อนาคต ME Generation ยุคที่คนมีอำนาจเข้าถึงข้อมูลสุขภาพอย่างเท่าเทียม มุมมองด้าน HealthTech โดยนาเดีย สุทธิกุลพานิช | Techsauce

อนาคต ME Generation ยุคที่คนมีอำนาจเข้าถึงข้อมูลสุขภาพอย่างเท่าเทียม มุมมองด้าน HealthTech โดยนาเดีย สุทธิกุลพานิช

จะดีแค่ไหนหากเราสามารถเข้าถึงข้อมูลสุขภาพของตนเอง สามารถควบคุม ทำความเข้าใจตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในอนาคตของสุขภาพได้อย่างทันท่วงที? อาจจะดูเหมือนเป็นเรื่องเกินจริง แต่ไม่ใช่อีกต่อไป ในวันแรกของงาน Techsauce Global Summit 2018 เราได้รับเกียรติจากคุณนาเดีย สุทธิกุลพานิช Head of Fuchsia Innovation Center เมืองไทยประกันชีวิต มาพูดในเวที HealthTech ถึงเรื่องอนาคตของระบบสุขภาพที่ทุกคนสามารถเข้าถึงและสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลของตัวเองได้อย่างเท่าเทียม

คุณนาเดีย สุทธิกุลพานิช Head of Fuchsia Innovation Center เมืองไทยประกันชีวิต

คุณนาเดียเริ่มด้วยคำถามที่ว่า คุณคิดว่าตัวเองมีความรู้ในข้อมูลด้านสุขภาพและวิธีการป้องกันแก้ปัญหาดีพอหรือไม่? คุณเป็นคนที่ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพและทำการเผยแพร่ต่อโดยไม่ได้ทำการตรวจสอบก่อนหรือเปล่า? เป็นที่น่าเป็นห่วงว่าแหล่งข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพที่คนไทยได้รับนั้นมีความน่าเชื่อถือมากแค่ไหน จากผลการสำรวจข้อมูลความรู้เรื่องสุขภาพของคนไทยของกรมส่งเสริมสุขภาพ Health Promotion Division พบว่า มีเพียงร้อยละ 1 ของคนไทยที่ มีความรู้ ด้านสุขภาพเป็นอย่างดี ร้อยละ 39 พบว่ามีความรู้ด้านสุขภาพในระดับปานกลาง ส่วนอีกร้อยละ 60 พบกว่า มีความรู้เรื่องสุขภาพในระดับต่ำ

แท้จริงแล้วประชาชนได้รับข้อมูลอะไร ทำไมถึงไม่มีความรู้ความเข้าใจด้านสุขภาพอย่างเพียงพอ?

สาเหตุที่ความรู้ด้านสุขภาพคนไทยยังน้อยนั้นเนื่องจาก เรื่องของข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูลสุขภาพ ทำให้ผู้ป่วยไม่ได้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลด้านสุขภาพได้อย่างเต็มที่ เพราะเมื่อได้ทำการตรวจร่างกาย ข้อมูลต่างๆ จากที่ได้ทำการตรวจไปนั้นไม่ได้ถูกเผยแพร่หรือจัดเก็บให้เกิดประสิทธิภาพในการเข้าถึง อีกทั้งต่อให้สามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านั้นมันเป็นการยากที่จะทำให้ข้อมูลทางการแพทย์ทุกอย่างเข้าใจง่าย และในปัจจุบันหากผู้ป่วยต้องการหาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อทำความเข้าใจ ก็ยากที่จะทราบว่าแหล่งข้อมูลใดที่มีความน่าเชื่อถือ ดังนั้นหากว่าเรามีแพลตฟอร์มด้านสุขภาพให้ผู้ป่วยใช้และให้อำนาจในการถือครองข้อมูลของตนเองและช่วยให้เกิดความเข้าใจในข้อมูลจะทำให้สามารถประหยัดเวลา ค่าใช้จ่าย อีกทั้งสามารถทำการป้องกันและรักษาชีวิตของตนเองได้อย่างทันท่วงที

ใครควรเป็นผู้ถือครองข้อมูลด้านสุขภาพ?

ผู้ที่มีสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลนั้นแน่นอนว่าจะต้องเป็นประชาชน ความอิสระในการเข้าข้อมูลถึงอาจฟังดูเป็นเรื่องเกินจริง แต่มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้ มีบางประเทศที่มีการจัดการข้อมูลในลักษณะเดียวกันแล้วแม้ว่ายังไม่ใช่ทางการแพทย์ก็ตาม คุณนาเดียได้ยกตัวอย่างในกรณีของประเทศสิงคโปร์ที่ได้มีการเก็บข้อมูล KYC (Know Your Customer) ระบุตัวตน (Identification) ของประชาชน ซึ่งรัฐเป็นผู้เก็บรักษาข้อมูลและเปิดให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากข้อมูลต่างๆ ตามแต่ละจุดประสงค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ข้อมูลสุขภาพสามารถ นำไปสู่การป้องกันโรค การส่งเสริมสุขภาพ และการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

สิ่งที่สำคัญก็คือการให้ความสำคัญในเรื่องของการให้ข้อมูลแก่ประชาชน และช่วยให้เกิดความเข้าใจพร้อมทั้งให้คำแนะนำการปฏิบัติตนที่ถูกต้อง การทำให้ผู้ป่วยได้ทำความเข้าใจในสุขภาพของตนเองนั้น ถือเป็นกุญแจสำคัญที่จะสามารถป้องกันโรค ช่วยให้เกิดการวินิจฉัยโรคได้อย่างรวดเร็ว และทำการรักษาโรคได้อย่างทันท่วงที ซึ่งจะเป็นการช่วยลดขั้นตอนในการรักษา ลดค่าใช้จ่ายในการรักษา และนำไปสู่การป้องกัน การส่งเสริมสุขภาพ และการบำบัดรักษาอย่างถูกต้อง

ตัวอย่างเช่น ก่อนหน้านี้เราไม่สามารถทำนายล่วงหน้าได้ว่าเราเป็นโรคอะไร แต่ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ก้าวหน้า ในตอนนี้มีเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่สามารถทำการตรวจและทำนายล่วงหน้าได้ นั่นก็คือการตรวจความผิดปกติของดีเอ็นเอในยีนส์ของแต่ละบุคคลหรือ Genetic Testing เมื่อเราได้ทำการตรวจก็จะรู้ได้เลยว่าเรามีความเสี่ยงทางด้านสุขภาพที่เกิดจากพันธุกรรม เป็นอย่างไร เพื่อที่จะนำข้อมูลมาดูแลตัวเองและป้องกันโรคได้อย่างทันท่วงที อีกทั้งยังสามารถนำข้อมูลที่ได้ไปแสดงให้กับแพทย์ที่จะทำการรักษาต่อไปได้อีกด้วย

ปัจจุบันมีอุปกรณ์ด้านสุขภาพที่สามารถสวมใส่ได้ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องวัดอัตราการเต้นของหัวใจ เครื่องตรวจการนอนหลับ, เครื่องวัดความดันโลหิต, เครื่องตรวจสุขภาพอื่นๆ จะเห็นได้ว่าอุปกรณ์ต่างๆ เหล่านี้มีให้ใช้กันอย่างกว้างขวาง แล้วเราจะทำอย่างไรในการจัดการกับข้อมูลจากเครื่องเหล่านี้ได้บ้าง? แล้วข้อมูลเหล่านี้ จะสามารถถูกนำไปใช้ได้อย่างไร? คุณนาเดียพูดในแง่ของผู้ใช้งานที่ต้องการให้เกิดการร่วมมือกันระหว่าง โรงพยาบาล กระทรวงสาธารณสุข บริษัทประกัน แพลตฟอร์มด้านสุขภาพต่างๆ ในการให้อำนาจของการถือครองข้อมูลกลับมายังเจ้าของข้อมูลเพื่อที่จะช่วยในการประหยัดเวลา ค่าใช้จ่าย และที่สำคัญที่สุดคือการร่วมมือกันระหว่างแต่ละหน่วยงานในการนำข้อมูลเหล่านี้มาสร้างประโยชน์ให้กับเจ้าของข้อมูลอย่างแท้จริง

การใช้ข้อมูลสุขภาพ ที่มากกว่าแค่การดูแลตัวเอง

ในอนาคตข้อมูลด้านสุขภาพนั้นจะสามารถถูกนำมาเป็นส่วนสำคัญในการใช้ชีวิตประจำวันในด้านอื่นๆของเราได้ด้วย ดูกรณีของประเทศจีนที่จะมีการปล่อยระบบ Social Credit ในปี 2020 เพื่อใช้ตัดสินความน่าเชื่อถือในด้านต่างๆ ของประชาชนที่จะนำไปสู่การเข้าถึงสินค้า บริการ และโอกาสทางสังคมในด้านต่างๆที่มากกว่าหากมี social credit ที่ดี โดยการคำนวณ social credit นั้นจะมาจากข้อมูลหลากหลายด้านไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบประวัติการใช้จ่าย ความสัมพันธ์กับผู้อื่น ไปจนถึงประวัติการรักษาสุขภาพ ลองจินตนาการดูว่า หากเราสามารถเข้าถึงข้อมูลทางการแพทย์และสามารถนำมันมาใช้ประโยชน์ในลักษณะนี้ได้ จะดีแค่ไหน หากทุกคนมีอำนาจในการเข้าถึงข้อมูล มีอำนาจในการตัดสินใจในการใช้ประโยชน์จากข้อมูลของตัวเอง เราจะก้าวไปอีกขั้น หากเรารู้ว่าจะต้องทำอะไรบ้าง มีทางเลือกอะไรบ้างที่ควรจะทำเพื่อเป็นการป้องกันและรักษาสุขภาพของตนเองได้ในอนาคต

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

‘Yindee’ แชตบอตในแอป ttb Touch ใช้ Gen AI จับความรู้สึก ตอบเร็วและฉลาดกว่าที่เคย

Yindee แชตบอตที่อยู่บน Mobile Banking ของ ttb ทำงานผ่านแอป ttb Touch สามารถจับ Mood & Tone ของลูกค้าหรือผู้ใช้บริการ ว่าขณะแชตนั้น ลูกค้าอยู่ในอารมณ์ไหน ด้วย Generative AI โดย Azur...

Responsive image

คนอยากใช้พลังงานเยอะ แต่โลกอยากได้ปล่อยคาร์บอนน้อย บริษัทพลังงานแก้ไขความย้อนแย้งนี้อย่างไรดีในยุค AI

The Energy/Prosperity Paradox หรือภาวะย้อนแย้งแห่งพลังงาน และความเจริญ ถือเป็นความท้าทายระดับโลกที่บริษัทด้านพลังงานกำลังพบเจอ เพราะในตอนนี้โลกกำลังต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นอย่างไม่เ...

Responsive image

เศรษฐกิจไทย ‘ฟื้นตัว’ แล้วหรือยัง ? ฟังความเห็นจาก 3 ผู้นำธุรกิจยักษ์ใหญ่ไทย

ค้นพบศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงไทย จีน สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม และกัมพูชา พร้อมโอกาสการลงทุนที่น่าสนใจในภาคอุตสาหกรรม การเงิน และเทคโนโลยี...