คลื่นยักษ์ของการเปลี่ยนแปลง เมื่อเทคโนโลยีครองโลก โดยอริยะ พนมยงค์ | Techsauce

คลื่นยักษ์ของการเปลี่ยนแปลง เมื่อเทคโนโลยีครองโลก โดยอริยะ พนมยงค์

ในบทความแรก เราได้สรุปประเด็นสำคัญจาก Exclusive Workshop ในเรื่อง Digital Workplace กันไปแล้ว บทความนี้จะเป็นบทสรุปเนื้อหาจาก Virtual Talk ในหัวข้อ The Urgency of Digital Workplace Transformation : เมื่อการทำงานบนกระดาษไม่ตอบโจทย์เราอีกต่อไป ที่คุณอริยะ พนมยงค์ CEO ของบริษัท Transformational ได้มาเล่าถึงความสำคัญและความเร่งด่วนของการต้องปรับตัว รับการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยี ในงาน Virtual Series EP.1 : Digital Workplace 101 โครงการ e-Solution : Opportunity Enabler for SMEs ที่จัดขึ้นโดย ETDA และ Techsauce

โดยคุณอริยะให้ความเห็นถึงผลกระทบของ COVID-19 ครั้งนี้ว่า “การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เป็นเหมือนคลื่นยักษ์  แต่ไม่ใช่คลื่นลูกใหม่ แต่ก่อนหน้านี้เราอาจจะไม่ได้มองเป็นเรื่องใกล้ตัว มองว่าเรายังมีเวลาแต่ในความเป็นจริง เราไม่ได้มีเวลาขนาดนั้น และการเปลี่ยนแปลงนี้ก็ไม่ใช่แค่ทางเลือกแต่เป็นทางเดียว ต่อไปนี้จะไม่มีการกลับไปสู่โลกแบบเดิมอีกแล้ว  เพราะในช่วงระยะเวลาหนึ่งปีครึ่งที่ผ่านมาผู้บริโภคได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปแล้ว เช่น การซื้อของออนไลน์ การสั่งอาหารออนไลน์ คำถามคือเราจะเดินต่ออย่างไร” 

เทคโนโลยีกำลังครองโลก 

คุณอริยะได้ยกตัวอย่างให้เห็นภาพการเติบโตแบบก้าวกระโดดของอุตสาหกรรมเทคโนโลยี โดยมีตัวชี้วัดสำคัญคือมูลค่าของบริษัทด้านเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวในตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐ  และเพิ่มขึ้นพุ่งแซงมูลค่าบริษัทน้ำมัน หรือธนาคาร ที่ในอดีตเคยเป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงที่สุดในตลาด

“วันนี้วงการเทคโนโลยีหรืออุตสาหกรรมเทคโนโลยีเป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในโลก ไม่ใช่ธนาคาร หรือบริษัทน้ำมัน ในขณะที่ปี 2011 บริษัทน้ำมัน ธนาคาร เป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าบริษัทสูงสุด โดยมีบริษัทเทคโนโลยีสองแห่งเท่านั้นที่ติดอันดับหนึ่งในสิบ  แต่ในปี 2021 แปดในสิบของบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในโลก เป็นบริษัทเทคโนโลยี 

บริษัทอย่าง Apple สามารถมีมูลค่าในตลาดเพิ่มสูงขึ้นมาล้านล้านเหรียญภายในเวลาหนึ่งปีเท่านั้น และหนึ่งปีที่ผ่านมานั้นเป็นหนึ่งปีของ COVID-19 นี่เป็นอุตสาหกรรมที่เติบโตอย่างน่ากลัวมากๆ แสดงให้เห็นว่าอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเติบโตแบบก้าวกระโดดในภาวะการระบาดของ COVID-19

Disruptive Business Model บริการฟรี หารายได้อย่างไร?

ตอนเราพูดถึงเทคโนโลยี มันไม่ใช่แค่เทคโนโลยีอย่างเดียว สิ่งที่ทำให้มันเกิดขึ้นได้ เป็นสิ่งที่เราเรียกว่า Business Model  มันเหมือนวิธีการหารายได้ในรูปแบบใหม่ของการทำธุรกิจ คำถามง่ายๆ ทุกวันนี้เราจ่ายค่าบริการให้บริษัท เช่น Youtube, Facebook, Line หรือ Google เดือนละเท่าไหร่ ? เราไม่ได้เสียค่าบริการเลย เขามีลูกค้าเป็นพันล้านทั่วโลก เขาให้เราใช้ฟรี แล้วรายได้มาจากไหน ส่วนหนึ่งก็มาจากการโฆษณา แบรนด์หรือธุรกิจที่ต้องการเข้าถึงลูกค้าก็ต้องเสียค่าใช้จ่าย 

เรียนรู้ Business Model จากธุรกิจใหม่

เมื่อถามว่าทำไมพวก Food Delivery หรือ  e-Commerce ถึงให้บริการฟรี เหตุผลหนึ่งคือ นั่นเป็นวิธีการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภค ถ้า e-Commerce ขายของที่เหมือนในห้างแล้วราคาเท่ากัน แล้วต้องเสียค่าส่ง  เราก็คงไม่ใช้  ถ้าราคาเท่ากันแต่ส่งฟรี จะเริ่มน่าสนใจ แต่ถ้าราคาถูกกว่าแล้วส่งฟรีอีก ใช้แน่นอน นี่คือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค เพราะถึง COVID-19 หายไปพฤติกรรมพวกนี้จะไม่หายไป นี่คือสิ่งที่ทุกบริษัทเทคโนโลยีพยายามสร้าง นั่นก็คือพฤติกรรมหรือนิสัยใหม่ในการใช้บริการพวกนี้ นี่คือเหตุผลอันดับหนึ่งที่ต้องทำ 

อีกเหตุผล แพลตฟอร์มประเภทนี้พร้อมที่จะเสียเงินในบางส่วนเพื่อสร้างวิธีการทำธุรกิจใหม่ๆ เช่น ธุรกรรมการเงิน ปล่อยเงินกู้ให้ SMEs ให้ผู้บริโภค 

“ผมอยากยกตัวอย่างจาก Tesla ถามว่าแพงไหม ก็ไม่ได้อยู่ในกลุ่มที่ราคาแพง ไม่ใช่รถหรู แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ Tesla เป็นบริษัทรถยนต์ที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก สิ่งที่น่าสนใจคือในขณะที่ Tesla ผลิตรถปีละห้าแสนคัน  Toyota สิบล้านคัน แต่คนที่ผลิตรถปีละห้าแสนคันมีมูลค่าตลาดอันดับหนึ่ง นี่คือโลกยุคใหม่ที่เราอยู่ ต้องไม่ลืมว่า Tesla ไม่ใช่บริษัทผลิตรถ แต่เป็นบริษัทพลังงาน”

ก้าวสู่ยุค The Internet of Value

คุณอริยะกล่าวว่า ยุคที่เรากำลังอยู่เป็นยุค Internet of Information ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวของข้อมูล เป็นพื้นฐานที่สุดที่เราทำได้เพราะเรามีอินเทอร์เน็ต  และเรากำลังจะเข้าสู่ยุค Internet of Value ที่ไม่ใช่แค่ข้อมูลที่จะเคลื่อนไหวไปทั่วโลก แต่มันคือเงิน ธุรกรรมทางการเงิน สินทรัพย์  Blockchain Cryptocurrency  และวันหนึ่งมันจะเติบโตแบบอินเทอร์เน็ตในวันนี้ 

Digitizing Thai SMEs

ในแง่ของการเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจเป็นดิจิทัลในไทยนั้น คุณอริยะเองยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ยาก ซึ่งเหตุผลสำคัญก็คือต้องใช้ทรัพยากรและทักษะสูง แต่ก็เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ 

“มันไม่ได้มีสูตรสำเร็จ เพราะถ้ามีป่านนี้เราคงทำได้กันหมด ถ้าเรามาดูว่าทำไมมันถึงทำได้ยาก ต้องยอมรับว่าจำนวนผู้ประกอบการในประเทศไทยตอนนี้ ธุรกิจขนาดเล็กเป็นสองในสามของทั้งหมด ผมเข้าใจว่าไม่ได้มีเวลาหรือทรัพยากรที่จะให้ลองผิดลองถูกมากนัก แต่มันก็เป็นเรื่องที่หนีไม่พ้น การกระโดดเข้าไปในโลกออนไลน์อาจจะไม่ได้เป็นสิ่งที่ยาก แต่การขายในโลกออนไลน์เป็นเรื่องที่ต้องใช้ทักษะ และใช้เวลา ที่สำคัญคือมีผู้ประกอบการอีกหลายล้านที่ไม่ได้อยู่ในโลกออนไลน์” 

ปัญหาที่สองที่เราอาจจะมองไม่เห็นคือคู่แข่งของเรามาจากต่างประเทศ สินค้าสองชิ้น ชิ้นที่มาจากต่างประเทศอาจจะขายถูกกว่าก็ได้ ซึ่งก็เป็นปัญหาหนึ่งที่ต้องฝากหน่วยรัฐบาลช่วยดูแล และปัญหาสุดท้ายคือความซับซ้อน มันต้องอาศัยทักษะเยอะมาก

เราควรใช้แพลตฟอร์มใด?

คุณอริยะเล่าให้ฟังว่า คำถามที่มักถูกถามบ่อยครั้งคือ เราควรจะใช้แพลตฟอร์มใด หรือ แพลตฟอร์มไหนดีกว่ากัน  ? ซึ่งคุณอริยะได้ให้คำตอบว่า การเลือกใช้แพลตฟอร์มใดนั้นขึ้นอยู่กับธุรกิจที่เราทำ 

  1. Search  เมื่อ แพลตฟอร์มปัจจุบันทำให้การทำการตลาดแตกต่างกันออกไปมากขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการควรดูก่อนว่า จะทำอย่างไรให้ลูกค้าค้นหาเราได้ง่ายขึ้น ดังนั้นการที่ธุรกิจมีเว็บไซต์ถือเป็นตัวช่วยที่ดี แต่คำถามสำคัญกว่าคือ ธุรกิจ หรือกลุ่มธุรกิจที่เราทำอยู่เป็นสิ่งที่ลูกค้ากำลังค้นหาอยู่หรือไม่

  1. Social Commerce กลุ่มแฟชั่น ความสวยงาม อาหารเสริม อาหาร  เป็นกลุ่มทำได้ดี แต่ประเด็นสำคัญ หรือทักษะสำคัญที่ต้องมีคือการสร้างคอนเทนต์สร้างสตอรี่ ผมอยากจะเห็นรูปภาพที่สวยงาม มีความสนุกในการเล่าเรื่อง ไม่ได้ลดแลกแจกแถมอย่างเดียว  การสร้างเนื้อหาเป็นอีกทักษะสำคัญใน Social Commerce

  2. e-Commerce เช่น Shopee Lazada  เป็นกลุ่มที่เน้นโปรโมชั่น ที่แข่งกันที่ราคาพอสมควร คำถามสำคัญคือ เราอยากแข่งที่ราคาไหม  ถ้าไม่ก็ไปที่กลุ่ม Social Commerce ดีกว่า 

  3. Food Delivery สิ่งสำคัญคือไม่ใช่ทุกร้านอาหารเคยทำออนไลน์ และอยู่ดีๆต้องปรับตัว ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ร้านที่มักจะขายดีก็มีเมนูไม่กี่อย่าง ไม่จำเป็นต้องมีเมนูสี่สิบห้าสิบรายการ  

ทั้งนี้คุณอริยะมองว่า ไม่ได้มีกลุ่มไหนดีกว่ากัน  ขึ้นอยู่กับธุรกิจ ซึ่งตัวชี้วัดก็คือเราลงทุนไปคุ้มค่าไหม 

“สิ่งที่แนะนำนอกจากการศึกษาคือไปตามเลย แบรนด์นี้ คนขายคนนี้ ลองไปดู key ของเค้าแล้วศึกษา ไปแกะ แล้วลองทำดู” 

Know your Customer 

ในช่วงสุดท้ายนั้น คุณอริยะได้ย้ำอีกครั้งถึงความสำคัญของการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลของลูกค้า ที่จะนำมาสู่การลดต้นทุนให้กับธุรกิจได้

“เราอยู่ในยุคที่ข้อมูลของลูกค้าสำคัญ ถามว่าข้อมูลลูกค้าอยู่กับใคร อยู่กับเราหรือแพลตฟอร์ม ซึ่งผมตอบได้เลยว่าแพลตฟอร์ม ที่เราต้องไปเสียเงินทำการตลาดบนโลกดิจิทัล มันเป็นการเช่าข้อมูลของแพลตฟอร์ม เพราะฉะนั้นสิ่งหนึ่งที่อยากจะแนะนำ ทุกครั้งที่เราดึงข้อมูลของลูกค้ามาได้ เวลาเราส่งอาหารให้ใคร ส่งพัสดุให้ใคร เก็บข้อมูลตรงนี้ แล้วพยายามสร้างช่องทางที่เรายิงเข้าถึงลูกค้าของเราได้ ไม่ใช่แค่ใช้แพลตฟอร์มอย่างเดียว เพราะถ้าเราไม่รู้จักลูกค้าของเรา ทุกครั้งเราต้องจ่ายเงินดันสินค้าของเราออกไป”

สุดท้ายแล้วแม้การปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจจากเดิมไปสู่ระบบดิจิทัล จะเป็นเรื่องที่ยาก แต่เราเองก็ไม่ได้มีทางเลือกมากนัก หากเริ่มศึกษาช้าก็จะเดินไปได้ช้า เพราะเราไม่สามารถเปลี่ยนกระแสการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ได้ และโลกเราจะไม่กลับไปสู่ยุค Analog อีกต่อไป

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

‘Yindee’ แชตบอตในแอป ttb Touch ใช้ Gen AI จับความรู้สึก ตอบเร็วและฉลาดกว่าที่เคย

Yindee แชตบอตที่อยู่บน Mobile Banking ของ ttb ทำงานผ่านแอป ttb Touch สามารถจับ Mood & Tone ของลูกค้าหรือผู้ใช้บริการ ว่าขณะแชตนั้น ลูกค้าอยู่ในอารมณ์ไหน ด้วย Generative AI โดย Azur...

Responsive image

คนอยากใช้พลังงานเยอะ แต่โลกอยากได้ปล่อยคาร์บอนน้อย บริษัทพลังงานแก้ไขความย้อนแย้งนี้อย่างไรดีในยุค AI

The Energy/Prosperity Paradox หรือภาวะย้อนแย้งแห่งพลังงาน และความเจริญ ถือเป็นความท้าทายระดับโลกที่บริษัทด้านพลังงานกำลังพบเจอ เพราะในตอนนี้โลกกำลังต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นอย่างไม่เ...

Responsive image

เศรษฐกิจไทย ‘ฟื้นตัว’ แล้วหรือยัง ? ฟังความเห็นจาก 3 ผู้นำธุรกิจยักษ์ใหญ่ไทย

ค้นพบศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงไทย จีน สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม และกัมพูชา พร้อมโอกาสการลงทุนที่น่าสนใจในภาคอุตสาหกรรม การเงิน และเทคโนโลยี...