Allianz กับการทำงานร่วมกันระหว่าง ​Corporate กับ Startup และเทรนด์ด้าน InsureTech ที่สำคัญ | Techsauce

Allianz กับการทำงานร่วมกันระหว่าง ​Corporate กับ Startup และเทรนด์ด้าน InsureTech ที่สำคัญ

เมื่อเร็วๆ นี้ทางอลิอันซ์ อยุธยา ได้นำ 3 ทีมชนะเลิศจากเวทีโครงการ Allianz Ayudhya Activator ที่อลิอันซ์ อยุธยา จัดขึ้นเป็นครั้งแรก บินลัดฟ้าในฐานะตัวแทนประเทศไทยเพื่อโชว์ศักยภาพด้านนวัตกรรมในงานเทศกาล Singapore FinTech Festival ประจำปีครั้งที่ 3 ที่จัดขึ้นที่ประเทศสิงคโปร์

Doctor A to Z, Sharmble และ Vitaboost Wellness ผู้ชนะจากโครงการบ่มเพาะ Startup ของอลิอันซ์ อยุธยา ภายใต้ชื่อ Allianz Ayudhya Activator ได้รับโอกาสต่อยอดธุรกิจในระดับนานาชาติเพื่อนำไปสู่การพัฒนาธุรกิจของพวกเขาให้เติบโตยิ่งขึ้น ผ่านการร่วมเทศกาลในครั้งนี้

การที่อลิอันซ์ได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการจัดงานดิจิทัลในครั้งนี้ ถือเป็นการตอกย้ำความมุ่งมั่นตั้งใจของ อลิอันซ์ ในการสนับสนุนนวัตกรรมที่เกิดขึ้นในตลาดประเทศต่างๆ การแบ่งปันความเชี่ยวชาญด้านดิจิทัล และเน้นย้ำภาพลักษณ์ของบริษัทในฐานะที่เป็นหนึ่งในแรงผลักดันสำคัญต่อ InsureTech และชุมชน Startup ทั้งในระดับประเทศและภูมิภาคอย่างแท้จริง

บูธจัดแสดงของ Allianz Ayudhya Activator ได้แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายของโซลูชั่นที่บรรดา Startup ไทยได้คิดค้นพัฒนาขึ้นเพื่อให้ อลิอันซ์ อยุธยา นำมาใช้งาน ซึ่งถือเป็นการสร้างมูลค่าที่แท้จริงเพื่อส่งมอบให้กับลูกค้า โดยหลากหลายโซลูชั่นที่นำเสนอ มีตั้งแต่เครือข่ายการแมทชิ่งระหว่างแพทย์และคนไข้ ไปจนถึงการดูแลระยะไกลและโปรแกรมการดูแลรักษาสุขภาพที่ปรับให้เหมาะกับสุขภาพของผู้ใช้งานแต่ละคน ดังต่อไปนี้

  • Doctor A to Z – แพลตฟอร์มในรูปแบบเว็บไซต์ที่ตอบสนองความต้องการในการรักษาของผู้ใช้ด้วยการจับคู่ความต้องการของคนไข้ เข้ากับโรงพยาบาลที่เชี่ยวชาญเฉพาะทาง รวมถึงคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับความไว้วางใจ เพื่อให้ผู้รับริการ สามารถเข้าถึงการรักษาที่มีประสิทธิภาพได้ในราคาที่เหมาะสม
  • Sharmble – แพลตฟอร์มดิจิทัลที่ให้การดูแลเต็มรูปแบบจากระยะไกลสำหรับผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น การจัดส่งฟรีใบสั่งยาและการปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านยา รวมทั้งการพบแพทย์ผ่านโปรแกรม telemedicine
  • Vitaboost Wellness – โครงการบริการดูแลสุขภาพภายในบ้านที่สามารถปรับแต่งชุดโภชนาการหรือวิตามินสำหรับลูกค้าแต่ละราย ขึ้นอยู่กับผลการทดสอบเลือดและแบบสอบถามเกี่ยวกับไลฟ์สไตล์

นายไบรอัน สมิธ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต กล่าวว่า "จุดเด่นของอลิอันซ์ อยุธยา คือ การมุ่งมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของลูกค้า เรารู้สึกยินดีที่ได้ร่วมเป็นพันธมิตรกับ Startup ที่มีพรสวรรค์เหล่านี้ และมุ่งหวังที่จะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่เพื่อขยายธุรกิจของพวกเขาให้ขยายต่อไปในเวทีโลก"

นายโรบิน โล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านดิจิทัลของอลิอันซ์ เอเชีย กล่าวว่า "สิงคโปร์ ฟินเทคเฟสติวัล ถือว่าเป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มที่เป็นที่ยอมรับสำหรับผู้เล่นในระบบดิจิทัลในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและร่วมกันพัฒนาระบบนิเวศนี้ เรามีความภาคภูมิใจในการมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่มีความสำคัญนี้ ในขณะเดียวกันเราก็สนับสนุนธุรกิจ Startup ในตลาดของเราให้ได้รับประสบการณ์ที่สำคัญในเวทีระดับโลกเช่นกัน”

นอกเหนือจากการออกบูธกิจกรรมเพื่อโปรโมทธุรกิจแล้ว ทีม Startup ทั้งสามยังได้รับเชิญให้ร่วมแชร์เรื่องราวเกี่ยวกับรูปแบบการดำเนินธุรกิจกับ ผู้บริหาร พนักงานและพันธมิตรทางดิจิทัลของอลิอันซ์ในประเทศสิงคโปร์ ซึ่งรวมถึงการเสวนาร่วมกับ Kayvon Deldar, Program Head จาก Plug & Play ซึ่งเป็น accelerator แพลตฟอร์มระดับโลก มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ใน Silicon Valley, Johnny Mayo, Asia General Manager จาก SuperCharger จากมาเลเซีย เป็นหนึ่งในผู้นำ FinTech Accelerator ในเอเชีย Michael Fong, Head of Digital Partnership และ Innovation จาก Allianz Malaysia และ Jatemarin Jatelaveechote, Senior Vice President DCBD (Digital Marketing, Corporate Branding, Activation จาก Allianz Ayudhya

ในตอนนี้มีเทรนด์เทคโนโลยีอะไรที่ผู้ที่ทำบริการด้านประกันต้องโฟกัสบ้าง?

ผู้ที่ทำงานร่วมกับเหล่า Startup ไม่ว่าจะเป็น Johnny จาก SuperCharger และ Kayvon จาก Plug & Play ได้แนะนำว่า

โฟกัสในเรื่องของบริการว่ามีอะไรที่สามารถทำงานร่วมกันกับทาง Corporate ได้บ้าง อีกทั้งมี Pain point อะไรที่ต้องทำการแก้ไข และให้ความสำคัญในเรื่องคนในทีมมากกว่าจะโฟกัสไปที่เรื่องของเทรนด์เทคโนโลยีใหม่ๆ

Johnny Mayo :  จริงๆ แล้วไม่ได้อยากให้โฟกัสไปที่การตามเทรนด์เทคโนโลยีใหม่ๆ ทาง Supercharger เอง แน่นอนว่าต้องทำการอัพเดทเทรนด์ของ Blockchain เพื่อไม่ให้ตกเทรนด์อยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว สิ่งที่สำคัญคือจะโฟกัสไปในเรื่องของการทำงานว่า คนในทีมได้มีความเชี่ยวชาญ มีประสบการณ์ หรือเคมีที่ตรงกันหรือเปล่า อีกทั้งจะโฟกัสไปที่ปัญหาจริงๆ ว่ามีอะไรที่ต้องทำการแก้ไขแล้วเริ่มจากตรงนั้น มากกว่าที่จะใช้เวลาไปโฟกัสกับเทรนด์เทคโนโลยี

Johnny Mayo, Asia General Manager จาก SuperCharger จากมาเลเซีย

Kayvon Deldar : เห็นด้วยในเรื่องของการให้ความสำคัญไปที่ปัญหาที่พบแล้วทำการโฟกัสไปที่ตรงนั้น นอกจากนี้สิ่งที่พวกเราเล็งเห็น จากการที่ได้ทำงานร่วมกับเหล่า Startup อย่างกรณีของ Go-Jek และ Traveloka พวกเขาได้ทำการเพิ่มบริการของ Micro insurance ไปยังบริการที่พวกเขามีอยู่แล้ว นอกจากนี้โมเดลธุรกิจที่น่าสนใจอีกอันก็คือ ALLCARE ของทางฟิลลิปปินส์ที่รวมกลุ่มของการประกันสุขภาพเข้าไว้ด้วยกันในแพลตฟอร์มเดียว

Kayvon Deldar, Program Head จาก Plug & Play

คำแนะนำสำหรับฝั่ง Corporate ที่อยากจะทำงานร่วมกับ Startup ควรจะเริ่มอย่างไร?

Michael Fong : แนะนำให้เข้าร่วม Demo Day ซึ่งจะเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้เหล่า Startup ได้นำเสนอไอเดีย แผนธุรกิจให้กับนักลงทุน อีกทั้งจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับ Fintech หลังจากนั้นจะเป็นเรื่องของการ upskills ในด้านดิจิทัล หากต้องการทำงานในด้านนี้ต่อไป

Michael Fong, Head of Digital Partnership และ Innovation จาก Allianz Malaysia

Jatemarin Jatelaveechote : เมื่อเหล่า Corporate ได้ทำงานร่วมกับเหล่า Startup แล้วนั่นหมายถึง คุณจะได้เข้าถึงคอมมูนิตี้ของ Startup นั้นๆ ด้วย เหมือนอย่างที่เราได้ทำการพาร์ทเนอร์กับทาง JD.com และ Go-Jek เป้าหมายของเราคือ ต้องการที่จะเจาะเข้าไปยังตลาดของคอมมูนิตี้นั้นๆ

คำแนะนำสำหรับผู้ที่ต้องการเริ่ม สามารถทำได้โดยการหา pain point ของตัวเองว่าคืออะไร แล้วทำการหา Startup ที่สามารถช่วยคุณได้ แล้วเริ่มจากตรงนั้น

สำหรับ Activator เราได้ทำการทดลองโมเดลใหม่ๆ อยู่เสมอ เรื่องของประกันอาจจะเป็นเรื่องน่าเบื่อสำหรับหลายๆ คน เราจึงคิดค้นวิธีว่าจะทำอย่างไรในการส่งมอบคุณค่าใหม่ๆ ให้กับลูกค้า นี่เป็นสิ่งที่เรากำลังตามหาในตัวผู้ที่จะทำงานร่วมกับเรา ซึ่งข้อดีของการทำงานร่วมกับ Startup คือพวกเขาจะมีไอเดียใหม่ๆ อยู่เสมอ อีกทั้งมีเป้าหมายการทำงานร่วมกันในการสร้าง traction การสร้างนวัตกรรม และสร้างคุณค่าใหม่ๆ ให้กับลูกค้าในการบริการด้านประกัน

Jatemarin Jatelaveechote, Senior Vice President DCBD (Digital Marketing, Corporate Branding, Activation จาก Allianz Ayudhya)

คำแนะนำสำหรับ Startup ไทยที่ต้องการทำการพาร์ทเนอร์กับทาง Plug & Play และ SuperCharger คุณสมบัติหลักๆ ที่มองหาในผู้ที่จะเข้ามาทำงานร่วมกันคืออะไร?

Kayvon Deldar : Accelerator program ที่ทาง Plug and Play ได้ร่วมมือกับเหล่า Corporate ก็คือ เราจะทำการหาเหล่า Startup ให้พวกเขา แล้วดูว่าปัญหาหรือ pain point หลักๆ ที่พวกเขาต้องการแก้คืออะไร ดูว่ามีบริการอะไรของ Startup นั้นๆ ที่จะช่วยแก้ปัญหาหลักของทางฝั่ง Corporate ได้บ้าง จากนั้นจึงทำการหาตลาดต่างประเทศที่แต่ละ Startup จะสามารถเจาะเข้าไปได้

คำถามหลักๆ ที่เรามักจะถาม Startup ก็คือ ปัญหาที่พวกเขาต้องการแก้ไขคืออะไร อีกทั้งแรงขับเคลื่อนในการทำงานคืออะไร จากนั้นจะรวบรวมลิสต์ของ Startup ให้กับ Corporate เพื่อทำการเลือก ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะได้ทำการ pitch ต่อบริษัท จากนั้นก็จะเป็นเรื่องบทสนทนาระหว่างทั้งสองฝ่ายในเรื่อง tractions และความสนใจร่วมกัน แล้วถึงจะเป็นการเริ่ม Accelerator program

Johnny Mayo : ในด้านความร่วมมือระหว่าง SuperCharger และ Allianz คือทางเราจะมี International roadshow ในหลายประเทศ ทำการพูดคุยกับเหล่า Startup ว่าใครจะเข้ามาช่วยทางบริษัทแก้ pain point ที่กำลังมองหา จากนั้นจะทำการแชร์ข้อมูลกับทางบริษัท แล้วดูว่าใครมีคุณสมบัติที่จะสามารถทำงานร่วมกันได้ จากนั้นจึงทำการคัดเลือกให้มาเข้าร่วมโปรแกรม 12 สัปดาห์กับเรา

Startup และ Corporate จะสามารถทำงานร่วมกันเพื่อช่วยกันในการแก้ปัญหาร่วมกันได้อย่างไร?

Jatemarin Jatelaveechote : เป้าหมายของเราก็คือ เราต้องการสร้างคุณค่าและมุมมองใหม่ๆ ให้กับวงการประกัน การทำงานร่วมกับ Startup หมายถึง คุณต้องมีความยินดีที่จะเรียนรู้จากความล้มเหลว แล้วลุกขึ้นมาใหม่อย่างรวดเร็ว เมื่อรู้ถึงผลกระทบแล้วถึงจะทำการ scale ต่อไป เพราะ Startup ไม่สามารถโตได้ด้วยตัวเองเพียงลำพัง พวกเขาต้องทำการ pivot อยู่ตลอดเวลา เมื่อทั้งสองฝ่ายได้ร่วมมือแล้วหาจุดตรงกลางที่สามารถทำงานร่วมกันได้ จากนั้นก็ช่วยกัน scale ซึ่งข้อได้เปรียบของการที่ Startup ได้มาทำงานร่วมกับเราก็คือ พวกเขาจะสามารถ scale ได้เร็วมากกว่าการที่จะทำงานเพียงลำพัง

ในส่วนของ Healthy living เราได้ทำการเปิดตัวบริการไปเมื่อเดือนที่แล้ว ตอนนี้กำลังติดตามในเรื่องของ conversation และ funnel ที่พบ จากนั้นเริ่ม pivot ไปเรื่อยๆ

เราไม่ได้ตั้งเป้าว่าเมื่อทำการเปิดบริการใหม่ แล้วจะประสบความสำเร็จได้เลย แต่เป็นเรื่องของการทำการแก้ปัญหาที่พบในแต่ละขั้นตอน เราจะเรียนรู้จากมัน และเริ่มใหม่อย่างรวดเร็วได้อย่างไรต่างหากที่สำคัญ

Kayvon Deldar : มันค่อนข้างยากถ้าจะเริ่มทำงานจากโปรเจกต์ใหญ่ๆ คำแนะนำคือให้เริ่มจากปัญหาเล็กๆ ที่พบก่อน จากนั้นเรียนรู้จากกระบวนการทำงาน จากปัญหาที่พบในแต่ละขั้นตอน แล้วค้นหาวิธีการแก้ไขปัญหาจากประสบการณ์นั้นๆ

Michael Fong : ปัญหาหลักๆ ที่พบในการทำงานร่วมกันของ Corporate และ Startup คือ หากทั้งสองฝ่ายเริ่มจากวิธีการแก้ไขก่อนแล้วค่อยมองไปที่ปัญหา การทำงานแบบนั้นมักจะล้มเหลว คำแนะนำก็คือ อันดับแรกให้เริ่มจากปัญหาที่พบก่อน ถ้าหากปัญหานั้นเป็นสิ่งสำคัญที่ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องต้องกัน แล้วเริ่มจากตรงนั้นแล้ว scale ในเรื่องของบริการออกไป ซึ่งการทำงานไม่ได้แปลว่าจะต้องทำตาม roadmap เสมอไป ยกตัวอย่างโปรแกรม Chatbot ของเรา บ่อยครั้งที่เราได้พบปัญหาจากการพูดคุยกับลูกค้าผ่านโปรแกรม ซึ่งนั่นก็ทำให้เราได้ไอเดียธุรกิจใหม่ๆ จากการมีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า

จากที่ได้เห็นในการพูดคุยครั้งนี้จะเห็นได้ว่าผลิตภัณฑ์และบริการในด้านประกันนั้นจะเป็นเรื่อง AI, Chatbot, Blockchain พูดในเรื่องของสเต็ปต่อไปว่าสิ่งที่ผู้ประกอบการหรือบริษัทต้องทำการโฟกัสคืออะไร?

Michael Fong : มีสามสิ่งสำคัญที่ต้องทำการโฟกัสคือ อันดับแรกคือเรื่องกฎหมายข้อบังคับของแต่ละประเทศ มักจะเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับนวัตกรรมที่มีความใหม่มากๆ โดยเฉพาะในประเทศสิงคโปร์ ฮ่องกงนั้นจะมีความเข้มงวดเป็นพิเศษ ในการเปิดโอกาสให้ทำงานร่วมกันกับ Startup ยกตัวอย่างคือ เราไม่สามารถใช้บริการ Cloud ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับ Startup เพราะพวกเขาจำเป็นต้องใช้ Cloud ในการทำงาน ต่อมาคือเรื่องการ disrupt ภายในบริษัทเอง ว่าจะทำอย่างไรในสร้างผลงานที่ประสบความสำเร็จร่วมกันได้ และต่อมาคือการมองหาพาร์ทเนอร์ที่ใช่

Jatemarin Jatelaveechote : ในแง่ของการตลาด การสร้างผลิตภัณฑ์และบริการด้านการประกันนั้น ไม่เพียงแต่คุณจะต้องสร้างผลิตภัณฑ์เท่านั้น แต่จะต้องมองอย่างรอบด้าน ต้องสร้าง ecosystem โดยรอบผลิตภัณฑ์และบริการนั้นๆ ด้วย

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ถอดรหัส 3 โมเดลธุรกิจทุนจีนบุกไทย จะรับมืออย่างไร ให้ธุรกิจไทยอยู่รอด?

กระแสทุนจีนกำลังรุกคืบหลายประเทศทั่วโลกไม่เว้นแต่ประเทศไทย นับเป็นปรากฏการณ์ที่เด่นชัดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นจากสินค้าและบริการจากแดนมังกรที่แทรกซึมเข้าสู่ทุกซอกมุมของส...

Responsive image

Sea (ประเทศไทย) เดินหน้าเสริมทักษะการเงินเยาวชนไทย ผ่านบอร์ดเกม “Wishlist จัดสรรเงิน เติมความฝัน”

บทความนี้จะพาไปเจาะลึกถึงแนวคิดของบอร์ดเกมการเงิน “Wishlist จัดสรรเงิน เติมความฝัน” และความสำเร็จของการใช้บอร์ดเกมเป็นเครื่องมือเพิ่มพูนทักษะด้านการเงินในเยาวชนไทย...

Responsive image

Copilot มองเห็นแล้ว ! มัดรวม 7 อัปเดตล่าสุด

Microsoft ปล่อยอัปเดตครั้งใหญ่ของ AI เรือธงอย่าง Copilot เรียบร้อยแล้ว! โดยทาง Yusuf Mehdi รองประธานบริหารฝ่ายการตลาดผู้บริโภค ได้ออกมาเผยว่าอัปเดตครั้งนี้จะเปลี่ยนประสบการณ์การใช้...