พลิกโฉมอุตสาหกรรมไทยไปกับ ทรู 5G | Techsauce

พลิกโฉมอุตสาหกรรมไทยไปกับ ทรู 5G

การพัฒนาของเทคโนโลยีทำให้เกิดทางเลือกและเครื่องมือที่จะมาช่วยยกระดับวิธีการทำงานของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี AI ,IoT (Internet of things),Machine Learning หรือ เทคโนโลยี 5G ที่จะเป็นรากฐาน เพื่อตอบสนองความต้องการที่มากขึ้นทุกวันของมนุษย์ 

ภาคอุตสาหกรรมไทยจะปรับตัวอย่างไร เมื่อต้องเจอกับความท้าทายครั้งสำคัญนี้ หาคำตอบได้ในบทสรุปจากงาน True 5G Tech Talk สัมมนา 5G พลิกโฉมประเทศไทย ครั้งที่ 5 ในหัวข้อ Industry หรือ อุตสาหกรรมการผลิต โดย ทรู 5G ร่วมกับ Huawei ASEAN Academy และ Techsauce ได้เชิญองค์กรและสตาร์ทอัพที่มีความเชี่ยวชาญในวงการอุตสาหกรรมของไทย 2 ท่าน  ได้แก่  ดร.ธนา สราญเวทย์พันธุ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด และคุณสุริยา ก้อนคำ หัวหน้าธุรกิจโรโบคอร์ บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนมุมมองถึงบทบาทของ 5G เพื่อยกระดับการทำงานและเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต

การเข้ามาของเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมไทย

ดร.ธนา ระบุในช่วงแรกของการเสวนานี้ว่า ปัจจุบันการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในภาคอุตสาหกรรมไทยยังไม่สูงมากเมื่อเทียบกับต่างประเทศ เนื่องจากมีต้นทุนที่สูง และ Ecosystem หรือ Infrastructure ยังไม่เอื้ออำนวย ซึ่งต้องมีการผลักดันและส่งเสริมให้เกิดการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีในประเทศมากขึ้นจึงจะทำให้ต้นทุนถูกลง และระบบโครงสร้างพื้นฐานรวมถึงระบบนิเวศก็จะมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

คุณสุริยา กล่าวว่า ทรูพยายามผลักดันการใช้เทคโนโลยีในภาคอุตสาหกรรมและพยายามผสมผสานเทคโนโลยี 5G เข้ามาในหุ่นยนต์ของทรู  ไม่ว่าจะเป็น Blockchain, Cyber Security หรือ IoT เพื่อตอบโจทย์ผู้ประกอบการ และปัจจุบันก็มีโมเดล as a service มาตอบโจทย์การลงทุนของลูกค้า  ทดแทนการซื้อหุ่นยนต์เองซึ่งมีราคาค่อนข้างสูง โดยเป็นรูปแบบการจ่ายรายเดือนและทรูจะช่วยดูแลการใช้งานหุ่นยนต์อย่างครบวงจร

จากยุคอินเทอร์เน็ต สู่ยุคของหุ่นยนต์

ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันเป็นยุคที่หุ่นยนต์กำลังเข้ามามีบทบาทในภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น โดยดร.ธนาได้แบ่งปันในมุมของบริษัท AI and Robotics Ventures (ARV) ที่มีบริษัทย่อยอีก 4 บริษัท แต่ละธุรกิจจะใช้ AI และหุ่นยนต์เสริมด้วยเทคโนโลยี 5G เพื่อช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ด้วยการนำเทคโนโลยีเหล่านี้ไปใช้ในปฏิบัติการนอกชายฝั่งเพื่อสนับสนุนกิจการพลังงานของปตท.สผ. หรือการนำโดรนและ AI มาช่วยในการตรวจสอบโครงสร้างพื้นฐาน ช่วยลดต้นทุนการใช้เทคโนโลยีราคาแพงหรือทดแทนการใช้คนมาวิเคราะห์ ทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ทั้งยังมีการนำเทคโนโลยี AI และหุ่นยนต์มาใช้บูรณาการการจัดเก็บข้อมูลพื้นที่ทางการเกษตรในธุรกิจเกษตรอัจฉริยะอีกด้วย

คุณสุริยากล่าวเสริมว่า แม้หุ่นยนต์จะมีมานานแต่ความน่าสนใจของหุ่นยนต์ในปัจจุบันคือการมี AI และระบบ Data เข้ามาทำให้ฉลาดมากขึ้น หุ่นยนต์สามารถมาช่วยลดความผิดพลาดและทำงานที่อันตรายได้

ตัวอย่างบทบาทของเทคโนโลยี 5G หุ่นยนต์และ AI ในภาคอุตสาหกรรม

เมื่อพูดถึงบทบาทของเทคโนโลยี 5G ในภาคอุตสาหกรรม ดร.ธนา ระบุถึงประโยชน์ที่จะได้รับจาก 5G ในการ transform ธุรกิจหรือปรับใช้ในอุตสาหกรรมซึ่งผู้ใช้จะมีอุปกรณ์ที่สามารถทำงานได้หลากหลายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้าน คุณสุริยา กล่าวเสริมว่า การเข้ามาของ 5G ทำให้การทำงานกับคลาวด์หรือการสั่งการหุ่นยนต์เร็วขึ้นหลายเท่า ยกตัวอย่างการใช้งานจริงจากหุ่นยนต์ของทรู 5G ซึ่งหากใช้ 4G อาจมีข้อจำกัดในเรื่องของอุปกรณ์ แต่เมื่อใช้ทรู 5G จะสามารถเชื่อมข้อมูลจากเซิร์ฟเวอร์ไปยังหุ่นยนต์ได้ด้วยความเร็วสูง ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนของการให้บริการไม่ว่าจะเป็นการให้บริการหุ่นยนต์ หรือแพลตฟอร์มต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

สำหรับกรณีศึกษา ทางปตท.สผ.กำลังปรับใช้หุ่นยนต์เพื่อทำงานทดแทนมนุษย์ในกรอบอุตสาหกรรมพลังงานในงานที่มีความเสี่ยง นอกจากนี้ในงานสายสุขภาพก็ได้มีการทำ Telemedicine โดยอาศัยเครือข่ายโครงสร้าง 5G  ซึ่งดร.ธนา  มองว่า  ตัว 5G จะมาช่วยปลดล็อกแอปพลิเคชันหลายอย่างได้ในอนาคต   

คุณสุริยาได้ยกตัวอย่างในส่วนที่ทางทรูกำลังทำอยู่ในปัจจุบันจะเป็นการพยายามสนับสนุนภาครัฐ โดยร่วมกับทีมพัฒนา นำหุ่นยนต์มาช่วยในการจัดการในช่วงโควิด เช่น การตรวจหาผู้ที่มีความเสี่ยง การแจ้งเตือนให้สวมแมสก์ รวมถึงการพัฒนาหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อโดยใช้ระบบ 5G ในการเชื่อมต่อการสั่งการ 

ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันผลักดัน

ดร.ธนา เสนอประเด็นที่อยากให้ทุกภาคส่วนร่วมกันผลักดันเพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมเห็นถึงความสำคัญของเทคโนโลยี สิ่งแรกคือการพัฒนาบุคลากรในเรื่อง STEM (STEM Education คือการสอนแบบบูรณาการข้าม กลุ่มสาระวิชา เช่น ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม ด้านคณิตศาสตร์  รวมเข้าด้วยกัน) ซึ่งมีความสำคัญเนื่องจากต้องผลิตบุคลากรให้มีความสามารถในการสร้างสรรค์งานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี โดยกลุ่มปตท.ได้จัดตั้งโรงเรียนและมหาวิทยาลัยที่เน้นการศึกษาหลักสูตรวิทยาศาสตร์  เพื่อสนับสนุนการผลิตบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น

ประเด็นต่อมาคือการส่งเสริมจากภาครัฐในเรื่องการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมภายในประเทศที่ทางดร.ธนา แนะนำว่า อยากให้การสนับสนุนตรงนี้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ

การสนับสนุนจากภาครัฐเรื่องการใช้เทคโนโลยีที่ผลิตภายในประเทศเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ควรผลักดัน โดยสนับสนุนให้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่วิจัยและพัฒนาจากในไทยเพื่อส่งเสริมให้ Ecosystem ทางเทคโนโลยีของไทยมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น และเมื่อมีความพร้อมของเทคโนโลยีแล้ว  สิ่งสำคัญต่อมาคือการนำเทคโนโลยีไปปรับใช้ในอุตสาหกรรม ซึ่งคุณสุริยาเสนอแนวทางว่า ควรมีการกำหนดมาตรฐานของหุ่นยนต์ให้เป็นไปในรูปแบบเดียวกันเพื่อประโยชน์ของผู้ใช้งาน 

และต่อมาควรสร้างเสริมความรู้ จัดหาผู้เชี่ยวชาญในการพัฒนาเทคโนโลยี และสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการใช้เทคโนโลยี นอกจากนี้อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญเช่นเดียวกัน   คือการให้รัฐบาลสนับสนุนด้านภาษี ด้านอุปกรณ์ หรืออาจสนับสนุนให้มีการศึกษาวิจัยในไทยเพื่อลดต้นทุน และเมื่อเทคโนโลยีมีราคาถูกลงก็จะทำให้คนกล้าใช้หุ่นยนต์ในอุตสาหกรรมไทยมากขึ้น

พัฒนาคนพร้อมเอื้อให้หุ่นยนต์เข้ามาช่วยในการทำงาน

ในยุคที่หุ่นยนต์กำลังจะเข้ามามีบทบาทในภาคอุตสาหกรรม แน่นอนว่าย่อมมีความกังวลใจจากพนักงานเกี่ยวกับการถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์ แต่ในความเป็นจริงแล้วการเข้ามาของหุ่นยนต์ กลับเป็นประโยชน์ในการทำงานมากกว่าเดิม ซึ่งทางดร.ธนา ยกตัวอย่างกรณีการใช้งานจริงในบริษัท ARV ที่ใช้หุ่นยนต์ลงไปซ่อมท่อส่งปิโตรเลียมในทะเลแทนการใช้นักประดาน้ำ ซึ่งมีความเสี่ยงต่อตัวผู้ปฏิบัติงานมากกว่าและให้พนักงานเป็นผู้ควบคุมสนับสนุนการทำงานของหุ่นยนต์ พร้อมแนะนำว่าหากมีกระบวนการ Reskill และ Upskill พนักงานอย่างเป็นระบบก็จะช่วยลดความกังวลเรื่องของการถูกทดแทนด้วยหุ่นยนต์ได้

คุณสุริยา ได้เสริมถึงโอกาสของการใช้หุ่นยนต์เข้ามาช่วยในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดที่มีการใช้หุ่นยนต์ในโรงพยาบาลเพื่อช่วยส่งเวชภัณฑ์และให้คำปรึกษาทางไกลเพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อของบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งในกรณีนี้หุ่นยนต์ไม่ได้จะมาแทนที่การทำงานของมนุษย์แต่จะมาเพื่อช่วยทุ่นแรง ให้การทำงานเป็นไปได้อย่างสะดวกมากขึ้น

สิ่งสำคัญคือการสนับสนุนจากทั้งภาครัฐและเอกชน

สำหรับการสร้าง Ecosystem ภายในประเทศให้แข็งแกร่ง คุณสุริยา แนะว่า จะต้องมีการร่วมมือกันทั้งภาครัฐและเอกชน ยกตัวอย่างการใช้หุ่นยนต์ทดแทนพนักงานรักษาความปลอดภัยและพนักงานทำความสะอาด พร้อมจัดหลักสูตรให้พนักงานเป็นผู้ควบคุม ซึ่งเป็นการฉายภาพให้เห็นได้ชัดขึ้นว่าเทคโนโลยีไม่ใช่เรื่องไกลตัว

ในช่วงสุดท้ายดร.ธนาได้ฝากไว้ว่า เทคโนโลยีไม่ว่าจะเป็นหุ่นยนต์, AI หรือ 5G ล้วนเป็นเรื่องใกล้ตัวและเป็นเทรนด์ที่กำลังมา โดยแนะนำแนวทางที่เป็นประโยชน์สำหรับประเทศไทย คือ ควรเริ่มผลิตวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเป็นการยกระดับองค์ความรู้และเพิ่มศักยภาพการผลิตภายในประเทศ และการสนับสนุนจากภาคเอกชนก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน ในส่วนของทางบริษัท ARV เอง ก็มีความพร้อมทั้งองค์ความรู้และอุปกรณ์จึงขอเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมที่ต้องใช้ทั้งเงินและเวลา โดยพร้อมจะลงทุนและพยามยามแสวงหาความร่วมมือจากทุกภาคส่วน

 


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

17 เรื่อง AI ต้องรู้ จากรายงาน AI Index 2024

Techsauce ได้สรุป 17 ประเด็นสำคัญจากรายงาน AI Index Report 2024 ซึ่งจัดทำโดย Stanford Institute for Human-Centered Artificial Intelligence (HAI) ที่รวบรวมประเด็นต่างๆ ของปัญญาประดิ...

Responsive image

แนะเทรนด์ลงทุนในสตาร์ทอัพปี 2024 พร้อมช่องทางใหม่ในการระดมทุนจากงาน KATALYST TALK MEETUP #3

บทความที่เอสเอ็มอี สตาร์ทอัพควรอ่านเพื่อเป็นไกด์ไลน์ในการเผชิญความท้าทายในปีนี้ จากการรับฟังภายในงาน KATALYST TALK MEETUP #3 ‘Navigating the Startup Challenges in 2024 and Beyond’...

Responsive image

เตรียมพบกับงาน SEA Blockchain Week 2024 (SEABW) ยกขบวนกูรูผู้เชี่ยวชาญด้านบล็อกเชน และ Web 3 ระดับโลกกว่า 100 คน มาร่วมพูดคุยแบ่งปันประสบการณ์ที่เมืองไทย

Southeast Asia Blockchain Week หรือ SEABW งานด้านบล็อกเชนสุดยิ่งใหญ่ระดับภูมิภาค ที่เตรียมจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ในวันที่ 24-25 เมษายน 2567 ซึ่งจะจัดขึ้น ณ True ICON HALL ช...