จากที่เมื่อก่อนเรามักมองหาแฟชั่นทันสมัยจากเกาหลีหรือญี่ปุ่น แต่ตอนนี้เวียดนามเริ่มก้าวเข้ามาครองใจสายแฟชั่นบ้านเราได้อย่างน่าสนใจ ทั้งในกลุ่มผู้หญิงและผู้ชาย ที่ต่างเริ่มมองหาเสื้อผ้าเวียดนามกันมากขึ้น
และถ้ามองไปที่อุตสาหกรรมแฟชั่นเวียดนาม มันไม่ได้มาแค่กระแส เพราะนี่คืออุตสาหกรรมที่กำลังโตแบบติดจรวด ในปี 2020 ตลาดค้าปลีกแฟชั่นเวียดนามมีมูลค่าสูงถึง 5.34 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราวๆ 1.8 แสนล้านบาท เติบโตเป็น 2 เท่า ภายใน 5 ปี (2015-2020) สินค้าหลักในตลาดยังเป็น เสื้อผ้า (54%) และ รองเท้า (33%) ซึ่งเป็นที่ต้องการของทั้งในและนอกประเทศ
ล่าสุดมีข่าวใหญ่สะเทือนวงการ เมื่อรัฐบาลเวียดนามเตรียม "บล็อก" แอปพลิเคชันและโดเมนช้อปปิ้งออนไลน์ของจีนอย่าง Shein และ Temu ถ้าทั้งสองไม่จดทะเบียนอย่างถูกต้องกับกระทรวงการค้าให้เสร็จสิ้นก่อนสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้
ไม่แน่ว่า…นี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการทวงคืน “อุตสาหกรรมแฟชั่น” ให้แก่ SME ในประเทศก็เป็นได้
ทำไมการขยับตัวครั้งนี้ถึงใช้คำว่า ‘ทวงคืน’
คำว่า “ทวงคืน” ฟังดูไม่เกินจริงเลย เพราะหากย้อนกลับไปปี 2020 ตลาดแฟชั่นเวียดนามยังถูกครองโดย สินค้าที่ไม่มีแบรนด์ เช่น สินค้านำเข้าจากจีน หรือสินค้าผลิตในประเทศแต่ไม่มีชื่อแบรนด์ ซึ่งกินส่วนแบ่งถึง 76% ในขณะที่สินค้ามีแบรนด์ เช่น Zara, H&M หรือแบรนด์ท้องถิ่นอย่าง Viet Tien มีส่วนแบ่งแค่ ไม่ถึง 30%
แต่ไม่ใช่ว่าเวียดนามจะหยุดอยู่ตรงนั้น เพราะใน 2-3 ปีที่ผ่านมา วงการแฟชั่นเวียดนามเริ่มฉายแสงในระดับโลก นักออกแบบชื่อดังอย่าง Duy Tran จากแบรนด์ Fancì Club ได้มีโอกาสสร้างสรรค์เสื้อผ้าให้คนดังระดับโลก เช่น Bella Hadid, Dua Lipa และ BLACKPINK จนกลายเป็นที่ฮือฮาในวงการ
มูลค่าตลาดก็สะท้อนชัดเจน ในปี 2021 ตลาดแฟชั่นเวียดนามเติบโตเฉลี่ย 8% ต่อปี และแบรนด์ใหม่ๆ ของเวียดนามก็เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง Viet Tien และ Yody แบรนด์ท้องถิ่นของเวียดนามติดอันดับ Top 10 แบรนด์แฟชั่นชั้นนำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ปี 2024
ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นถึงความพร้อมของเวียดนามในการก้าวข้ามบทบาทจาก "แหล่งผลิต" สู่การเป็น "ผู้นำเทรนด์" และการเติบโตของอีคอมเมิร์ซได้เข้ามามีบทบาทอย่างมากในตลาดแฟชั่นของเวียดนามในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
ตลาดอีคอมเมิร์ซของเวียดนามเติบโตขึ้น 18% ในปีนี้ โดยมีมูลค่ารวม 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ กลายเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากอินโดนีเซียและไทย แพลตฟอร์มยอดนิยมอย่าง Shopee และ Lazada ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของไลฟ์สไตล์ผู้บริโภค โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่และผู้ที่อาศัยในเมืองใหญ่ ที่หันมาเลือกซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น
แต่ในขณะเดียวกัน สินค้าราคาถูกที่หลั่งไหลเข้ามาผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซก็กลายเป็นอุปสรรคสำคัญที่บั่นทอนการเติบโตของธุรกิจท้องถิ่น การที่แบรนด์ท้องถิ่นต้องแข่งขันกับสินค้าราคาถูกจาก Shein และ Temu ได้สร้างแรงกดดันมหาศาลต่อ SMEs ในอุตสาหกรรมแฟชั่นเวียดนาม สินค้าจาก2 แพลตฟอร์มนี้มักมีราคาถูกกว่ามาก เนื่องจาก:
สินค้าราคาถูกเหล่านี้ยังเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายผ่านช่องทางออนไลน์ พร้อมการจัดส่งที่รวดเร็ว ซึ่งดึงดูดผู้บริโภคโดยเฉพาะกลุ่มที่ให้ความสำคัญกับราคาเหนือคุณภาพ นี่เป็นปัญหาใหญ่สำหรับแบรนด์ท้องถิ่นที่ต้องพึ่งพาแหล่งผลิตในประเทศซึ่งมีต้นทุนสูงกว่า และยังต้องแบกรับภาระภาษีและค่าดำเนินการตามกฎหมาย
นี่ยังไม่รวมถึงปัญหาภาพลักษณ์ของตลาดแฟชั่นที่อาจถูกครอบงำด้วยสินค้า Fast Fashion คุณภาพต่ำ ซึ่งขัดต่อแนวโน้มการบริโภคที่ยั่งยืน
กฎหมายเวียดนามปัจจุบันอนุญาตให้นำเข้าสินค้ามูลค่าไม่เกิน 1 ล้านดง หรือประมาณ 1,300 บาท โดยไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ซึ่งปัจจุบันถือเป็นประโยชน์ต่อสินค้าที่นำเข้าผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เช่น Shein และ Temu
ซึ่งรัฐบาลเวียดนามกำลังพิจารณายกเลิกการยกเว้นดังกล่าว เพื่อให้สินค้าที่นำเข้าต้องเสียภาษีเท่าเทียมกัน และลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจภายในประเทศ เพื่อช่วยให้ SME ท้องถิ่นมีโอกาสแข่งขันได้อย่างเป็นธรรม และสนับสนุนให้ธุรกิจแฟชั่นเวียดนามก้าวขึ้นมาเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน
เวียดนามเปิดรับการลงทุนจากต่างชาติอย่างจริงจังตั้งแต่ปี 1986 โดยออกกฎหมายส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศฉบับแรกในปี 1987 นับแต่นั้นมา กฎหมายนี้ได้รับการปรับปรุงแก้ไขหลายครั้งเพื่อดึงดูดนักลงทุน หน่วยงานหลักที่ดูแลคือ Foreign Investment Agency หรือกรมการลงทุนต่างประเทศ ภายใต้กระทรวงวางแผนและการลงทุน (MPI) โดยฉบับปัจจุบันคือปี 2022
รัฐบาลเวียดนามให้ความสำคัญกับการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุน ดังนั้นรัฐบาลเวียดนามจึงมีนโยบายรับประกันแก่นักลงทุนต่างชาติหลายประการ เช่น ไม่ยึดทรัพย์สิน, ปกป้องสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา, ปกป้องผลประโยชน์หากมีการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย, รับประกันการโอนเงินกำไรและเงินลงทุนกลับประเทศ, มีระบบไกล่เกลี่ยข้อพิพาท, และอนุญาตให้ลงทุนได้นานถึง 50 ปี และต่ออายุได้ถึง 70 ปี
รูปแบบการลงทุนที่ต่างชาติสามารถทำได้มีหลากหลายเพื่อให้เหมาะสมกับธุรกิจได้แก่
ในส่วนของภาษีเงินได้นิติบุคคล ปัจจุบันอยู่ที่ 28% เท่ากันทั้งบริษัทท้องถิ่นและต่างชาติ แต่มีสิทธิประโยชน์สำหรับกิจการที่ได้รับส่งเสริมพิเศษ โดยเสียภาษีในอัตรา 10-20% เป็นเวลา 10-15 ปี และมีการยกเว้นและลดหย่อนเพิ่มเติม
นโยบายทั้งหมดที่กล่าวมาส่งผลให้มีการลงทุนจากต่างชาติมากขึ้นแต่สร้างผลกระทบหลายด้านต่อธุรกิจรายย่อยในประเทศ ทำให้รัฐบาลเวียดนามเดินหน้าควบคุมธุรกิจอีคอมเมิร์ซจากจีน โดยสั่งให้ Temu และ Shein จดทะเบียนบริษัทในเวียดนามภายในสิ้นเดือนพฤศจิกายน หากไม่ปฏิบัติตามจะถูกบล็อกไม่ให้เข้าถึงผู้บริโภคในประเทศ
สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามของรัฐบาลในการรักษาสมดุลระหว่างการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ตามนโยบายที่มุ่งเน้นการคุ้มครองธุรกิจในประเทศ ส่งเสริมการลงทุนอย่างเป็นธรรม และสร้างความโปร่งใสในตลาด ในขณะเดียวกันก็ต้องรับมือกับความท้าทายจากการแข่งขันที่รุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากแพลตฟอร์มต่างชาติที่ใช้กลยุทธ์การลดราคาสินค้า รัฐบาลแสดงความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อธุรกิจท้องถิ่น
นอกจากนี้ รัฐบาลเวียดนามกำลังปรับปรุงกฎหมายการลงทุนใหม่ โดยจะรวมกฎหมายการลงทุนในประเทศและต่างประเทศเข้าด้วยกัน เพิ่มรูปแบบการลงทุน และยกเลิกเงื่อนไขการถือหุ้นของชาวต่างชาติ รวมถึงกิจการบางประเภทที่รัฐบาลเวียดนามห้ามหรือมีเงื่อนไขในการลงทุนของต่างชาติ เช่น โทรคมนาคม สื่อ การขนส่ง และทรัพยากรธรรมชาติ เป็นต้น เพื่อที่จะปกป้องภาคธุรกิจขนาดย่อยของประเทศให้ยังคงมีที่ยืนในตลาดได้
อ้างอิง: dreamincubator, reuters, hochiminh.thaiembassy, asia.nikkei, apparelresources
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด