้า ง่ายกว่าการทำธุรกรรมด้วยเงินสดมาก
  3. เป็นการเพิ่มความปลอดภัยในการชำระเงิน เจ้าของบัตรไม่ต้องให้บัตรหรือข้อมูลบนบัตรแก่ร้านค้า และระบบงานที่รองรับเป็นระบบโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินที่ใช้อยู่ในปัจจุบันจึงมีความปลอดภัย
  4. สามารถต่อยอดนวัตกรรมทางการเงินที่หลากหลายโดยง่าย เป็นรากฐานสำคัญของร้านค้าขนาดกลางและขนาดเล็กที่จะเก็บข้อมูลการรับชำระเงินอย่างเป็นระบบ เพื่อให้นำไปใช้ประโยชน์ในหลายด้านรวมถึงการขอสินเชื่อ ซึ่งสถาบันการเงินในหลายประเทศได้เริ่มให้สินเชื่อโดยใช้ข้อมูลชำระเงินเป็นข้อมูลอ้างอิง (Information based lending) แทนการใช้สินทรัพย์ถาวรเป็นหลักประกัน ช่วยให้ก้าวข้ามผ่านอุปสรรคของการปล่อยสินเชื่อ SME จากเดิมที่ต้องใช้หลักประกันเพียงอย่างเดียว

รูปแบบการใช้ QR Code

  1. Static: QR Code จะไม่เปลี่ยนแปลง

ร้านค้าสามารถพิมพ์และติดไว้ที่ร้านค้าได้ตลอด จนกว่าข้อมูลการชำระเงินจะเปลี่ยนไป โดยลูกค้าเป็นผู้ใส่จำนวนเงินเอง

  1. Dynamic : QR Code จะเปลี่ยนทุกรายการ

เช่น การระบุราคาสินค้าในแต่ละรายการ โดยลูกค้าไม่ต้องใส่จำนวนเงิน กรณีนี้ QR Code จะถูกสร้างขึ้นจาก Mobile Application ของร้านค้าในแต่ละรายการ

บริการพร้อมเพย์เกี่ยวข้องอย่างไร

การพัฒนามาตรฐาน QR Code เพิ่มสำหรับประเทศไทย ได้ทำเพื่อรองรับการรับเงินจาก บัญชีเงินฝากธนาคาร และบัญชี e-Wallet  โดยตรงเพิ่มเติม โดยการส่งข้อมูลชำระเงินทำผ่านระบบพร้อมเพย์ ซึ่งได้ออกแบบให้รองรับการโอนเงินระหว่างธนาคาร ด้วยค่าธรรมที่ต่ำ ผ่าน ID ประเภทต่างๆ โดย QR code จะผูกกับ Promptpay ID (โทรศัพท์มือถือหรือหมายเลขบัตรประชาชน) ไม่ใช่บัญชีธนาคารโดยตรง ดังนั้นถ้ามีการเปลี่ยนบัญชีธนาคารก็จะไม่ได้ส่งผลกระทบอะไรกับทาง QR code โดยตรง ดังนั้นร้านค้าหรือผู้รับเงินสามารถลงทะเบียนพร้อมเพย์เพื่อเพิ่มทางเลือกในการรับชำระเงิน

อย่างไรก็ตามยังมีคนสงสัยเป็นจำนวนมากว่า QR Code จะก้าวข้ามจากกลุ่มผู้ใช้งานกลุ่มย่อยไปสู่กลุ่มประชาชนส่วนใหญ่ได้หรือไม่ ซึ่งทางสมาคมธนาคารเอง ธนาคารแห่งประเทศไทยเอง ก็กล่าวเป็นเสียงเดียวว่า เรื่องนี้ก็ต้องใช้เวลาในการยอมรับ อย่างค่อยเป็นค่อยไป ดังนั้นเรื่องการสื่อสารและให้ความรู้ก็เป็นเรื่องสำคัญ โดยต้องช่วยกันผลักดันและลดความเข้าใจแบบผิดๆ แบบที่เคยเกิดขึ้นกับ promptpay มาก่อน แต่คิดว่าตอนนี้กลุ่มผู้ค้าขายเริ่มเข้าใจและคุ้นชินกับ QR code กันมากขึ้น อย่างร้านค้าต่างๆ ตามสถานที่ท่องเที่ยวก็มักจะ QR code ของค่ายต่างชาติอยู่เป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังบอกว่า “พฤติกรรมคนเปลี่ยนได้ ถ้ามีความสะดวกสบาย”

กำหนดการ

ในการพัฒนาบริการชำระเงินด้วย QR Code นี้ ธปท. ได้เปิดให้ธนาคารและผู้ให้บริการเสนอโครงการเข้าพิจารณาใน Regulatory Sandbox เพื่อทดสอบให้มั่นใจในความถูกต้องของการทำรายการ และการดูแลผู้ใช้บริการ ซึ่งมีธนาคาร 2 แห่งอยู่ระหว่างการทดสอบ และมีอีก 6 แห่งที่อยู่ระหว่างยื่นคำขอเข้าโครงการ โดยการให้บริการจริงจะทยอยเปิดตามความพร้อมต่อไป ซึ่งระบบจะพร้อมเสร็จในวันที่ ในวันที่ 15 กันยายน ซึ่งกลุ่มที่ไม่ใช่ธนาคาร (non bank) ที่ทำ E-Qallet รายไหนพร้อมก็จะค่อยๆ เริ่มเข้ามาเชื่อมต่อ ซึ่งช่วงนี้เป็นเหมือนช่วงทดสอบ ตอนแรกเริ่มที่การผูกกับ Promppay ID และค่อยตามมาด้วย Credit Card, Debit Card แต่จะพร้อมใช้งานอย่างเป็นทางการในช่วงไตรมาสที่ 4

คุณวิรไทย สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า ธปท. ได้ผลักดันการพัฒนาระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์มาอย่างต่อเนื่อง อาทิ การผลักดันโครงการ National e-payment การปรับเปลี่ยนบัตร ATM และบัตรเดบิตให้เป็น Chip Card การยกระดับความปลอดภัยการชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ การนำหลักการของ Regulatory Sandbox มาเพื่อสนับสนุนนวัตกรรมทางการเงิน และการนำ พรบ. ระบบการชำระเงินมาใช้ในการกำกับดูแลธุรกิจด้านการชำระเงิน และในวันนี้เป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์สำคัญในการนำมาตรฐานสากล QR Code มาใช้ในการชำระเงินในประเทศไทย ซึ่งเป็นความร่วมมือครั้งแรกของผู้ให้บริการเครือข่ายบบัตรระดับโลกทั้ง 5 แห่ง กับผู้ให้บริการทางการเงินในไทย ที่ตกลงกันใช้มาตรฐานเดียวกันในการให้บริการ ลดความซ้ำซ้อนในการมี QR Code หลากหลายรูปแบบ ช่วยเสริมต่อแนวทางการพัฒนาระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์หรือ e-Payment ในมิติต่างๆ

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เปิดกลยุทธ์ธุรกิจยุคใหม่ พลิกข้อมูล สู่ขุมทรัพย์ด้วย analyticX ด้วยพลัง Telco Data Insights และ GenAI

ยุคนี้ใคร ๆ ก็พูดถึง Data แต่จะใช้ Data อย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่างหากคือกุญแจสำคัญ! ในสัมมนาสุดเอ็กซ์คลูซีฟ "Unlocking Data-Driven Decisions with Telecom Data Insights" ที่จั...

Responsive image

‘UOB Sustainability Compass’ เครื่องมือออนไลน์ด้านความยั่งยืน หนุน SMEs เปลี่ยน Vision เป็น Action

บทสัมภาษณ์ คุณอัมพร ทรัพย์จินดาวงศ์ และคุณพณิตตรา เวชชาชีวะ เกี่ยวกับ ‘UOB Sustainability Compass’ เครื่องมือออนไลน์ที่เข้ามาช่วย SMEs เริ่มดำเนินการด้านความยั่งยืนอย่างเข้าใจและไม...

Responsive image

Intel พลาดอะไรไป ? ทำไมถึงต้องเปลี่ยน CEO กะทันหัน ? ถอดบทเรียนราคาแพงจากยุค Pat Gensinger

การ ‘เกษียณ’ อย่างกะทันหันของ Pat Gelsinger อดีตซีอีโอ Intel ในต้นเดือนธันวาคม สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่ววงการเทคโนโลยี หลายฝ่ายมองว่าเป็นการบีบให้ออกจากบอร์ดบริหาร อันเนื่องมาจากผล...