5 เหตุผลที่ TikTok Shop จะกลายเป็น Marketplace เจ้าใหญ่ของโลก | Techsauce

5 เหตุผลที่ TikTok Shop จะกลายเป็น Marketplace เจ้าใหญ่ของโลก

TikTok แอปพลิเคชันยอดฮิตสัญชาติจีน จากบริษัท ByteDance เริ่มเป็นที่นิยมจากการเป็นแพลตฟอร์ม Social Media สำหรับลงคลิปวิดีโอสั้น ๆ จนกลายเป็นแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ของโลก และจะยิ่งใหญ่ขึ้นอีกจากฟีเจอร์ TikTok Shop 

ปัจจุบันมีผู้ใช้งาน TikTok มากถึง 732 ล้านคนทั่วโลก ขึ้นแท่นแพลตฟอร์ม Social Media ที่มีคนใช้มากเป็นอันดับ 7 ของโลก ทั้งที่เปิดตัวมาได้เพียงแค่ 7 ปีเท่านั้น

เมื่อปี 2022 ที่ผ่านมา TikTok ได้ก้าวเข้าสู่ตลาด E-Commerce ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยฟีเจอร์ TikTok Shop สามารถทำกำไรได้มากถึง 1.5 แสนล้านบาท 

และผลสำรวจจากบริษัท Cube Asia พบว่าผู้ที่ซื้อสินค้าบน TikTok Shop ใช้จ่ายน้อยลงบนแพลตฟอร์ม E-Commerce อื่น ๆ เช่น Shopee ลดลง 51% และบน Lazada ลดลง 45% 

เป็นเรื่องที่น่าสนใจมากที่ฟีเจอร์ E-Commerce เล็ก ๆ บนแพลตฟอร์ม Social Media สามารถดูดลูกค้าจากแพลตฟอร์ม E-Commerce ยักษ์ใหญ่อย่าง Shopee และ Lazada ได้ 

บทความนี้ของ Techsauce จะพามาหาคำตอบว่าทำไม TikTok ถึงต้องเพิ่มฟีเจอร์ Shop เข้ามาทั้งที่ก็ได้รับความนิยมจากการเป็นแพลตฟอร์ม Social Media อยู่แล้ว รวมถึงไขความลับ 5 เหตุผลหลักที่ทำให้ TikTok Shop เป็นที่นิยมและมีโอกาสไล่ตาม Shopee และ Lazada ทัน !

ทำไม TikTok ถึงปรับตัวเป็นแพลตฟอร์ม E-commerce

TikTok เปิดตัวครั้งแรกในปี 2016 และใช้เวลาเพียงแค่ 4 ปีขึ้นแท่นแพลตฟอร์มที่มียอดดาวน์โหลดสูงเป็นอันดับ 1 ในปี 2020 

แต่ยิ่งได้รับความนิยมไปทั่วโลกมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเป็นเหมือนดาบสองคม ประเทศหลาย ๆ ประเทศเริ่มกังวลถึงภัยคุกคามจากแอปพลิเคชันตัวนี้ เช่น ข้อมูลที่เป็นความลับของประเทศอาจรั่วไหล หรือเนื้อหาภายในแอปอาจเป็นภัยคุกคามต่อประเทศชาติ 

ทำให้มีกระแสการแบน TikTok เกิดขึ้นในหลายประเทศ แต่การประกาศแบนของอินเดียในปี 2020 ส่งผลกระทบต่อการเงินของ TikTok มากที่สุด เพราะอินเดียเป็นตลาดนอกจีนที่มีการเติบโตมากที่สุด 

ในปี 2019 TikTok ทำเงินจากอินเดียเพียงประเทศเดียวได้ถึง 8,960  ล้านบาท การแบนของอินเดียจึงอาจทำให้ TikTok สูญเสียรายได้มหาศาล ซึ่งการหาตลาดใหม่คือหนทางที่จะทำให้ TikTok อยู่รอด

บริษัท ByteDance จึงสำรวจและพบว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ TikTok ได้รับความนิยมอย่างมากและกลายเป็นแอปที่มีการดาวน์โหลดมากที่สุดในภูมิภาคนี้ จากประเทศต่าง ๆ เช่น อินโดนีเซีย ไทย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งสามารถทำเงินมหาศาลให้บริษัทได้เช่นกัน ทำให้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลายเป็นตลาดแห่งใหม่ที่ ByteDance จะเดินหน้าลงทุนอย่างเต็มตัว 

นอกจากนี้บริษัทยังพบว่า ในภูมิภาคนี้นอกเหนือจากผู้ใช้งานทั่วไปแล้ว ธุรกิจกว่า 94% ใช้ TikTok ในการทำการตลาดและขายสินค้า จึงเป็นสิ่งที่จุดประกายให้เกิดฟีเจอร์ TikTok Shop เพื่อพัฒนาแอปพลิเคชันให้เหมาะสมแก่การใช้งานในภูมิภาคนี้มากที่สุด 

บริษัทมองว่านอกจากจะเป็นการช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็กเพื่อหารายได้เพิ่มเติมแล้ว อาจเป็นหนทางที่สร้างรายได้เพิ่มเติมให้แก่ TikTok เช่นเดียวกัน

5 เหตุผลที่ทำให้ TikTok Shop กลายเป็นม้ามืด E-Marketplace

จากแพลตฟอร์มที่เอาไว้ลงวิดีโอสั้น ๆ ก้าวมาสู่ E-Marketplace หน้าใหม่ที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  TikTok มีจุดแข็งอะไรที่ทำให้รุ่นพี่อย่าง Shopee และ Lazada ต้องหนาว ไปดูกัน 

1. ไม่เก็บค่าคอมมิชชัน ดึงดูดร้านค้าและลูกค้า 

ในช่วงแรกของการเปิดตัว TikTok Shop ทางบริษัทไม่ได้เรียกเก็บค่าคอมมิชชันจากร้านค้าเลย เพื่อที่จะดึงดูดให้ร้านค้ามาขายของบน TikTok Shop สินค้าบนแพลตฟอร์มนี้จึงมีราคาถูกกว่าแพลตฟอร์ม E-Commerce อื่น ๆ ผู้ขายโดนหักส่วนแบ่งน้อย ลูกค้าได้ของถูกลง ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ TikTok Shop ติดตลาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภายในเวลาอันรวดเร็ว

2. Live Shopping ซื้อขายครบจบในแอปเดียว

การซื้อของในไลฟ์สดเป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมมานานก่อนที่จะมี TikTok Shop เสียอีก เพราะผู้ขายและลูกค้าสามารถพูดคุยสอบถามกันได้แบบ Real Time ตามรายงานของ McKinsey ในปี 2021 เผยว่าลูกค้าจำนวนมากมักจะตัดสินใจซื้อสินค้าจากไลฟ์สด มากกว่าการซื้อของออนไลน์แบบเดิม ๆ

แต่ TikTok Live Shopping มี 2 จุดเด่นสำคัญที่ช่วยดึงดูดผู้คนให้เข้ามาจับจ่ายบนแพลตฟอร์มนี้มากกว่า 

ข้อแรก คือ การซื้อขายครบจบในแอปเดียว เพราะใน Live สามารถเชื่อมต่อกับตระกร้าสินค้าจาก TikTok Shop ทำให้ลูกค้าที่ดู Live กดซื้อได้ง่ายผ่านตระกร้าสินค้าหน้า Live ได้เลย ซื้อง่ายขายง่ายและไม่ต้องย้ายไปแพลตฟอร์ม E-Commerce อื่น ๆ

จุดเด่นข้อที่ 2 คือ ส่วนลดพิเศษจากร้านค้าที่มีเฉพาะบน Live ซึ่งส่วนลดเหล่านี้มักจะเยอะกว่าส่วนลดหรือโปรโมชั่นทั่วไป ทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าต้อง “ซื้อเดี๋ยวนี้ คิดทีหลัง” นั่นเอง 

ที่ผ่านมา TikTok เคยสำรวจเกี่ยวกับ Live Shopping บนแพลตฟอร์มของตนเอง พบว่า 67% ของผู้ใช้งานแอป TikTok กล่าวว่าการดูไลฟ์ช่วยกระตุ้นให้พวกเขาอยากซื้อของ ทั้งที่ไม่ได้วางแผนว่าจะซื้อมาก่อนก็ตาม และหลายธุรกิจเผยว่ามันช่วยเพิ่มยอดขายถึง 74%

3. การตลาดจริงใจผ่าน TikTok Influencer 

TikTok เป็นแพลตฟอร์มที่มี Influencer อยู่เยอะมาก ซึ่งผู้ติดตามส่วนใหญ่ก็ติดตามจากคลิปที่มีความ Creative หรือการถ่ายทอดเรื่องราวที่สนุกของเหล่าอินฟลู แต่หลังจากเปิดตัว TikTok Shop แล้ว ‘TikTok Influencer Marketing’ ได้กลายมาเป็นจุดแข็งของแพลตฟอร์มด้วยเหตุผลหลักเพียงข้อเดียว คือ มีความจริงใจกว่าการทำโฆษณาแบบเดิม ๆ นั่นเอง

เนื่องจาก TikTok Influencer ส่วนใหญ่เป็นคนธรรมดาทั่วไป ซึ่งโด่งดังมากจากการทำคลิปและไม่ใช่ดารา ทำให้สามารถสื่อสารกับผู้บริโภคได้แบบจริงใจ จึงไม่ดูเหมือนเป็นการโฆษณา 

4. ขายขำดึงดูดลูกค้าด้วยวิดีโอ Creative

การเป็นแอปพลิเคชันสำหรับลงคลิปวิดีโอสั้น ๆ ที่มีภาพลักษณ์สนุกสนานและตลก ยิ่งทำให้ TikTok มีศักยภาพมากพอที่จะสร้างสรรค์คลิปวิดีโอ Creative เพื่อใช้โปรโมตสินค้า เช่น เอกเฟ็กต์ต่าง ๆ ในการทำคลิป หรือเพลงที่กำลังเป็นกระแส เพราะยิ่งสนุกและยิ่งตลกก็สามารถดึงดูดให้คนเข้ามาดูได้เยอะ ซึ่งต่างจาก Shopee และ Lazada ที่จะมีเพียงรูปภาพสินค้าหรือวิดีโอสั้น ๆ ถ่ายดีเทลของสินค้าเท่านั้น

คลิปวิดีโอโปรโมตสินค้าบน TikTok ส่วนมากก็มักจะเป็นการโชว์ถึงวิธีใช้งานแบบสร้างสรรค์ ทำคอนเทนต์เกาะกระแสเพลงฮิต หรือคอนเทนต์ตลก ๆ ทำให้คนดูสนุกและไม่รู้สึกถูกยัดเยียดเหมือนการดูโฆษณา รวมถึงอาจขายได้เนียน ๆ เพราะคนดูจนจบ ซึ่งธุรกิจถึง 94% เผยว่าการทำคอนเทนต์ลง TikTok ช่วยเพิ่มยอดขายให้กับพวกเขามากกว่าแพลตฟอร์มอื่น ๆ

5. คลิปเป็นกระแสได้ง่าย เหมือนได้พื้นที่โฆษณาฟรี

ด้วยพื้นฐานที่เป็นแพลตฟอร์ม Social Media ทำให้คอนเทนต์บน TikTok เป็นกระแสได้ง่ายและเข้าถึงคนได้จำนวนมาก ถ้าหากคลิปที่คุณทำเกิดเป็นกระแสขึ้นมา Creator คนอื่น ๆ บน TikTok ก็สามารถทำคลิป Reply ต่อไปได้เรื่อย ๆ ถ้าในแง่ของการขายของก็เหมือนกับการได้พื้นที่โฆษณาฟรี 

เป็นจุดที่ทำให้ TikTok ครองใจธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง เพราะธุรกิจเหล่านี้อาจจะไม่มีทุนมากพอที่จะจ้างคนมีชื่อเสียงมาทำการตลาดให้ แต่เพียงแค่ทำคลิปลง TikTok ก็มีโอกาสสูงที่ธุรกิจของพวกเขาจะกลายเป็นกระแสและเพิ่มยอดขายโดยไม่ต้องเพิ่มต้นทุน จากสำรวจพบว่าธุรกิจกว่า 96% มีลูกค้าเพิ่มขึ้นเพราะทำการตลาดผ่าน TikTok 

ในปัจจุบันแม้ว่า Shopee และ Lazada ยังครองตลาดแพลตฟอร์ม E-Commerce ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้อยู่ แต่ในงาน TikTok Southeast Asia Impact Forum 2023 ที่ผ่านมา TikTok ประกาศลงทุน 12.2 ล้านดอลลาร์เพื่อช่วยเหลือและผลักดันให้เศรษฐกิจ SEA เติบโต ด้วยการพัฒนาแอปพลิเคชันและเพิ่มฟีเจอร์เพื่อช่วยเหลือธุรกิจที่ทำการตลาดบน TikTok เช่น

  1. TikTok Ads Manager ช่วยให้ธุรกิจ 80% โปรโมตสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพและตรงกลุ่มเป้าหมายขึ้น
  2. TikTok Business Center ฟีเจอร์ที่ช่วยธุรกิจสร้างคอนเทนต์การตลาดได้ง่ายขึ้น ธุรกิจกว่า 83% เผยว่าคอนเทนต์ของพวกเขามีประสิทธิภาพมากขึ้นจากฟีเจอร์นี้
  3. TikTok Creator Marketplace ฟีเจอร์ใหม่ที่เป็นเหมือนสะพานให้กับธุรกิจและเหล่า Creator ค้นหากันเจอง่ายขึ้น ซึ่งสามารถร่วมมือกันสร้างสรรค์คอนเทนต์การตลาดดี ๆ และเข้าถึงผู้คนได้มากขึ้น

นอกจากนี้ TikTok ยังร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรกว่า 25 แห่งทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อช่วยให้ธุรกิจต่าง ๆ มีโอกาสเข้าถึงผู้บริโภคยุคดิจิทัลรายใหม่ ๆ สิ่งเหล่านี้ยิ่งตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นในการเดินหน้า TikTok ในฐานะแพลตฟอร์ม E-commerce น้องใหม่ พร้อมจุดแข็งของ TikTok Shop ที่เป็นการผสมผสานระหว่าง Social Media และ E-marketplace ซึ่งอาจจะมีศักยภาพมากพอที่จะไล่ตาม Shopee และ Lazada ภายในไม่กี่ปีข้างหน้านี้ก็ได้

อ้างอิง: businessinsider, marketeeronline, seaimpactforum, cnbc, shopify

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

สองวิธีเรียกคืนอำนาจบริหารจากบริษัทตัวเอง ถกประเด็นน่ารู้จากซีรีส์ Queen of tears

เจาะลึกประเด็นซีรีส์ Queen of tears การต่อสู้แย่งชิงอำนาจบริหาร Queens Group กำลังทวีความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ในความเป็นจริงแล้ว ในความเป็นจริงแล้ว ตระกูลฮงจะกลับมายึดคืนอำนาจบริหาร ...

Responsive image

17 เรื่อง AI ต้องรู้ จากรายงาน AI Index 2024

Techsauce ได้สรุป 17 ประเด็นสำคัญจากรายงาน AI Index Report 2024 ซึ่งจัดทำโดย Stanford Institute for Human-Centered Artificial Intelligence (HAI) ที่รวบรวมประเด็นต่างๆ ของปัญญาประดิ...

Responsive image

แนะเทรนด์ลงทุนในสตาร์ทอัพปี 2024 พร้อมช่องทางใหม่ในการระดมทุนจากงาน KATALYST TALK MEETUP #3

บทความที่เอสเอ็มอี สตาร์ทอัพควรอ่านเพื่อเป็นไกด์ไลน์ในการเผชิญความท้าทายในปีนี้ จากการรับฟังภายในงาน KATALYST TALK MEETUP #3 ‘Navigating the Startup Challenges in 2024 and Beyond’...