อยากระดมทุนต้องรู้! รวมข้อมูลแพล็ตฟอร์มระดมทุนในโลกออนไลน์ พร้อมเคล็ดลับความสำเร็จ | Techsauce

อยากระดมทุนต้องรู้! รวมข้อมูลแพล็ตฟอร์มระดมทุนในโลกออนไลน์ พร้อมเคล็ดลับความสำเร็จ

ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่อยากจะระดมทุนเพื่อโครงการอะไรสักอย่าง ปัญหาหนึ่งที่ต้องพบในช่วงเริ่มต้นคือ จะรู้ได้อย่างไรว่าโครงการของคุณเหมาะกับแพล็ตฟอร์มแบบไหน เพราะแพล็ตฟอร์มแต่ละแบบก็มีข้อดีข้อเสียต่างกันออกไป แน่นอนว่ามันต้องส่งผลต่อความสำเร็จของโครงการ ดังนั้น ก่อนที่จะเริ่มหาเงิน มาดูกันก่อนว่าอะไรเป็นอะไร

ระดมทุนแบบขอบริจาค (Donations)

ถ้าคุณมีไอเดียเพื่อช่วยให้โลกหรือตัวคุณเองดีขึ้น แต่ไม่มีสินค้าและบริการมาแลกเปลี่ยนกับเจ้าของเงิน นั่นแปลว่าโปรเจคต์ของคุณคือการกุศล ซึ่งมันก็ไม่ใช่เรื่องแปลก ยังมีแพล็ตฟอร์มรับบริจาคที่จะช่วยคุณระดมเงินทุนโดยไม่มีข้อผูกมัดกับคนที่จ่ายเงินให้คุณ

แพล็ตฟอร์มประเภทนี้จะมีตั้งแต่การขอรับบริจาคเพื่อช่วยสังคม (เช่น องค์กรไม่แสวงหากำไร หรือธุรกิจเพื่อสังคม) ไปจนถึงการขอรับบริจาคเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวของผู้รับบริจาค (เช่น จ่ายค่าไฟ ค่าเดินทาง หรือเพื่อเป็นเงินทุนสำหรับการลดความอ้วน)

ยอดการบริจาคเงินในแพล็ตฟอร์มการกุศลแบบนี้มีแนวโน้มที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดคือเกือบๆ 3 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 81% จากปี 2013

CrowdRise

เป็นแพล็ตฟอร์มที่น่าใช้ถ้าคุณมีไอเดียเพื่อการกุศล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าโปรเจคต์ของคุณเป็นที่สนใจของคนดัง

ยอดรวมของการระดมเงินทุนผ่านแพล็ตฟอร์มนี้นับตั้งแต่ปี 2010 มากกว่า 6 พันล้านบาท เฉพาะในปี 2014 ก็สามารถทำเงินได้ราวๆ 5.4 พันล้านบาท

ผู้ก่อตั้ง CrowdRise คือ นักแสดงชื่อดัง Edward Norton และ Shauna Robertson โปรดิวเซอร์ ร่วมกับสองพี่น้องเจ้าของกิจการ Moosejaw ขายเสื้อผ้าสำหรับกิจกรรมกลางแจ้ง ผู้ซึ่งอยากจะระดมเงินทุนสำหรับงานการกุศลในวงกว้าง

CrowdRise เป็นที่รู้จักในฐานะที่เซเลบหลายๆ คนใช้เพื่อระดมเงินทุนสำหรับโปรเจคต์ของตัวเอง เช่น Lady Gaga และ Seth Rogen

ค่าธรรมเนียมในการระดมทุนผ่านแพล็ตฟอร์มนี้จะอยู่ที่ 3% ของยอดสำหรับโครงการส่วนตัว ไปจนถึง 8% เมื่อรวมค่าธรรมเนียมบัตรเครดิตสำหรับโครงการการกุศล

GoFundMe

เป็นแพล็ตฟอร์มที่ควรใช้ เมื่อคุณกำลังฟื้นฟูอะไรบางอย่างที่ถูกทำลายด้วยมหันตภัย หรือสร้างผลิตภัณฑ์เพื่อการกุศล และอยากเข้าถึงกลุ่มผู้บริจาคจำนวนมาก

แต่ข้อควรระวังคือ มันเป็นแพล็ตฟอร์มที่เต็มไปด้วยเรื่องเศร้า พอๆ กับคำขอบริจาคที่ดูไม่น่าสนใจ เช่น การขอบริจาคเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการพักร้อน ดังนั้น การขอเงินสนับสนุนในแพล็ตฟอร์มนี้อาจจะเป็นการแสดงเจตนาที่ผิดไปจากความจริง และผู้ที่มีแนวโน้มจะสนับสนุนอาจไม่รู้สึกเชื่อถือ

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่ามันเป็นแพล็ตฟอร์มที่มียอดบริจาครวมๆ แล้วไม่น้อย นับตั้งแต่ก่อตั้งในปี 2010 ตัวเลขอยู่ที่ 3 หมื่นล้านบาท และในปี 2014 ทำเงินได้เกือบ 1.5 หมื่นล้านบาท

ผู้ก่อตั้ง GoFundMe คือ Brad Damphousse และ Andrew Ballester โดยที่ความตั้งใจแรกๆ ในการสร้างแพล็ตฟอร์มนี้คือเพื่อเก็บเงินไปพักผ่อน

GoFundMe เป็นที่รู้จักในกรณีทั่วๆ ไป เช่น การขอบริจาคเพื่อจ่ายค่ายารักษาโรค เงินเพื่อการศึกษา โครงการอาสาสมัคร และค่าใช้จ่ายในการแต่งงานก็มีบ้างในแพล็ตฟอร์มนี้ ซึ่งได้รับการอ้างถึงในฐานะแพล็ตฟอร์มระดมเงินทุนที่ใหญ่ที่สุดในโลกในปี 2014 นอกจากนี้ มันยังถูกใช้ในโครงการทางการเมืองด้วย

ค่าธรรมเนียมสำหรับ GoFundMe คือ 8% จากยอดบริจาค รวม 3% สำหรับค่าธรรมเนียมการดำเนินการผ่านบัตรเครดิต

กรณีศึกษา : Shoe That Grows

Screen Shot 2558-06-24 at 3.49.06 PM

8 ปีที่แล้ว Kenton Lee มีโอกาสได้ไปเยี่ยมเด็กกำพร้าในประเทศเคนย่า และเขาช็อคมากเมื่อเห็นเด็กๆ ที่นั่นใช้มีดปาดรองเท้าบริเวณนิ้วเท้าออก เพราะไม่มีเงินซื้อรองเท้าคู่ใหม่ ถึงแม้ว่าเท้าของพวกเขาจะขยายไปตามวัย

เมื่อ Lee กลับมาที่ไอดาโฮ เขามีความคิดที่จะทำรองเท้าที่ปรับเพิ่มขนาดได้สำหรับเด็กๆ เหล่านี้ มันคือที่มาของ Shoe That Grows ที่มีอายุการใช้งานอย่างน้อยๆ 5 ปี ปรับเพิ่มได้ 5 ไซส์

และแทนที่เขาจะเลือกแพล็ตฟอร์มชื่อดังอย่าง Indiegogo หรือ Kickstarter เขากลับเลือก Crowd­Rise เพราะ “เราไม่ได้ขายสินค้าให้กับผู้บริจาคเงิน เราเพียงต้องการให้เขาบริจาคเพื่อช่วยเด็กยากไร้ทั่วโลกมีรองเท้าใส่”

ภายใน 1 เดือนบน Crowd­Rise โครงการนี้มียอดบริจาคกว่า 3 ล้านบาท มากกว่าที่ตั้งเป้าไว้ถึง 1 เท่าตัว และในตอนนี้ เจ้าของโครงการกำลังจะยกระดับ Shoe That Grows ให้เป็นธุรกิจเพื่อสังคมคล้ายๆ กับ Toms Shoes

ระดมทุนแบบแบ่งหุ้น แบ่งความเป็นเจ้าของ (Equity)

เป็นเลเวลถัดมาของการระดมทุนสำหรับหลายๆ ธุรกิจ และถือว่ามีความซับซ้อนมากที่สุด เพราะมันต้องเกี่ยวข้องกับตลาดหุ้นในบางส่วน ซึ่งหมายความว่าจะต้องมีกฏระเบียบหลายๆ เรื่องที่เจ้าของธุรกิจต้องเรียนรู้

เมื่อธุรกิจมาถึงขั้นที่ดำเนินกิจการไปแล้ว และต้องการเพิ่มเงินทุนเพื่อขยายธุรกิจ ก็ถึงเวลาที่จะได้ใช้แพล็ตฟอร์มขายความเป็นหุ้นส่วน ซึ่งทำยอดรวมกว่า 2 หมื่นล้านบาทเมื่อปี 2014 เพิ่มขึ้นจากปี 2013 คิดเป็น 301% เลยทีเดียว

CircleUp

เป็นแพล็ตฟอร์มที่ควรใช้เมื่อคุณมีสินค้าสำหรับผู้บริโภคทั่วๆ ไป และกำลังมองหาเงินลงทุนสำหรับโปรเจคต์ใหม่

ปัญหาในการใช้ CircleUp มีเพียงเรื่องเดียวคือขั้นตอนการตรวจสอบค่อนข้างจะเข้มงวด ทำให้การได้เข้าไปอยู่ในลิสต์เพื่อขอระดมทุนเป็นเรื่องยาก และทาง CircleUp ก็ออกมาพูดเองว่ามีบริษัทที่ผ่านการคัดเลือกน้อยกว่า 3% จากที่สมัครกันเข้ามาทั้งหมด โหดไหมล่ะ?

แต่ถึงแม้จะรับน้อย แต่ผลประกอบการก็ไม่แย่ เพราะนับตั้งแต่ก่อตั้งในปี 2012 สามารถระดมเงินทุนได้มากกว่า 3 พันล้านบาท เฉพาะในปี 2014 ทำเงินได้ราวๆ 1.2 พันล้านบาท

ผู้ก่อตั้ง CircleUp คือ Ryan Caldbeck และ Rory Eakin โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ความช่วยเหลือทางการเงินกับธุรกิจขนาดเล็กที่เติบโตอย่างรวดเร็ว

แพล็ตฟอร์มนี้จะเป็นที่นิยมสำหรับธุรกิจอาหาร เสื้อผ้า และสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ โดยบริษัทที่มีรายได้อย่างน้อย 15 ล้านบาทต่อปี สามารถสมัครเข้าร่วมโครงการได้ นักลงทุนที่อยู่ในเครือข่ายของ CircleUp จะได้รับการรับรองและมีชื่อเสียง เช่น Procter & Gamble และ General Mills

ค่านายหน้าที่ CircleUp เรียกเก็บ จะอยู่ที่ 5% จากยอดรวมทั้งหมดที่ธุรกิจได้รับ

AngelList

ถ้าธุรกิจของคุณเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี และอยากจะขยายบริษัท ก็จงมาที่นี่ ในตอนนี้ AngelList มีธุรกิจสตาร์ทอัป 200,000 ราย และมีกลุ่มนักลงทุน 30,000 ราย

อย่างไรก็ตาม ถ้าคุณมองว่านี่คือทางเลือกแทนที่จะระดมทุนแบบเดิมๆ ต้องรู้ก่อนว่านักลงทุนส่วนมากจะไม่มานั่งเป็นกรรมการที่ปรึกษาหรือเป็น Mentor ที่กระตือรือล้นอะไรขนาดนั้น

นับตั้งแต่เปิดตัวในปี 2013 แพล็ตฟอร์มนี้ทำเงินไปได้เกือบ 5 พันล้านบาท เฉพาะในปี 2014 ทำเงินได้กว่า 3 พันล้านบาท

แพล็ตฟอร์มนี้จะเป็นที่ชื่นชอบสำหรับบริษัทเทคโนโลยีที่อยู่ในช่วงเริ่มต้นหรือในช่วง seed

AngelList จะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากนักลงทุน 20% จากกำไรที่ได้รับ

กรณีศึกษา : HoneyBook

Screen Shot 2558-06-24 at 6.31.51 PM

HoneyBook คือแพล็ตฟอร์มออนไลน์สำหรับวางแผนอีเวนท์ ก่อตั้งโดย Oz Alon ระดมทุนได้ 300 ล้านบาท ด้วยวิธีการดั้งเดิมคือจากเหล่า VC ทั้งหลาย แต่ท้ายที่สุด เขาก็ตัดสินใจที่จะเพิ่มเงินในรอบ seed ด้วยการระดมทุนในแพล็ตฟอร์มออนไลน์อย่าง AngelList

ธุรกิจของเขาได้รับเงินเพิ่มอีก 30 ล้านบาทจากนักลงทุนจำนวน 80 ราย 

Alon กล่าวว่า ที่นอกเหนือไปจากเงิน เขาอยากจะเชื่อมต่อกับผู้คน และทำให้ใครต่อใครพูดถึงธุรกิจของเขา และการระดมทุนผ่านทาง AngelList ก็ตอบโจทย์นั้นมาก เพราะมันช่วยให้เขามีคอนเนคชั่นกับคนจำนวนมาก

“ทุกวันนี้เน็ตเวิร์กคือทุกสิ่งทุกอย่าง มันคืออาวุธของผมในฐานะ CEO”

ระดมทุนแบบมีสิ่งของแลกเปลี่ยน (Rewards)

เรียกมันว่า Kickstarter Model เป็นแพล็ตฟอร์มที่ได้รับความนิยมสูงสุดสำหรับธุรกิจและผู้ประกอบการทั่วๆ ไป ถ้าคุณมีผลิตภัณฑ์เจ๋งๆ แต่มีเทคโนโลยีซับซ้อน แพล็ตฟอร์มนี้แหละเหมาะที่สุดสำหรับการทดลองตลาด ช่วยให้ขายได้ก่อนวางตลาดจริง และที่ดีกว่านั้น มันจะช่วยกระจายความเจ๋งของสินค้าแบบปากต่อปาก แต่ระวังให้ดี เพราะแพล็ตฟอร์มบางแห่งก็จะไม่ให้เงินกับเจ้าของธุรกิจ ถ้าไม่สามารถระดมทุนได้ตามเป้าหมาย

ยอดการระดมทุนแบบรวมๆ ของแพล็ตฟอร์มประเภทนี้คือ 3.6 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2013 80.5%

Indiegogo

ถ้าอยากจะเก็บเงินไว้ ถึงแม้ว่าจะไม่สามารถระดมทุนได้ตามเป้าหมายก็จงเลือกใช้ Indiegogo แต่ในกรณีที่คุณต้องการพรีเซลสินค้า การระดมทุนที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย จะทำให้คุณไม่สามารถส่งมอบสินค้าได้ นั่นคือคำเตือน

ผลประกอบการของ Indiegogo จัดว่าดีมาก นับตั้งแต่ก่อตั้งเมื่อปี 2008 สามารถทำเงินได้ถึง 1.5 หมื่นล้านบาท เฉพาะในปี 2014 เพียงปีเดียวก็สามารถทำเงินได้เกือบ 7 พันล้านบาท

Indiegogo ก่อตั้งโดย Danae Ringelmann อดีตนักลงทุนของธนาคาร ร่วมกับที่ปรึกษาอย่าง Slava Rubin และ Eric Schell ที่อยากจะระดมเงินทุนเพื่อโครงการด้านศิลปะและการวิจัยด้านมะเร็ง

แพล็ตฟอร์มนี้เป็นที่รู้จักสำหรับโครงการที่มีความคิดสร้างสรรค์และการกุศล นี่คือสิ่งที่ต่างไปจาก Kickstarter ที่ไม่ยอมให้มีการระดมทุนเพื่อโครงการการกุศล

ค่าธรรมเนียมที่ธุรกิจและโครงการต่างๆ จะต้องจ่ายให้ Indiegogo คือ 7-14% รวมค่าธรรมเนียมบัตรเครดิต และนับตั้งแต่ 15 กรกฏาคมนี้เป็นต้นไป จะถูกปรับเป็น 8-10%

Kickstarter

ถ้าคุณมีโปรดักต์ที่ใช้เทคโนโลยีเจ๋งๆ หรือโครงการศิลปะที่อยากจะเอามาทดสอบกับผู้ใช้งาน นี่คือแพล็ตฟอร์มที่คุณมองหาอยู่

ข้อควรระวังคือผู้สนับสนุนทางการเงินสามารถเปลี่ยนใจได้เสมอ ทั้งในระหว่างการระดมทุน และเมื่อคุณได้ยอดเงินตามเป้าหมายแล้ว

นับตั้งแต่ปี 2009 มียอดการระดมเงินทุนผ่าน Kickstarter เป็นจำนวนเงินกว่า 4.5 หมื่นล้านบาท และในปี 2014 ทำเงินได้ราวๆ 1.3 หมื่นล้านบาท

ผู้ก่อตั้งได้แก่ Perry Chen, Yancey Strickler และ Charles Adler ผู้ซึ่งใช้เวลาทำงานหลายปีเพื่อนำเงินมารวมกันเป็นกองทุนสนับสนุนงานอีเวนท์ด้านศิลปะ จนกระทั่งกลายมาเป็นเว็บไซต์เพื่อระดมทุนในที่สุด

แพล็ตฟอร์มนี้เป็นที่นิยมสำหรับการระดมทุนเพื่อโครงการที่มีความคิดสร้างสรรค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาพยนตร์ เกม รวมไปถึง gadget ต่างๆ โดย Kickstarter จะไม่อนุญาตให้มีการระดมทุนเพื่อโครงการการกุศล และเจ้าของโครงการจะได้รับเงินก็ต่อเมื่อได้ยอดตามเป้าหมายเท่านั้น

ค่าธรรมเนียมที่ต้องจ่ายให้กับ Kickstarter จะอยู่ที่ 8-10% รวมค่าธรรมเนียมบัตรเครดิตแล้ว

กรณีศึกษา : CyPhy

Screen Shot 2558-06-24 at 6.33.07 PM

Helen Greiner เริ่มธุรกิจ CyPhy ในปี 2008 เพื่อที่จะสร้าง Drone ที่ใช้ในกิจการทางทหารและในทางการค้า และในเวลาต่อมา เธอก็อยากรู้ว่าสินค้าชนิดนี้จะเวิร์กกับตลาดผู้บริโภคทั่วไปหรือไม่ ดังนั้น เธอจึงเข้าไประดมทุนใน Kickstarter โดยตั้งเป้าบริจาคไว้ที่ราวๆ 7 ล้านบาท

สิ่งที่ผู้สนับสนุนทางการเงินจะได้รับคือ สติ๊กเกอร์ CyPhy สำหรับ 150 บาท เสื้อยืด สำหรับ 750 บาท และเมื่อให้เงิน 12,000 บาท จะได้ Drone ในราคาพิเศษ หรือ 18,000 บาท สำหรับแบตเตอรี่กับอุปกรณ์ประกอบอื่นๆ

การระดมทุนแบบให้สิ่งของแลกเปลี่ยนแบบนี้จะช่วยให้คุณมั่นใจว่าโปรดักต์ของคุณเหมาะกับตลาดผู้บริโภคจริงๆ และเป็นการสร้างฐานผู้บริโภคในขั้นแรก โครงการของ Greiner ได้ยอดเงินตามเป้าภายใน 3 วัน และมันทำให้เธอได้ไอเดียดีๆ เกี่ยวกับกลุ่มเป้าหมายและราคาที่พวกเขายินดีจะจ่าย “มันคือวิธีที่จะทำให้เรารู้ว่าเรากำลังขายของถูกที่” เธอกล่าว

เคล็ดลับจากผู้ระดมทุนที่ประสบความสำเร็จ

“การดำเนินโครงการระดมทุนก็เหมือนกับการก่อตั้งบริษัท” กล่าวโดย Daniel Haarburger เจ้าของธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในการระดมทุนผ่าน Kickstarter 2 โครงการ และเป็นโค้ชให้กับเจ้าของธุรกิจรายอื่นๆ โดยเขาให้คำแนะนำสำหรับผู้ที่อยากจะระดมทุนดังนี้

1. สร้างตัวตนในกลุ่มเป้าหมาย

ก่อนจะเปิดตัวแคมเปญ ใช้โซเชียลมีเดียเพื่อเข้าถึงกลุ่มผู้นำทางความคิดที่มีคนติดตามจำนวนมาก หรือบล็อกเกอร์ที่อยู่ในอุตสาหกรรมนั้นๆ อย่างเช่นตัวเขาเองที่ระดมทุนเพื่อทำเมาท์เสียบสมาร์ทโฟนสำหรับจักรยาน ก็พยายามสร้างตัวตนในกลุ่มบล็อกเกอร์และผู้คนที่ชื่นชอบการปั่นจักรยาน

2. ทำให้มันกลายเป็นงานประจำ

เพราะคุณไม่สามารถขอเงินคนอื่นแล้วก็เดินหนีไป ต้องติดตามแคมเปญอยู่เสมอเพื่อตอบคำถามและพยายามทำตัวให้ผู้สนับสนุนทางการเงินติดต่อได้ง่ายๆ เพื่อเป็นการตรวจสอบผลตอบรับที่ผู้คนมีต่อโครงการ

3. ยืดหยุ่นพอประมาณ

หลายๆ คนประเมินเวลาและต้นทุนต่ำในการส่งมอบผลิตภัณฑ์ต่ำเกินไป ดังนั้น ต้องปรับแผนการเงินและตารางเวลาให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

4. วางแผนจบโครงการ

ก่อนจะเปิดตัวแคมเปญ ต้องรู้ว่าคุณต้องการอะไร เพราะมันจะนำไปสู่อนาคตของโครงการนั้น เช่น คุณจะเริ่มธุรกิจในระยะยาวหรือไม่ หรือสร้างผลิตภัณฑ์ชิ้นเดียว?

donations-illo_30638

ที่มา : Inc.

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

‘UOB Sustainability Compass’ เครื่องมือออนไลน์ด้านความยั่งยืน หนุน SMEs เปลี่ยน Vision เป็น Action

บทสัมภาษณ์ คุณอัมพร ทรัพย์จินดาวงศ์ และคุณพณิตตรา เวชชาชีวะ เกี่ยวกับ ‘UOB Sustainability Compass’ เครื่องมือออนไลน์ที่เข้ามาช่วย SMEs เริ่มดำเนินการด้านความยั่งยืนอย่างเข้าใจและไม...

Responsive image

Intel พลาดอะไรไป ? ทำไมถึงต้องเปลี่ยน CEO กะทันหัน ? ถอดบทเรียนราคาแพงจากยุค Pat Gensinger

การ ‘เกษียณ’ อย่างกะทันหันของ Pat Gelsinger อดีตซีอีโอ Intel ในต้นเดือนธันวาคม สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่ววงการเทคโนโลยี หลายฝ่ายมองว่าเป็นการบีบให้ออกจากบอร์ดบริหาร อันเนื่องมาจากผล...

Responsive image

GAC รถแห่งเมืองกวางโจว ขวัญใจแท็กซี่ยุคใหม่ | Tech for Biz EP. 30

แบรนด์รถยนต์ที่เป็นความภูมิใจของคนกวางโจว สู่ขวัญใจแท็กซี่ยุคใหม่ คลิปนี้ Tech for Biz จะพาไปรู้จัก GAC ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีนอีกเจ้าที่กำลังบุกตลาดเมืองไทย...