สงครามห้างไทย: ใครจะครองตำแหน่ง Landmark แห่งกรุงเทพ? | Techsauce

สงครามห้างไทย: ใครจะครองตำแหน่ง Landmark แห่งกรุงเทพ?

เมื่อพูดถึงการแข่งขันของ “ห้างสรรพสินค้า” ในประเทศไทย คงต้องยอมรับเลยว่าดุเดือดไม่แพ้ใครในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากข้อมูลของศูนย์วิจัยธนาคารกรุงศรี ชี้ให้เห็นว่าผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดห้างไทยส่วนมากเป็นกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ อย่างเช่น กลุ่ม Central, กลุ่ม CP, กลุ่ม TCC และกลุ่ม The Mall  ที่ต่างทุ่มงบลงทุนมหาศาลเพื่อสร้างโครงการ Mixed-use ขนาดใหญ่ หวังครองตำแหน่งแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของกรุงเทพมหานคร นั่นหมายความว่าหากใครคิดจะกระโดดเข้ามาแข่งขันในตลาดนี้ อาจต้องเตรียมตัวกับการลงทุนมหาศาล 

ตั้งแต่ปี 2024 ถึง 2026 จะมีโครงการ “Mega-Mixed-use projects” หลายแห่งที่ทยอยเปิดเฟสแรก เช่น One Bangkok, Bangkok Mall และ Dusit Central Park รวมถึงศูนย์การค้าขนาดใหญ่ในเมืองรองอย่างนครสวรรค์ นครปฐม นครพนม และหนองคาย แต่สิ่งที่น่าจับตามองคือโปรเจกต์ Mixed-Use เหล่านี้มีมาเพื่อต่อยอด Luxury Mall Ecosystem ของกลุ่มทุนใหญ่ โดยออกแบบมาเพื่อแย่งชิงการเป็นแลนด์มาร์กใหม่ของกรุงเทพฯ

เห็นได้ชัดว่าห้างสรรพสินค้าในประเทศไทยนั้นกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว บทความนี้ Techsauce จึงอยากชวนมาจับตามองสงครามห้างใหญ่ใจกลางเมืองของไทยจาก 4 ผู้เล่นหลักอย่าง Siam Piwat , Central, เครือ TCC Group, และ The Mall ว่าใครจะครองตำแหน่งแลนด์มาร์กแห่งกรุงเทพ ?

1. Siam Piwat: ตำนานห้างหรูของไทย

Siam Piwat เป็นผู้นำในตลาดห้างหรูด้วยโครงการต่างๆ เช่น Siam Paragon, Siam Center, Siam Discovery, Siam Premium Outlets Bangkok และ Icon Siam ซึ่งสร้าง Ecosystem ครบวงจรสำหรับลูกค้าพรีเมียม ซึ่ง Siam Paragon เป็นสัญลักษณ์ของห้างหรูในกรุงเทพฯ มามากกว่า 20 ปี ด้วยการลงทุน 15,000 ล้านบาท บนพื้นที่กว่า 500,000 ตร.ม. มีแบรนด์เนมกว่า 250 ร้าน และเชื่อมต่อกับ Siam Center และ Siam Discovery 

ในปี 2561 Siam Piwat ขยาย Ecosystem ด้วย Icon Siam ห้างหรูริมแม่น้ำเจ้าพระยาขนาด 750,000 ตร.ม. ด้วยมูลค่ากว่า 55,000 ล้านบาท ร่วมทุนกับ MQDC และเครือเจริญโภคภัณฑ์ โดยมุ่งตอบสนองลูกค้าพรีเมียมในฝั่งธนบุรีและสร้างแลนด์มาร์กใหม่ในกรุงเทพฯ

โดย Siam Piwat มีจุดแข็งสำคัญ ดังนี้

  • ยึดครองย่านปทุมวัน: Siam Piwat ตั้งอยู่ในย่านปทุมวัน ซึ่งเป็นศูนย์กลางการชอปปิงและการคมนาคมที่สำคัญ ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2023 มีจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาใช้บริการศูนย์การค้าของสยามพิวรรธน์ถึง 14 ล้านคน
  • รวมแบรนด์เนมระดับโลก: Siam Piwat เป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญที่สามารถดึงแบรนด์ระดับโลกทั้ง Gucci, Louis Vuitton, Chanel, และ Cartier มาอยู่ด้วยได้ ซึ่งร้านแบรนด์เนมส่วนใหญ่ก็มักงจัดกิจกรรมพิเศษและเปิดตัวสินค้ารุ่นลิมิเต็ดที่นี่เป็นที่แรกๆ 
  • จัดอีเวนต์ใหญ่ตลอดปี: ไม่ว่าจะเป็นปีใหม่ สงกรานต์ หรือคริสต์มาส สยามมักเป็นชื่อแรกๆ ที่ผู้คนนึกถึงในการเฉลิมฉลอง เพราะห้างนี้มีการตกแต่งและจัดกิจกรรมที่ดึงดูดผู้คนให้มาสัมผัสบรรยากาศเทศกาลแบบจัดเต็ม

วิเคราะห์จุดเด่นห้างใน Ecosystem

Icon Siam

  • ที่ตั้ง: ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา บนถนนเจริญนคร เขตคลองสาน ทำเลที่มีวิวสวยและบรรยากาศริมแม่น้ำ
  • กลุ่มลูกค้า: เน้นกลุ่มลูกค้าระดับพรีเมียมและนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่ต้องการสัมผัสความเป็นไทยในแบบหรูหรา
  • ประเภทห้าง: Luxury Mall 
  • การเดินทาง: ติดกับรถไฟฟ้าสายสีทองสถานีเจริญนคร และมีท่าเรือไอคอนสยามรองรับ 
  • สนับสนุน: เป็นศูนย์กลางการช้อปปิ้งระดับ Luxury ในฝั่งธนบุรี เสริมความแข็งแกร่งให้กับแบรนด์ Siam Piwat ในฐานะผู้สร้างแลนด์มาร์กอีกฝั่งของตัวเมือง
  • คู่แข่งในฐานะแลนด์มาร์ก: ด้วยทำเลที่ตั้งที่โดดเด่นในฝั่งธนบุรี ทำให้ Icon Siam ไม่มีคู่แข่งห้างหรูในย่านนี้

Siam Paragon

*คุณศุภลักษณ์ อัมพุช แห่ง The Mall Group ก็ถือหุ้นใน Siam Paragon ด้วยเช่นกัน

  • ที่ตั้ง: ตั้งอยู่ใจกลางกรุงเทพฯ บนถนนพระรามที่ 1 ย่านปทุมวัน
  • กลุ่มลูกค้า: กลุ่มลูกค้าระดับกลาง - พรีเมียม รวมถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีกำลังซื้อสูง
  • ประเภทห้าง: High-end Mall 
  • การเดินทาง: เดินทางสะดวกด้วยรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีสยาม 
  • สนับสนุน: เสริมสร้าง Ecosystem ของ Siam Piwat ร่วมกับ Siam Center และ Siam Discovery เพื่อสร้างย่านช้อปปิ้งระดับโลก
  • คู่แข่งในฐานะแลนด์มาร์ก: Central World ซึ่งอยู่ใกล้เคียงในย่านราชประสงค์ และมีกลุ่ม Target ใกล้เคียงกัน

Siam Center

  • ที่ตั้ง: ตั้งอยู่ใจกลางกรุงเทพฯ บนถนนพระรามที่ 1 ย่านปทุมวัน
  • กลุ่มลูกค้า: กลุ่มวัยรุ่นและคนรุ่นใหม่ที่สนใจแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ทันสมัย
  • ประเภทห้าง: Premium Mall 
  • การเดินทาง: เข้าถึงได้ง่ายด้วยรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีสยาม
  • สนับสนุน: เสริมแกร่งให้ Ecosystem ของ Siam Piwat โดยช่วยสร้างความหลากหลายควบคู่ไปกับ Siam Paragon และ Siam Discovery
  • คู่แข่งในฐานะแลนด์มาร์ก: Central World และ Emsphere ที่ดึงดูดกลุ่มวัยรุ่นและคนรุ่นใหม่เช่นเดียวกัน

Siam Discovery

  • ที่ตั้ง: ตั้งอยู่ใจกลางกรุงเทพฯ บนถนนพระรามที่ 1 ย่านปทุมวัน
  • กลุ่มลูกค้า: เน้นกลุ่มวัยรุ่นและคนรุ่นใหม่ รวมถึงผู้ที่สนใจนวัตกรรมและไลฟ์สไตล์ทันสมัย
  • ประเภทห้าง: Lifestyle Mall 
  • การเดินทาง: เดินทางสะดวกด้วยรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีสยาม
  • สนับสนุน: เสริมความแข็งแกร่งให้กับ Siam Paragon และ Siam Center โดยนำเสนอสิ่งใหม่ ๆ ที่แตกต่างและตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ในเมือง
  • คู่แข่งในฐานะแลนด์มาร์ก: Central World ที่นำเสนอไลฟ์สไตล์และเทคโนโลยีในย่านใกล้เคียง

2. Central Group: ผู้เล่นหลักวงการห้างไทย

Central Group คือผู้เล่นหลักในวงการห้างสรรพสินค้าไทย ด้วยสาขากว่า 41 แห่งทั่วประเทศที่ตั้งอยู่ในทำเลเข้าถึงง่าย ใกล้ถนนสายหลักและระบบขนส่งสาธารณะ สะดวกต่อการเดินทาง โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ที่ Central เข้าครองตลาด Local Mall อย่างแข็งแกร่ง

สำหรับกรุงเทพฯ การใช้โมเดล Local Mall อาจไม่ตอบโจทย์ Central ที่ต้องเผชิญกับคู่แข่งสายหรูอย่าง Siam Piwat และ The Mall Group ซึ่งเน้นความพิเศษที่หรูหราและโดดเด่น Central Group จึงสร้างสรรค์ "Luxury Mall Ecosystem" ขึ้นเอง โดยมีห้างหรูตัวท็อปอย่าง Central World, Central Chidlom, Central Embassy และอีกโปรเจ็กต์ใหม่อย่าง Dusit Central Park ที่เตรียมเปิดตัวเพื่อแข่งขันกับ One Bangkok

โดย Central Group มีจุดแข็งสำคัญ ดังนี้

  • ยึดครองทำเลทอง: ห้างในเครือ Central Group มักตั้งอยู่ในทำเลที่สะดวกต่อการเดินทาง เช่น ใกล้สถานีรถไฟฟ้า หรืออยู่ในย่านธุรกิจสำคัญ
  • ดึงแบรนด์ระดับโลกเข้าห้าง: Central สามารถดึงร้านดังมาเปิดสาขาในประเทศไทยได้ เช่น Shake Shack และ The Cheesecake Factory ที่เปิดร้านอาหารแบบฟูลออพชั่นครั้งแรกในประเทศไทยที่เซ็นทรัลเวิลด์ หรือ Pop Mart ที่เข้ามาเปิดสาขาแรกในไทยที่ Central World 
  • จัดอีเวนต์ใหญ่ตลอดปี: Central Group ก็เป็นหนึ่งในห้างที่จัดอีเวนต์ได้ยิ่งใหญ่ไม่แพ้ใครในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะเทศกาลคริสมาสต์และปีใหม่ ที่ไม่ว่าใครๆ ก็ต้องแวะเวียนไปในช่วงสิ้นปี

วิเคราะห์จุดเด่นห้างใน Ecosystem

Central World

  • ที่ตั้ง: ตั้งอยู่บริเวณแยกราชประสงค์ ซึ่งเป็นทำเลที่สำคัญใจกลางกรุงเทพฯ
  • กลุ่มลูกค้า: ระดับกลาง - ระดับพรีเมี่ยม - นักท่องเที่ยวต่างชาติ
  • ประเภทห้าง: High-end Mall
  • การเดินทาง: รถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีชิดลมและสถานีสยาม
  • สนับสนุน: ช่วยดึงลูกค้าระดับกลางและกลุ่มพรีเมียมจาก Siam Piwat
  • คู่แข่งในฐานะแลนด์มาร์ก: Siam Paragon ซึ่งตั้งอยู่ในทำเลใกล้กัน

Central Chidlom

  • ที่ตั้ง: ตั้งอยู่บนถนนเพลินจิต เป็นศูนย์กลางธุรกิจและการค้า
  • กลุ่มลูกค้า: ระดับพรีเมี่ยม - ลูกค้าชาวต่างชาติ
  • ประเภทห้าง: Luxury Mall
  • การเดินทาง: สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสชิดลม
  • สนับสนุน: ขยายฐานโอกาสให้ Central World ให้ Central Chidlom เป็นห้างหรูในย่านที่ใกล้เคียงกับ Siam Paragon
  • คู่แข่งในฐานะแลนด์มาร์ก: Siam Paragon และ EmQuartier

Central Embassy

  • ที่ตั้ง: ตั้งอยู่บนถนนเพลินจิต
  • กลุ่มลูกค้า: กลุ่มลูกค้าระดับพรีเมียม - ระดับลักชัวรี
  • ประเภทห้าง: Super Luxury Mall
  • การเดินทาง: ใกล้สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีเพลินจิต
  • สนับสนุน: เสริมแกร่งแบรนด์ Central Group ในตลาดพรีเมียมและลักชัวรี พร้อมสร้าง Ecosystem ในย่านใกล้ Siam Paragon เพื่อเป็นห้าสุดหรูครบวงจร
  • คู่แข่งในฐานะแลนด์มาร์ก: Siam Paragon ดึงลูกค้าลักชัวรีที่ต้องการความเป็นส่วนตัวและความหรูหราขั้นสุด

Dusit Central Park

  • ที่ตั้ง: ตั้งอยู่บริเวณหัวมุมถนนสีลมตัดกับถนนพระราม 4 ตรงข้ามสวนลุมพินี ทำเลนี้เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่เชื่อมต่อย่านธุรกิจสำคัญของกรุงเทพฯ 
  • กลุ่มลูกค้า: ระดับพรีเมียม - นักธุรกิจ - นักท่องเที่ยวต่างชาติ
  • ประเภทห้าง: โครงการมิกซ์ยูสระดับโลก บนพื้นที่ 37,200 ตารางเมตร รวมโรงแรมดุสิตธานี, ที่พักอาศัยระดับลักชัวรี, ศูนย์การค้าเซ็นทรัล พาร์ค, และอาคารสำนักงาน
  • การเดินทาง: ใกล้กับสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสศาลาแดงและสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินเอ็มอาร์ทีสีลม 
  • สนับสนุน: ความร่วมมือระหว่างดุสิตธานีและเซ็นทรัลพัฒนา ด้วยการลงทุนกว่า 46,000 ล้านบาท เพื่อเสริมตลาดนักธุรกิจในย่านพระราม 4
  • คู่แข่งในฐานะแลนด์มาร์ก: One Bangkok ซึ่งเป็นโครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ในย่านใกล้เคียง

3. TCC Group: บุกเบิกห้างเพื่อการท่องเที่ยว

ถ้าเราพูดถึงศูนย์การค้าไอทีในไทย ชื่อที่หลายคนคงนึกถึงเป็นอันดับแรกคือ "พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า ประตูน้ำ" ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของสายธุรกิจศูนย์การค้าของ TCC ที่บุกเบิกตลาดไอทีและประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง นับว่าเป็นที่แรกที่รวบรวมสินค้าไอทีครบวงจรในแบบที่ไม่มีใครทำมาก่อน

แต่ไม่ได้หยุดอยู่แค่พันธุ์ทิพย์ เพราะในวงการ Retail ทาง TCC ยังได้ขยายไปสู่การพัฒนาศูนย์การค้าท่องเที่ยวไลฟ์สไตล์ที่ตอบโจทย์ทั้งคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่เด่นที่สุดคงไม่พ้น Asiatique The Riverfront ศูนย์การค้าริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม

และโครงการใหญ่ล่าสุดที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อ 25 ตุลาคม 67 ที่ผ่านมาอย่าง One Bangkok อาณาจักร Mixed-Use ครบวงจร พื้นที่กว่า 10,000 ตารางเมตร ทำเลใจกลางพระราม 4 และวิทยุ โดดเด่นด้วยตึก "Signature Tower" ที่สูงที่สุดในประเทศไทย ซึ่งจะเป็นโครงการที่ชูโรง TCC Group ให้กลับมาผงาดอีกครั้งในฐานะแลนด์มาร์ก หลังเอเชียทีคต้องพ่ายให้กลับ Icon Siam ไป

โดย TCC Group มีจุดแข็งสำคัญ ดังนี้

พัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการท่องเที่ยว: ทั้ง Asiatique, เวิ้งนาครเกษม ย่านเยาวราช ล้วนแล้วถูกออกแบบมาเพื่อรองรับการท่องเที่ยวโดยเฉพาะ ซึ่งห้างในเครือ TCC Group จึงดึงดูดลูกค้าต่างชาติได้

ครองย่านท่องเที่ยวหลักในไทย: ทั้งทำเลที่ตั้งริมแม่น้ำเจ้าพระยาหรือถนนเยาวราช ซึ่งเป็นย่านไชน่าทาวน์ที่มีชื่อเสียงของไทยก็ล้วนมีโครงการของ TCC Group ตั้งอยู่เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ

วิเคราะห์จุดเด่นห้างใน Ecosystem

สำหรับ TCC Group ซึ่งมีธุรกิจหลากหลายตั้งแต่เครื่องดื่ม อสังหาริมทรัพย์ ค้าปลีก ไปจนถึงการท่องเที่ยว แม้จะมีเครือข่ายครอบคลุมหลายกลุ่มอุตสาหกรรม แต่ปัจจุบันอาจยังไม่ถึงจุดที่เรียกได้ว่าเป็น Luxury Mall Ecosystem อย่างแท้จริง อย่างไรก็ตาม โครงการมิกซ์ยูส "One Bangkok" ซึ่งเป็นโครงการเรือธงของกลุ่ม อาจเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการแข่งขันในตลาดห้างระดับหรูในอนาคต

One Bangkok

  • ที่ตั้ง: ตั้งอยู่บริเวณหัวมุมถนนวิทยุและถนนพระรามที่ 4 ใกล้สวนลุมพินี
  • กลุ่มลูกค้า: กลุ่มลูกค้าระดับพรีเมียม รวมถึงนักธุรกิจ นักลงทุน และนักท่องเที่ยว
  • ประเภทห้าง: โครงการมิกซ์ยูสมาตรฐานโลก มูลค่ากว่า 120,000 ล้านบาท พื้นที่ห้างกว่า 60,000 ตารางเมตร พร้อมสำนักงานเกรดเอ 5 อาคาร รวมพื้นที่สำนักงานกว่า 500,000 ตารางเมตร
  • การเดินทาง: รถไฟฟ้า MRT สถานีลุมพินี พร้อมเชื่อมต่อกับทางด่วนเฉลิมมหานครโดยตรง
  • สนับสนุน: เพื่อสร้างแลนด์มาร์กใหม่ใจกลางเมืองให้กับ TCC Group
  • คู่แข่ง: Dusit Central Park โครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่ในย่านใกล้เคียง

4. The Mall Group: บุกเบิกห้างหรูไทย

The Mall Group เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการค้าปลีกชั้นนำที่บุกเบิกห้างหรูในประเทศไทย โดยเริ่มต้นจากห้าง Luxury แห่งแรกของไทยอย่าง Emporium ซึ่งเปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2540 ในฐานะศูนย์การค้าที่เน้นความหรูหราและสินค้าระดับไฮเอนด์ นอกจาก Emporium แล้ว The Mall Group ยังเป็นผู้อยู่เบื้องหลังศูนย์การค้าชื่อดังมากมาย ตั้งแต่ยุค 80s เช่น The Mall, EmQuartier, BLU PORT หัวหิน, BLU PEARL ภูเก็ต และ EmSphere

เมื่อพูดถึง Luxury Mall Ecosystem ในมือของ The Mall Group คงต้องนึกถึงห้างในกลุ่ม “3-EM” ห้างแต่ละแห่งใน Ecosystem ของ The Mall Group ช่วยเสริมความน่าสนใจและเพิ่มความหลากหลายในการช้อปปิ้ง ความบันเทิง และประสบการณ์ให้กับลูกค้า โดยการเชื่อมต่อระหว่าง Emporium, EmQuartier, และ EmSphere ช่วยดึงดูดกลุ่มลูกค้าให้มาใช้เวลาในพื้นที่พร้อมพงษ์ได้มากขึ้น ส่วน Bangkok Mall ก็เสริมฐานลูกค้าฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ

นอกจากนี้ ยังมีอีกหนึ่งโครงการที่น่าจับตามองคือ Bangkok Mall โครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่บนพื้นที่กว่า 100 ไร่ในย่านบางนา มูลค่ากว่า 50,000 ล้านบาท ตั้งเป้าหมายที่จะครองตำแหน่งแลนด์มาร์กสำคัญทางฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการในอีก 2-3 ปีข้างหน้านี้

และเมื่อพิจารณา Ecosystem ของห้างหรูในเครือ The Mall Group อย่างละเอียด จะเห็นถึงกลยุทธ์ที่คล้ายกับเครือข่ายของ Siam Piwat นั่นคือการสร้างอาณาจักรที่เชื่อมต่อถึงกัน (Synergy Location) 

โดย The Mall Group มีจุดแข็งสำคัญ ดังนี้

  • ยึดครองเส้นสุขุมวิท: ห้างตระกูล 3-EM นั้นยึดครองถนนสุขุมวิท ในย่านพร้อมพงษ์ไปแล้ว ย่านนี้เป็นที่อยู่อาศัยของชาวต่างชาติหลายชาติ โดยเฉพาะชาวญี่ปุ่นและชาวยุโรปซึ่งมีกำลังซื้อสูง ซึ่งมักนิยมสินค้าที่มีคุณภาพดีและบริการที่มีระดับ
  • สถาปัตยกรรมโดดเด่น: ศูนย์การค้าในเครือเดอะมอลล์ โดยเฉพาะเอ็มควอเทียร์และเอ็มสเฟีย ถูกออกแบบให้มีโครงสร้างที่ทันสมัยและสวยงาม สถาปัตยกรรมที่ไม่เหมือนใคร เช่น น้ำตกภายในและพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ในเอ็มควอเทียร์ หรือกลางห้างเอ็มสเฟีย ที่ตกแต่งอย่างยิ่งใหญ่ด้วยผ้าขาวม้า ซึ่งเหมาะกับยุคที่ทุกอย่างต้อง Instagramable

วิเคราะห์จุดเด่นห้างใน Ecosystem

Emporium

  • ที่ตั้ง: ถนนสุขุมวิท ใจกลางพร้อมพงศ์
  • กลุ่มลูกค้า: ระดับพรีเมี่ยม - นักท่องเที่ยวต่างชาติ
  • ประเภทห้าง: Luxury Mall
  • การเดินทาง: รถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีพร้อมพงษ์
  • สนับสนุน:  บุกเบิกห้างหรูย่านพร้อมพงษ์เป็นแม่เหล็กดึงดูดกลุ่มลูกค้าหรูที่มองหาสินค้าแบรนด์ดัง ซึ่งช่วยส่งต่อกลุ่มลูกค้ามายัง EmQuartier และ EmSphere ได้
  • คู่แข่ง: แย่งชิงกลุ่มลูกค้าเดียวกันกับ Siam Paragon, Icon Siam, Central Embassy 

EmQuartier

  • ที่ตั้ง: ฝั่งตรงข้าม Emporium บนถนนสุขุมวิท
  • กลุ่มลูกค้า: ระดับสูง - ระดับพรีเมี่ยม - นักท่องเที่ยวต่างชาติ
  • ประเภทห้าง: High-end Mall
  • การเดินทาง: รถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีพร้อมพงษ์
  • สนับสนุน: ดึงดูดกลุ่มลูกค้าต่างจาก Emporium อย่างวัยทำงานและครอบครัว ด้วยการเพิ่มความหลากหลาย เช่น โรงเรียนสอนพิเศษ ฟิตเนสเด็ก และร้านไลฟ์สไตล์ต่าง ช่วยให้ลูกค้าใช้เวลาในพื้นที่นี้มากขึ้น
  • คู่แข่ง: Siam Paragon, Central World

EmSphere

  • ที่ตั้ง: ถนนสุขุมวิท ใจกลางพร้อมพงษ์สามารถเดินเชื่อมกับ Emporium และ EmQuartier ผ่านทาง Skywalk ได้
  • กลุ่มลูกค้า: กลุ่มวัยรุ่นและคนรุ่นใหม่ที่สนใจแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ทันสมัย
  • ประเภทห้าง: Premium Mall
  • การเดินทาง: รถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีพร้อมพงษ์
  • สนับสนุน: ดึงดูดลูกค้ากลุมใหม่ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่และวัยรุ่นให้กับ Ecosystem ของห้างในเครือ The Mall Group ย่านสุขุมวิท เพราะแต่ก่อนส่วนใหญ่โซนนี้มักมีแต่ลูกค้าระดับพรีเมี่ยม - นักท่องเที่ยวต่างชาติ
  • คู่แข่ง: แย่งชิงกลุ่มลูกค้าเดียวกับ Siam Center, Siam Discovery 

Siam Piwat, Central Group, The Mall Group และ TCC Group ต่างเป็นผู้นำด้านห้างสรรพสินค้าของไทย Siam Piwat ได้สร้างภาพลักษณ์ตำนานห้างหรูของไทยในย่านปทุมวันและริมแม่น้ำเจ้าพระยาผ่าน Icon Siam เพื่อดึงดูดลูกค้าพรีเมียมและนักท่องเที่ยว ขณะที่ Central Group ครองตลาดห้างสรรพสินค้าด้วยเครือข่ายที่ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยมีห้างสำคัญในกรุงเทพฯ อย่าง Central World, Central Chidlom และ Central Embassy ที่รวมแบรนด์ดังและร้านอาหารชั้นนำ 

The Mall Group มีความแข็งแกร่งบนถนนสุขุมวิทกับกลุ่มห้าง 3-EM ที่พร้อมพงษ์ ส่วน TCC Group โดดเด่นในตลาดห้างเพื่อการท่องเที่ยว เช่น Asiatique The Riverfront และ One Bangkok ที่มาพร้อมตึกสูงที่สุดในไทย สร้างเอกลักษณ์ความเป็นไทยและวางตำแหน่งให้เป็นแลนด์มาร์กอนาคตของกรุงเทพฯ

จากสงครามห้างใหญ่ในกรุงเทพฯ จาก 4 กลุ่มทุนยักษ์นี้ คุณคิดว่าใครจะสร้างแลนด์มาร์กที่เป็นที่สุดและยืนหนึ่งในใจคนไทยและนักท่องเที่ยวได้อย่างแท้จริง?

อ้างอิง: siampiwat, krungsri, centralretail, centralpattana, tcc

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

‘Yindee’ แชตบอตในแอป ttb Touch ใช้ Gen AI จับความรู้สึก ตอบเร็วและฉลาดกว่าที่เคย

Yindee แชตบอตที่อยู่บน Mobile Banking ของ ttb ทำงานผ่านแอป ttb Touch สามารถจับ Mood & Tone ของลูกค้าหรือผู้ใช้บริการ ว่าขณะแชตนั้น ลูกค้าอยู่ในอารมณ์ไหน ด้วย Generative AI โดย Azur...

Responsive image

คนอยากใช้พลังงานเยอะ แต่โลกอยากได้ปล่อยคาร์บอนน้อย บริษัทพลังงานแก้ไขความย้อนแย้งนี้อย่างไรดีในยุค AI

The Energy/Prosperity Paradox หรือภาวะย้อนแย้งแห่งพลังงาน และความเจริญ ถือเป็นความท้าทายระดับโลกที่บริษัทด้านพลังงานกำลังพบเจอ เพราะในตอนนี้โลกกำลังต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นอย่างไม่เ...

Responsive image

เศรษฐกิจไทย ‘ฟื้นตัว’ แล้วหรือยัง ? ฟังความเห็นจาก 3 ผู้นำธุรกิจยักษ์ใหญ่ไทย

ค้นพบศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงไทย จีน สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม และกัมพูชา พร้อมโอกาสการลงทุนที่น่าสนใจในภาคอุตสาหกรรม การเงิน และเทคโนโลยี...