จับตายักษ์ใหญ่ไทยร่วมศึกชิงใบอนุญาต Virtual Bank ใครจับมือใครบ้าง ? | Techsauce

จับตายักษ์ใหญ่ไทยร่วมศึกชิงใบอนุญาต Virtual Bank ใครจับมือใครบ้าง ?

‘ธนาคาไร้สาขา’ (Virtual Bank) เริ่มเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น หลังจากกระทรวงการคลังได้ประกาศหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอใบอนุญาต รวมถึงการออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา ส่งผลให้ภาคเอกชนเริ่มขยับตัว และผนึกกำลังกับพาร์ทเนอร์รายใหญ่ทั้งภาคธนาคาร ฟินเทค และกลุ่ม Non-bank เพื่อตบเท้าเข้าสู่ศึก Virtual Bank กันอย่างจริงจัง

Techsauce สรุปความเคลื่อนไหวของธนาคารไร้สาขาในประเทศไทยมาให้แล้ว

CP x True Money x Ant Group

CP มีความสนใจที่จะยื่นขอใบอนุญาตเช่นเดียวกัน โดยจะยื่นผ่านบริษัทลูกอย่าง ทรู มันนี่ รวมทั้งบริษัทเองมีพาร์ทเนอร์หลักสำคัญอย่าง Ant Group หรือชื่อเดิม Ant Financial Services ซึ่งปัจจุบันเป็นพาร์ทเนอร์ และผู้ถือหุ้นใน บริษัทแอสเซนด์ มันนี่ (Ascend Money Group) บริษัทฟินเทคของกลุ่มซีพี ภายใต้บริการ ทรู มันนี่

การเข้ามาของ ทรู มันนี่ ในวงการธนาคารไร้สาขาถือว่าน่าสนใจ เพราะมีความเชี่ยวชาญด้านฟินเทคเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว มีฐานผู้ใช้ในประเทศไทยกว่า 27 ล้านราย รวมทั้งการยื่นขอใบอนุญาตเปิดกิจการไร้สาขาก็ตรงกับเป้าหมายใหญ่ของบริษัทที่กำลังมองหาความเป็นไปได้ในการผันตัวเป็น Virtual Bank รวมถึงเป้าหมายที่ต้องการให้คนไทย ‘ครึ่งประเทศ’ ได้ใช้แพลตฟอร์ม 

SCBX x KakaoBank x บิ๊กเทคจีน

ก่อนหน้านี้ SCBX ได้ประกาศลงนามความร่วมมือกับ KakaoBank ผู้นำด้านธนาคารดิจิทัลรายใหญ่ของเกาหลีใต้ เพื่อเตรียมพร้อมขยับตัวเข้าสู่ Virtual Bank มีจุดเด่นด้านการนำเทคโนโลยีล้ำสมัยปรับใช้เพื่อยกระดับประสบการณ์การใช้งาน เช่น Chatbot และ AI เป็นต้น

ล่าสุดเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา SCBX  ได้ประกาศจับมือกับ WeBank จากจีนเพิ่มอีก 1 ราย ซึ่งเป็นธนาคารดิจิทัลชั้นนำระดับโลกที่มีความเชี่ยวชาญ และมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่ง โดยในตอนนี้มีการเซ็นสัญญากันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ในปัจจุบันธนาคารไทยพาณิชย์มีการปรับลดต้นทุนของธนาคารลงมาแล้วกว่า 10,000 ล้านบาท เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นต่อการแข่งขัน และการเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งการแข่งขันในการจัดตั้ง Virtual Bank ครั้งนี้น่าจะเป็นอีกหนึ่งการเปลี่ยนแปลงสำคัญของธนาคารในอนาคต โดยการแข่งขันด้านการจัดตั้ง Virtual Bank อย่างคึกคักในไทย ทาง SCBX มองว่า เป็นเรื่องดี เพราะจะช่วยให้คนที่มีรายได้น้อยเข้าถึงธนาคารได้มากขึ้น 

แม้ว่าในตอนนี้จะมีธนาคาร และ Non-bank ที่ทำสินเชื่อนาโน ไมโคร เพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเหล่านี้แล้ว แต่ทาง SCBX เชื่อว่าการทำ Virtual Bank จะต้องใช้ความสามารถด้านเทคโนโลยี รวมถึงความสามารถด้านบริหารความเสี่ยง โดยนำ Data และ AI เข้ามาประยุกต์ใช้งาน

GULF x OR x AIS x KTB

อีกหนึ่งผู้เล่นในตลาดนี้ที่น่าสนใจคือ บมจ. กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ หรือ GULF ที่ออกมาเปิดเผยว่า กำลังเตรียมความในการยื่นขอใบอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทยด้านการจัดตั้ง Virtual Bank โดยจะร่วมมือกับ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ AIS และธนาคารกรุงไทย (KTB) นอกจากนี้ ยังมีพันธมิตรอีกหนึ่งรายอย่าง บมจ.ปตท. น้ำมัน และการค้าปลีก (OR) ที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาเงื่อนไขการร่วมลงทุนด้วย

หลักเกณฑ์การทำธุรกิจ Virtual Bank ถือว่าตอบโจทย์ 4 ยักษ์ใหญ่รายนี้เป็นอย่างดี โดย OR มีฐานสมาชิกลูกค้า blueplus+ กว่า 8 ล้านราย ขณะที่ AIS มีฐานลูกค้ามือถือ และอินเทอร์เน็ตบ้านรวมกว่า 50 ล้านราย ส่วนทางด้านธนาคารกรุงไทย มีความเชี่ยวชาญด้านระบบการเงิน มีฐานลูกค้าเงินฝาก และมีฐานสมาชิกของ ‘เป๋าตัง’ และ ‘ถุงเงิน’ รวมกว่า 1.8 ล้านราย ขณะที่ GULF เองก็มีแผนขยายธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลอยู่แล้ว

JMART x KB Financial Group

JMART ให้ความสนใจ และพัฒนาเรื่อง Virtual Bank มาอย่างต่อเนื่อง โดยตอนนี้วางเป้าให้บริษัทลูกอย่าง J Ventures เป็นผู้ขับเคลื่อนเทคโนโลยีดังกล่าวสู่ผู้บริโภค โดยมีพันธมิตรที่สำคัญคือ KB Financial Group กลุ่มธุรกิจการเงินชั้นนำในประเทศเกาหลีใต้ 

นอกจากนี้ JMART ยังมีความเชี่ยวชาญในเรื่องของสินเชื่อที่ออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์ Unserved Segment หรือกลุ่มลูกค้าที่ยังเข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน ในต้นทุนและราคาที่เหมาะสม 

อย่างไรก็ดี ดูเหมือนว่าพาร์ทเนอร์รายเดียวอาจจะยังไม่เพียงพอต่อศึกชิงใบอนุญาตครั้งนี้ เพราะล่าสุดมีรายงานออกมาว่า JMART กำลังมองพาหันธมิตรด้านการเงินทุนหนาทั้งด้านการเงิน และไม่ใช่การเงิน เนื่องจาก JMART ยังขาดทุนในเรื่องเงินอยู่

ทำไมยักษ์ใหญ่ต้องจับมือตั้ง Virtual Bank ?

สาเหตุที่ทำให้เกิดการจับมือร่วมกันระหว่างยักษ์ใหญ่ในไทย ก็เนื่องมาจากหลักเกณฑ์การจัดตั้ง Virtual Bank ที่ผู้ยื่นขอจัดตั้งจำเป็นจะต้องมีคุณสมบัติที่สำคัญทั้งหมด 3 ประการ ได้แก่

  • จะต้องมีการจัดตั้งสำนักงานใหญ่ในประเทศไทย
  • จะต้องมีทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาทในระยะแรก
  • จะต้องมีทุนจดทะเบียนภายใน 5 ปี ไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาท

อ่านข้อมูลหลักเกณฑ์การจัดตั้ง Virtual Bank ในประเทศไทยได้ที่นี่ 

คาดว่าเร็วๆ นี้บริษัทยักษ์ใหญ่ในไทยจะขยับตัวเข้ามาในสมรภูมินี้กันมากขึ้นอย่างแน่นอน เนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทยได้เปิดโอกาสให้ยื่นขอคำอนุญาตจัดตั้ง ได้ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2567 รวมถึง 19 กันยายน 2567 โดยคาดว่าผู้ใช้ในประเทศไทยจะได้เห็นธนาคารไร้สาขาเปิดให้บริการอย่างเร็วได้ในช่วงปี 2568-2569 ที่กำลังจะถึงนี้

แต่ก็น่าติดตามต่อว่าการที่มีแต่ผู้เล่นใหญ่ๆ เข้ามาแย่งชิงไลเซนในครั้งนี้ จะเป็นการปิดโอกาสสำหรับธุรกิจขนาดเล็ก รวมถึงฟินเทคหรือไม่ ?

อ้างอิง : ธปท., Reuters, Bloomberg

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ทำไมคนสหรัฐฯ เดือดร้อนกับการแบน TikTok ? 3 เหตุผลที่ TikTok สำคัญกับชาวสหรัฐฯ มากกว่าที่คิด

เจาะลึก 3 เหตุผลที่การแบน TikTok อาจส่งผลกระทบต่อชาวอเมริกันมากกว่าที่คิด ทั้งด้านเศรษฐกิจ อาชีพ และการเชื่อมโยงในยุคดิจิทัล...

Responsive image

รู้จัก Physical AI เอไอยุคใหม่ที่ Jensen Huang กล่าวถึงคืออะไร ? มีประโยชน์อย่างไร ?

หนึ่งในไฮไลต์สำคัญของงาน CES 2025 คือการที่ Jensen Huang ซีอีโอของ NVIDIA ได้มีการพูดถึงยุคต่อไปของ AI นั่นก็คือ ‘Physical AI’ ซึ่งนับเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญยิ่งที่ AI กำลังจะเข...

Responsive image

4 เทรนด์เทคโนโลยีสุดล้ำที่อาจเปลี่ยนโลกจาก CES 2025

สำรวจเทรนด์เทคโนโลยีล่าสุดจาก CES 2025 ตั้งแต่ AI อัจฉริยะ ยานยนต์ล้ำสมัย ไปจนถึงการพัฒนาชิปกราฟิกและเทคโนโลยีหน้าจอแห่งอนาคตที่เปลี่ยนโฉมการใช้ชีวิตประจำวัน!...