สรุปเทรนด์เทคโนโลยีปี 2020 กับหนูเนย เมื่อยุค Mobile จบแล้ว อะไรจะเป็น Next Big Thing? | Techsauce

สรุปเทรนด์เทคโนโลยีปี 2020 กับหนูเนย เมื่อยุค Mobile จบแล้ว อะไรจะเป็น Next Big Thing?

เป็นประจำทุกปีที่ Techsauce จะสรุปภาพรวมเทรนด์เทคโนโลยีที่น่าจับตาในปีถัดไป โดยในปีที่ผ่านมาเราได้คุยกับหนูเนย หรือคุณสิทธิพล พรรณวิไลโปรแกรมเมอร์และบล็อกเกอร์ชื่อดังเจ้าของบล็อก https://nuuneoi.com  โดยปัจจุบัน หนูเนยได้ย้ายไปทำด้าน Software Engineer อยู่ที่ Silicon Valley ประเทศสหรัฐอเมริกา ทีมงาน Techsauce ก็ไม่พลาดที่จะต่อสายตรงคุยกับหนูเนยอีกครั้ง เพื่อพูดคุยถึงเทรนด์เทคโนโลยีปี 2020 และแนวโน้มเทคโนโลยีต่างๆที่จะเปลี่ยนแปลงไป

เทคโนโลยีอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน

จากภาพรวมปีที่แล้ว มันอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านยุคเก่า ๆ คือยุคของ mobile จบไปแล้ว แต่ยังไม่มีอะไรใหม่ ๆ มาทดแทนได้ทันที จึงอยู่ในช่วงที่กำลังหาว่าอะไรที่จะเป็น Next Big Thing ในทศวรรษถัดไป เพราะต่อไปนี้จะไม่ใช่แค่เรื่องที่เป็นระยะสั้นๆ อย่างปีนี้หรือปีหน้า แต่เราต้องดูไปถึงระดับทศวรรษ ตลอดที่ผ่านมาก็เห็นความเปลี่ยนแปลงหลายๆอย่าง ถ้านึกถึง curve ของเทคโนโลยีที่จะต้องผ่าน curve แรกไปให้ได้ก่อน หลังจากนั้นถึงจะเริ่มอยู่ในจุดที่ทุกคนคนสามารถนำไปใช้งานได้ ตอนนี้เทคโนโลยีใหม่ๆ กำลังอยู่ใน curve แรกทั้งนั้น มีแค่บางตัวที่หลุดจาก curve นั้นแล้ว ซึ่งกำลังจะเข้าสู่ตลาด consumer ที่จะนำไปใช้งานจริง สำหรับภาพรวมของเทรนด์เทคโนโลยีจะสรุปได้ดังนี้


เทรนด์ของ Tech Startup

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาถือว่าเป็นช่วงที่ Tech boom ทุกบริษัทอยากทำ Startup ซึ่งก็มีหลาย ๆ บริษัทเติบโตได้จากการทำ Startup บางบริษัทก็ได้เป็นหมื่นล้าน แต่ตอนนี้ Startup ก็เริ่มเปลี่ยน ไม่ใช่ทุกบริษัทจะเติบโต แม้แต่ IPO แต่ละเจ้าที่ออกมา ถ้าเป็น tech startup เข้ามาก็ร่วงหมดเลย ไม่มีใครรอด

ไม่ใช่แค่เรื่องของ Startup เท่านั้น ก่อนหน้านี้ก็มีออกมาพูดว่าพวกบริษัทใหญ่ ๆ จะโดน บริษัทเล็ก disrupt และจะทำให้มีปัญหาได้ ตอนนี้ก็ยังเป็นอย่างนั้นอยู่แต่บริษัทใหญ่ ๆ เริ่มปรับตัวทันแล้ว ก่อนหน้านี้มีให้เห็นหลายเคส ช่วงที่ผ่านมาบริษัทใหญ่ ๆ จึงปรับตัวด้วยการทำหลายอย่างอยู่ในบริษัทตัวเองเหมือนกับ Startup ประเทศไทยก็มีหลาย ๆ เจ้าที่ทำแบบนี้ อย่างต่างประเทศที่เป็นเจ้าใหญ่ ๆ ก็ทำเหมือนกัน ถ้าเขาอยากทำแบบเร่งด่วนแต่ทำไม่ทัน เขาก็ acquire บริษัทนั้น สุดท้ายก็กลายเป็นปลาใหญ่กินปลาเล็กอยู่เหมือนเดิม

เราอาจจะอยู่ในช่วงที่ Disrupt อาจจะไม่ใช่ trend แล้ว จริง ๆ ก็ยังเป็น disrupt อยู่ แต่ไม่ใช่การ disrupt แบบตลอด 10 ปีที่ผ่านมา เพราะตอนนี้บริษัทใหญ่ ๆ ก็ลงมาเล่นเองด้วย ถ้าใครทำ Startup ก็ต้องจับตาดูดี ๆ ว่า exit way ตอนนี้จะไปในทาง acquisition ไม่ค่อยจะไปทาง IPO เท่าไรนัก นอกจากนี้ investor เองก็เริ่มคิดเยอะในการที่จะลงทุนกับอะไร เพราะบางเจ้าเข้าตลาดไปแล้วหรือยังไม่เข้าตลาดก็มีปัญหา ซึ่งทำให้ investor เริ่มคิดเยอะขึ้น แต่ก็ส่งผลดีต่อตลาดโดยรวม

Automation จะเป็นเทคโนโลยีสำคัญ

เราอาจจะเคยได้ยินคำว่า AI, Robot ถ้าเรารวมกันแล้วพวกนี้จะจัดอยู่ในกลุ่ม Automation หรืออะไรก็ตามที่สามารถทำแทนเราได้ ปีนี้จะได้เห็น keyword คำว่า RPA (Robotic Process Automation) และ Hyper Automation - RPA (Robotic Process Automation) : Robotic ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงหุ่นยนต์ที่เป็นตัว ๆ แต่นิยามคืออะไรก็ตามที่มีตัวตน แต่ไม่ต้องมีรูปร่างก็ได้ เช่น เราส่ง email แล้วมี email ส่งกลับมาอัตโนมัติ เราก็เรียกว่า robot เหมือนกันต่อให้เป็นซอฟต์แวร์ก็ตาม ดังนั้น RPA ก็คืออะไรก็ตามที่เรากดแล้วมันสามารถทำแทนเราได้ ยกตัวอย่าง Email ทุกวันนี้ email มันเข้ามาเยอะมาก แต่เราก็สามารถทำให้ robot มันตอบแทนเราได้ ซึ่งทุกวันนี้ก็เริ่มมีซอฟแวร์เข้ามาแล้ว เราก็สามารถประหยัดเวลาในการทำงานแต่ละวันได้ 

นอกจากนี้ RPA มันจะครอบคลุมหลาย ๆ อย่างในอนาคตอันใกล้ ถ้าใครที่ทำ Startup ถ้าจับตัว RPA ก็อาจจะมีลูกค้าในระดับทั่วโลกได้ เพราะ trend มันมาทางนี้

  • Hyper Automation: อะไรก็ตามที่เป็น automation อย่างการทำธุรกิจ ถ้าเราประหยัดเวลาได้วันละไม่กี่นาที มันก็ส่งผลต่อผลกำไรหรือขาดทุน ดังนั้นถ้าอะไรที่ทำ automate ได้เขาก็จะ automate ซึ่ง trend นี้จะเริ่มเห็นตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป 
  • AI : ก่อนหน้านี้ก็มีการวิจัยเยอะมาก ตอนนี้ก็ต้องคราวที่จะต้องนำไปใช้จริงแล้ว ที่อเมริกาเขามอง AI, Machine Learning เป็นเรื่องพื้นฐานแล้ว เขาคาดหวังว่าถ้าเข้าไปคุยคือเราต้องทำเป็นแล้ว ในอีก 10 ปีข้างหน้าเชื่อว่า AI, Machine Learning จะส่งผลต่อชีวิตเรามาก ๆ คงไม่ใช่ทุกบริษัทที่ทำ Machine Learning แต่ทุกบริษัทจะใช้จะมีบริการหนึ่งเกิดขึ้นคือ AI as a service จะมีบริษัทจำนวนหนึ่งทำ AI ขึ้นมาและให้เอาไปใช้ อย่าง RPA ที่พูดไปก่อนหน้านี้ ก็จะมีบริษัทเปิด AI as a service ถ้าใครอยากจะไปใช้ก็สามารถใช้ได้ จากนั้นก็จะได้ RPA ไปใช้ ทุกอย่างที่พูดไปจะอยู่ในกลุ่มเดียวกัน ขึ้นอยู่กับว่าใครจะเล่นอยู่ในบทบาทไหน

AI จะถูกใช้ในหลายอุตสาหกรรม ยกตัวอย่าง Chat bot ที่เริ่มจะเห็นใช้กันแล้ว ส่วนใหญ่ที่ทำได้ฉลาดจะเป็น ภาษาอังกฤษ Google assistance, Felix (Apple), Amazon Alexa เพราะบริษัทเขาใหญ่ มีเงินลงทุนเยอะ ส่วนใหญ่ Chat bot จะมาคู่กับ NLP (Natural Language Processing) ถือว่าเป็นอีกเทคโนโลยีที่สำคัญ ในไทยก็มีหลายคนที่กำลังทำอยู่ ภาษาไทยค่อนข้างเสียเปรียบในเรื่องนี้พอสมควร เพราะที่ผ่านมาเราทำอะไรไม่ได้เลย แต่พอมี AI เข้ามา NLP กลายเป็นเรื่องที่เป็นไปได้สำหรับภาษาไทย ในอนาคตเราน่าจะเริ่มเห็น การคุยแบบ chat bot และ context ที่ฉลาดมากสำหรับการคุยภาษาไทย 

สำหรับ Health Tech ในบางประเทศมีแพทย์ไม่เพียงพอและค่าแพทย์ค่อนข้างสูง เขาก็จะเริ่มใช้ AI ในการพิจารณาเพื่อหายาในเบื้องต้น ใช้แทนหมอได้จำนวนหนึ่งหรืออาจจะใช้แทนเภสัชในชนบทที่แพทย์ยังเข้าไม่ถึง เขาจะเอาหุ่นยนต์ไปขายยาให้ ซึ่งเริ่มใช้แล้วที่จีน อีก 2 ปีข้างหน้าคาดว่าจะเริ่มใช้ที่อเมริกา

รถไร้คนขับ

AI ที่เริ่มได้ยินกันค่อนข้างเยอะ คือรถไร้คนขับ ที่อเมริกาเริ่มเห็นรถไร้คนขับและค่อนข้างใช้งานได้จริง แต่ก็ยังมีอีกหลาย ๆ อย่างที่ต้องแก้เพื่อให้ใช้ได้ทุกที่ในอเมริกา เรายังไม่มองถึงในระดับโลก มองแค่ในระดับอเมริกาหรือประเทศที่คนค่อนข้างเคารพกฎจราจรที่คิดว่าน่าจะเป็นได้ในช่วงแรก ๆ อย่างสิงคโปร์ ระยะยาวอีก 10 ปีข้างหน้าคงต้องคอยดูอีกที 

เราอาจจะมองว่า AI มันเจ๋งดี สามารถทำงานแทนคนได้ แต่ก็มีโอกาสที่จะ error ได้เช่นกัน ยกตัวอย่าง รถไร้คนขับ ถ้าอยู่ในจุดที่จะต้องเลือกว่า ชน หรือ เบรก ถ้าเลือก ชน จะทำให้คนที่อยู่บนถนนตาย แต่ถ้าเลือกเบรกก็จะทำให้คนที่อยู่ในรถตาย ถ้าเป็น AI มันจะต้องมีด้านอื่นที่จะต้องพิจารณาอีก ซึ่งจุดนี้เป็นส่วนที่ทุกคนพยายามนิยามอยู่ว่า AI จะต้องทำอย่างไรถ้าเจอปัญหาแบบนี้ เขามีตัวเลขออกมาว่าการทำให้รถไร้คนขับปลอดภัยในอนาคตได้นั้น จะต้องมีคนตายเป็นร้อยคน ถึงจะรู้ว่า AI ควรจะต้องแก้ปัญหาอย่างไรในแต่ละสถานการณ์ที่ต่างกัน 

อีกเรื่องสำหรับ AI ที่เป็นซอฟแวร์คือ Deep Fake จะเป็นการสร้างวิดีโอเพื่อทำให้หน้าคนขยับ ถ้าอีกมุมหนึ่งก็จะมีการนำหน้าคนอื่นมาทำในเว็บหนัง 18 เพื่อ discredit หรือเพื่อสร้างความน่ากลัวและความเกลียดชังได้ หรือ AI ที่สามารถเขียนบทความในเชิงเกลียดชังได้อัตโนมัติได้อย่างรวดเร็ว

สรุปคือจะมี AI อยู่ 2 ฝ่ายคือ AI ที่พยายามต่อต้านไม่ให้อีกฝั่งเติบโตได้ เช่น AI ที่ตรวจจับว่าวิดีโอตัวนี้เป็น deep fake ไหม หรือบทความนี้จงใจเขียนขึ้นเพื่อความเกลียดชังใช่ไหม ถ้าใช่มันจะสามารถลบออกจากระบบทันที ดังนั้น AI ยังมีหลายขั้นตอนที่จะพัฒนาต่อไป สุดท้ายจะเป็นการต่อสู้กันเองระหว่าง AI ด้านดีและแย่ 

ใครที่เคยทำ AI จะรู้ว่าจะต้องใช้ข้อมูลเยอะมากจึงจะสามารถสร้าง AI ขึ้นมาได้ การที่จะทำรูปหมา แมวขึ้นมา เขาจะต้องป้อนรูปเข้าไปเป็นล้านรูป กลายเป็นว่าใครมี data ก็ทำ AI ขึ้นมาได้ ถ้าใครไม่มีก็ทำไม่ได้  ตอนนี้หลาย ๆ บริษัทก็พยายามหาวิธีที่เก็บ data ให้ได้มากที่สุด หรือถึงขั้นเปิดบริษัทเพื่อเก็บ data โดยเฉพาะก็มีเหมือนกัน

ถ้าใครเปิดบริษัทแล้วอยากตาม trend AI ได้ มี 2 ทางเลือกคือ 

  1. ซื้อ data มาใช้ 
  2. หาวิธีเก็บ data เอง แต่เราสนับสนุนวิธีที่ 2 เพราะสุดท้ายแล้ว data จะมีประโยชน์และมีมูลค่ามาก นับตั้งแต่ตอนนี้ไปจนถึงในอีก 10 ปีข้างหน้า 

สุดท้าย Robot จะมาแทนที่มนุษย์พอสมควร ก่อนหน้านี้จะมี industrial robot ที่มาใช้ทดแทนคนในโรงงาน จะเห็นว่าคนเริ่มตกงานเยอะขึ้นเรื่อย ๆ นอกจากนี้ก็มี service robot ที่น่าจะมาภายใน 5 ปีข้างหน้า เป็น robot ที่สามารถให้บริการเรา เช่น robot ที่ชงกาแฟให้เรา หรือ robot ที่มาดูแลเราในบ้าน 

เรื่อง Automation จะกลายเป็นเรื่องที่ใหญ่ที่สุดในทศวรรษถัดไป ใครก็ตามที่อยากจะเรียนหรือเติบโตในสายงานนี้ ผมสนับสนุนให้ไปทาง automation เพราะจะได้ใช้และมีประโยชน์แน่นอน 

ทักษะที่คนไทยต้องเรียนรู้เพิ่มเกี่ยวกับ Database/ Data science

ในการทำ AI ผมคิดว่าการทำ programming เป็นเรื่องเล็กน้อยมาก data science เช่นเดียวกัน สิ่งที่สำคัญคือเรื่องคณิตศาสตร์ อย่าคิดว่าแค่เขียนโปรแกรมก็พอแล้ว เพราะจะเกี่ยวกับ mathematics 80% อีก 20% จะเป็นเรื่องการเขียนโปรแกรม  ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละบุคคล แต่ผมเชื่อว่าถ้าชอบเล่นกับ data แสดงว่าก็ต้องเป็นคนชอบ Math พอสมควร การมองเห็นว่า data มันมีความสัมพันธ์กันอย่างไร มันจะมี Math มาเกี่ยวข้องเสมอ 

Security and Privacy 

Privacy เป็นเทรนด์ที่น่าสนใจมาก ทุกคนตระหนักเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่าเราไม่อยากให้ข้อมูลของเราถูกใช้งานโดยใครก็ตาม คนที่อเมริกาตื่นตัวกันมาก บางคนถึงขั้นลบ Facebook ทิ้งก็มี ซึ่งมันไม่ใช่แค่เรื่องระดับบุคคลแล้วแต่เป็นเรื่องระดับประเทศ

Browser จะเริ่มเข้มงวดขึ้นและจะไม่ให้เว็บต่าง ๆ เก็บข้อมูลแล้ว นอกจากนี้กฎหมายในยุโรปอย่าง GDPR ถ้าใครละเมิดความเป็นส่วนตัวหรือมีข้อมูลหลุดออกไป ก็จะเกิดภาพเดียวกันกับที่อเมริกาเหมือนกัน ดังนั้น Privacy เป็นเรื่องใหญ่มาก ๆ ปัญหาที่เกิดขึ้นและคิดว่าน่ากังวลคือตลอด 20 ปีผ่านมา เหตุผลที่ Internet เติบโตมาได้ขนาดนี้เพราะมันไม่มี Security and Privacy เพราะทุกคนพร้อมที่จะปล่อยข้อมูลทุกอย่างบนอินเทอร์เน็ต แม้จะเป็นเรื่องส่วนตัว จึงทำให้อินเทอร์เน็ตมันเติบโตได้ แต่ภาพที่เกิดขึ้นทั้งหมดกำลังจะหายไป

ดังนั้นบริษัทใหญ่ ๆ อย่าง Facebook, Google, Amazon ที่เป็นเว็บต่าง ๆ ที่ให้บริการ internet service จะเริ่มมีปัญหา เพราะธุรกิจของเขาที่เกี่ยวกับโฆษณาจะถูกส่งผลกระทบโดยตรง ดังนั้นเทรนด์ ของ privacy จะเริ่มไปทางนี้แน่นอน เพราะทุกคนห่วง privacy ของตัวเองมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา ข้อมูลของแต่ละคนจะถูกเก็บยากขึ้นเรื่อย ๆ ข้อดีคือทุกคนจะมีความเป็นส่วนและความปลอดภัยในแง่ที่ดีมากขึ้น แต่ข้อเสียคืออินเทอร์เน็ตจะเริ่มอยู่ในช่วง slow down การเติบโตของบริษัทต่าง ๆ จะเริ่มหดตัวลง เพราะเขาไม่มีข้อมูลที่จะนำมาทำสิ่งใหม่ได้ 

ในส่วนของ Security and Privacy อาจจะไม่ได้ส่งผลกับงานว่าจะมีการจ้างงาน security expert มากขึ้นไหม ส่วนตัวผมคิดว่าอาจจะมีบ้างแต่อาจจะไม่ได้เยอะจนทำให้มีการเปลี่ยนแปลง สิ่งที่น่าจะส่งผลกระทบน่าจะเป็นเรื่องของอุตสาหกรรมภาพรวมมากกว่า

IOTs / 5G

ในเรื่องของ edge computing หมายความว่ามีตัวประมวลผลอยู่ทั่วทุกแห่ง ยกตัวอย่าง นาฬิกาก็สามารถการวัดชีพจร และประมวลผลว่าหัวใจเราเต้นผิดปกติไหม หรือทีวีก็สามารถต่ออินเทอร์เน็ตได้ ตู้เย็นก็สามารถรู้ได้ว่าของที่แช่ไว้เน่าหรือยัง อุปกรณ์แทบจะทุกอย่างบนโลกต่ออินเทอร์เน็ตโดยที่ทุกตัวมีความคิดของตัวเองด้วย นี่เรียกว่า edge computing

ก่อนหน้านี้ทุกอย่างถูกประมวลผลที่ server เช่น เราโพสต์อะไรบน Facebook ก็ตาม มันจะถูกส่งไปที่ server ของ FB จากนั้น server ของ FB ก็ทำทุกอย่างให้บน server เรียกว่า centralize คือทุกอย่างถูกประมวลผลอยู่ที่เดียว แต่ตอนนี้ trend เปลี่ยนไปแล้ว ทุกอย่างจะถูกประมวลผลบนอุปกรณ์ต่าง ๆ แทน เช่น นาฬิกา ไม่ต้องส่งชีพจรไปให้ server แต่ประมวลผลให้เลยว่าชีพจรของคนนั้นเป็นอย่างไร ผิดปกติอย่างไร จากนั้นส่งผลลัพธ์ไปให้ server สิ่งที่ทำให้เกิดขึ้นคือ IOT ซึ่งจะเริ่มมีผลในชีวิตเราขึ้นเรื่อย ๆ โดยที่เราไม่รู้ตัว TV สามารถต่ออินเทอร์เน็ตได้ อย่างที่อเมริกาทุกบ้านจะมี smart TV และจะดู steaming กันหมด นอกจากนี้ตู้เย็น เครื่องซักผ้าก็เริ่มต่ออินเทอร์เน็ตได้ ในอีก 4 ปีข้างหน้า เสื้อผ้าที่เราใส่จะสามารถต่ออินเทอร์เน็ตได้ และแว่นตาจะเริ่มต่ออินเทอร์เน็ตได้เช่นกัน ทุกอย่างจะถูกประมวลผลในอุปกรณ์เหล่านั้น อย่างไรก็ตาม IOT จะเกิดได้ก็ต่อเมื่อมี network ที่รองรับอุปกรณ์เหล่านี้ ซึ่ง IOT และ 5G เป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกันและ edge computing จะเกิดขึ้นเมื่อ IOT และ 5G เกิดขึ้นจริงบนโลก

ช่วงเวลาที่จะเกิด ผมคาดว่าน่าจะอีก 3 ปีข้างหน้า ถ้าใครอยากทำงานทางด้านนี้ ก็อาจจะต้องเริ่มแล้ว เพราะมันต้องใช้เวลาในการเตรียมตัวพอสมควร ทั้งนี้ 5G จะเกิดแค่ในบางประเทศก่อนเท่านั้น เช่น จีน เกาหลี อเมริกา และบางประเทศในยุโรป ซึ่งไทยคงต้องรอสักพักใหญ่ ๆ กว่าจะกระจายทั่วทั้งประเทศได้ ดังนั้นถ้าใครจะจับ 5G และ IOT ต้องดูก่อนว่าควรจะโฟกัสที่ตลาดไหน  จะได้มีกลุ่มลูกค้าเพื่อไปเล่นได้ ทั้งนี้ trend ของ edge computing นั้น ทุกอย่างจะต้องฝังความฉลาดเข้าไปในอุปกรณ์ด้วย เพื่อให้อุปกรณ์ทำงานแทน 

ภายในปี 2023 คาดว่าจะมีอุปกรณ์ที่ต่ออินเทอร์เน็ตทั่วโลกประมาณ 1 trillion หรือ 1 ล้านล้านอุปกรณ์ เมื่อถึงจุดนั้นแล้ว data จะเยอะมาก มีอยู่เจ้าหนึ่งที่จะได้เปรียบทากคือ Huawei หลาย ๆ คนจะเห็นว่า Huawei โดนอเมริกากีดกันระบบ android แต่สิ่งที่ Huawei มีคือ 5G และ IOT บางคนอาจจะเคยได้ยินคำว่า Harmony OS ผม research มาค่อนข้างเยอะ มันจะเข้ามาแทน android ในแง่ของการนำมาใช้บนมือถือไม่ได้ แต่ก็มี potential สูงมากเช่นกันที่จะเป็น OS ที่อยู่ใน IOT ดังนั้น Huawei มองอนาคตค่อนข้างไกลพอสมควร โดยในวันที่ 5G และ IOT เกิดขึ้น เราจะได้ยินคำว่า Harmony OS บ่อยขึ้น

เสื้อผ้าที่สามารถต่ออินเทอร์เน็ตได้ 

สุดท้ายแล้วมนุษย์จะเป็นคนสร้าง data ให้กับทุกอย่าง เพียงแค่เราเดินก็มี data เกิดขึ้น เพราะเสื้อผ้าที่เราใส่จะจับทุกความเคลื่อนไหวและมี data ให้เก็บเพื่อเอาไปใช้งาน อย่างไรก็ตาม ผมยังไม่เชื่อว่าจะมีคนใช้แบบ 10% ของทั้งโลก ถ้ามีก็อาจจะน้อยแค่ 0.1% แต่ถ้าเริ่มมีคนใช้และราคาถูกลงเรื่อย ๆ ใครก็สามารถเชื่อมกับเสื้อผ้าตัวเอได้ เสื้อผ้าทุกตัวก็จะสามารถต่ออินเทอร์เน็ตได้

Blockchain 

ปีที่แล้วเรามีการพูดถึง  Blockchain ค่อนข้างเยอะ จนถึงตอนนี้น่าจะมีตัวที่อยู่ไม่รอดประมาณ 90% หรืออาจจะมากกว่านั้น แต่มันก็มีแนวโน้มที่ดีขึ้น จะมี curve แรก ๆ ที่ใคร ๆ ก็พูดถึง และ curve ถัดไป จุดที่ร่วงลงมา คนจะเริ่มพูดถึงกันน้อยลง และจะมีคนที่เหลือที่เป็นคนทำจริงจัง ซึ่งตอนนี้เรากำลังอยู่ในจุดที่มันร่วงลงมาและกำลังจะกลับขึ้นไป ตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไปจะเริ่มเห็น tactical blockchain เป็น blockchain ที่สามารถใช้งานได้จริง อาจจะเป็น blockchain ของรัฐบาลที่เอาเก็บข้อมูล 

ภาพน่าจะชัดขึ้นว่า 99.9% ของโปรเจค blockchain ที่เกิดขึ้นที่ผ่านมาจะตายหมด จะเหลืออยู่แค่ไม่กี่รายเท่านั้น ที่เหลือจะเป็น private blockchain ที่ใช้แค่ภายในองค์กร ภายในรัฐบาลหรือภายในประเทศที่อาจจะมีมาให้เห็นบ้าง ผมเชื่อว่ามันมีตลาดที่จะนำไปใช้ได้จริง แต่ไม่ใช่ตลาด public จะเป็นตลาด private ที่ใช้ในกลุ่มเล็ก ๆ ซึ่งก็ต้องรอดูว่าจะมีอะไรออกมาให้ใช้งานจริงได้บ้าง

เทรนด์การศึกษา เมื่อมหาลัยปิดตัว

เป็นเรื่องที่สำคัญพอสมควร และอาจจะกระทบกับเทคโนโลยีบ้าง จะเห็นว่ามหาลัยเริ่มปิดตัวบ้างแล้ว สาเหตุเพราะค่านิยมของคนรุ่นใหม่ เริ่มมองไม่เห็นแล้วว่าเรียนปริญญาไปทำไม แต่ที่เขาต้องการเรียนจริง ๆ คือวิชาชีพ ดังนั้น academic ก็เริ่มมี transformation เกิดขึ้น

อีกเรื่องคือประชากรที่เกิดใหม่เริ่มมีน้อยลงเรื่อย ๆ ด้วยจำนวนมหาลัยที่มีอยู่ตอนนี้มันเยอะเกิน จึงทำให้ต้องปิดตัวไป และด้วยจำนวนคนที่มีน้อยลงอยู่แล้ว ก็ยังมีคนที่อยากเรียนน้อยลงไปอีก ดังนั้นจะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในตลาดการศึกษา ซึ่งผมคิดว่าจะมีเทคโนโลยีที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงด้วย การเรียนออนไลน์ก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่ยังไม่ใช่ทั้งหมดเพราะสุดท้ายแล้วการเรียนโดยการเห็นตัวบุคคล การได้คุยแบบเจอตัวกันก็ยังสำคัญ แต่มันจะมีการ transformation ในวิธีอื่น อย่างมหาวิทยาลัยในอเมริกาบางแห่งเริ่มให้นักเรียนเลือกวิชาเรียนที่สนใจ โดยไม่มีการแบ่งคณะแล้ว มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ก็เริ่มเห็นแล้วว่าเมื่อมาทางนี้มันไม่โอเค ก็ต้องเปลี่ยนมาเป็นสายวิชาชีพแทน เช่น  ใครอยากเป็น programmer ก็เรียน math อยากทำบัญชีเป็นด้วยก็เรียนบัญชีเพิ่ม ถ้าเรียนครบหน่วยกิตก็จบได้ ไม่ได้ระบุว่าจบคณะอะไร แต่จะบอกว่าเมื่อจบแล้วมีความสามารถอะไรบ้าง 

สิ่งหนึ่งที่สะท้อนการทำงานในต่างประเทศคือ การสัมภาษณ์เข้าทำงาน เขาไม่ดูแล้วว่าจบมาจากที่ไหน Resume ก็ไม่ได้ดูอะไรมาก แต่ที่ผ่านมาเราทำอะไรมาบ้างก็ยังคงมีความสำคัญ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือตอนนี้เราทำอะไรได้บ้าง สำหรับใครที่อยากมาทำงานที่อเมริกา ทฤษฎีก็สำคัญ แต่อย่าไปเน้นมาก แนะนำว่าให้เน้นปฏิบัติมากกว่า

 

HR ถูกเทคโนโลยีแทนที่

HR เป็นอีกอย่างที่จะถูก AI และเทคโนโลยีเข้ามาแทนที่ เพราะทุกวันนี้มักจะเจอปัญหาว่าจ้างคนเข้ามาแล้วไม่มีประสิทธิภาพ เรื่องของ data และ academic ที่เปลี่ยนไปนั้น HR ก็จะเปลี่ยนไปเช่นกัน ดังนั้นตอนนี้ใครที่ทำงานด้าน HR ต้องตามเทรนด์ให้ทัน ไม่อย่างนั้นจะโดนเทคโนโลยีแย่งงาน อย่างไรก็ตามถ้าเป็น HR ที่เก่งและสามารถทำงานบางอย่างได้เหนือเทคโนโลยีได้ ก็จะกลายเป็นบุคคลที่ใครก็ต้องการ

EXR (Extended Reality) 

ก่อนหน้านี้เราจะได้ยินคำว่า AR/VR เราจะเรียกรวม ๆ ว่า EX-R หมายถึงอะไรก็ตามที่ต่อยอดจากความเป็นจริง คำนี้อาจจะถูกพูดถึงมากขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคต ที่ผ่านมา AR/VR อยู่ในช่วงที่ curve ตกลงไปแล้ว ซึ่งจริง ๆ แล้ว AR ก็เกือบจะไม่รอดด้วย แต่กลับมาเกิดใหม่ในบางตลาด เช่น ตลาดเกม การประชุมและตลาด B2B แต่ในตลาดที่ทุกคนใช้งานนั้นโอกาสยังเป็นไปได้ต่ำมากหรือแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย

ใครที่ทำ VR ก็น่าจะเห็นแล้วว่ามีตลาดไหนบ้างที่ทำแล้วไปได้ดี นอกจากนี้ AR ก็เป็นอีกตลาดที่กำลังเติบโต แต่ยังอยู่ในช่วงที่ค้นหาตัวเอง ภายในปีหน้าหรือ 2 ปีข้างหน้าน่าจะเริ่มเห็นสิ่งที่เรียกว่า AR Glasses จะเป็นแว่นตาเหมือนแว่นสายตา สามารถ over ray AR บนแว่นได้ เช่น เรากำลังเดินอยู่ บอกว่าให้พาเราไปอนุสาวรีย์ชัยฯ มันก็จะฉายให้เห็นบนแว่นว่าเราต้องไปทางไหน คาดว่าคงจะได้เห็นภายในปี 2021 โดยคนที่จะทำก็น่าจะเป็น Apple, Samsung, Huawei ถ้ามีรายไหนทำออกมา แน่นอนว่ารายที่เหลือก็ต้องทำออกมาภายในไม่กี่เดือนต่อมา แต่ก็อย่าไปคาดหวังมาก เพราะช่วงแรกก็ยังต้องทดลอง มันอาจจะเป็นแว่นที่หนา ใช้งานยาก 

แต่ผมเชื่อว่าในอีก 2-3 ถัดมามันจะเป็นแว่นที่สามารถใช้งานได้จริง มีการคาดการณ์ว่าถ้าแว่นนี้เกิดขึ้นจริง เราจะสามารถซื้ออุปกรณ์ไป plug กับแว่นที่ใช้อยู่ได้เลย หลังจากนั้นก็จะกลายเป็นอุปกรณ์เสริมที่ทำให้แว่นหวือหวาขึ้นอีก นอกจากนี้จะยังใช้ทำอะไรได้อีก ก็คงต้องรอดูอีกที 


3D Printing 

ตอนนี้ถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมที่มีความเฉพาะทาง เช่น การแพทย์ ซึ่งคาดว่าอีก 4 ปีข้างหน้านี้ เราจะเริ่มเห็นการปลูกถ่ายอวัยวะโดยที่อวัยวะนั้นถูก print ออกมา อย่างเช่นตอนนี้ก็มี print อวัยวะภายนอกออกมา เช่น จมูกและใบหู แต่การเปลี่ยนอวัยวะภายใน เช่น หัวใจ หรือปอดนั้น ผมคิดว่าอีกไม่นานเราจะไปถึงจุดนั้น นอกจากนี้ 3D ที่ทุกบ้านจะนำไปใช้ในบ้านอาจจะไม่เกิดขึ้นเลย แต่ 3D ที่ถูกนำไปสร้างหรือขายต่ออีกทีนั้น คาดว่าจะเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้ 

EV (Electronic Vehicle)

จะเป็น trend ใหม่ที่สำคัญตลอด 10 ปีข้างหน้า จะเป็นเรื่องของแบตเตอรี่ที่จะทำอย่างไรให้จุได้มากขึ้น ทำอย่างไรให้ถูกลง และชาร์จอย่างไรให้เร็วขึ้น สุดท้ายแล้วอาจจะไม่ใช่แค่แบตเตอรี่ อาจจะเป็นอย่างอื่นเช่น Hydrogen ถ้าแบตเตอรี่เราต้องจอดชาร์จไว้ 2 ชั่วโมงถึงจะเต็ม แต่จะมีแบตเตอรี่อีกอย่างที่โตโยต้าทำ คือสามารถอัดไฮโดรเจนเข้าไปได้ สามารถเติมได้เหมือนน้ำมันและขับออกไปไหนได้เลย จริง ๆ เทคโนโลยีมาถึงแล้ว แต่สิ่งที่ยังทำไม่ได้คือ ยังไม่มีใครลงทุน infra เพราะไฮโดรเจนเป็นสารที่ระเบิดได้ ดังนั้นจะต้องมีการศึกษาเรื่องความปลอกภัยมากขึ้น ที่ญี่ปุ่นมีปั๊มแบบนี้อยู่หลายที่ แต่ตอนนี้ยังเจ๊งอยู่ เพราะรถยังขายไม่ออก ก็ต้องรอดูว่ามันจะถึงจุดนั้นเมื่อไร 

Eco friendly 

เป็นเทรนด์ที่น่าจะเป็นภาพใหญ่มาก ๆ ที่พูดมาทั้งหมดก่อนหน้านี้ จะมีอยู่ในขอบเขตที่ทุกอย่างที่ทำขึ้นมาจะต้องทำให้เป็นมิตรต่อโลกด้วย ดังนั้นถ้าทำอะไรขึ้นมาแล้วทำให้โลกร้อนขึ้น จะถูกต่อต้าน ถ้าทำอะไรขึ้นมาแล้วไม่สีเขียวจะถูกต่อต้าน ทุกวันนี้ถ้ามีใครใช้อะไรที่เป็น eco friendly จะมีสิทธิพิเศษในการทำสิ่งต่าง ๆ เช่น ขับรถก็มีเลนของตัวเอง ที่จอดรถในห้าง ถ้าที่ไทยอาจจะเป็นที่จอดรถสำหรับ super car แต่ที่อเมริกาจะเป็นที่จอดรถสำหรับรถที่ไม่ปล่อยสารพิษ อย่าง Apple ที่เปิดตัวอุปกรณ์ใด ๆ เขาจะบอกเลยว่าอุปกรณ์นี้สร้างขึ้นมาจากพลาสติกที่รีไซเคิล 100% ตึกนี้สร้างโดยพลังงานสีเขียว 100% 

รวมถึงพลาสติกที่คนพูดถึงกันเยอะ คนเริ่มแบน แต่ถ้าถามว่าแบนได้ไหม สุดท้ายแล้วมันไม่มี material ไหนที่มีคุรณสมบัติแทนพลาสติกได้เลย นั่นคือกนนำได้และมีความคงทน ดังนั้นตอนนี้เขาเริ่มมีวิจัยว่าจะทำอย่างไรที่จะได้สสารที่สามารถทดแทนพลาสติกได้ แต่ไม่สร้าง micro plastic และไม่สร้างความเสียหายต่อสภาพแวดล้อมอย่างทุกวันนี้ อันนี้จะไปในทิศทางของ deep tech ซึ่งเริ่มมีให้เห็นแล้วด้วย 

ภาพสุดท้ายใหญ่ที่สุด เพราะภายใน 20 ปี โลกจะถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นโลกของผู้สูงอายุ ซึ่งเราอาจจะเคยได้ยินปิรามิดคว่ำ คืออัตราการคนเกิดน้อยลงเรื่อย ๆ ขณะเดียวกันผู้สูงอายุก็เยอะขึ้นเรื่อย ๆ เช่นเดียวกัน เทคโนโลยีใดก็ตามที่ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับสังคมแบบใหม่นี้ได้ จะเป็นเทคโนโลยีที่มีความต้องการมาก และจะเริ่มต้นตั้งแต่ 10 ปีข้างหน้าเป็นต้นไป ที่ผมพูดมาทั้งหมดจะเป็น trend ในอีก 10 ปีข้างหน้า แต่ไม่ใช่ปีหน้า

ฟัง Techsauce Podcast ได้ที่

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

‘Yindee’ แชตบอตในแอป ttb Touch ใช้ Gen AI จับความรู้สึก ตอบเร็วและฉลาดกว่าที่เคย

Yindee แชตบอตที่อยู่บน Mobile Banking ของ ttb ทำงานผ่านแอป ttb Touch สามารถจับ Mood & Tone ของลูกค้าหรือผู้ใช้บริการ ว่าขณะแชตนั้น ลูกค้าอยู่ในอารมณ์ไหน ด้วย Generative AI โดย Azur...

Responsive image

คนอยากใช้พลังงานเยอะ แต่โลกอยากได้ปล่อยคาร์บอนน้อย บริษัทพลังงานแก้ไขความย้อนแย้งนี้อย่างไรดีในยุค AI

The Energy/Prosperity Paradox หรือภาวะย้อนแย้งแห่งพลังงาน และความเจริญ ถือเป็นความท้าทายระดับโลกที่บริษัทด้านพลังงานกำลังพบเจอ เพราะในตอนนี้โลกกำลังต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นอย่างไม่เ...

Responsive image

เศรษฐกิจไทย ‘ฟื้นตัว’ แล้วหรือยัง ? ฟังความเห็นจาก 3 ผู้นำธุรกิจยักษ์ใหญ่ไทย

ค้นพบศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงไทย จีน สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม และกัมพูชา พร้อมโอกาสการลงทุนที่น่าสนใจในภาคอุตสาหกรรม การเงิน และเทคโนโลยี...