จะดีแค่ไหน ถ้าตรวจเลือดแล้วรู้ถึงความผิดปกติในร่างกายภายใน 3 นาที ด้วยอุปกรณ์พกพาที่ชื่อ ‘WELSE’ | Techsauce

จะดีแค่ไหน ถ้าตรวจเลือดแล้วรู้ถึงความผิดปกติในร่างกายภายใน 3 นาที ด้วยอุปกรณ์พกพาที่ชื่อ ‘WELSE’

Pain Point เกี่ยวกับการเข้าถึงการตรวจโรคยังพบได้มากในประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล เด็กวิศวะกลุ่มหนึ่งจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จึงคิดค้นอุปกรณ์พกพาเพื่อตรวจโรคเบื้องต้นที่ชื่อ ‘WELSE’ และกำลังจะนำไอเดียกับ Prototype นี้ไปเป็นตัวแทนของภูมิภาค แข่งขันในรอบชิงชนะเลิศที่สหรัฐอเมริกา ชิงถ้วยรางวัล Image Cup จากเวทีระดับโลก

ความน่าสนใจของ ‘WELSE’ คือ เป็นสตาร์ทอัพผู้คิดค้นอุปกรณ์ IoT แบบพกพาที่ช่วยสร้างการทดสอบเชิงคลินิก (Clinical Test) ของเลือด โดยเริ่มจากตรวจวัดระดับเอนไซม์ในเลือด เพื่อหาค่าความผิดปกติของไต ตับ และส่งผลไปยังแอปพลิเคชันเพื่อการวิเคราะห์ต่อไปสู่มือแพทย์ผ่านทาง IoT Platform ขึ้นสู่ระบบคลาวด์ (Microsoft Azure Cloud) และเทคโนโลยี Big Data จาก G-ABLE โดยชื่อของ WELSE นั้น ผ่านการประกวดจากหลายเวทีทั้งในไทย ในต่างประเทศ และได้เป็นทีมผู้ชนะ Imagine Cup Thailand 2017

ซึ่งการที่ไอเดียนี้ได้รับการสนับสนุนจากหลายฝ่ายเพื่อทำให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์จริง ทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ กลุ่มบริษัท G-ABLE และเอสซีจี เคมิคอล จึงร่วมกันประกาศความร่วมมือและแผนสนับสนุนตามความเชี่ยวชาญของแต่ละองค์กร

WELSE จะเกิดและเติบโตเป็น Social Enterprise

รศ.ดร.ธีรณี อจลากุล ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและภาคีความร่วมมือ, ผู้อำนวยการ Big Data Experience, ผู้อำนวยการศูนย์ Hatch มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวเปิดประเด็นว่า ทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีต้องการให้นักศึกษามีความคิดแบบผู้ประกอบการ จึงสร้าง Hatch โครงการบ่มเพาะสตาร์ทอัพขึ้น เพื่อให้คำปรึกษา ให้ความช่วยเหลือด้าน Seed Funding ซึ่งที่ผ่านมา โครงการนี้สามารถ Spin off สตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จแล้ว 2-3 บริษัท

“เด็กๆ รวมตัวจากคณะวิศวะคอม เขาคุยกันว่าเขาสนใจ Healthcare สนใจ Big Data ก็เลยไปคุยกับอาจารย์ทัศนีย์วรรณ ฟอร์มทีมและพัฒนา แล้วเริ่มประกวดจากเวทีของไมโครซอฟท์ ซึ่งทางมหาวิทยาลัยร่วมกับโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ทำเป็นโครงการ Collaboration กับแพทย์และวิศวะ ขณะที่ G-ABLE ช่วยดูแลด้านแพลตฟอร์ม”

ดร.ศิษฏพงศ์ เศรษฐภัทร Data and Analytics Manager กลุ่มบริษัทจีเอเบิล (G-ABLE) เปิดเผยว่า รู้จักกับทีมนักศึกษาที่ทำ WELSE ตั้งแต่น้องๆ เข้าไปฝึกงานใน G-ABLE ในปีที่ผ่านมา และเห็นความตั้งใจจริงของทีมจึงร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการให้คำปรึกษามาตลอด ขณะเดียวกัน บริษัทก็กำลังต่อยอดด้านการเป็นผู้นำการให้บริการไอทีโซลูชันครบวงจรเพื่อช่วยปฏิรูปธุรกิจไทยสู่ยุคดิจิทัล (Digital Transformation) และเคยร่วมบ่มเพาะสตาร์ทอัพที่เป็นผู้ชนะ Imagine Cup Thailand ปี 2014 ชื่อ ‘Ask DOM’ แอปพลิเคชันประมวลภาษาไทยและอังกฤษเพื่อดึงข้อมูลออกมาจากข้อความที่เราต้องการ ให้เกิดเป็นบริษัทสตาร์ทอัพภายใต้ชื่อ ‘InsightEra’ การสนับสนุน ‘WELSE’ ทีมผู้ชนะ Imagine Cup Thailand 2017 จึงเป็นเรื่องที่สอดคล้องกับทิศทางของบริษัทและสามารถทำได้ทันที

พสธร สุวรรณศรี จากทีม WELSE เล่าเกี่ยวกับที่มาของผลิตภัณฑ์ WELSE ว่า ทีมอยากพัฒนาการตรวจรักษาในพื้นที่ชนบท เนื่องจากบุคลากรทางการแพทย์ไม่เพียงพอต่อความต้องการ ผู้ป่วย ผู้สูงอายุต้องใช้เวลาเดินทางนานเมื่อต้องไปโรงพยาบาล กอปรกับการที่ห้องแล็บก็ต้องใช้เวลาวิเคราะห์ผลนาน จึงคิดค้น WELSE อุปกรณ์พกพาที่ใช้เวลาตรวจโรคเบื้องต้นได้ภายใน 3 นาที โดยแสดงผลผ่านฟีเจอร์ Personalized Dashboard และถ้าพบความผิดปกติก็สามารถส่ง Notification ให้ผู้ป่วยแบบเรียลไทม์ และส่ง Data ให้หมอตามโรงพยาบาลต่อได้

“การจัดการเบื้องต้นเป็นเรื่องสำคัญ อุปกรณ์นี้จะช่วยลดจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตได้ โดยตัวอุปกรณ์ราคาประมาณ 2,500 บาท ซึ่งเราทำระบบเชื่อมเข้ากับโรงพยาบาล ทำโมเดลแบบ Service Base และจากที่การตรวจเอนไซม์มีต้นทุนประมาณครั้งละ 150 บาท แต่เราทำได้ที่ 30 บาท จะช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ถึง 5 เท่า”

ภาสกร จันทรมหา สมาชิกทีม WELSE กล่าวเสริมว่า “ที่ผมสังเกตเห็นสตาร์ทอัพรายอื่นๆ ทำมักจะเป็นแพลตฟอร์ม เป็นเว็บไซต์ เช่น เก็บรวบรวมข้อมูลอย่างเดียว หรือติดต่อหมอได้ง่ายขึ้น แต่ในเชิงดีไวซ์ยังมีคนทำน้อย เพราะมันยากที่จะทำให้สำเร็จและนำไปใช้งานจริง คือถ้าเป็นซอฟต์แวร์จะปล่อยให้ใช้ได้เลย แต่ถ้าเป็นฮาร์ดแวร์ก็ต้องวิจัยเก็บข้อมูล พัฒนาเยอะ ทำหลายกระบวนการก็นานกว่า แต่เราก็มองว่าจะได้ ROI (Return of Investment) มากกว่าและเกิดประโยชน์มากกว่า”

สำหรับกลุ่มเป้าหมาย ทีม WELSE ตั้งเป้าให้ผลิตออกมาเป็นสินค้าเพื่อจัดจำหน่ายได้จริงในปี 2018 และจะเริ่มใช้กับพื้นที่ต่ามต่างจังหวัด กรุงเทพฯ แล้วจึงขยายตลาดไปในระดับสากล โดยในขณะนี้อยู่ระหว่างลงพื้นที่เพื่อนำอุปกรณ์ไปทดสอบกับผู้ป่วยตามต่างจังหวัด นำทีมโดย ดร.ทัศนีย์วรรณ ลักษณะโสภิณ อาจารย์ประจำหลักสูตรวิศวกรรมชีวภาพ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ผู้ให้คำปรึกษาแก่นักศึกษาทีม WELSE ซึ่งต่อมาได้เป็น Co-founder ของทีม และบอกว่าสิ่งที่กำลังทำจะเป็น Social Enterprise หรือกิจการเพื่อสังคม

“ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงกับผู้สูงอายุที่ไม่มีลูกหลานพาไปโรงพยาบาล หมดสิทธิ์ที่จะเข้าถึงการตรวจรักษา จึงเห็นชัดเจนว่าสิ่งที่เราทำจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างแท้จริง ซึ่งตอนนี้การตรวจโรคไต Validate แล้ว ส่วนการตรวจโรคอื่นๆ กำลังพัฒนาเพิ่มเติม ซึ่งสามารถเพิ่มได้ลดได้ แล้วก็ทำให้เป็น Panel ที่เหมาะสมกับแต่ละสเตจ และพัฒนาตามความต้องการของผู้ใช้งาน คือตัวแพลตฟอร์มทุกอย่างเหมือนเดิม ไม่ต้องเสียเงินใหม่ มีชิปอย่างเดียวที่เปลี่ยนก็สามารถขยายตัวได้ ทำให้เราสตรองกว่าคู่แข่ง”

วรินทร วิโรจนกูฎ Business Analyst / Design Catalyst, บริษัท เอสซีจี เพอร์ฟอร์มานซ์ เคมิคอลล์ จำกัด กล่าวถึง WELSE ว่า เป็นอุปกรณ์ดิจิทัลที่มีทั้งแพลตฟอร์มและฮาร์ดแวร์ ซึ่งสองสิ่งนี้ต้องทำงานร่วมกัน ในฐานะที่เอสซีจีเป็นบริษัทขนาดใหญ่และต้องการสนับสนุนให้นำสินค้าเข้าสู่ตลาดได้ และเห็นพื้นฐานของทีมว่ามีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ที่ดี ทีมเอสซีจีจึงร่วมออกแบบและพัฒนาขึ้น รวมถึงการประเมินด้านการผลิตอุปกรณ์เพื่อให้ออกสู่ตลาดได้จริง

ซึ่งในวันที่ 22 กรกฎาคมนี้ ทีม WELSE จะเป็นตัวแทนของภูมิภาคไปแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศที่ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเยาวชนมากความสามารถจากทั่วโลกรวม 54 ทีม จะมาร่วมแข่งขันเพื่อชิงถ้วย Imagine Cup และเงินรางวัลมูลค่า 100,000 ดอลลาร์ หรือประมาณ 3,440,000 บาท

ดร.ศิษฏพงศ์ จาก G-ABLE กล่าวปิดท้ายเกี่ยวกับการสนับสนุนทีม WELSE ว่า

“สิ่งที่เราให้ความร่วมมือกับทีมคือ เทคนิคัลกับซอฟต์แวร์ เราพร้อมให้คำปรึกษา 100% ซึ่งในแง่ของธุรกิจ ต้องใช้เวลา ไม่เหมือน Disruptive Technology ที่เป็นไอที 100% โดย G-ABLE ได้สนับสนุนเงินทุนและให้คำแนะนำจากทีมวิจัยและพัฒนา เพื่อต่อยอดโครงการนี้ให้กลายเป็นบริษัทสตาร์ทอัพ และไม่ว่าผลการแข่งขันจะเป็นอย่างไร G-ABLE ยังคงเดินหน้าตอกย้ำการทำตามพันธกิจที่จะนำเทคโนโลยีมาช่วยให้ผู้คนมีชีวิตที่ดีขึ้น และพัฒนาบ่มเพาะ สนับสนุนในด้านต่างๆ ซึ่งโปรเจกต์นี้คือความหวังที่จะนำเทคโนโลยีมาช่วยเหลือด้านสังคมและพัฒนาการแพทย์ต่อไป”

รู้เพิ่มเกี่ยวกับ WELSE, Imagine Cup Thailand และ G-ABLE

WELSE อุปกรณ์ตรวจวัดระดับเอนไซม์ในเลือด เพื่อหาค่าความผิดปกติของตับ

จากปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรทางการแพทย์ในชนบทและเพื่อพัฒนาการบริการสาธารณสุขเบื้องต้นให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นควบคู่ไปกับการตอบสนองต่อภาวะสังคมผู้สูงอายุ  ทางทีมนักศึกษาจาก มจธ.จึงสร้างอุปกรณ์ที่ทำการย่อส่วนห้องแล็บจริงมาอยู่ในขนาดพกพา (Lab on a chip) ที่ทำงานควบคู่กับแผ่นพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง (สนับสนุนโดย SCG Chemical) ซึ่งนำของเหลวในร่างกายมาผสมกับสารเคมี ให้สามารถตวงวัดความผิดปกติของร่างกายในเบื้องต้นได้ ณ จุดดูแลผู้ป่วย (Point of care)

โดยตัวอุปกรณ์จะทำงานร่วมกับแพลตฟอร์มที่ช่วยให้ผู้เกี่ยวข้องทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น (Azure) ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่สามารถตรวจผลเลือด เพื่อวัดระดับค่าตับไตแบบ Early Detection จากเดิมเวลาคนไปตรวจเลือดเพื่อตรวจหาโรคต้องเดินทางไปโรงพยาบาลและต้นทุนในการตรวจปกติต่อการเจาะเลือดหนึ่งครั้งตกอยู่ที่ 150 บาทต่อ 1 Sample แต่ Device ของ WELSE นี้จะช่วยย่อขนาดของเครื่องตรวจเลือดเหลือเป็นเครื่องเล็กๆ ที่สามาถเข้าถึงในระดับชุมชนและชนบทที่ห่างไกลได้ และต้นทุนลดลงเหลือ 30 บาทต่อ  1 Sample และ 1 Sample สามารถวัดค่าได้ 3 ระดับเอนไซม์ในเลือด 3 ชนิด คือ AST, ALT และ GGT

โครงการ Imagine Cup Thailand

เป็นโครงการภายใต้การจัดการของบริษัท Microsoft  ซึ่งเปิดโอกาสให้นักศึกษานำเสนอไอเดียด้านนวัตกรรมต่อผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมไอทีและพัฒนาทักษะในการดำเนินธุรกิจด้วยการนำผลิตภัณฑ์ของพวกเขาสู่ตลาดได้สำเร็จ ซึ่งเป็นหนึ่งในการส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพไทยที่มีอยู่ประมาณ 2,000 รายในปัจจุบันให้เติบโตมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีศักยภาพที่สุดในการเริ่มต้นธุรกิจสตาร์ทอัพ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 4 เทียบเท่ากับประเทศเวียดนามในแง่ของการลงทุน อย่างไรก็ตาม ธุรกิจสตาร์ทอัพในประเทศไทยเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2558 ได้มีการลงทุนจากกองทุน หรือ Venture Capital เป็นจำนวนเงินประมาณ 32 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1.1 พันล้านบาท สูงขึ้นถึง 170% จากปี 2557 และคาดว่าในปี 2560 นี้ ธุรกิจสตาร์ทอัพในประเทศไทยจะเติบโตยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นผลจากนโยบายการส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพของรัฐบาล

เกี่ยวกับ G-ABLE

G-ABLE คือบริษัทผู้พัฒนา, ติดตั้งจนถึงให้บริการด้านระบบ IT และ Digital ในไทย ซึ่งเป็นพันธมิตรกับบริษัทชั้นนำระดับโลกในด้าน Modern Digital Solutions, Enterprise Business Solutions และ IT Infrastructure Solutions โดยมีกลุ่มลูกค้าซึ่งเป็นองค์กรชั้นนำในภาคเอกชนและรัฐบาล ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.g-ble.com

บทความนี้เป็น Advertorial

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เจาะเบื้องหลังดีล Zipevent และ Link Station Group สู่การขยายธุรกิจอีเวนต์ในภูมิภาค SEA

การเข้าซื้อกิจการระหว่าง Zipevent แพลตฟอร์มจัดการอีเวนต์และจำหน่ายบัตรออนไลน์ในประเทศไทย กับ Link Station Group บริษัทญี่ปุ่นผู้เชี่ยวชาญด้านระบบจำหน่ายบัตร (Ticketing System) ถือเ...

Responsive image

KBank x Orbix Technology x StraitsX สาธิตการชำระเงินข้ามพรมแดนด้วยบล็อกเชนที่ SG FinTech Festival 2024

ธนาคารกสิกรไทยร่วมกับ Orbix Technology และ StraitsX เปิดตัวนวัตกรรมชำระเงินข้ามพรมแดนด้วย e-Money on Blockchain ในงาน Singapore FinTech Festival 2024 ชูศักยภาพฟินเทคไทยบนเวทีโลก...

Responsive image

‘Yindee’ แชตบอตในแอป ttb Touch ใช้ Gen AI จับความรู้สึก ตอบเร็วและฉลาดกว่าที่เคย

Yindee แชตบอตที่อยู่บน Mobile Banking ของ ttb ทำงานผ่านแอป ttb Touch สามารถจับ Mood & Tone ของลูกค้าหรือผู้ใช้บริการ ว่าขณะแชตนั้น ลูกค้าอยู่ในอารมณ์ไหน ด้วย Generative AI โดย Azur...