Startup ต้องรู้! 4 ผลกระทบต่อผู้ประกอบการหลังแก้กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ | Techsauce

Startup ต้องรู้! 4 ผลกระทบต่อผู้ประกอบการหลังแก้กฎหมายแพ่งและพาณิชย์

บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกโดยสมาคมไทยผู้ประกอบธุรกิจเงินร่วมลงทุน (Thai Venture Capital Association) สามารถอ่านบทความต้นฉบับได้ที่นี่

ตามที่ Techsauce ได้เคยรายงานข่าวเรื่อง ครม.เห็นชอบแก้ไขกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หนุนตั้งบริษัท Startup ในไทย ซึ่งในตอนนี้ยังอยู่ในกระบวนการแก้กฏหมาย ลองมาดูเนื้อหาประเด็นสำคัญที่กำลังถูกพูดถึงกันอยู่ว่ามีอะไรบ้าง

ข้อจำกัดของกฎหมายปัจจุบัน

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในปัจจุบันนั้นยังมีข้อจำกัดหลายประการที่ทำให้การประกอบธุรกิจของกลุ่มบริษัทสตาร์ทอัพยังไม่มีความสะดวกดังที่ควร โดยในปัจจุบันมีหลายบริษัทสตาร์ทอัพในประเทศไทยได้ตัดสินใจเลือกจดทะเบียนบริษัทในประเทศสิงคโปร์ที่กฎหมายอำนวยความสะดวกมากกว่า สามารถสรุปข้อจำกัดตามประเด็นสำคัญได้ดังนี้

  • เงินกู้แปลงสภาพ (Convertible debt) – บริษัทจำกัดที่จดทะเบียนในประเทศไทยไม่สามารถแปลงหนี้เป็นหุ้นโดยตรงได้ ทำให้ไม่สามารถออกเงินกู้แปลงสภาพซึ่งเป็นเครื่องมือการระดมทุนที่เป็นที่นิยมของบริษัทสตาร์ทอัพในการระดมทุนรอบเล็กหรือที่เวลาจำกัด โดยเฉพาะในกรณีการระดมทุนรอบเล็กก่อนระดมทุนด้วยหุ้นรอบใหญ่ถัดไป (Bridge round) โดยในปัจจุบันมีความยุ่งยากและค่าใช้จ่ายที่สูงในการทำสัญญาหลายฉบับประกอบกัน
  • ระบบการจัดสรรหุ้นพนักงานบริษัท (ESOP) – บริษัทจำกัดที่จดทะเบียนในประเทศไทยไม่สามารถถือหุ้นตัวเองได้ รวมถึงไม่สามารถชี้ชวนให้ประชาชนทั่วไปทำการซื้อหุ้นของบริษัทหรือเสนอขายหุ้นให้พนักงานโดยไม่เสนอให้ผู้ถือหุ้นเดิมก่อนได้ ทำให้ไม่สามารถจัดตั้งระบบการจัดสรรหุ้นพนักงานบริษัทรวมถึงเงื่อนไขการทยอยให้หุ้น (Vesting) ได้โดยสะดวก ส่งผลให้ผู้ประกอบการหาทรัพยากรบุคคลที่มีความสามารถเข้ามาทำงานในบริษัทสตาร์ทอัพได้ยาก หากไม่ใช่ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะแรกเริ่มของธุรกิจที่บริษัทยังไม่มีเงินทุนมากพอในการจ่ายค่าตอบแทนให้กับพนักงานในอัตราที่แข่งขันกับตลาดได้
  • หุ้นบุริมสิทธิ (Preferred shares) – บริษัทจำกัดที่จดทะเบียนในประเทศไทยไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงบุริมสิทธิในหุ้นได้เมื่อมีการกำหนดออกมาแล้ว รวมถึงไม่สามารถแปลงหุ้นบุริมสิทธิเป็นหุ้นสามัญได้ ความไม่ยืดหยุ่นในการจัดการหุ้นบุริมสิทธินี้ทำให้นักลงทุนต่างชาติที่ต้องการถือหุ้นบุริมสิทธิซึ่งมีข้อกำหนด (Term) ในการปกป้องนักลงทุนที่ดีกว่านั้นมีความสนใจลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพในประเทศไทยน้อยกว่าประเทศอื่น

ผลกระทบจากการแก้กฎหมายนี้

ผลกระทบจากกระบวนการแก้กฎหมายครั้งนี้ที่ผู้ประกอบการควรทราบได้แก่

1) ผู้ประกอบการจะสามารถมีทางเลือกการระดมทุนที่สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น

ด้วยเครื่องมือเงินกู้แปลงสภาพซึ่งมีกลไกที่เรียบง่ายและสามารถทำได้สะดวกรวดเร็วกว่าการระดมทุนด้วยหุ้น โดยเครื่องมือนี้จะเป็นประโยชน์ต่อตัวนักลงทุนหรือผู้ประกอบการมากกว่ากันนั้น ขึ้นกับการเจรจาข้อกำหนดเรื่องการแปลงหนี้เป็นหุ้นในแต่ละเงื่อนไขและเหตุการณ์ เช่น ส่วนลดราคาหุ้น (Discount) และ ราคาสูงสุดในการแปลงสภาพ (Valuation cap)

2) ผู้ประกอบการจะสามารถดึงดูดทรัพยากรบุคคลที่มีความสามารถเข้ามาทำงานในบริษัทสตาร์ทอัพได้มากขึ้น

โดยเฉพาะการจ้างพนักงานในระยะแรกเริ่มของธุรกิจที่ผู้ประกอบการจะสามารถพิจารณาเสนอส่วนหนึ่งของผลตอบแทนพนักงานเป็นหุ้นของบริษัท ซึ่งสามารถเพิ่มมูลค่าในอนาคต (ตามเงื่อนไขผลงานและอายุการทำงาน) ได้ นอกเหนือจากเงินเดือนปกติ การให้ส่วนหนึ่งของผลตอบแทนเป็นหุ้นนี้เป็นวิธีสร้างแรงจูงใจให้พนักงานอยู่ร่วมพัฒนาบริษัทให้เติบโตในระยะยาวเพื่อเพิ่มมูลค่าของหุ้นที่ทุกคนถือให้สูงขึ้น โครงสร้างผลตอบแทนรูปแบบนี้ได้รับการยอมรับในระดับสากลแล้วว่าช่วยส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของวิสาหกิจเริ่มต้นอย่างบริษัทสตาร์ทอัพได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

3) ผู้ประกอบการจะได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติมากขึ้น

เนื่องจากกฎหมายใหม่ที่เอื้ออำนวยความยืดหยุ่นในการจัดการหุ้นบุริมสิทธิจะทำให้นักลงทุนต่างชาติที่ต้องการถือหุ้นบุริมสิทธิจะให้ความสนใจลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพที่จดทะเบียนในประเทศไทยมากขึ้น และบริษัทสตาร์ทอัพในประเทศไทยจะไม่จำเป็นต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการจัดโครงสร้างและจดทะเบียนบริษัทในต่างประเทศอีก

4) ทั้งนี้ผู้ประกอบการควรมีความเข้าใจในสิทธิของนักลงทุนจากหุ้นบุริมสิทธิที่เพิ่มมากขึ้นเมื่อเทียบกับหุ้นสามัญในปัจจุบัน

สิทธิที่เพิ่มมานี้เป็นกลไกในการปกป้องนักลงทุนทั้งในกรณีที่บริษัทเติบโตได้ดีและกรณีที่บริษัทถดถอย โดยข้อกำหนดสำคัญที่ควรทราบคือ สิทธิในการได้รับเงินคืนก่อนหุ้นสามัญ (Liquidation Preference) ที่จะช่วยให้นักลงทุนได้รับเงินตอบแทนก่อน (และยอดรวมสูงกว่า) ผู้ถือหุ้นสามัญในกรณีที่บริษัทเกิดการขายกิจการ และการปกป้องนักลงทุนจากการระดมทุนที่มูลค่าบริษัทลดลง (Anti-dilution) ที่ช่วยปกป้องสัดส่วนการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิเมื่อบริษัทสตาร์ทอัพที่ได้ลงทุนไปทำการระดมทุนรอบถัดมาที่มูลค่าบริษัทต่ำลง (Down round)

บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกโดยสมาคมไทยผู้ประกอบธุรกิจเงินร่วมลงทุน (Thai Venture Capital Association) สามารถอ่านบทความต้นฉบับได้ที่นี่

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

‘UOB Sustainability Compass’ เครื่องมือออนไลน์ด้านความยั่งยืน หนุน SMEs เปลี่ยน Vision เป็น Action

บทสัมภาษณ์ คุณอัมพร ทรัพย์จินดาวงศ์ และคุณพณิตตรา เวชชาชีวะ เกี่ยวกับ ‘UOB Sustainability Compass’ เครื่องมือออนไลน์ที่เข้ามาช่วย SMEs เริ่มดำเนินการด้านความยั่งยืนอย่างเข้าใจและไม...

Responsive image

Intel พลาดอะไรไป ? ทำไมถึงต้องเปลี่ยน CEO กะทันหัน ? ถอดบทเรียนราคาแพงจากยุค Pat Gensinger

การ ‘เกษียณ’ อย่างกะทันหันของ Pat Gelsinger อดีตซีอีโอ Intel ในต้นเดือนธันวาคม สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่ววงการเทคโนโลยี หลายฝ่ายมองว่าเป็นการบีบให้ออกจากบอร์ดบริหาร อันเนื่องมาจากผล...

Responsive image

GAC รถแห่งเมืองกวางโจว ขวัญใจแท็กซี่ยุคใหม่ | Tech for Biz EP. 30

แบรนด์รถยนต์ที่เป็นความภูมิใจของคนกวางโจว สู่ขวัญใจแท็กซี่ยุคใหม่ คลิปนี้ Tech for Biz จะพาไปรู้จัก GAC ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีนอีกเจ้าที่กำลังบุกตลาดเมืองไทย...