สหราชอาณาจักรและไทยร่วมผลักดันการส่งออกภาคเทคโนโลยี ภายใต้โครงการ 'Tech Export Academy' โครงการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งในความร่วมมืออันหลากหลายในด้านเมืองอัจฉริยะ หรือ smart city
คุณแกรห์ม สจ๊วต รัฐมนตรีด้านการส่งออกแห่งสหราชอาณาจักร และคุณชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย ร่วมกันเปิดตัวโครงการผลักดันการส่งออกภาคเทคโนโลยีระหว่างสหราชอาณาจักรและไทย “UK-Thailand Tech Export Academy” นำมาซึ่งการประชุมย่อยทางธุรกิจระหว่างบริษัทจากสหราชอาณาจักรและไทยกว่า 200 ครั้ง
โครงการเพื่อธุรกิจในครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทที่ปรึกษาชั้นนำ ได้แก่ Deloitte, EY และ KPMG ในการให้คำแนะนำเรื่องการดำเนินธุรกิจและข้อกฎหมายในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
โครงการ Tech Export Academy ริเริ่มขึ้นเมื่อปีที่แล้วโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าระหว่างประเทศแห่งสหราชอาณาจักร อลิซาเบธ ทรัส เพื่อช่วยเหลือธุรกิจในสหราชอาณาจักรที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โครงการนี้ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากโดยมีบริษัทที่สมัครเข้ามาทั้งหมด 108 บริษัท แต่มีเพียง 30 บริษัทเท่านั้นที่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการเตรียมความพร้อมระยะเวลา 9 เดือนก่อนการเดินทางมายังประเทศไทย
โครงการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งในความร่วมมืออันหลากหลายในด้านเมืองอัจฉริยะ หรือ smart city ระหว่างสหราชอาณาจักรและประเทศไทยซึ่งเริ่มปูทางโดยโครงการแรกอย่างการเปิดตัวหนังสือคู่มือเมืองอัจฉริยะ จากความร่วมมือกับหน่วยงานสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) รวมไปถึง การอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อสร้างเมืองอัจฉริยะ (Smart City Workshops) ที่จัดในหลายพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่นในจังหวัดนำร่อง ได้แก่ เชียงใหม่ ขอนแก่น และ ชลบุรี เพื่อสานต่อความร่วมมือในด้านดังกล่าวต่อไปในระดับภูมิภาค
สหราชอาณาจักรและประเทศไทยยังมีความมุ่งมั่นที่จะสานต่อความสัมพันธ์ทางการค้าให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น โดยได้จัดทำรายงานทบทวนร่วมกันในด้านการค้า (Joint Trade Review) และจากนั้นในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) โดยทั้งสองประเทศเห็นพ้องให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเศรษฐกิจและการค้าในระดับรัฐมนตรี (JETCO) ซึ่งนับเป็นโอกาสสำคัญครั้งใหม่ให้สหราชอาณาจักรและประเทศไทยได้ร่วมส่งเสริมและพัฒนาการค้า การลงทุนระหว่างกัน รวมทั้งขจัดอุปสรรคในการเข้าถึงตลาดที่ส่งผลเสียต่อธุรกิจ โดยจะมีการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งแรกในปีนี้
คุณแกรห์ม สจ๊วต รัฐมนตรีด้านการส่งออกแห่งสหราชอาณาจักร กล่าวว่า“คณะกรรมการร่วมด้านเศรษฐกิจและการค้าในระดับรัฐมนตรี (JETCO) ระหว่างสหราชอาณาจักรและไทย คือ เครื่องยืนยันถึงความต้องการของสหราชอาณาจักรที่จะขยายโอกาสทางการค้ากับพันธมิตรของเราอย่างประเทศไทย เราต้องการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างธุรกิจของทั้งสองประเทศขณะที่เศรษฐกิจโลกค่อย ๆ ฟื้นตัวจากวิกฤตของโรคระบาดในครั้งนี้เทคโนโลยีเมืองอัจฉริยะ มีศักยภาพที่จะปฏิวัติการออกแบบสิ่งแวดล้อมในเมืองและชีวิตความเป็นอยู่ในเมืองนั้นเพื่อให้เข้ากับสังคมสมัยใหม่ ธุรกิจที่ได้รับคัดเลือกมาเข้าโครงการ Tech Export Academy ในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนสู่โลกแห่งอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการเดินทาง หรือการผลิตพลังงานเพื่อใช้ในบริการสารณะต่าง ๆ”
คุณชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “ทางกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมนับว่ามีบทบาทในการส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในไทยให้เป็นรูปเป็นร่างผ่านมาตรการและกลไกที่ต่อเนื่องและแข็งขัน หนึ่งในนั้นคือการสร้างความร่วมมือและความสัมพันธ์อันดีกับพันธมิตรในระดับนานาชาติ ซึ่งทางกระทรวงฯ และสหราชอาณาจักรได้ร่วมมือกันในหลายส่วนที่มีความสำคัญ [ต่อการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ] ตัวอย่างเช่น การเปิดตัวหนังสือคู่มือเมืองอัจฉริยะในทั้งสองภาษา และ การจัดอบรมการสร้างแผนผังผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแก่ตัวแทนจังหวัดของสามภูมิภาค ได้แก่ เชียงใหม่ (ภาคเหนือ) ขอนแก่น (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) และ ชลบุรี (ภาคตะวันออก)”
คุณริชาร์ด พอร์ทเตอร์ ที่ปรึกษาด้านพาณิชย์ประจำสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษ กล่าวว่า“โครงการนี้สะท้อนถึงความสัมพันธ์ทางการค้าที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นระหว่างสหราชอาณาจักรและไทย ภาคเทคโนโลยีของสหราชอาณาจักรมีมูลค่าถึง 184,000 ล้านปอนด์ซึ่งนับว่าใหญ่ที่สุดในยุโรป นักธุรกิจเหล่านี้ได้เล็งเห็นโอกาสในการร่วมมือกับบริษัทและองค์กรไทย เฉพาะในปีที่แล้ว สหราชอาณาจักรและไทยมีมูลค่าทางการค้าระหว่างกันสูงถึง 5 พันล้านปอนด์ ผลการตอบรับอันล้นหลามต่อโครงการ Tech Export Academy ในครั้งนี้ถือเป็นตัวสะท้อนที่ดีถึงอุปสงค์จากธุรกิจทั้งของประเทศไทยและสหราชอาณาจักรในการร่วมมือกันสร้างเมืองแห่งอนาคต”
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด