ในช่วงที่ผ่านมาหลายคนคงทราบกันดีว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมถูกหยิบยกมาเป็นวาระสำคัญในหลายประเทศ ซึ่งหนึ่งในสาเหตุใหญ่ที่ทั่วโลกเผชิญอยู่คือเรื่องขยะพลาสติก ที่แม้พลาสติกจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับมนุษย์ แต่ในอีกแง่หนึ่ง กลับส่งผลกระทบต่อมหาสมุทรและระบบนิเวศอย่างมาก และยังมีผลเสียจนไปถึงคุณภาพชีวิตของสัตว์และมนุษย์อีกด้วย
เราอาจมองว่าปัญหาขยะพลาสติกนั้นเป็นเรื่องที่ไกลตัว และหลายคนยังไม่ทราบว่าประเทศไทยของเราก่อมลพิษจากขยะพลาสติกในมหาสมุทรมากเป็นอันดับ 6 ของโลก โดยจากขยะจำนวนทั้งสิ้น 8-12 ล้านตัน มีปริมาณมากถึง 322,000 ตันที่ไหลลงสู่มหาสมุทรในแต่ละปี อีกทั้งยังมีธุรกิจบรรจุภัณฑ์ของไทยที่ก่อให้เกิดการรั่วไหลของพลาสติกเกือบร้อยละ 60 ของจำนวนพลาสติกทั้งหมดที่รั่วไหลสู่สิ่งแวดล้อม และอีกหลากหลายปัญหาที่มาจากการกำจัดขยะอย่างไม่ถูกต้อง เช่น การนำไปเผา หรือทิ้งโดยการฝั่งกลบอย่างไม่ถูกหลักสุขอนามัย (landfill) ซึ่งส่งผลให้ขยะรั่วไหลสู่สิ่งแวดล้อม โดยปัจจุบันก็มีหลากหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึง Startup ในประเทศไทยที่กำลังร่วมกันผลักดันและแก้ไขปัญหาขยะพลาสติก ไม่ว่าจะเป็นการออกนโยบายงดใช้ถุงพลาสติก การสร้างนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ หรือการตั้งจุดรับขยะเพื่อนำไปเข้ากระบวนการรีไซเคิล
แม้จะมีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่กำลังทำหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกและสิ่งแวดล้อมอยู่ แต่ก็อย่าลืมไปว่าเราทุกคนก็สามารถมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้เช่นกัน เพราะสุดท้ายแล้วขยะบางชิ้นที่กำลังล่องลอยอยู่ในทะเล ณ ตอนนี้ อาจเคยเป็นของเรามาก่อนก็ได้ ดังนั้นถึงเวลาที่ต้องตระหนักถึงปัญหาขยะให้มากขึ้นแล้ว
เมื่อพูดถึงปัญหาขยะพลาสติกหนึ่งในเครือข่ายที่กำลังผลักดันในประเด็นนี้อย่างจริงจังก็คือ The Incubation Network (TIN) องค์กรนี้ก่อตั้งในปี 2019 จากความร่วมมือระหว่างThe Circulate Initiative ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากําไร และ SecondMuse ซึ่งเป็นบริษัทที่เน้นด้านนวัตกรรมที่สร้างความเปลี่ยนแปลง โดย The Incubation Network ได้ให้การสนับสนุนและช่วยเหลือในการพัฒนานวัตกรรมและการนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ เพื่อแก้ปัญหามลพิษจากขยะพลาสติก ซึ่งในประเทศไทย The Incubation Network มีความต้องการที่จะผลักดันและเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบนิเวศและการให้คุณค่าของขยะพลาสติกที่เกิดจากธุรกิจและอุตสาหกรรม เพื่อชี้ให้เห็นว่าธุรกิจร่วมทุนสามารถสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมได้เช่นกัน
มีรายงานระบุว่าปัญหามลพิษขยะพลาสติกครึ่งหนึ่งของโลกสามารถแก้ไขได้ผ่านการพัฒนาระบบการจัดการขยะที่ดีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้ The Incubation Network ต้องการที่จะเข้ามาในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อผลักดันในประเด็นนี้ และสำหรับประเทศไทยนั้น ในปี 2021 The Incubation Network ได้ร่วมมือกับพันธมิตร 3 รายคือ Seedstars, Alliance to End Plastic Waste และ STEAM Platform ในการทำงานร่วมกันและยังได้รับเงินลงทุนเชิงกลยุทธ์จํานวน 2 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 68 ล้านบาท) จาก ECCA Family Foundation เพื่อสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมที่ช่วยจัดการปัญหาขยะพลาสติกในประเทศไทยด้วยการลดการใช้ นำกลับไปใช้ซํ้า และนําไปรีไซเคิล
โดย Seedstars ยังได้เข้ามาสนับสนุนการจัดโครงการ Thailand Waste Management & Recycling (WMR) Academy ซึ่งเป็นโครงการบ่มเพาะสำหรับ Startup ใน idea stage และ early-stage และยังมี Alliance to End Plastic Waste (AEPW) ที่เข้ามาให้คำแนะนำและสนับสนุน Startup ในโครงการ Thailand Plastics Circularity Accelerator อีกทั้งยังร่วมงานกับ STEAM Platform เพื่อช่วยสร้างเครือข่าย Waste Action Network ระดับประเทศ
โครงการ Thailand Waste Management & Recycling Academy เป็นการเปิดโอกาสให้ Startup 11 ราย เข้ารับการอบรมในการต่อยอดไอเดียและสร้างความเข้าใจด้านการตลาดมากขึ้น รวมถึงเตรียมนำแนวคิดการแก้ปัญหาขยะพลาสติกมาทดลองทำจริง ซึ่งในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา Startup ทั้ง 11 ราย ได้เข้าร่วมงาน Demo Day และเสนอไอเดียให้กับคณะกรรมการ โดยมีการนำเสนอแนวทางการแก้ปัญหาที่หลากหลาย เช่น การสร้างตู้รับขยะแบบอัตโนมัติ รวมไปถึงการพัฒนากระบวนการในการรีไซเคิลพลาสติกชีวภาพ ไปจนถึงการจัด workshop เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับมลพิษจากพลาสติกและการจัดการขยะพลาสติก เพื่อให้ประชาชนได้รู้ความแตกต่างของพลาสติกแต่ละประเภท
“ประเทศไทยเป็นศูนย์รวมของ Startup ที่คิดค้นและพัฒนาโซลูชันและเทคโนโลยีหมุนเวียนที่มีศักยภาพเพื่อแก้ปัญหามลพิษจากขยะพลาสติก แต่มีผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยที่ต้องเผชิญกับปัญหาที่ทำให้ไม่สามารถต่อยอดโซลูชันและเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นการขาดเงินทุนสนับสนุน โครงสร้างพื้นฐานสำหรับการวิจัยและพัฒนา รวมถึงการเข้าถึงระบบนิเวศของนวัตกรรมเพื่อทดสอบไอเดียและผลิตภัณฑ์” ดร.ศิรินทร์ชญา ปรีชาภัฏสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนของบริษัท SecondMuse กล่าว
“และนี่คือเหตุผลที่ทำให้ The Incubation Network เข้ามามีบทบาทในการสนับสนุนโครงการของ Startup ไทย โดยมุ่งเน้นไปที่การแก้ปัญหาขยะพลาสติกที่รั่วไหลสู่ทะเลผ่านการลงทุนเชิงกลยุทธ์ในระบบนิเวศด้านนวัตกรรมและการสนับสนุนความรู้ รวมถึงผู้ให้คำปรึกษา (Mentor) และเชื่อมโยงผู้ที่เกี่ยวข้องในระบบนิเวศ เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถพัฒนาวิธีการแก้ปัญหาที่สามารถนำมาใช้งานได้จริงในเชิงพาณิชย์และปรับให้เหมาะสมกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้”
นอกจากในประเทศไทยแล้ว The Incubation Network ยังมีโครงการจัดการขยะพลาสติกในประเทศอื่น ๆ อีก เช่น โครงการ Waste Community Accelerator ในประเทศอินโดนีเซีย ที่ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถขยายผลวิธีการแก้ปัญหาให้ใช้งานได้จริงเชิงพาณิชย์และตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งาน โดยเสียงตอบรับจากผู้เข้าร่วมโครงการระบุว่าโครงการได้ให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและโรงงานอุตสาหกรรมที่รับรีไซเคิลขยะพลาสติก รวมทั้งให้พื้นที่ในการสร้างเครือข่ายระหว่าง NGO กับพันธมิตรต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการขยายผลการดำเนินงานในอนาคต
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ภาพรวมเกี่ยวกับปัญหาขยะพลาสติกที่ทาง The Incubation Network ได้นำเสนอกับผู้อ่าน ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นล้วนต้องการความร่วมมือจากทุกคนในการร่วมกันลดการสร้างขยะพลาสติก โดยหากอยากร่วมเป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมโครงการหรือเป็นพันธมิตรกับกับองค์กรสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.incubationnetwork.com และที่ Facebook: The Incubation Network
และสำหรับ Startup สามารถเข้าร่วมสมัครเป็นสมาชิกผ่านทางเว็บไซต์ด้านบน ซึ่งผู้เข้าร่วมจะได้รับประโยชน์มากมายจากทางองค์กรโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความนี้เป็น Advertorial
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด