5G มีบทบาทในการพลิกโฉมอุตสาหกรรมการผลิตอย่างไร งานสัมมนา True 5G Tech Talk มีคำตอบ | Techsauce

5G มีบทบาทในการพลิกโฉมอุตสาหกรรมการผลิตอย่างไร งานสัมมนา True 5G Tech Talk มีคำตอบ

ปัจจุบันเป็นยุคที่จะได้เห็นการปรับตัวของอุตสาหกรรม เพื่อสอดรับกับเทคโนโลยีที่กำลังเข้ามามีบทบาทมากขึ้นทุกวัน ในบทความนี้ Techsauce จะร่วมแบ่งปันข้อมูลจากงานสัมมนา 5G พลิกโฉมประเทศไทย True 5G Tech Talk”  ครั้งที่ ปฏิวัติอุตสาหกรรมการผลิต โดย ทรู 5G ร่วมกับ Huawei ASEAN Academy และ Techsauce  รวบรวมผู้เชี่ยวชาญมากประสบการณ์ทั้งจากไทยและต่างประเทศ มาร่วมพูดคุยกันถึงความท้าทายที่ภาคอุตสาหกรรมไทยจะต้องเจอในยุคนี้ และโอกาสในการใช้เทคโนโลยี 5G เพื่อยกระดับการทำงาน

สำหรับงานสัมมนาครั้งนี้ คุณอาล์วิน อิง อาจารย์ผู้สอนวิชา Digital Transformation, Industry 4.0, Industrial Internet of Things และ AI for business หลักสูตร MBA มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีหนานหยาง ได้ร่วมพูดคุยถึงบทบาทของเทคโนโลยี 5G การใช้หุ่นยนต์และ AI ในภาคอุตสาหกรรม การยกระดับทางดิจิทัลเพื่อปฏิวัติวงการอุตสาหกรรมไทย รวมทั้งกรณีศึกษาที่เป็นประโยชน์จากมุมมองของวิทยากรผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมนี้  

The Industrial Internet of Things และจุดเริ่มต้นของการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในภาคอุตสาหกรรม

การเข้ามามีบทบาทของ IoT ช่วยสร้างเครื่องมือที่ก่อให้เกิดประโยชน์ขึ้นมากมายในภาคอุตสาหกรรม คุณอาล์วิน ได้แบ่งออกเป็น 5 ด้าน ได้แก่ Sensor Technology, Data Sampling, Data Processing, Data Science และ The Power of 1% (การลดเวลาในการทำงานและเพิ่มประสิทธิภาพ) ซึ่งไม่ใช่การพัฒนาระบบอัตโนมัติต่างๆ ให้ดีขึ้นเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงการพัฒนาผลิตภาพให้ดียิ่งขึ้นด้วย

หากย้อนกลับไปในช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 คุณอาล์วิน ได้กล่าวถึง 4 อุตสาหกรรม ที่ถูกจัดให้เป็น Early Adopter ของการนำเทคโนโลยีมาใช้ในเชิงธุรกิจ ปรับปรุงการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นหลังบ้านของตนเอง

  • อุตสาหกรรมการบิน : นำเทคโนโลยีมาช่วยปรับปรุงการซ่อมบำรุงเครื่องบินได้เกือบ50% และเพิ่ม Time on Wing หรือระยะเวลาที่เครื่องจะอยู่บนฟ้าได้อีก 20%
  • อุตสาหกรรมยานยนต์ : ใช้เทคโนโลยีเพื่อแก้ไขปัญหาคอขวด (bottleneck) ที่เกิดจากขั้นตอนการทำสีรถยนต์  โดยสามารถลดการใช้พลังงานได้ราว 29% และเพิ่มปริมาณผลิตผลได้
  • อุตสาหกรรมเคมี : แก้ไขปัญหาด้านการปิดตัวลงของโรงงานที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันในปี2017 และเพิ่มความแม่นยำในการประมวลผล Blind data
  • อุตสาหกรรมเหล็ก : นำเทคโนโลยีมาช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพโรงหลอมอะลูมิเนียม ลดการใช้พลังงานและเพิ่มความปลอดภัยในการทำงาน

คุณอาล์วินกล่าวว่า การนำเทคโนโลยีมาใช้ในภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น เกิดจากความก้าวหน้าของ IoT เป็นหลัก  โดยการใช้ข้อมูลทั้งข้อมูลการทำธุรกรรม ข้อมูลอื่นๆ ของผู้ใช้งานใหม่และเก่านับเป็นปัจจัยที่สนับสนุนการเติบโตของ IoT ด้วย และสิ่งสำคัญที่สุดที่ขาดไม่ได้คือเทคโนโลยี 5G ที่เข้ามาและเกิดการพัฒนาอย่างรวดเร็ว

เส้นทางการปฏิวัติอุตสาหกรรมและการเปลี่ยนผ่านสู่ยุค Industry 4.0

เพื่อเป็นการอธิบายถึงวิวัฒนาการก่อนจะมาเป็นยุค Industry 4.0 อย่างในปัจจุบัน ที่เริ่มมีการนำ IoT ที่ก้าวหน้าเข้ามาใช้ในการทำงานในโรงงาน คุณอาล์วินได้เล่าถึงเส้นทางการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมในแต่ละยุค ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ครั้ง และมีนัยสำคัญที่ต่างกันออกไป

การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 1 เกิดขึ้นในปี 1750 - 1830 เป็นครั้งแรกที่โลกเริ่มใช้เครื่องจักรแรงดันไอน้ำ เริ่มมีนวัตกรรมรถไฟ และเครื่องจักรในภาคการผลิต  การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 2 เกิดขึ้นในปี 1880 - 1920 เริ่มมีการใช้พลังงานไฟฟ้าและระบบโทรคมนาคม มีนวัตกรรมด้านการติดต่อสื่อสาร รวมถึงการสร้างสายการผลิตแบบ Mass Production ขึ้น และที่สำคัญคือ บริษัทนวัตกรรมเจ้าใหญ่อย่าง General Electric ก็ถือกำเนิดขึ้นในช่วงนี้ด้วย ส่วนการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3 ได้เกิดขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 เป็นจุดเริ่มต้นยุคดิจิทัล มีการใช้อินเทอร์เน็ต คอมพิวเตอร์และเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ

ขณะนี้โลกของเรากำลังเข้าสู่ยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 หรือที่เรียกว่า Industry 4.0 ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปี 2010 สิ่งสำคัญของการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ คือ  การใช้ IoT, ปัญญาประดิษฐ์, ฐานข้อมูลขนาดใหญ่และอินเทอร์เน็ต โดยโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในภาคอุตสาหกรรมให้เกิดขึ้น ช่วยให้ภาคธุรกิจสามารถตัดสินใจได้แม่นยำ รวมถึงความเร็วในการสร้างผลผลิตออกสู่ตลาด 

คุณอาล์วินได้กล่าวว่าในระดับถัดไป อาจมีการนำหุ่นยนต์เคลื่อนที่มาใช้ในโรงงาน และความสามารถของการเชื่อมต่อทางเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากขึ้น จะทำให้การทำงานของเน็ตเวิร์คในพื้นที่การผลิตเป็นไปอย่างมีระบบระเบียบ ง่ายดาย ทำให้อุปกรณ์ต่างๆ ทำงานได้เต็มขีดความสามารถ และอาจยืดอายุการใช้งานได้มากขึ้น รวมไปถึงการรักษาความปลอดภัยภายในพื้นที่การทำงานก็จะดีกว่า

แน่นอนว่าสิ่งที่สำคัญในการเชื่อมต่อของเครื่องมือและเทคโนโลยีต่างๆ ใน Industry 4.0 ย่อมต้องมี 5G เป็นตัวขับเคลื่อน และภายใต้ความจริงที่ว่าการแพร่ระบาดของโควิด 19 ทำให้อุตสาหกรรมต่างๆ ทั่วโลกต้องหันมาพึ่งพาเทคโนโลยีและโลกดิจิทัลเองก็มีบทบาทสำคัญมากขึ้น ทำให้การพัฒนาโครงข่ายให้มีประสิทธิภาพในการเชื่อมต่อที่ดีขึ้น มีความเสถียรและรวดเร็วในการโอนถ่ายข้อมูล มีความก้าวหน้าขึ้นอย่างมาก นอกจากนี้ มีตัวเลขคาดการณ์ว่าภายในปี 2035 Industry 4.0 จะสร้างกำไรทางเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นทั่วโลกได้ราว 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

5G กับการยกระดับการพัฒนา 

เมื่อขยายความต่อถึงกรณีศึกษาการใช้งานของ 5G ในภาคอุตสาหกรรม คุณอาล์วิน ได้แบ่งออกเป็น 3 ประเภทคือ Human to Human, Human to Machine และ Machine to Machine สำหรับ Industry 4.0 จะโฟกัสไปที่การเข้ามาของ 5G เพื่อสนับสนุนการทำงานแบบ Machine to Machine ให้มีความสามารถในการเชื่อมต่อและทำงานได้ดีขึ้น เร็วขึ้น

สำหรับตัวอย่างของอุตสาหกรรมยานยนต์ คุณอาล์วินอธิบายว่า 5G จะทำให้ AI ที่ฝังอยู่ในตัวรถสามารถทำงานได้ดีขึ้น สร้างการเชื่อมต่อที่เสถียรกับผู้คนบนท้องถนน และรถยนต์คันอื่นบนถนน หรือแม้แต่เทคโนโลยีอื่นๆ ในรถเองด้วย ทำให้ผู้ใช้รถสามารถขับขี่ได้อย่างเป็นอิสระ แต่ในขณะเดียวกันก็มีความปลอดภัย                    เมื่อเป็นเช่นนี้เราก็สามารถสร้างสังคมที่มีความปลอดภัยมากกว่าเดิมให้เกิดขึ้นได้

และสุดท้ายคือในแง่ของ Smart City ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รัฐบาลของหลายประเทศออกนโยบายเพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนของตัวเองต้องเจอกันแบบ Face to Face ในภาคธุรกิจหลายๆ แห่ง ก็ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการพบปะลูกค้าเป็นแบบออนไลน์แทน การเปลี่ยนแปลงนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่มีเทคโนโลยี 5G

คุณอาล์วิน ได้เล่าตัวอย่างเพิ่มเติมว่า สิงคโปร์ในขณะนี้ภาครัฐมีแผนระดับชาติที่จะสร้างบรรทัดฐานความปลอดภัยโลกไซเบอร์และด้านนวัตกรรมกฎหมาย รวมถึงเฟ้นหาผู้มีความสามารถมาร่วมมือกัน เพื่อสร้างแพลตฟอร์มที่มีการขับเคลื่อนของ 5G เป็นส่วนสำคัญ และเพื่อให้แน่ใจว่าจะสามารถเป็นพันธมิตรกับสตาร์ทอัพได้ รัฐบาลสิงคโปร์จึงพยายามสร้างสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับแผนการพัฒนา โดยมีการสร้างหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา สร้างความรู้ ความเข้าใจในเรื่อง IoT และ 5G โดยเฉพาะ 

นอกจากนี้ 5G ยังมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนด้านสิ่งแวดล้อมให้มีความยั่งยืนอีกด้วย จากการศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกา การเปลี่ยนให้เมืองมีความเป็นอัจฉริยะในทุกด้าน ทั้งด้าน Smart living, Smart Transportation, Smart Manufacturing, Smart Buildings, Smart Agriculture และ Smart Energy จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้หลายล้านตัน

เทคโนโลยีจะเข้ามาแย่งงานคน จริงหรือ

สำหรับความเคลื่อนไหวหรือแนวโน้มที่เกิดขึ้นในการรับเทคโนโลยีไปใช้ในอุตสาหกรรมในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา คุณอาล์วิน กล่าวว่าตอนนี้ แรงงานในภาคอุตสาหกรรมหลายส่วนยังไม่ไว้วางใจการเข้ามาของเทคโนโลยีเท่าไรนัก เนื่องจากคนส่วนมากในภาคปฏิบัติมีความคิดว่า การมีอุปกรณ์ควบคุมเครื่องมือจากทางไกลได้ จะทำให้พวกเขาตกงาน ซึ่งคุณอาล์วินมองว่า การนำเทคโนโลยีและข้อมูลมาใช้ในการทำงานจะทำให้พวกเขาสามารถตัดสินใจทำสิ่งต่างๆ ได้เร็วขึ้น และเครื่องมือจะทำงานไม่ได้ถ้าขาดตัวกลางคือคนที่คอยแปลค่าต่างๆ พร้อมเสริมว่าแรงงานที่มีความสามารถในด้านดิจิทัลจะเป็นที่ต้องการขององค์กรอย่างแน่นอน  ถึงแม้จะมีอุปกรณ์เข้ามาช่วยแต่มันยังคงมีช่องว่างเสมอในโดเมนต่างๆ ของการทำงาน เพื่อที่จะ transform องค์กร จะต้องหาคนที่มีความสามารถมาอุดช่องว่างพวกนี้ให้ได้

คุณอาล์วิน  กล่าวว่าในการ transform เราจะเห็นเทคโนโลยีเข้ามาแทนมนุษย์ได้ในบางหน้าที่  งานบางอย่างอาจหายไปจากตลาดเพราะมีอุปกรณ์เข้ามาทำแทนได้  ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นในทุกๆ ครั้งที่เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม แต่โลกจะสร้างบทบาทหรืออาชีพใหม่ๆ ขึ้นมาแทน  ยกตัวอย่าง อาชีพคนขับรถสาธารณะ ในสิงคโปร์ ซึ่งมีคนตั้งคำถามว่าหากเทคโนโลยีขับขี่อัตโนมัติเข้ามามากขึ้น แรงงานเหล่านี้จะเป็นอย่างไรต่อไป และสิ่งที่ผู้เกี่ยวข้องทำต่อคือ การทำแผนผังทักษะของแรงงานเหล่านี้ พวกเขามีทักษะอะไรที่เกี่ยวข้องกับสายงานใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น  หลังการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในอุตสาหกรรมได้บ้าง ในเคสนี้พบว่า 70% ของทักษะในสายอาชีพดังกล่าว มีความรู้ความเข้าใจด้านการบังคับเครื่องยนต์  ดังนั้นผู้คนเหล่านี้อาจเปลี่ยนไปประกอบอาชีพขับโดรนสำรวจแทนได้เหมือนกัน เพราะถือเป็นสายงานใหม่ที่ใช้ทักษะคล้ายกันกับอาชีพเดิมของพวกเขา

Industry 4.0 ในบริบทประเทศไทย

เมื่อถามถึงความคิดเห็นของการ transform ไปสู่ Industry 4.0 ในไทย คุณอาล์วิน ได้แบ่งปันมุมมองที่มาจากประสบการณ์ของเขาว่า ประเทศไทยได้เข้าสู่การเป็น Industry 4.0 เต็มตัวแล้วและมีการพัฒนาอย่างมาก ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา บริษัทชั้นนำในประเทศมากมายเริ่มนำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำงาน บริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ทั้งหมดในจังหวัดระยองได้มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและหุ่นยนต์มาใช้ในภาคอุตสาหกรรม แต่ก็ยังมีความท้าทายบางอย่างคือ ตอนนี้ประเทศไทยยังไม่มีการเผยแพร่กรณีการใช้งานที่มากพอเมื่อเทียบกับที่อื่น ทำให้ประชาชนไม่รู้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศ เมื่อไม่มีตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จออกมาสู่สายตาประชาชน ก็ไม่เกิดการรับรู้  ไม่เกิดการสร้างแรงจูงใจให้ธุรกิจเล็กๆ นำเทคโนโลยีไปปรับใช้เท่าที่ควร

สำหรับปัจจัยที่สนับสนุนให้เกิดสิ่งนี้ อย่างแรกคือ ภาครัฐต้องเข้ามาช่วยเหลือ  จะเห็นได้ว่าประเทศที่มีการออกนโยบายด้านเทคโนโลยีหรือการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่ชัดเจน เช่น จีนหรือสิงคโปร์ จะมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วกว่า

สองคือ การเผยแพร่ให้คนในสังคมรับรู้ถึงการใช้เทคโนโลยีในอุตสาหกรรมต่างๆ  พยายามฉายสปอตไลต์ไปยังบริษัทใหญ่ในประเทศที่มีการรับเทคโนโลยีเข้ามาใช้ อีกสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญคือการพัฒนาตั้งแต่รากฐาน หรือเรียกว่าการให้การศึกษากับกลุ่มคนก็ได้ ควรมีการจัดการอบรมให้ความรู้แก่เด็กและประชาชน เพื่อสร้างกลุ่มคนที่มีความรู้ความสามารถขึ้นมาให้ได้

และสุดท้ายคือเรื่อง transformation ให้เกิดขึ้นในองค์กรของตัวเองซึ่งอาจจะไม่ใช่เรื่องง่าย ด้วยเหตุมาจากในองค์กรขนาดเล็กอาจขาดองค์ความรู้และงบประมาณ ในเรื่องนี้คุณอาล์วินได้แนะนำว่า ให้ค่อยๆ ทำแผนการปรับใช้เทคโนโลยีไปทีละแผนก หยิบเอาเทคโนโลยีที่คุ้นเคยเข้ามาใช้ในการทำงานมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง อะไรที่ลองแล้วดีก็ทำต่อ ระหว่างทางก็ให้ผู้ที่รับผิดชอบตั้งข้อสมมติฐานขึ้น และทดสอบสมมติฐานไปเรื่อยๆ และแนะนำไม่ให้สร้างแผนการพัฒนาล่วงหน้าที่นานเกินไป 

คุณอาล์วิน ฝากคำแนะนำทิ้งท้ายถึง SMEs และผู้เกี่ยวข้องที่เข้ามาฟังว่า เขาอยากสนับสนุนให้เหล่า SMEs มีความคล่องตัวและพร้อมเรียนรู้อยู่เสมอ อย่าหยุดที่จะศึกษาการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ และทำให้แน่ใจว่าพฤติกรรมนี้จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์กรต่อไป ที่ผ่านมามีหลายบริษัทล้มเลิกแผนการใช้เทคโนโลยีกลางคันเพราะผลลัพธ์ไม่ได้เป็นอย่างที่คาดหวัง ซึ่งนั่นเป็นเพราะการไม่กำหนดเป้าหมายและแผนการที่ชัดเจนเท่าที่ควรเท่านั้น และแน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้ต้องเกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมในการเรียนรู้ที่เอื้ออำนวย ดังนั้น รัฐบาลควรเข้ามามีบทบาทสำคัญในการประสานงานระหว่างผู้ที่มีองค์ความรู้ มีความเข้าใจในด้านดิจิทัล ให้กลับมาช่วยเหลือชุมชน หรือเป็นที่ปรึกษาให้กับเหล่าผู้ประกอบการที่ต้องการองค์ความรู้


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เจาะลึก Semiconductor ทำไมทุกประเทศต้องแย่งชิง?

ในบทความนี้ Techsauce จะพาไปสำรวจ Semiconductor เทคโนโลยีที่อยู่ทุกที่ ตั้งแต่สมาร์ทโฟนถึง AI ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญหรือผลกระทบต่อโลกอย่างไร ไปทำความรู้จักกัน!...

Responsive image

อินเดียทะยานสู่ $25 ล้านล้าน กับเส้นทางเศรษฐกิจดิจิทัล ที่ขับเคลื่อนด้วย Digital Supercycle

การเดินทางของอินเดียในฐานะเศรษฐกิจเกิดใหม่ กำลังมุ่งหน้าไปยังเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิม จากเป้าหมายเศรษฐกิจมูลค่า 7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ สู่วิสัยทัศน์ที่ชัดเจนในการบรรลุ 25 ล้านล้า...

Responsive image

ควอมตัมคอมพิวติ้งกับการปฏิวัติการเงิน โอกาสทอง หรือหายนะ ? ส่องแนวคิดจาก HSBC, Visa และผู้เชี่ยวชาญ

เทคโนโลยีควอนตัม (Quantum Computing) ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป เพราะในตอนนี้ควอนคัมกำลังมีบทบาทสำคัญในทุกวงการแม้กระทั่งวงการเงินที่มีการพูดถึงเรื่องนี้ผ่านงาน Singapore Fintech F...