มาทำความรู้จักเทคโนโลยี AI ที่เข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ (Human by design) มากยิ่งขึ้น กับ 4 เทรนด์โลกยุคใหม่ จาก Accenture Technology Vision 2024 - Human by design ในงาน 'Unlock Human Potential with AI SCBX unlocking AI EP 7: Tech Trend 2024 - How AI unleashes the Next level of human Potential' ปลดล็อกศักยภาพมนุษย์ สร้างยุคทองแห่งความคิดสร้างสรรค์และผลผลิตที่ยิ่งใหญ่กว่าที่เคย ด้วยเทคโนโลยี AI ที่เข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ (Human by design) มากขึ้น และทำงานร่วมกับเราได้อย่างกลมกลืน
งานสัมมนา 'Unlock Human Potential with AI SCBX unlocking AI EP 7: Tech Trend 2024 - How AI unleashes the Next level of human Potential' จัดขึ้นในวันที่ 23 พฤษภาคม 2567 ณ SCBX NEXT TECH สยามพารากอน
เปิดรายงาน Accenture Technology Vision 2024 และประเด็นสุดจึ้งที่คนทำงานและผู้ประกอบการต้องรู้
คุณปฐมา จันทรักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ Accenture Thailand เกริ่นถึง Accenture ว่า เป็นองค์กรขนาดใหญ่ที่มีพนักงานทั่วโลกมากกว่า 750,000 คน ในเกือบ 100 ประเทศ ไม่ได้ให้คำปรึกษาเรื่องเทรนด์ แต่ทำงานกับ Technology Provider เพื่อศึกษาว่าเทรนด์เป็นอย่างไร และจะนำมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินธุรกิจอย่างไร โดยชี้เป้าความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นและอิมแพ็กจากความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี ดังนี้
เทรนด์เทคโนโลยีที่เติบโตแบบ Exponential (เปลี่ยนเร็วมาก) มีอยู่ 5 ด้าน ได้แก่ 1) PC - กำเนิดคอมพิวเตอร์ ทำให้ผู้บริโภคทั่วไปเข้าถึงและใช้งานได้ 2) Internet - ทำให้ผู้คนติดต่อสื่อสารกันได้ มีแพลตฟอร์มค้นหาข้อมูลได้ ขายสินค้าหรือบริการได้ > 3) Mobile - ทำให้การสื่อสารง่ายขึ้น จากที่มีการใช้งานโทรศัพท์เพียงคนละเครื่อง ปัจจุบันมีประชากรโลกจำนวนมากพกโทรศัพท์มากกว่า 1 เครื่อง > 4) Cloud - การเก็บข้อมูลในเซิฟเวอร์องค์กร เปลี่ยนไปเป็นการใช้คลาวด์ เพราะมีความยืดหยุ่น เข้าถึงได้ตลอด > 5) AI - เริ่มจากการใช้ AI ช่วยจดจำลายมือและจดจำคำพูด (Speech Recognition) ในปี 2016 ต่อมาเกิดพัฒนาการแบบก้าวกระโดด กลายเป็นโมเดล Generative AI ในปัจจุบัน
เทคโนโลยีเปลี่ยนเร็ว เรียนรู้ความเป็นมนุษย์ได้มากขึ้น เพราะ ‘เทคโนโลยีปรับตัวให้เข้ากับมนุษย์’ เร็วกว่า ‘มนุษย์เรียนรู้จากเทคโนโลยี’
AI เป็นเทคโนโลยีที่หลายบริษัทเร่งพัฒนาให้มีความสามารถใกล้เคียงกับมนุษย์มากที่สุด ซึ่งมีทั้งที่พัฒนาออกมาเพื่อใช้ในภาคธุรกิจ ใช้ในชีวิตประจำวัน คำถามสำคัญในตอนนี้ไม่ได้อยู่ที่ Machine จะมาแทนคนหรือเปล่า แต่อยู่ที่ ‘วันนี้ใครไม่ได้นำ AI มาใช้ โดยเฉพาะในภาคธุรกิจ…น่าเป็นห่วง’
สำหรับหลายคนที่มีคำถามว่า ‘ควรเลือกใช้ AI ของใคร’ เนื่องจากในแต่ละวันมี AI ที่ผ่านการพิสูจน์แนวคิด ทดสอบความเป็นไปได้ (POC : Proof of concept) จำนวนมาก ทาง Accenture เองก็ทำ POC ร่วมกับลูกค้าและพาร์ตเนอร์รวมแล้วมากกว่า 1,000 เคส จึงรู้ว่าเทคโนโลยีตัวไหนเวิร์ก เวิร์กกับอะไร มีจุดแข็งอย่างไร และจะใช้แบบผสมผสานกันได้อย่างไร
ตัวอย่างของการใช้ AI ที่น่าสนใจ 1) การใช้ Gen AI สอนคณิตศาสตร์ให้ลูกของ Khan ดูคลิป 2) การใช้ AI แทนดวงตา ด้วยการนำ Gen AI มาประยุกต์ใช้กับผู้พิการทางสายตาโดย Embedded โค้ดเข้าไปในมือถือ ดูคลิป
- Deepfake เป็นความน่ากลัวของการนำ AI มาใช้ เพราะสามารถโคลนนิงความเคลื่อนไหวต่างๆ ได้ใกล้เคียงตัวคนจริงๆ เช่น Fake CEO ที่ทำให้คนหลงเชื่อหรือถูกหลอกได้อย่างง่ายด้วย และในฐานะที่หลายคน หลายองค์กรนำ Gen AI มาใช้ ก็อยากผลักดันให้คนไทยใส่ใจเรื่อง การใช้ AI อย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible AI) ร่วมด้วย
เทคโนโลยีเปลี่ยนเร็วมากและใกล้ตัวเรามากขึ้น Accenture จึงจัดทำรายงาน Technology Vision 2024 ในธีม ‘Human by Design’ การดีไซน์เทคโนโลยี AI ที่เข้าถึงตัวบุคคล เพิ่มศักยภาพของคน โดยแบ่งได้เป็น 4 เทรนด์ที่จะเข้ามาทำให้การใช้ AI เป็นผู้ช่วยในชีวิตประจำวันทำได้อย่างผสมกลมกลืน ลดการใช้เวลาลง และก่อเกิดผลลัพธ์อย่างรวดเร็ว
คุณอภิชาต อรุณคุณารักษ์ Managing Director Technology Head - Thailand, Accenture มาอธิบายต่อถึง 4 เทรนด์ที่ออกแบบมาให้เทคโนโลยีทำได้แบบมนุษย์ ในรายงาน Technology Vision 2024 ดังนี้
เทรนด์ที่ 1 : A Match made in AI
การใช้แชตบอต AI สุดสร้างสรรค์ นำมาสู่การเปลี่ยนโฉมธุรกิจ เช่น การใช้ AI เป็นเพื่อน - เพื่อนแก้เหงา, การใช้ AI ช่วยทำโปรเจกต์, การสร้าง Scenario แล้วใช้ Gen AI ทดสอบความเป็นไปได้ของสิ่งต่างๆ ช่วยลดเวลาในการทำวิจัยหรือสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ได้
เทรนด์ที่ 2 : Meet my agent
ต่อไปเทคโนโลยี AI จะทำหน้าที่แทนเรา ทั้งช่วยคิด ช่วยตัดสินใจแทนเราได้ กล่าวคือ พัฒนาเป็น AGI (Artificial General Intelligence) ที่ทำได้มากกว่าหนึ่งเรื่อง (แต่ตอนนี้ยังอยู่ในช่วง Early Stage) ยกตัวอย่างในอเมริกาที่มีการพัฒนา AI มาทำเรื่อง ‘Do not pay’ คือ เป็น Agent ที่คอยตรวจเช็กว่า มีแพลตฟอร์มอะไรที่เราสมัครไว้บ้าง ถ้าอันไหนไม่ค่อยได้ใช้ก็จะเปลี่ยนแพ็กเกจให้หรือยกเลิก ช่วยให้เราจ่ายเงินน้อยลง หรือในอนาคต Agent ของแต่ละคนจะสามารถคุยกันเองได้ว่า สิ่งนี้ดีแล้ว ถูกต้องแล้ว เกิดเป็น 'ระบบนิเวศ AI Agent' ที่มี AI เป็นผู้ช่วยบริหารธุรกิจยุคใหม่
Source : Technology Vision 2024, Accenture
เทรนด์ที่ 3 : The Space we need
เทคโนโลยี 3D, Metaverse จะสามารถใช้งานได้ทุกคน จากปีก่อนๆ ที่ Metaverse เป็นกระแสแรงมาก แม้ตอนนี้จะเงียบลง แต่ Metaverse ไม่ได้เงียบหายไป และองค์กรก็ยังจะใช้อยู่เพราะรู้ว่าเทรนด์นี้จะมา องค์กรจึงต้องค้นหาแอปพลิเคชันที่ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อปลดล็อกศักยภาพสูงสุดของสื่อใหม่นี้ เช่น Spatial Computing (การใช้เทคโนโลยีโดยอ้างอิงจากพื้นที่จริง) หรือ การประมวลผลเชิงพื้นที่ ที่สร้างประสบการณ์ด้วยการสวมแว่น 3D พาคนเข้าสู่โลกความเป็นจริงเสมือน ซึ่งปัจจุบันมีการใช้งานหลากหลายรูปแบบ เช่นที่ Accenture ร่วมกับ LPGA สร้างแพลตฟอร์มให้นักกอลฟ์หญิงได้ฝึกซ้อมกอล์ฟในโลกเสมือน เพื่อช่วยลดแรงกดดันก่อนลงแข่งในสนามจริง
เทรนด์ที่ 4 : Our bodies electronics
อุปกรณ์ต่างๆ จะพัฒนาอีกมาก โดยเฉพาะอุปกรณ์ที่ใช้หรือสัมผัสร่างกาย (Human Interface) ที่เริ่มเข้าใจมนุษย์มากขึ้น และเน้นมนุษย์เป็นศูนย์กลางตัวอย่างที่มีให้เห็นแล้ว เช่น สร้อยบันทึกกิจกรรมที่เราทำ, แว่นเรย์แบนที่ฟังเพลงได้, อุปกรณ์วัดออกซิเจนว่าเครียดอยู่หรือไม่และช่วยผ่อนคลายให้แก่ผู้ป่วยซึมเศร้า หรือแอดวานซ์ไปถึงขั้นอุปกรณ์อ่านคลื่นสมองสุดล้ำ อย่าง OPEN BCI ที่เก็บข้อมูลคลื่นสมองแล้ว Gen ออกมาเป็นรูปและคำพูดได้ ซึ่งเมื่อนำไปใช้ในทางการแพทย์ ช่วยให้เด็กพูดได้ สื่อสารได้ นอกเหนือจากนี้อาจได้เห็นอุปกรณ์ที่ที่ใช้กับประสาทสัมผัสด้านการดมในอีก 1-2 ปีข้างหน้านี้
ปรับธุรกิจให้เข้ากับยุค AI โดยเข้าสู่ระบบนิเวศ AI Agent อนาคตที่คุณอาจไม่เคยรู้ จาก Panel : The Future of Business: Building a Foundation for the Al Agent Ecosystem
สำหรับหัวข้อ 'The Future of Business: Building a Foundation for the Al Agent Ecosystem หรือ กลยุทธ์การปรับธุรกิจให้เข้ากับยุค AI เตรียมธุรกิจของคุณให้พร้อมรับมืออนาคต' มีกูรูด้านเทคโนโลยีมาร่วมวงเสวนา ได้แก่ คุณอภิชาต อรุณคุณารักษ์ Managing Director Technology Head - Thailand, Accenture ดร.ศรัณย์ อาฮูยา Head of Analytics & Modeling, ABACUS Digital คุณอรนุช เลิศสุวรรณกิจ ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอ Techsauce โดยมี คุณสถาพร พัฒนะคูหา ซีอีโอ Guardian GPT เป็น Moderator
สำหรับประเด็นสำคัญที่ได้รับฟังจากกูรูแต่ละท่าน มีดังนี้
(จากซ้าย) คุณสถาพร พัฒนะคูหา, คุณอภิชาต อรุณคุณารักษ์, คุณอรนุช เลิศสุวรรณกิจ และ ดร.ศรัณย์ อาฮูยา
ดร.ศรัณย์ อาฮูยา
Head of Analytics & Modeling, ABACUS Digital
- AI เกิดจากการเรียนรู้ Data ต่างๆ Data จึงเป็นเหมือนสารอาหาร (Ingredient) สำคัญของ AI เมื่อพัฒนาเป็น Generative AI เช่น ChatGPT มีประโยชน์ตรงที่ทุกคนสามารถใช้งานแอปพลิเคชันได้ทันที แต่การใช้ AI อาจได้คำตอบที่ไม่ตรงไปตรงมาหรือมีอคติ (Bias) ได้ เพราะ Data มาจากการป้อนข้อมูลของมนุษย์ และมนุษย์ก็มี Bias ต่อหลายๆ อาจทำให้เกิดประเด็น (Issues) ตามมาจากใช้งาน AI ได้ จึงต้องใช้อย่างระมัดระวัง รวมถึงองค์กรที่ต้องระวังเรื่องการป้อนหรือเทรน Data ให้ AI ที่อาจมี Bias อยู่ในนั้น
- การใช้งาน AI ในองค์กรต้องมีฝ่าย Compliance ดูแลการใช้งาน AI ว่าทำได้ตามกฎหมายหรือไม่ รวมถึงต้องเข้าใจบริบทและการใช้งานต่างๆ ด้วย
- สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการใช้งาน Data Analyst หรือ Data Analyst Assistant คือ มันยังใช้งานได้ไม่ 100% เพราะฉะนั้น โมเดล AI ที่ใช้กันยังเป็นเพียง 'ตัวช่วย' ไม่ใช่ 'ผู้เชี่ยวชาญ' ไม่สามารถเชื่อถือได้ทันที และต้องมีคนรู้ว่า ผลลัพธ์หรือคำตอบ (Result) ที่ออกมา อะไรถูก อะไรผิด ผิดอย่างไร เพราะถ้าไม่รู้ว่าถูกหรือผิดแม้เพียง 5% ก็อาจทำให้เกิดปัญหาได้
- บริษัทตื่นตัวเรื่องใช้ AI มากขึ้น ถ้าจะพัฒนา AI เพื่อใช้ในองค์กร ต้องใส่ใจการจัดเก็บ Data ดีไซน์วิธีเก็บ Data ให้ดีตั้งแต่ต้น เพื่อนำไปสู่การสร้างผลลัพธ์ที่ถูกต้องแม่นยำ และองค์กรที่จะเตรียมหรือกำลังเตรียม Data มาใช้งาน ขอแยกเป็น 2 พาร์ต พาร์ตแรก ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อ คือ ทำสิ่งที่หลายองค์กรทำอยู่แล้วในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมาให้ได้มาตรฐาน เพื่อให้อินทิเกรตหรือนำ Data ไปใช้งานได้สะดวก ไม่ว่าจะเป็นการเก็บ Data, ความตื่นตัวในการใช้ข้อมูล, กลยุทธ์การแยกและใช้งาน Data, การใช้โซลูชันด้านความปลอดภัยที่เหมาะสม และ พาร์ตสอง ทำเพิ่ม เช่น สร้าง Use Cases ตามสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไป อย่างการอบรมพนักงานใหม่ เดิมใช้พรีเซนเทชันในการอบรม อาจเปลี่ยนมาให้ AI Agent เป็นผู้สอนแทน
- ถ้าดูความสามารถของ AI ในวันนี้ มีความเป็นไปได้มากที่ AI จะใช้อินเตอร์เฟสคุยกันเองและต่อยอดได้ในอนาคต อยากให้คนไทยใช้ AI หรือเทคโนโลยีต่างๆ โดยเข้าใจข้อจำกัดและใช้อย่างมีความรับผิดชอบ
คุณอภิชาต อรุณคุณารักษ์
Managing Director Technology Head - Thailand, Accenture
- Accenture สร้างและใช้ Gen AI โดยใส่ความรู้และข้อมูลของ Accenture เข้าไปเอง และมีองค์ความรู้ Data Sciences ของตัวเอง พนักงานจึงใช้ในการค้นหาข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลองค์กร, Implant เข้าไปเป็นผู้ช่วยในลักษณะของ Co-pilot ได้ เช่น อยากอ่านเคสที่มีในบริษัทก็ใส่ Prompt แล้วให้ AI ดึงเคสขึ้นมาให้อ่าน หรือสรุปให้ก็ทำได้ ส่วนงานลูกค้า บริษัทก็แยกเก็บและใช้องค์ความรู้หรือข้อมูลของลูกค้ารายนั้นๆ เพื่อให้ข้อมูลมีความปลอดภัย เป็นส่วนตัว และเชื่อถือได้ ตลอดจนป้องกันไม่ให้เกิด AI หลอน หรือ Hallucination
- การใช้เทคโนโลยีในองค์กรต้องทำเรื่อง Tech Investment คนที่ไม่สามารถเขียนโค้ดก็สามารถใช้งาน Gen AI ได้ทันที แต่ก็ต้องดูเคสที่ใช้ หรือ Context ของบริษัทด้วยว่าเป็นอย่างไร และโดยส่วนตัวใช้ AI เป็น Co-pilot ในการเขียนโค้ดได้เยอะมาก หรือถ้าใช้ AI ทำ Regulatory Technology (RegTech) ก็ต้องมั่นใจว่า ไม่ผิดข้อกฎหมาย และต้องมีบุคลากรในลูปที่เห็นผลลัพธ์จากการใช้ AI แล้วรู้ว่า อะไรผิดหรือถูก
- ถ้าจะใช้เทคโนโลยีในองค์กร แต่อยากให้เริ่มคิดว่า 'จะเริ่มใช้เพื่อทำอะไร' ไม่ใช่ไปโฟกัสที่วิธีการ โดยให้กลับไปดูว่า มี Use Cases ที่ทำ Gen AI ได้มากมาย แล้วตัวไหนที่ทำให้ได้ใช้ในองค์กร คนที่ไม่รู้ว่าจะใช้เทคโนโลยีอย่างไรจะได้เริ่มเห็นความสำคัญหรือเห็นความสำเร็จจากการใช้งานจริง
- AI ในปัจจุบันไม่สามารถทำงานด้วยตัวเองได้ ต้องให้มนุษย์ต้องป้อนข้อมูลเข้าไปมากๆ แล้วสอนให้มันเข้าใจ และที่สำคัญคือ 'มันไม่รับผิดชอบข้อมูล' การใช้ AI จึงต้องใช้ควบคู่กับดุลพินิจของมนุษย์ และการใช้เทคโนโลยีทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จได้เป็นเพราะ 'คน' ไม่ใช่การใช้เทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว จึงอยากเน้นย้ำเรื่องการใช้งาน AI อย่างมีความรับผิดชอบ ดังที่คุณปฐมากล่าวไว้ข้างต้น
- สำหรับการใช้งานในองค์กร บางองค์กรห้ามใช้ Gen AI เพราะกลัวว่าพนักงานนำข้อมูลลูกค้าหรือข้อมูลของบริษัทไปใช้ใน Gen AI เช่น ChatGPT แล้วสิ่งที่คุยหรือถามอาจหลุดไปหาคนอื่นได้ อย่างไรก็ตาม AI เป็นเครื่องมือช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้มาก คำแนะนำคือ ให้คนในองค์กรปรึกษากันว่า ถ้าใช้ AI จะใช้แบบไหน แล้วออกแบบการใช้โดยออกแบบให้พนักงานใช้งานได้ง่าย ใส่ใจที่ Human by Design จะช่วยเพิ่มศักยภาพของพนักงานและผลิตภาพได้
- การใช้ AI ในองค์กรเป็น Journey ที่ต้องมีการพัฒนา มีการต่อยอด มีการเปลี่ยนหรือทำกระบวนการต่างๆ ขึ้นมา ไม่สามารถทำแล้วจบได้ ต้องทำต่อเนื่อง แต่หากอยากสร้างนวัตกรรม มี 3 มิติให้มอง คือ 1) การทำให้ผลิตภัณฑ์เกิดขึ้นจริง (Feasibility) 2) การทำความเข้าใจลูกค้า และ 3) มีโมเดลธุรกิจที่ทำให้อยู่ได้ในระยะยาว
คุณอรนุช เลิศสุวรรณกิจ
ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอ Techsauce
- ถ้าให้มอง Use Case ที่น่าสนใจสำหรับคนไทย ประทับใจของ SCB เพราะเป็นการทำเพื่อสร้างน่านน้ำใหม่ โดยมี SCBX ที่ทำให้เกิดเทคโนโลยีมากมาย หนึ่งในนั้นต้องขอชื่นชม Robinhood แอปเพื่อคนตัวเล็กที่ช่วยร้านอาหารในช่วงโควิด สร้างประโยชน์ทั้งในฝั่งผู้ซื้อหรือผู้บริโภค ผู้ขาย และไรเดอร์ โดยแอปนี้มี AI เป็นส่วนสำคัญมากในการออกแบบบริการให้ตรงใจลูกค้า
- ด้านการใช้ AI สร้างผลิตภัณฑ์ AI ช่วยได้ตั้งแต่งานดีไซน์ สร้างโค้ด หรือทุกงานที่มีหน้าที่ (Task) ของมันอยู่ และในอนาคต มีมุมมองว่า 'ระบบนิเวศ AI' จะทำให้ AI ทำงานข้าม Task ได้ มนุษย์จึงต้องใช้งาน AI ให้เป็น โดยกำหนดจุดที่เราคาดหวัง ร่วมกับสิ่งที่ตลาดต้องการ ก่อนสร้างผลิตภัณฑ์
- เท่าที่สังเกตเรื่องคนกับการพัฒนาทักษะการใช้ AI พบว่าแบ่งคนได้เป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรก กลุ่มที่ AI ทำงานทดแทนได้ เป็นกลุ่มที่มีความกังวล ไม่กล้าที่จะเรียนรู้ เราจึงต้องชี้ให้เห็นความสำคัญของการ Upskill, Reskill ก่อน เขาจะได้รู้สึกว่า ไม่ตกขบวน กลุ่มสอง เป็น User ที่ไม่ค่อยรู้วิธีใช้เครื่องมือ แต่ถ้าเรียนรู้ก็ใช้งานได้ และ กลุ่มสาม คนที่สามารถใช้เทคโนโลยีขั้นแอดวานซ์ หรือเป็น Talent ของบริษัท ที่สามารถหาน่านน้ำใหม่ ครีเอทีฟสิ่งใหม่ หรือค้นหาสิ่งใหม่ๆ จากการนำ AI มาใช้งานได้ แต่อย่างไรก็ตาม องค์กรต้องทำให้บุคลากรมีมายด์เซ็ตที่เหมาะสมกับพื้นฐาน (Based on) ของกลุ่มที่มีความแตกต่างกันก่อน
- ด้านการใช้เทคโนโลยีช่วยทรานสฟอร์มธุรกิจ บางธุรกิจต้องการหาธุรกิจใหม่ (New S-Curve) ก็ต้องพิจารณาดูว่า บริษัทให้ความสำคัญด้านไหนก่อน แล้วค่อยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยลดค่าใช้จ่าย หรือเซ็ตบริบทการใช้เครื่องมือให้ไปกับวิสัยทัศน์ (Vision) ที่อยากจะแก้ปัญหาหรือสร้างความเปลี่ยนแปลงได้
- ในฐานะที่คลุกคลีอยู่กับเรื่องเทคโนโลยี เห็นการใช้งานของคนรุ่นใหม่ ไม่ห่วงเรื่องการใช้งานมากนัก แต่ห่วงเรื่อง 'Privacy & Security' จึงอยากให้ผู้ใช้งานตื่นตัว ตื่นรู้ ก่อนนำข้อมูลหรือเทคโนโลยีใดๆ ไปใช้