เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2560 ที่ผ่านมา Priceza จัดงาน Priceza E-Commerce Awards 2017 มอบรางวัลแก่แบรนด์และร้านค้า E-Commerce พร้อมกับจัดเวทีพูดคุยเพื่ออัพเดทเทรนด์วงการ E-Commerce, E-logistics และ E-Payment ในปี 2018 ซึ่งทุก Ecosystem ที่กล่าวมาต่างมีความสำคัญ และต้องพึ่งพาซึ่งกันและกันเป็นอย่างยิ่ง ขาดส่วนใดส่วนหนึ่งไปไม่ได้เลย
วันนี้ Techsauce สรุปมุมมองของแต่ละบุคคลที่อยู่ในวงการ E-Commerce, E-logistics และ E-Payment มาให้ดูกันแล้วครับ ติดตามได้จากบทความนี้เลยครับ
ย้อนดูข้อมูลอีคอมเมิร์ซไทยที่น่าสนใจในปี 2017
ก่อนที่จะไปดูข้อมูล E-Commerce ปี 2018 คุณธนาวัฒน์ มาลาบุปผา CEO และ Co-Founder ของ Priceza ก็พาไปดูข้อมูลของ E-Commerce เมื่อปี 2017 ที่ผ่านมา หลายข้อมูลมีความน่าสนใจอย่างยิ่ง
คุณธนาวัฒน์ มาลาบุปผา CEO และ Co-Founder ของ Priceza1. ช่องทางหลักที่นำ Traffic ผู้ใช้เข้าสู่เว็บ E-Commerce ชั้นนำ ได้แก่ Direct (ผ่านหน้าเว็บโดยตรง), E-mail, Google Search, Facebook และ Priceza
2. ตลาด E-Commerce มีช่องทางการขายที่หลากหลาย ไม่ได้ขึ้นกับเจ้าใดเจ้าหนึ่งแบบผูกขาด โดย Priceza อ้างอิงข้อมูลจาก ETDA ที่ระบุว่ามีทั้งการขายผ่านทาง Social Media มากสุด 40 เปอร์เซนต์ รองลงมาเป็น E-Marketplace อยู่ที่ 29 เปอร์เซ็นต์, Online Retailer-BrandDotCom มี 27 เปอร์เซนต์ และ Cross Border มี 4 เปอร์เซนต์ ความหลากหลายที่เกิดขึ้นเป็นผลดีต่อผู้บริโภค เพราะทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกในการซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น
3. คนไทยเข้าดูสินค้าผ่านทางออนไลน์มากขึ้น แต่หากมองลงไปจริง ๆ จะพบว่าคนไทยสั่งซื้อสินค้า-ชำระเงินเกิดขึ้นบนคอมพิวเตอร์อย่างโน๊ตบุ๊คและพีซีมากกว่า เพราะทำอะไรหลาย ๆ อย่างได้ครบถ้วนมากกว่า สะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการ E-Commerce อาจจะระบบให้รองรับมือถืออย่างเดียวคงไม่ได้ ต้องไม่ลืมคำนึงถึงผู้ใช้งานผ่านคอมพิวเตอร์ด้วย
4. ผู้บริโภคจะจ่ายเงินซื้อสินค้าผ่านออนไลน์เฉลี่ยคนละ 1,800 บาทต่อการซื้อหนึ่งครั้ง และผู้บริโภคจะจ่ายเงินซื้อสินค้าผ่านทางคอมพิวเตอร์สูงกว่าทางมือถือ โดยผู้ที่จ่ายเงินซื้อสินค้าผ่านทางมือถือจะจ่ายเงินเฉลี่ย 1,177 บาท ผู้ที่จ่ายเงินซื้อสินค้าผ่านทางคอมพิวเตอร์จะจ่ายเงินเฉลี่ย 2,008 บาท ต่างกันถึง 70 เปอร์เซ็นต์ สาเหตุเนื่องจากมาจากผู้บริโภคมั่นใจว่าการซื้อทางคอมพิวเตอร์จะกรอกข้อมูลได้ครบถ้วนกว่า
5. Sale Conversion Rate (อัตราการซื้อ) ในปี 2017 อยู่ที่ 2.81 เปอร์เซนต์ สูงกว่าปี 2016 ถึง 63 เปอร์เซ็นต์ แปลว่าผู้บริโภคมีโอกาสเข้าถึงสินค้ามากขึ้น และความต้องการซื้อสินค้าทางออนไลน์มากขึ้นด้วยเช่นกัน
สรุปทิศทางอีคอมเมิร์ซในประเทศไทย (E-Commerce and The Future of Retail 2018)
คุณผรินทร์ Nasket, คุณยุทธนา Tesco Lotus, คุณศิวัตร MGroup, คุณยุทธยา Shopee และคุณธนาวัฒน์ Priceza (พิธีกร) (จากซ้ายไปขวา)
คุณผรินทร์ สงฆ์ประชา : ผู้ก่อตั้งและประธานบริหาร Nasket
- แบรนด์ใหญ่ ต้องสู้เรื่องการโปรโมท Advertisement ผ่านทาง Facebook และ Google อย่างหนัก หลัง Facebook ลด Reach บนเพจและเปิดตัว Facebook Marketplace เป็นอีกช่องทางในการขายสินค้า
- SMEs-ผู้ประกอบการรายเล็กควรหาตลาดและกลุ่มลูกค้า (Customer) ของตนเองให้เจอและให้ชัดเจน ไม่จำเป็นต้องไปสู้กับเจ้าใหญ่เสมอไป เปรียบเหมือนการเป็น "ปลาใหญ่ในบ่อเล็ก"
- ช่องทางไหนซื้อขายง่ายสุด ผู้บริโภคส่วนใหญ่จะเลือกช่องทางนั้น ผู้บริโภคไม่ได้มีเวลาในการเลือกซื้อสินค้ามากนัก
คุณยุทธนา จิตจรุงพร : รองประธานกรรมการฝ่ายดิจิทัล Tesco Lotus
- Customer Insight ของ Tesco Lotus ระบุชัดเจนพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปชัดเจน จากเดิมที่ซื้อสินค้าผ่าน Hypermarket หรือ Convenience Store เปลี่ยนไปซื้อสินค้าทางออนไลน์มากขึ้น ยอดการขายเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ
- พฤติกรรมผู้บริโภคจะยึดติดกับส่วนลด (Price Sensitive) มากขึ้น ถ้าไม่ลดราคาอาจจะไม่ซื้อสินค้าช่องทางนั้น ก็มีการลดแลกแจกแถมแบบกระหน่ำกว่าเดิม
- เข้าใจลูกค้า สร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่ลูกค้า ทั้งช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ สร้างประสบการณ์ที่ไร้รอยต่อ (Seamless) ให้กับผู้บริโภค
- ผู้ประกอบการการรายเล็ก-รายใหญ่ ต้องมีการสร้างนวัตกรรม (Innovative) และความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) มากขึ้น เพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคให้ได้มากขึ้น
คุณศิวัตร เชาวรียวงษ์ : ประธานกรรมการบริหาร GroupM (ประเทศไทย)
- เห็นได้ชัดว่าธุรกิจ E-Commerce แบบ Customer to Customer (C2C) พ่อค้า-แม่ค้า-ผู้ค้ารายย่อยขายของให้ผู้บริโภคแบบที่คนไทยคุ้นเคย ทั้งผ่านช่องทางที่เป็นทางการและผ่านช่องทางแบบไม่เป็นทางการ เช่น LINE Group, Facebook Live หรือ Facebook Group เป็นต้น มี E-Payment และ Mobile Banking ที่ใช้ง่ายขึ้น สนับสนุนให้เกิด C2C
- พอ C2C คึกคักแล้ว Business to Customer (B2C) ก็จะคึกคักตามไปด้วย
- ผู้ประกอบการห้างรายใหญ่ควรทำการขายแบบหลากหลายช่องทาง (Omni Channel) เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป ใช้การ Search แทน หากไม่ทำ Omni Channel ลูกค้ากลุ่มหนึ่งก็จะหายไปเลย
- ใช้คำว่า "เติบโต" กับทุก Sector ไม่ได้ ปีหน้าจะเป็นโหมดของการ "ปรับตัว" เพราะผู้ประกอบการรายใหญ่บางรายยังไม่ได้ปรับตัวให้เข้ากับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป
- ต้องเก็บข้อมูล (Data) เพราะเป็นเรื่องสำคัญ เพราะข้อมูลนำไปวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อหา Solutions ที่ตอบโจทย์ธุรกิจและลดราคาสินค้า-ต้นทุน-ค่าโฆษณาได้มากขึ้น
คุณศิวกร สิริวงศ์ภาณุพงศ์ : หัวหน้าฝ่ายพัฒนาธุรกิจ Shopee (ประเทศไทย)
- การแข่งขันที่มากขึ้นแบบเลือดสาด สินค้าที่มีปริมาณมากขึ้น ต้องแข่งขันด้านราคามากขึ้น เพราะ SMEs หรือ Local Sellers จะขยับมาขายใน Marketplace ออนไลน์มากขึ้น
- ผู้ประกอบเข้าไปช่องทางที่หลากหลาย รวมไปถึงการลองช่องทางใหม่ ๆ บนออนไลน์ในการขายสินค้า
- การลงทุนแข่งขันของ E-Commerce ทำให้ผู้บริโภคตื่นตัวและมั่นใจ E-Commerce มากขึ้นในปีหน้า
- E-Commerce จะโปรโมทตัวเองในช่องทางออฟไลน์มากขึ้น เพื่อดึงลูกค้าหน้าใหม่ให้ไปใช้บริการของคนเอง
แนวโน้มระบบอีโลจิสติกส์ในอนาคต (E-Logistics – Trends to follow)
คุณเฟื่องลดา (พิธีกร), คุณสุทธิเกียรติ Shippop, คุณสันทิต Lalamove และคุณโยจิ SCG Express (จากซ้ายไปขวา)
คุณสุทธิเกียรติ จันทรชัยโรจน์ : กรรมการผู้จัดการ Shippop
- มีบริการ Logistics ที่หลากหลายรูปแบบมากขึ้น เช่น ต้องการส่งของทันทีใช้ Lalamove, ส่งของในวันถัดไปอาจจะใช้ Kerry หรือ SCG Express, ส่งของไปต่างจังหวัดทันทีก็ใช้รถตู้หรือรถทัวร์ ผู้บริโภคและผู้ประกอบการควรเลือกให้เหมาะสม เพื่อให้ประหยัดเงินและส่งได้รวดเร็ว
- การขนส่งสินค้า Drone เหมือน Amazon Prime ในสหรัฐอเมริกามีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในไทยได้ ถ้ามีการแก้ไขข้อจำกัดในเรื่องของกฎหมายต่าง ๆ ที่มีอยู่เพื่อสนับสนุน Logistics
คุณสันทิต จีรวงศ์ไกรสร : ผู้อำนวยการประจำภูมิภาค ฝ่ายดำเนินงาน Lalamove
- ผู้บริโภคและผู้ประกอบการอยากได้สินค้าจาก E-Commerce เร็วขึ้น ในราคาที่ถูกลง ทำให้ Logistics ต้องปรับตัว
- E-Commerce รายใหญ่ให้ความสำคัญกับ Logistics มากขึ้น เพราะการส่งสินค้าได้รวดเร็ว ก็มีส่วนทำให้ผู้บริโภคกลับมาซื้อสินค้ากับ E-Commerce เจ้านั้นอีกครั้ง
คุณโยจิ ฮามานิชิ : กรรมการผู้จัดการ SCG Express
- ผู้ประกอบการจะขยายจำนวน-ปริมาณการส่ง (Capacity) ให้มากขึ้นแต่ยังคงคุณภาพ (Quality) ในการส่งให้ดีเท่าเดิมได้
- ผู้ประกอบการ Logistics สื่อสารกับลูกค้าให้ชัด ต้องมีความซื่อสัตย์ลูกค้าและสังคม ความปลอดภัยของลูกจ้างต้องมาก่อน ธุรกิจเป็นเรื่องรอง
- ในญี่ปุ่นมี E-Commerce ที่ขายอาหารสด ผักสด ผลไม้สด และมีบริการส่งให้แก่ผู้บริโภคด้วย ซึ่งเป็นโอกาสที่ E-Commerce และ Logistics ไทยจะปรับตัวและพัฒนาเพื่อให้การส่งอาหารสดหรือสินค้าควบคุมอุณหภูมิให้เกิดขึ้นได้ในไทย
สถานการณ์ระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ในปัจจุบัน (E-Payment – The Present & Future)
คุณธนานันท์ Ascend Commerce (พิธีกร), คุณศุภวิทย์ AirPay, คุณกิตติพงศ์ AIS mPAY, คุณสมหวัง PayPal และคุณสมคิด KBTG
คุณสมคิด จิรานันตรัตน์ : รองประธาน กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG)
- ติดตามฟีเจอร์ใหม่ ๆ จาก PromptPay ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่จะมาในปีหน้า จะช่วยให้ผู้ประกอบการ E-Commerce และประชาชนทั่วไปสะดวกสบายยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น PromptPay ฟีเจอร์ Purchase to Pay สามารถส่งคำร้องให้อีกฝั่งจ่ายเงิน เหมาะสำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการแจ้งให้ลูกค้าจ่ายเงินหรือจ่ายค่าธรรมเนียมในกรณีลูกค้ายังไม่ได้จ่ายเงิน
- QR Code มาตรฐานที่ ธปท. กำหนดขึ้น จะอำนวยความสะดวกในการชำระเงินให้กับ E-Commerce และผู้ประกอบการต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น
คุณศุภวิทย์ หงส์อมรสิน : ผู้จัดการผลิตภัณฑ์ประจำ AirPay (ประเทศไทย)
- มองจากการเซ็ตระบบจ่ายเงินให้กับ Shopee ทำให้เห็นว่าผู้บริโภคมีความมั่นใจใน E-Payment และมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด
- Infrasturcture ด้านการใช้อินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์ที่สมบูรณ์ จะช่วยให้ E-Payment เกิดขึ้นได้อย่างสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
- ลูกค้าที่เคยใช้การจ่ายเงินผ่านธนาคาร จะเปลี่ยนมาใช้ QR Code และ PromptPay มากขึ้น
คุณกิตติพงศ์ มุตตามระ : กรรมการผู้จัดการ AIS mPAY
- ระบบ E-Payment เหมือนจิ๊กซอว์ตัวสุดท้ายของกระบวนการซื้อสินค้าผ่านระบบ E-Commerce ถึงจะมีสินค้าที่ดี การส่งสินค้าที่ดี แต่ระบบ E-Payment ไม่ดี ผู้บริโภคก็ไม่ใช้ E-Commerce รายนั้นเลยก็มี
- E-Payment ยังแทนที่บัตรเครดิตไม่ได้ในทันที เพราะว่าบัตรเครดิตสามารถทำรายได้จากค่าธรรมเนียมและค่าดอกเบี้ย มีการสะสมแต้มจูงใจอยู่ แต่แทนที่เงินสดหรือ Cash มีความเป็นไปได้
- ต้องสร้างความแตกต่างในตลาด E-Payment ให้ได้ ร้านค้าต่าง ๆ อยากสร้าง Wallet ตัวเอง แต่ร้านค้ามีต้นทุน ภาครัฐต้องผลักดันการใช้ QR Code Payment ให้เกิดขึ้น
- กังวลถ้า Retailer ทำกระเป๋า E-Wallet ทำของตัวเองกันหมด แต่ปัญหาคือจะเกิด Wallet Fragmentation คือผู้บริโภคต้องใช้ E-Wallet จาก Retailer ของทุกเจ้า (ถึงจะมีข้อดีคือเขาจะลงทุนทำแบบจริงจัง มีโปรโมชันจูงใจให้ลูกค้า จะช่วยให้เกิด Cashless Society ได้เร็วก็ตาม) ซึ่งก็มีหน่วยงานที่ช่วยรวมเป็น Wallet กลาง หรือทำให้ Convergence มากขึ้น อย่างที่ PromptPay ของ ธปท. กำลังพยายามทำอยู่
คุณสมหวัง เหลืองไพบูลย์ศรี : ผู้จัดการ PayPal ประจำประเทศไทย
- Cash On Delivery (CoD) หรือการเก็บเงินกับผู้รับสินค้าปลายทาง เป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค แต่ COD มีต้นทุน ผู้ประกอบการ E-Commerce พยายามผลักดันให้ใช้การจ่ายเงินทาง E-Payment มากขึ้นในอนาคต
- เรามีแนวโน้มเป็น Cashless Society แบบจีนได้ เพราะหลายธนาคารในไทยเริ่มทำแล้ว แต่ในไทยตอนนี้ยังใช้การจ่ายเงินสด หรือ Cash สูงถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ส่วน E-Payment ยังมีการใช้งานอยู่ที่ 30 เปอร์เซ็นต์
- จีนคือผู้กระตุ้นให้ E-Wallet เกิดการใช้งานที่แพร่หลายขึ้นในเอเชีย เพราะเปิดให้ Non-Banks เข้ามาสู่ตลาดเพื่อทำ E-Wallet ได้ ตอนนี้จีนมีผู้ใช้เงินสดแค่ 25 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
ภาพ: PayPal
- ในไทยมองว่า PromptPay จะเป็นคำตอบของ E-Payment แต่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประสบความสำเร็จในการใช้ E-Payment นั้นเกิดจาก Non-Banks หลาย ๆ เจ้าร่วมมือกันผลักดันให้เกิดขึ้น ไม่ได้เกิดจากเจ้าใดเจ้าหนึ่งที่นำตลาดมาชัดเจน
ภาพ: PayPal
และนี่คือมุมมองจากคนที่อยู่ในวงการ E-Commerce, E-Logistics และ E-Payment ที่มาคาดการณ์แนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า แล้วคุณคิดว่า E-Commerce, E-Logistics และ E-Payment ปีหน้าจะเป็นอย่างไร? ร่วมแสดงความเห็นกันได้ครับ