TikTok จะมาโค่น Facebook เปิดสองเหตุผลสำคัญทำไมคนติดใจแอปนี้ | Techsauce

TikTok จะมาโค่น Facebook เปิดสองเหตุผลสำคัญทำไมคนติดใจแอปนี้

นาทีนี้คงไม่มีใครไม่รู้จัก TikTok แอปพลิเคชันแพลตฟอร์มวิดิโอขนาดสั้นจากประเทศจีน ที่นิยมมากในหมู่วัยรุ่น Gen Z  ล่าสุดพึ่งสร้างสถิติใหม่ด้วยการเป็นเว็บไซต์ที่มีผู้เข้าชมมากที่สุดในปี 2021 ล้ม Google แชมป์เก่าเมื่อปีก่อนหน้าได้  อะไรเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้แอปพลิเคชันสายเลือดมังกรกลายเป็นเบอร์หนึ่งของโลกภายในเวลาไม่กี่ปี กลายเป็นคู่ปรับคนสำคัญของเฟซบุ๊ก และโอกาสสำหรับภาคธุรกิจและนักการตลาดที่ต้องจับตามอง

จากแอปลิปซิงค์ สู่แพลตฟอร์มวิดิโอเบอร์ยักษ์ของโลก 

แอปพลิเคชัน Tiktok ที่เราใช้กันในปัจจุบันนั้น เกิดจากการรวมตัวและกลายร่างของแอปพลิเคชันสองแอปด้วยกัน โดยในปี 2016  ByteDance บริษัทเทคสตาร์ทอัพจากประเทศจีน ได้เปิดตัวแอปพลิเคชันแพลตฟอร์มสำหรับแชร์วิดิโอขนาดสั้น ภายใต้ชื่อ  ‘Douyin’ และได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศจีน โดยมียอดผู้ใช้งานถึงหนึ่งร้อยล้านคนภายในปีแรกที่เปิดตัว ทำให้บริษัทมองถึงโอกาสในการขยายแพลตฟอร์มนี้ไปสู่ตลาดโลก จึงทุ่มเงินมากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ เข้าซื้อแอปพลิเคชัน ‘Musical.ly’ แอปพลิเคชันแพลตฟอร์มวิดิโอ Lip Sync รุ่นพี่สายเลือดจีนเหมือนกันที่เปิดตัว ณ เซี่ยงไฮ้ตั้งแต่ปี 2014 และไปประสบความสำเร็จอย่างมากในสหรัฐอเมริกา  

หลังจากเข้าซื้อ Musical.ly แล้ว จึงควบรวมฟีเจอร์ของทั้งสองแอปเข้าด้วยกัน คลอดออกมาเป็น ‘Tiktok’ ในปี 2018 โดยดึงโปรไฟล์ผู้ใช้งานทั้งหมดจาก Musical.ly เข้ามาใน Tiktok ด้วย ส่วน Tiktok เวอร์ชันจีนอย่าง Douyin นั้นปัจจุบันก็ยังถูกใช้งานอยู่ในประเทศจีนเช่นกัน

TikTok will overtake Facebook

จากแอปพลิเคชันแพลตฟอร์มวิดิโอ Lip Sync และคลิปเต้น สู่การเติบโตไปเป็นแพลตฟอร์มวิดิโอยักษ์ใหญ่ภายในเวลาไม่กี่ปี ปัจจุบัน Tiktok มีผู้ใช้งานเฉลี่ยเดือนละ 1 พันล้านคน  และเป็นแอปพลิเคชันที่มียอดการดาวน์โหลดสูงที่สุดในปี 2021 เท่านั้นยังไม่พอ Tiktok สามารถโค่นเว็บไซต์ Search engine แชมป์เก่า อย่าง Google ขึ้นแท่นเป็นเว็บไซต์ที่มีจำนวนผู้เข้าชมมากที่สุดได้ในปี 2021 ได้  ทั้งที่ก่อนหน้านี้ในปี 2020 Tiktok อยู่อันดับที่ 7 เท่านั้น และที่สำคัญคือสามารถแซงหน้าแอปพลิเคชันจากค่าย Meta ได้ทั้งหมดด้วย จึงไม่แปลกใจหาก Mark Zuckerberg จะออกปากพูดเองเลยว่า Tiktok เป็นคู่ปรับที่น่ากลัว… 

Tiktok จะมาฆ่า Facebook ? 

“Tiktok เป็นหนึ่งในคู่แข่งที่ดีที่สุดที่เราเคยเจอมา” รายงานจาก The verge อ้างถึงบทสนทนาระหว่าง Mark Zuckerberg CEO ของ Meta กับบรรดานักลงทุน ที่เจ้าตัวออกปากยอมรับว่า Tiktok นั้นเป็นคู่แข่งคนสำคัญที่ต้องจับตา นอกจากนั้นในบทสนทนายังมีเนื้อหาแสดงความกังวลถึงจำนวนผู้ใช้งานเฟซบุ๊กที่ลดลงในหมู่วัยรุ่นอายุ 18-29 ปี  ซึ่ง Zuckerberg มองว่าเป็นกลุ่มผู้ใช้งานคนสำคัญ และสั่งการให้ปรับกลยุทธ์เพื่อดึงดูดผู้ใช้กลุ่มนี้กลับมาให้ได้ 

หนึ่งในอาวุธที่ Meta ออกมาให้เราเห็นกันแล้วคือฟีเจอร์ Reels ของอินสตราแกรมที่เปิดตัวในปี 2020 แสดงให้เห็นว่า Zuckerberg มอง Tiktok เป็นคู่ปรับที่แข็งแกร่งจริงๆ

แม้ปัจจุบันเฟซบุ๊กยังคงเป็นแพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานมากที่สุด อ้างอิงจากข้อมูลในรายงานผลประกอบการนักลงทุนไตรมาสที่ 3 ปี 2021 จากทาง Meta เอง ที่ระบุว่าเฟซบุ๊กยังคงเป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่มีผู้ใช้งานมากที่สุดในโลก อยู่ที่ 2.91 พันล้านคน (ข้อมูลเมื่อเดือนตุลาคม 2021) ส่วน Tiktok นั้นอยู่อันดับที่ 7 ด้วยตัวเลขผู้ใช้งาน 1 พันล้านคนต่อเดือน จากข้อมูลล่าสุดที่ทาง ByteDance เผยแพร่

แต่หากเราโฟกัสไปที่อัตราการเติบโตของ Tiktok ทั้งในแง่ของจำนวนผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องภายในเวลาไม่กี่ปี และกลุ่มผู้ใช้งานหลักที่เป็นวัยรุ่น Gen Z  ที่ Zuckerberg เองหมายมั่นปั้นมือให้เป็นลูกค้ากลุ่มสำคัญ ต้องยอมรับว่าเป็นศึกที่หนักจริงๆ สำหรับ Meta เพราะผู้ใช้งานของ Tiktok มากกว่าครึ่งหนึ่ง (63%) อยู่ในช่วงอายุ 18-29 ปี 

ระบบ AI และ TikTokers สองหัวใจสำคัญ เบื้องหลังความสำเร็จของ Tiktok 

เบื้องหลังความสำเร็จของ Tiktok นั้น หนึ่งต้องยกความดีความชอบให้กับระบบของแอปพลิเคชัน การทำงานของระบบ AI และ Machine Learning ที่ทำการวิเคราะห์ความต้องการของผู้ใช้งานตลอดเวลา และแนะนำคอนเทนต์ที่ตอบโจทย์มากที่สุดให้กับผู้ใช้งานแต่ละคนโดยเฉพาะ เพื่อแสดงผลบนหน้า For Your Page (FYP) หรือหน้าฟีดของแอป ซึ่งหน้า FYP นี่เองเป็นกุญแจสำคัญและเหตุผลที่จะตอบคำถามว่า ทำไมผู้ใช้งาน Tiktok ถึงเสพติดมันได้ขนาดนี้ 

เพราะความแตกต่างของ Tiktok และแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอื่นๆ คือ การเชื่อมต่อระหว่างผู้คน ในขณะที่บนเฟซบุ๊กหรืออินสตราแกรม เราจะสามารถเห็นคอนเทนต์หรือโพสต์ได้ จากคนที่เป็นเพื่อนกับเราหรือติดตามกันอยู่เท่านั้น แต่ Tiktok เลือกจะสร้างความสัมพันธ์นี้ขึ้นมาจากรสนิยมการเสพคอนเทนต์ของคุณ  และปฏิสัมพันธ์ที่คุณมีต่อวิดิโอประเภทนั้นๆ  ไม่ว่าจะเป็นการกดไลค์ หรือคอมเมนต์ ระบบก็จะเลือกแสดงวิดิโอที่เราชื่นชอบ และวิดิโอที่เรามักมีปฏิสัมพันธ์ บนหน้า FYP ของเรา 

ยกตัวอย่างเช่น หากเราดูคลิปแมวบ่อยๆ หน้าฟีดของเราก็จะมีแต่วิดิโอแมวขึ้นมา ในขณะที่ของเพื่อนเราอาจจะเห็นคลิปสอนทำอาหารอย่างเดียว เป็นต้น ถือว่า Tiktok ทำสำเร็จตามภารกิจที่พวกเขาตั้งไว้และภารกิจนี้เองเป็นเหตุผลสำคัญเบื้องหลังของความนิยมนี้ 

“Tiktok เป็นจุดหมายปลายทาง ของวิดิโอขนาดสั้นจากมือถือ ภารกิจสำคัญของเราคือการนำเสนอความคิดสร้างสรรค์ ความรู้ และช่วงเวลาล้ำค่าของชีวิต ส่งตรงจากมือถือ นอกจากนั้น Tiktok ยังช่วยให้ทุกคนเป็นครีเออเตอร์ได้ และสนับสนุนให้ผู้ใช้งานแบ่งปันความหลงใหล และการแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ผ่านวิดิโอของพวกเขา” 

อย่างที่เราได้กล่าวไป ด้วยระบบ AI ของแอปพลิเคชัน และรูปแบบการเชื่อมต่อระหว่างผู้ใช้งานที่แตกต่างของ Tiktok  ทำให้คุณไม่จำเป็นต้องเป็นดาราดัง หรืออินฟลูเอนเซอร์ ก็มีโอกาสสูงที่วิดิโอที่คุณทำจะขึ้นไปอยู่บนหน้าฟีดของผู้ใช้งานคนอื่นๆ ได้ คุณสามารถมียอดวิว ยอดไลก์สูงๆ และสร้างรายได้จาก Tiktok ได้ ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับแพลตฟอร์มอื่นๆ ที่คุณจะต้องอาศัยยอดผู้ติดตามจำนวนมาก หรือค่าโฆษณาที่สูง เพื่อจะให้คอนเทนต์ที่คุณตั้งใจรังสรรค์ไปอยู่บนหน้าฟีดของผู้ใช้งานคนอื่น  จึงไม่น่าแปลกใจที่วัยรุ่น Gen Z จะติดใจมันมากขนาดนี้ เพราะยอดไลก์ ยอดวิว ความมีชื่อเสียงที่หาได้ง่ายๆ

นอกจากระบบที่ดีแล้ว ผู้คนที่ใช้งาน หรือ TikTokers ก็เป็นหนึ่งในหัวใจของความสำเร็จนี้เช่นเดียวกัน หากเราลองฟังเสียงจากผู้ใช้งาน เราจะยิ่งเข้าใจมากขึ้นว่าทำไมพวกเขาถึงรักและภักดีต่อ Tiktok ขนาดนี้ ผลการศึกษาที่จัดทำขึ้นโดย Tiktok และ Neilsen บริษัทผู้นำด้านข้อมูลทางการตลาดและข้อมูลผู้บริโภค โดยทำแบบสอบถามกับกลุ่มผู้ใช้งาน Tiktok จากทั่วโลก 8,000 คน เพื่อเจาะลึกความรู้สึกของพวกเขาต่อ การใช้งานและคอนเทนต์บน Tiktok  และอะไรทำให้ Tiktok แตกต่างจากแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอื่นๆ

โดยจากแบบสำรวจเราพบว่า ผู้ใช้งานส่วนใหญ่ทั่วโลกรู้สึกเป็นตัวของตัวเองอย่างมากเมื่อใช้ Tiktok  และพวกเขายังกล่าวว่าสามารถโพสต์วิดิโอที่ไม่สามารถไปโพสต์บนแพลตฟอร์มอื่นได้ในนี้ และเมื่อให้พวกเขานิยามความรู้สึกของพวกเขากับคอนเทนต์บน Tiktok พวกเขาให้คำจำกัดความว่ามันเป็น ของแท้ ไม่เสแสร้งปลอมเปลือก และมีอิทธิพลในการสร้างกระแส 

ความรู้สึกเหล่านี้ยังถูกจำกัดความให้กับคอนเทนต์โฆษณา หรือ Advertising บนแอปด้วย  ที่ผู้ใช้งานมองว่ามันเป็นของจริง ฉีกแนว และดูสนุก และหาไม่ได้จากแพลตฟอร์มอื่นๆ ซึ่งเป็นโอกาสสำคัญของแบรนด์และนักการตลาดกับความรู้สึกเชิงบวกต่อโฆษณาของผู้บริโภคแบบนี้

นอกจากนั้น ความรู้สึกเป็นชุมชนกลุ่มก้อนที่แข็งแกร่ง  ทำให้ชาว Tiktok รู้สึกดีเมื่อใช้งานแพลตฟอร์ม สะท้อนผ่านการทำคอนเทนต์แนว Challenge ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก เพราะผู้ใช้งานรู้สึกเป็นตัวเอง สบายใจ และไม่กลัวที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ใช้งานคนอื่นๆ  เราจะเห็นว่าคอนเทนต์บน Tiktok นั้นทำให้เราสื่อสารและมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ใช้งานคนอื่นๆ ได้ แบบไม่มีอะไรมากั้น คุณไม่จำเป็นต้องมีชาติเดียวกัน พูดภาษาเดียวกัน ก็ทำคลิป Challenge เต้นได้ !

การเสพติดการใช้งาน Tiktok มีคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์มารองรับเช่นกัน ว่าทำไมเราถึงคลั่งไคล้การดูวิดิโอสั้นๆ และหยุดดูไม่ได้ด้วย หนึ่ง มันเกี่ยวกับ ช่วงความสนใจของมนุษย์ หรือ Attention Span โดยมีการศึกษาพบว่ามนุษย์จะสามารถตั้งความสนใจไปที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ 8 วินาทีเท่านั้น ซึ่งน้อยกว่าปลาทองสองวินาที และการบริโภคข้อมูลที่มากขึ้น จะทำให้ช่วงความสนใจนี้ลดลง และเปลี่ยนไปสนใจสิ่งใหม่แทน ซึ่งแพลตฟอร์มวิดิโอขนาดสั้นอย่าง Tiktok (และเช่นเดียวกันกับ Reels)  ก็ทำได้อย่างสมบูรณ์แบบ ด้วยเนื้อหาคอนเทนต์ที่สั้น และเลื่อนเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาได้ทันที

นอกจากนั้น สมองของมนุษย์เราจะมีระบบที่เรียกว่า ระบบรางวัล (Brain Reward System)  เมื่อเรามีการกระทำ หรือสร้างพฤติกรรมใดๆ ที่ทำให้เรามีความสุข ไม่ว่าจะเป็นการกินของอร่อย การมีเพศสัมพันธ์ หรือการใช้สารเสพติด ระบบรางวัลในสมองของเราจะทำงาน ซึ่งสมองจะถูกกระตุ้นด้วยสารสื่อประสาทที่มีชื่อว่า โดพามีน เมื่อเราทำสิ่งใดแล้วรู้สึกมีความสุข โดพามีนจะถูกหลังออกมามากขึ้น และจะกระตุ้นสมองให้สร้างวงจรพฤติกรรมนั้นซ้ำแล้วซ้ำอีก และด้วยเหตุผลนี้เช่นกัน ทำให้แพลตฟอร์มวิดิโอขนาดสั้นยิ่งตอบโจทย์ เพราะเมื่อใดที่ผู้ใช้งานรู้สึกไม่ถูกใจกับวิดิโอที่ดูอยู่ ก็สามารถเลื่อนผ่านไปดูอันต่อไปได้ทันที 

ด้วยช่วงเวลาอันสั้นของคอนเทนต์วิดิโอกับช่วงความสนใจอันน้อยนิดของเรา และการเปลี่ยนไปสู่สิ่งที่น่าสนใจหรือทำให้เรามีความสุขได้โดยง่าย ทำให้ผู้ใช้งานแอปพลิเคชันเหล่านี้มักจะจมอยู่กับมันเป็นเวลานาน 

The next Social Commerce 

Social Commerce การผสมผสานกันอย่างลงตัวระหว่าง e-Commerce และการใช้ประสบการณ์ของผู้บริโภคในแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย จนกลายเป็นช่องทางการซื้อขายตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำได้ ยิ่งในปัจจุบันที่อัตราการเข้าถึงและการใช้งานโซเชียลมีเดียพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ นับเป็นโอกาสที่ดีสำหรับแบรนด์และธุรกิจ โดยมีการคาดการณ์ว่า Social Commerce จะโตเร็วกว่า e-Commerce ถึงสามเท่า และฐานลูกค้ากลุ่มใหญ่ก็ไม่ใช่ใครที่ไหนแต่เป็นวัยรุ่น Gen Z นี่เอง เป็นโอกาสที่ดีมากที่จะทำการตลาดบน Tiktok ด้วยธรรมชาติและทัศนคติของกลุ่มผู้ใช้งานที่เป็นบวกต่อคอนเทนต์บนแพลตฟอร์ม รวมถึงการโฆษณาด้วย

ล่าสุดเมื่อปลายปีที่ผ่านมา Tiktok ก็ได้ประกาศเป็นพาร์ทเนอร์กับ Shopify แพลตฟอร์ม e-Commerce และนำร่องการใช้งานฟีเจอร์ Tiktok Shopping ในสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร ที่ผู้ใช้งานสามารถกดซื้อสินค้าโดยตรงผ่านวิดิโอได้ทันทีผ่านแท็กที่เจ้าของร้านติดไว้ ถือเป็นก้าวสำคัญของ Tiktok กับการเข้ามาเป็นแพลตฟอร์ม Social Commerce เต็มตัว 

และแม้จะเป็นน้องใหม่ที่เพิ่งจะเข้าวงการ Social Commerce หลังเฟซบุ๊ก อินสตราแกรม แต่ Tiktok ก็มีต้นทุนที่น่าพอใจจากฐานผู้ใช้งาน Gen Z ที่เหนียวแน่น รวมถึงทัศนคติที่ดีต่อคอนเทนต์บนแพลตฟอร์ม รวมถึงคอนเทนต์โฆษณา และชุมชนที่แข็งแกร่งของ TikTokers ด้วย

ความร้อนแรงแบบหยุดไม่อยู่ของ Tiktok กลายเป็นเป้าหมายสำคัญแที่ Meta จะต้องไล่ให้ทัน และหนีให้พ้น เป็นโอกาสที่ดีของผู้ใช้งานอย่างเรา ที่จะได้เห็นการออกฟีเจอร์ของทั้งสองค่ายออกมาแข่งกัน และยังเป็นโอกาสที่ดีสำหรับแบรนด์และธุรกิจ ในการขยายช่องทางการขายสินค้าบน Tiktok จะเป็นอย่างไรก็ต้องรอติดตามกัน 

Sources : businessofapps, fourweekmba, investisdigital, thebridgechronicle

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

สองวิธีเรียกคืนอำนาจบริหารจากบริษัทตัวเอง ถกประเด็นน่ารู้จากซีรีส์ Queen of tears

เจาะลึกประเด็นซีรีส์ Queen of tears การต่อสู้แย่งชิงอำนาจบริหาร Queens Group กำลังทวีความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ในความเป็นจริงแล้ว ในความเป็นจริงแล้ว ตระกูลฮงจะกลับมายึดคืนอำนาจบริหาร ...

Responsive image

17 เรื่อง AI ต้องรู้ จากรายงาน AI Index 2024

Techsauce ได้สรุป 17 ประเด็นสำคัญจากรายงาน AI Index Report 2024 ซึ่งจัดทำโดย Stanford Institute for Human-Centered Artificial Intelligence (HAI) ที่รวบรวมประเด็นต่างๆ ของปัญญาประดิ...

Responsive image

แนะเทรนด์ลงทุนในสตาร์ทอัพปี 2024 พร้อมช่องทางใหม่ในการระดมทุนจากงาน KATALYST TALK MEETUP #3

บทความที่เอสเอ็มอี สตาร์ทอัพควรอ่านเพื่อเป็นไกด์ไลน์ในการเผชิญความท้าทายในปีนี้ จากการรับฟังภายในงาน KATALYST TALK MEETUP #3 ‘Navigating the Startup Challenges in 2024 and Beyond’...