หลังการจากงาน Techsauce Global Summit 2024 ในกรุงเทพ Techsauce ได้เดินหน้าจัดงาน Techsauce Global Summit 2024 at Bali เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2024 ที่ผ่านมา พร้อมกับเสียงตอบรับที่ดีจากผู้ร่วมงาน งานครั้งนี้จัดขึ้น ณ Renaissance Hotel Bali Nusa Dua Resort ประเทศอินโดนีเซีย โดยถือเป็นการปักธงจัดงาน Techsauce Global Summit 2024 ในต่างประเทศครั้งแรก เพื่อเดินหน้าตามเป้าหมายพาไทยสู่การเป็น Tech Gateway ของภูมิภาค โดยได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน ผู้นำองค์กร Startup ผู้ประกอบการ รวมไปถึงผู้ที่สนใจในประเด็นธุรกิจและเทคโนโลยีที่ร่วมมาแลกเปลี่ยนมุมมองพร้อมรับฟังข้อมูลที่น่าสนใจในหลายหัวข้อ ซึ่งทาง Techsauce ได้เตรียมไว้ให้ผู้ร่วมงาน โดยเนื้อหาแกนหลักของงานในครั้งนี้มุ่งเน้นไปที่ประเด็นของการลงทุนและโอกาสในการขยายธุรกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวบรวมทั้งด้านนโยบาย ภาพรวมเศรษฐกิจ และเทรนด์การลงทุน
นอกจากการจัดงานเสวนาแล้ว ยังมีการจัดงาน Nexthub Global Summit 2024 ในวันที่ 23 และ 24 กันยายน 2024 จัดโดยกระทรวงการสื่อสารและข้อมูล (Kominfo) เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการ นักลงทุน และ Startup จากกลุ่มประเทศอาเซียน โดยมีกิจกรรม Business Matching กับนักลงทุนชั้นนำจากทั่วโลกกว่า 100 ราย ซึ่งทางกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) และ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ได้พา 10 Startups ไทยมาเข้าร่วม Matching ในครั้งนีด้วย และในงานตลอดทั้ง 2 วันรวมถึง Techsauce Global Summit 2024 Bali ได้เกิด Business Matching กว่า 188 คู่ ซึ่งถือเป็นการยกระดับเครือข่ายธุรกิจระหว่างสองประเทศ
ภายในงานครั้งนี้ได้รับเกียริตจาก คุณประพันธ์ ดิษยทัต เอกอัครราชทูต ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย กล่าวเปิดงาน ซึ่งคุณประพันธ์ได้เน้นย้ำว่าการจัดงานครั้งนี้ถือเป็นการกระชับความสัมพันธ์ของสองประเทศและเพิ่มศักยภาพการค้าระหว่างกัน ในปีที่ผ่านมานั้นการค้าระหว่างไทย-อินโดนีเซียมีมูลค่ากว่า 18 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งจัดเป็นคู่ค้าอันดับที่ 4 ของไทยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมไปถึงมีบริษัทไทยในอินโดนีเซียกว่า 200 ราย นับเป็นมูลค่าการลงทุนกว่า 2.9 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งการจัดงาน Techsauce Global Summit 2024 Bali ถือเป็นการช่วยยกระดับเศรษฐกิจของไทยและอินโดนีเซีย อีกทั้งยังมีความสอดคล้องกับนโยบายและเป้าหมายของทั้งสองประเทศในการผลักดันด้าน Digital Economy และการพัฒนา Tech Ecosystem รวมไปถึงส่งเสริม Startup ให้เติบโต จึงเป็นถือโอกาสอันดีในการเชื่อมต่อเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
หนึ่งใน Session สำคัญคือ ‘Building Stronger Tech Ecosystems: Indonesia and Thailand’ เป็นการเล่าถึงภาพรวม Tech Ecosystems ไทย-อินโดนีเซีย และกรณีศึกษาที่ประสบความสำเร็จ รวมถึงวิธีการทำงานที่ช่วยให้ Tech Ecosystem เติบโตผ่านการร่วมมือจากหลายภาคส่วน โดยมีคุณอรนุช เลิศสุวรรณกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เทคซอส มีเดีย จำกัด คุณ Faye Wongso ผู้ก่อตั้งและประธานจาก KUMPUL คุณ Ronald Simorangkir ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร จาก PT. Mandiri Capital Indonesia (MCI) ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ในเวทีนี้
เพื่อผลักดัน Tech Ecosystem ให้เกืดขึ้นนั้น แน่นอนว่า อีก Session สำคัญที่ขาดไม่ได้ก็คือเรื่องของนโยบายและการสนับสนุนจากภาครัฐ ซึ่งภายในงานเองก็ได้มี Session ที่อัดแน่นเนื้อหาด้านนโยบาย การสร้างเครือข่ายและการทำงานร่วมกับภาครัฐอย่าง ‘The Role of Government in Tech Development’ ที่มี ดร.วาริน รัชนานุสรณ์. ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมวิสาหกิจดิจิทัลเริ่มต้น จาก สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) คุณ Boni Pudjianto, ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจดิจิทัล จาก กระทรวงการสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศ ประเทศอินโดนีเซีย และคุณ Harmender Singh รองประธาน, Super PMO & Special Projects จาก Cradle Fund และยังมีตัวแทนทั้งจากภาครัฐและเอกชนที่มาร่วมแบ่งปันประสบกาณ์ในด้านการขยายธุรกิจในต่างประเทศและแนะนำข้อมูลแบบเข้มข้น อาทิ คุณไผท ผดุงถิ่น ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และ ผู้ก่อตั้ง BUILKONE Group คุณ Ryan Renaldy, Country Build Lead จาก IBM Indonesia ดร. ชัชฎาภรณ์ กรุงเกษม ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการลงทุน ณ กรุงจาการ์ตา
และยังมี Session พิเศษโดยคุณจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการบริหาร แห่งธนาคารกรุงเทพ ที่ชวนพูดคุยเรื่องการลงทุนในภูมิภาค โดยทางคุณจรัมพรได้กล่าวว่า อินโดนีเซียถือเป็นตลาดใหญ่ที่สุดในอาเซียน เหมาะแก่การขยายโอกาสทางธุรกิจดังนั้นจึงถือเป็นตลาดที่น่าสนใจ ในขณะที่ภาพรวมของประชากรถือว่ามีผู้คนรุ่นใหม่จำนวนมาก ทำให้ตัวเลขของการอุปโภคบริโภคในผู้บริโภคกลุ่มนี้ซึ่งยังเป็นวัยที่เพิ่งเริ่มต้น ส่งเสริมให้มีโอกาสเติบโตทางธุรกิจได้อีกมาก เช่น การพัฒนาธุรกิจ Retail หรือการพัฒนาด้านเทคโนโลยี โดยแนะนำว่าหากอยากนำธุรกิจไทยมาขยายในต่างแดนนั้น ควรเริ่มจากสิ่งที่ทำได้ดีหรือสำเร็จในไทยก่อน จากนั้นลองวิเคราะห์องค์ประกอบในตลาดใหม่ว่าเหมือนกันหรือไม่ ถ้ามีความเหมือนก็สามารถเริ่มได้ขยายได้เลย ถ้ายังไม่เหมือนกัน ต้องศึกษาสิ่งแวดล้อมในตลาดก่อนตาม Business Model ใน 3 ด้านนี้ โดยพิจารณาด้านต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ Right Technology, Right Business Process, Right Skill/People
นอกจากประเด็นการลงทุนและธุรกิจแล้ว ยังมีคุณ Zen Chu Faculty Director จาก MIT Healthcare Ventures, MIT Hacking Medicine ที่มาแบ่งปันความรู้ด้านการแพทย์และเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ช่วยให้การแพทย์เข้าถึงได้ง่ายขึ้น ลดต้นทุน และขยายขอบเขตการรักษาหลังวิกฤติ COVID-19 โดยชวนตั้งคำถามตั้งแต่การแพทย์ทางไกลไปจนถึงเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เชิงสร้างสรรค์ (Generative AI) และการเข้ามามีอิทธิพลของเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐอเมริกาและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ถือเป็นการปิดฉากลงอย่างยอดเยี่ยมของงาน Techsauce Global Summit 2024 Bali ที่เป็นพื้นที่ในการส่งเสริมการขยายเครือข่ายธุรกิจและผลักดันนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ อีกทั้งทำหน้าที่สนับสนุนอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและธุรกิจระหว่างประเทศให้เติบโต ตอกย้ำการเป็นผู้ขับเคลื่อน Tech Ecosystem ของไทย โดย Techsauce Global Summit 2024 ยังคงเดินหน้าต่อ และพร้อมจัดงานในประเทศเวียดนาม ในวันที่ 10 ตุลาคม 2024 ที่ โฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม เพื่อเดินตามเป้าหมายพาไทยสู่การเป็น Tech Gateway แห่งภูมิภาค
สามารถดูรายละเอียดเพื่อเข้าร่วมงานได้ที่ https://summit.techsauce.co/hochiminh/ หรืออีเมล [email protected]
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด