สิ่งสำคัญที่ชี้เป็นชี้ตายว่า “ยูนิคอร์น” จะรุ่งหรือจะร่วง | Techsauce

สิ่งสำคัญที่ชี้เป็นชี้ตายว่า “ยูนิคอร์น” จะรุ่งหรือจะร่วง

 

เหล่ายูนิคอร์นสตาร์ทอัพหลายบริษัทใน Silicon Valley ที่เคยมีมูลค่าพันล้าน ขณะนี้ต่างเผชิญกับสภาวะวิกฤต โดยหลังจากที่บริษัทได้จดทะเบียนเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ ส่วนแบ่งทางการตลาดของยูนิคอร์นเหล่านั้นดิ่งลงอย่างน่าตกใจ ตัวอย่างบริษัทที่ราคาหุ้นร่วงหนักหลังจากเป็นบริษัทมหาชน ได้แก่ Square, Fitbit และ Box ซึ่งกลายเป็นประเด็นร้อนใน Silicon Valley ช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา

getty_unicorn

ความรุ่งโรจน์และร่วงโรยของยูนิคอร์นเหล่านี้ อาจเป็นเพราะว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาบริษัทที่จะเป็นยูนิคอร์นได้มีไม่มากนัก เพราะการที่จะมีบริษัทสักแห่งที่มีมูลค่าถึง 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ถือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยาก จึงได้เกิดเป็นสมญานามที่เรียกกันว่า “ยูนิคอร์น” ซึ่งแตกต่างจากปัจจุบัน เพราะบริษัทจำกัดที่มีมูลค่าถึง 1 พันล้านเหรียญฯ นั้นมีมากกว่า 130 บริษัท

เมื่อเหล่ายูนิคอร์นต่างเผชิญกับสภาวะที่ยากลำบากหลังเปิดขายหุ้นให้กับสาธารณะ คุณอาจจะคิดได้ว่าบางทีบริษัทเหล่านี้อาจจะถูกประเมินมูลค่าสูงเกินไปตั้งแต่แรก ซึ่งนั่นก็เป็นปัญหาหนึ่ง แต่จริงๆ แล้วมีปัญหาที่ใหญ่และร้ายแรงกว่าอยู่

ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดที่นำความตายมาสู่เหล่ายูนิคอร์น คือความล้มเหลวในการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัญหานี้ถูกนำเสนอโดยบทความที่เขียนโดย  Vijay Govindarajan, Tarunya Govindarajan และ Adam Stepinski ใน Havard Business Review ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาไม่มีความสามารถที่จะสร้างนวัตกรรมใหม่ได้ แต่เนื่องจากการขยายตัวของบริษัทหลังจากเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ ทำให้การรักษาวัฒนธรรมแบบเดิมที่เคยส่งเสริมให้เกิดการคิดนวัตกรรมใหม่ๆ กลับทำได้ยากขึ้น ในขณะเดียวกันพวกเขาเองก็เข้าสู่วงจรของการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม การนำผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เข้าไปขายในตลาดใดก็ตามเปรียบเสมือนดาบสองคมเสมอ เพราะถ้าผลิตภัณฑ์ของคุณสามารถเข้าไปสร้างความปั่นป่วนให้กับตลาดเดิมได้มาก เท่ากับว่าคุณได้เปลี่ยนรูปแบบการแข่งขันในตลาดนั้นโดยสิ้นเชิง ซึ่งจะมีอีกหลายบริษัทที่รับรู้ถึงเรื่องนี้และจะเริ่มเรียนรู้ ทดลอง และไล่ตามความสำเร็จของคุณได้โดยใช้เวลาไม่นาน

ความล้มเหลวในการสร้างนวัตกรรมใหม่คือเส้นทางสู่หายนะ

สตาร์ทอัพนั้นได้เปรียบบริษัทเก่าแก่ที่ยังจมอยู่กับระบบบริหารที่เต็มไปด้วยพิธีรีตองอันเชื่องช้าและขนาดของบริษัทที่ไม่คล่องตัว ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้สตาร์ทอัพขนาดเล็กที่ชื่อไม่คุ้นหู กลายเป็นบริษัทมูลค่าพันล้านในชั่วข้ามคืนเพราะบริษัทเหล่านั้นสามารถเหลาไอเดียได้เเหลมคมและมีศักยภาพเพียบพร้อมในการสร้างผลิตภัณฑ์หรือบริการที่เป็นนวัตกรรมได้

จังหวะที่ได้รับทุนอย่างไม่ทันตั้งตัวนั่นเอง ความอันตรายก็เริ่มคืบคลานเข้ามา เพราะการที่เราเป็นผู้สร้างนวัตกรรมสำเร็จได้ครั้งหนึ่งแล้ว ก็ใช่ว่าเราจะทำเช่นนั้นไปได้ตลอด

ระยะที่เข้าสู่การแข่งขันจะเริ่มขึ้นหลังจากได้เป็นบริษัทมหาชนแล้ว ซึ่งเท่ากับว่าบริษัทได้ผ่านพ้นช่วงเวลาอันยุ่งเหยิงมาแล้วเรียบร้อย เหล่ายูนิคอร์นที่ปราศจากนวัตกรรมใหม่ๆ ต่างเผชิญกับชะตากรรมที่แย่ไม่เเพ้เดิม แม้การปรับปรุงผลิตภัณฑ์จะสามารถทำให้บริษัทกลายเป็นมหาชนได้ แต่พวกเขาก็ยังต้องสร้างความหลากหลายในการให้บริการ เพื่อที่จะคงไว้ซึ่งการเป็นผู้นำในตลาด

ความคล่องเเคล่วนั้นคือสิ่งที่จะทำให้สตาร์ทอัพประสบความสำเร็จ เพราะทีมงานจะสามารถผลิตนวัตกรรมใหม่ๆ ได้ไวและขยายได้อย่างรวดเร็ว จงจำไว้เสมอว่า ตลาดเองก็มีความรวดเร็ว มีวิวัฒนาการอยู่ตลอดเวลาเช่นกัน และยังมีการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ  เหล่ายูนิคอร์นที่คิดว่าสร้างผลิตภัณฑ์สุดล้ำมาแล้ว อาจจะกลายเป็นเพียงแค่เรื่องเล่าที่ตกยุคโดยทันทีหลังจากที่เปิดขายหุ้นให้กับสาธารณะ

Havard Business Review ชี้ว่าเรื่องราวของ Dropbox ก็ถือเป็นอุทธาหรณ์ เพราะแม้ว่า Dropbox จะยังเป็นบริษัทจำกัด แต่ก็ต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรง โดย Dropbox ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2007 ในขณะนั้นระบบการเก็บข้อมูลแบบ Cloud เป็นไอเดียที่ใหม่มาก บริษัทเติบโตอย่างร้อนแรงด้วยยอดผู้ใช้กว่า 500 ล้านคนและมีมูลค่าบริษัทสูงถึงหมื่นล้าน  Business Insider แจ้งว่ากองทุน T.Rowe Price ได้ทำการเข้าถือหุ้นถึง 51% ใน Dropbox  ซึ่งกองทุนดังกล่าวเข้าซื้อหุ้นในราคา 19.10 เหรียญต่อหุ้นเมื่อปี 2014  แต่ในขณะนี้ราคาหุ้น Dropbox เหลือเพียง 9.40 เหรียญเท่านั้น

Dropbox เคยเติบโตได้อย่างก้าวกระโดดและเป็นส่วนหนึ่งในเหล่ายูนิคอร์น แต่เพราะอะไรมูลค่าถึงลดลงได้ขนาดนั้น คำตอบก็คือ เป็นเพราะการแข่งขันจากเหล่าผู้เล่นอื่นที่บุกเข้ามาในตลาดที่ Dropbox สร้างขึ้นมาด้วยตนเอง เห็นได้ชัดจากการที่ในปัจจุบันเราสามารถเก็บไฟล์และเอกสารต่างๆในระบบ Cloud ได้ โดยใช้ระบบของ Apple, Microsoft, Google หรือ Amazon

Dropbox ต้องเผชิญกับการแข่งขันที่โหดร้ายยิ่งกว่า เพราะบริษัทอื่นได้สร้างการใช้ระบบ cloud ผ่านมือถือซึ่งไม่เคยมีมาก่อนเมื่อครั้งที่ Dropbox เข้าสู่ตลาด

“ก็ถ้าสมาร์ทโฟนสามารถใช้ระบบ cloud ที่ติดมากับเครื่องได้ ทำไมถึงต้องเสียเวลาและเงินไปใช้ของคนอื่นล่ะ Dropbox ควรจะทำงานให้หนักในการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ถ้ายังอยากจะแข่งขันกับคู่แข่งรายใหญ่รายอื่นได้อยู่” ส่วนหนึ่งจากบทความใน Harvard Business Review

จากกรณีศึกษาที่ผ่านมา คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ อย่างสม่ำเสมอ คือหนึ่งในสิ่งสำคัญที่ทำให้สตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นสามารถดำเนินต่อไปได้จริง ประกอบกับการระมัดระวังเรื่องการแข่งขันของตลาดที่สูงขึ้น และการพยายามรักษาวัฒนธรรมของบริษัทให้เอื้อต่อการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ เพราะนี่ก็คือจุดแข็งที่ทำให้ธุรกิจสตาร์ทอัพสามารถมีมูลค่าสูงขึ้นได้เหมือนหลายๆ บริษัทในอดีตที่ผ่านมานั่นเอง

ที่มา: Inc.com

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

‘Yindee’ แชตบอตในแอป ttb Touch ใช้ Gen AI จับความรู้สึก ตอบเร็วและฉลาดกว่าที่เคย

Yindee แชตบอตที่อยู่บน Mobile Banking ของ ttb ทำงานผ่านแอป ttb Touch สามารถจับ Mood & Tone ของลูกค้าหรือผู้ใช้บริการ ว่าขณะแชตนั้น ลูกค้าอยู่ในอารมณ์ไหน ด้วย Generative AI โดย Azur...

Responsive image

คนอยากใช้พลังงานเยอะ แต่โลกอยากได้ปล่อยคาร์บอนน้อย บริษัทพลังงานแก้ไขความย้อนแย้งนี้อย่างไรดีในยุค AI

The Energy/Prosperity Paradox หรือภาวะย้อนแย้งแห่งพลังงาน และความเจริญ ถือเป็นความท้าทายระดับโลกที่บริษัทด้านพลังงานกำลังพบเจอ เพราะในตอนนี้โลกกำลังต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นอย่างไม่เ...

Responsive image

เศรษฐกิจไทย ‘ฟื้นตัว’ แล้วหรือยัง ? ฟังความเห็นจาก 3 ผู้นำธุรกิจยักษ์ใหญ่ไทย

ค้นพบศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงไทย จีน สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม และกัมพูชา พร้อมโอกาสการลงทุนที่น่าสนใจในภาคอุตสาหกรรม การเงิน และเทคโนโลยี...