ในอนาคตคนทั้งโลกอาจต้องกินเนื้อสัตว์จากห้องทดลอง เพราะจะไม่มีเนื้อสัตว์จริงๆ ที่ส่งตรงจากฟาร์มให้กินอีกแล้ว ! ตอนนี้โลกของเรามีสิ่งที่เรียกว่า Cultivated meat หรือเนื้อสัตว์ที่ผลิตออกมาจากห้องแล็บ ที่ไม่ใช่ Plant-based หรือเนื้อสังเคราะห์ แต่เป็นเนื้อสัตว์จริง ๆ ที่เหมือนกันยันระดับเซลล์ !
Cultivated Meat คือ เนื้อสัตว์ที่ได้มาจากกระบวนการเลียนแบบการสร้างเซลล์และเนื้อเยื่อ โดยนักวิจัยจะใช้สิ่งที่เรียกว่า “สเต็มเซลล์” ซึ่งมีอยู่ในทุก ๆ เนื้อเยื่อหรือกล้ามเนื้อของสัตว์มาเพาะเลี้ยง
เริ่มจากการเอาสเต็มเซลล์จากกล้ามเนื้อหรือเนื้อเยื่อของสัตว์มาและนำไปเพาะเลี้ยงต่อใน Bioreactor (อุปกรณ์คล้ายโหลวิทยาศาสตร์) ใช้สร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะแก่การตื่นตัวทางชีวภาพ ทำงานโดยอาศัยการให้อาหารและควบคุมสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของสเต็มเซลล์
โดยสเต็มเซลล์สามารถเติบโตและแบ่งเซลล์ได้มากกว่า 1 ล้านล้านเซลล์ ซึ่งเซลล์เหล่านี้จะเพิ่มปริมาณขึ้นเพื่อพัฒนาต่อเป็นกล้ามเนื้อและไขมัน จนออกมาเป็นเนื้อสัตว์ที่มีสัดส่วนของเนื้อและไขมันเหมือนกับที่ได้มาจากสัตว์จริง ๆ กระบวนการนี้ใช้เวลาประมาณ 2-8 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับชนิดของเนื้อสัตว์
อาจเรียกได้ว่า มนุษย์สามารถเพาะปลูกเนื้อสัตว์ได้เหมือนกับการปลูกต้นไม้แล้ว เพราะการใช้สเต็มเซลล์ก็คล้ายการใช้เมล็ดพันธุ์ ฝังลงโหล Bioreactor แทนการฝังลงดิน และคอยดูแลปรับสภาพแวดล้อมภายในโหลและให้อาหารเพื่อให้สเต็มเซลล์เติบโตจนกลายเป็นเนื้อสัตว์ชิ้น ๆ ที่เรากินกัน ซึ่งไม่ต่างจากการเฝ้ารดน้ำพรวนดินเพื่อรอผลผลิตจากต้นไม้เลยสักนิด
การทำเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงไม่ได้เพิ่งมีในไม่กี่ปีนี้ แต่มีมาเป็น 10 ปีแล้ว เพราะในปี 2013 Mark Post นักวิจัยชาวเนเธอแลนด์จากมหาวิทยาลัยมาสทริชท์ และยังเป็นผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Mosa Meat (โมซามีท) ซึ่งเป็นบริษัทแรก ๆ ที่ผลิตเนื้อสัตว์จากการเพาะเลี้ยง
เขาได้เปิดตัวเนื้อเบอร์เกอร์ที่ได้มาจากการเพาะเลี้ยงชิ้นแรกของโลก แม้ว่าจะมีกระบวนการที่ยุ่งยากกว่าการเลี้ยงสัตว์ แล้วนำไปโรงเชือด แต่ Post ก็เลือกที่จะวิจัยการเพาะเลี้ยงเนื้อสัตว์นี้ จนหลายคนตั้งคำถามว่า อะไรคือแรงบันดาลใจแรกที่ทำให้เกิด Cultivated meat ชิ้นแรกของโลก ?
จากคำถามที่ว่า เนื้อสัตว์ที่เราเห็นวางขายตามตลาดหรือ Supermarket เราเคยตั้งคำถามไหมว่า มันมาจากไหน ต้องอาศัยการขยายพันธุ์สัตว์มากมายแค่ไหนเพื่อเลี้ยงคนทั้งโลก
Post รู้ว่าเนื้อสัตว์ที่วางขายในปัจจุบันล้วนมาจากการทำปศุสัตว์ทั้งนั้น และพบว่าการเลี้ยงสัตว์จำนวนมากขนาดนี้ ไม่ดีต่อสิ่งแวดล้อม เพราะการปล่อยของเสียจากสัตว์จะปล่อยก๊าซพิษที่เรียกว่า มีเทน ออกสู่อากาศไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกอันดับที่ 2 รองจากคาร์บอนไดออกไซด์ที่ทำให้โลกร้อนได้มากที่สุด
จากสำรวจพบว่าอุตสาหกรรมปศุสัตว์ทั่วโลกปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 57% แล้วเราจะแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ยังไง ถ้าคนยังต้องกิน แต่ทำปศุสัตว์แบบเดิมต่อไปก็ไม่ดีต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว
นอกจากปัจจัยหลักด้านบนแล้ว นักวิชาการบางส่วนก็คาดการณ์ว่าในปี 2050 ซึ่งเป็นปีที่ทั้งโลกตั้งเป้าจะ Net Zero จะมีประชากรโลกเพิ่มมากขึ้นถึง 9.6 พันล้านคน และเมื่อประชากรเพิ่มขึ้นอาหารก็ต้องเพิ่มขึ้นด้วย แต่ถ้าต้องทำปศุสัตว์มากขึ้นในปีนั้น คงเป็นเรื่องยากมาก ๆ เพราะ climate change รุนแรงขึ้นทุกปี พื้นที่ใช้สอยน้อยลงจากการขยายตัวของเมือง รวมถึงน้ำสะอาดก็จะมีให้ใช้น้อยลงไปด้วย
Mark Post จึงมองว่าการปลูกถ่ายเนื้อสัตว์ได้อาจเป็นทางออกให้กับโลก ซึ่งเขาเริ่มทำวิจัยตั้งแต่ 2011 และพบว่าการเพาะเลี้ยงเนื้อสัตว์ใช้พื้นที่และน้ำน้อยกว่าการทำปศุสัตว์มาก แต่สามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้มากถึง 96%
หลายคนคงสงสัยเนื้อสัตว์ที่ผลิตจากแล็บจะรสชาติเป็นยังไง ซึ่งได้มีการทดสอบแบบ Blind Tasting มีผู้เข้าร่วมการทดสอบเป็น Michal Ansky นักชิมอาหารชื่อดังและเป็นผู้ตัดสินในรายการมาสเตอร์เชฟ โดยเชฟจะทำอาหารจากอกไก่ 2 ชนิด คือ อกไก่จากแล็บและจากฟาร์ม
อาหารทั้งสองจานถูกติดป้าย A และ B โดยที่ Michal Ansky จะไม่รู้ว่าจานไหนคืออกไก่ชนิดใด หลังจากชิมแล้ว นักชิมมืออาชีพคนนี้ก็ปักธงว่าจาน A คือไก่จริง ๆ ซึ่งมันทำให้เธอแปลกใจมากเมื่อเฉลยว่าจาน A คือเนื้อไก่ที่มาจากห้องแล็บ
Michal Ansky เผยว่า ทั้ง 2 จานมีรสชาติที่ไม่แตกต่างกันมากและยังมีรสสัมผัสที่ค่อนข้างแห้ง แต่จาน A จะมีกลิ่นและรสชาติไก่ที่เข้มข้นกว่า จากการทดสอบในครั้งนี้ทำให้รู้ได้คร่าว ๆ ว่าเนื้อสัตว์ทั้ง 2 ชนิดแทบจะไม่มีความแตกต่างกันเลยด้วยซ้ำ
การเพาะเลี้ยงเซลล์ให้กลายเป็นเนื้อสัตว์อาจจะดูน่ากลัว แต่องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA) ประกาศว่าเนื้อสัตว์ที่เพาะเลี้ยงในห้องแล็บ ปลอดภัยสำหรับคน เนื่องจากไม่มีความแตกต่างจากเนื้อสัตว์ทั่วไปในระดับเซลล์
ซึ่งมีหลายประเทศอนุญาตให้สามารถซื้อขายเนื้อสัตว์ประเภทนี้ได้ โดยมีสิงคโปร์เป็นประเทศแรกที่อนุญาตให้ขายเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยง และประเทศอื่น ๆ อีก 10 กว่าประเทศที่สนับสนุนตั้งแต่การให้ทุน เช่น อิสราเอล, อเมริกา, สหภาพยุโรป, เนเธอร์แลนด์, นอร์เวย์, สหราชอาณาจักร, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, ญี่ปุ่น และจีน
แม้หลายประเทศในอเมริกา ยุโรป และเอเชียจะสนับเนื้อสัตว์ประเภทนี้ แต่ในยุโรปก็มีประเทศอิตาลีมือหนึ่งด้านอาหารจากฝั่งยุโรปคัดค้านและแบนการซื้อขายเนื้อสัตว์ประเภทนี้
การแบน Cultivated meat ของอิตาลี เนื่องมาจากต้องการปกป้องอาหารอิตาลีซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่พวกเขาภูมิใจ การใช้เนื้อสัตว์ที่ไม่ได้เติบโตตามธรรมชาติจึงไม่ตรงตามมาตารฐานคุณภาพอาหารอิตาลี นอกจากนี้ Giorgia Meloni นายกรัฐมนตรีของอิตาลียังเชื่อว่าเนื้อสัตว์ที่ได้จากแล็บจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพประชาชน (แต่มี อย.นะ ?)
Post ให้คำตอบไว้เมื่อปี 2013 ว่ามันยังคงต้องพัฒนาต่อไปอาจใช้เวลาประมาณ 10-20 ปีกว่าที่จะออกขายสู่ตลาด โดยปัจจัยหลักคือ ต้นทุนสูง เนื้อที่เขาเพาะเลี้ยงชิ้นแรกของโลกมีขนาดแค่ 141 กรัม แต่ใช้เงินมาถึง 11,422,775 ล้านบาท ($325,000)
นี่ก็ผ่านมาแล้ว 10 ปี และหลังจากที่ FDA ประกาศว่าเนื้อสัตว์ที่เพาะเลี้ยงในห้องแล็บกินได้และปล่อยภัย สามารถซื้อขายได้ ทำให้มีนักลงทุนมากมายเริ่มให้ความสนใจในธุรกิจนี้ แต่สิ่งที่นักลงทุนรายใหญ่ยังกังวลก็ยังคงเป็นเรื่องต้นทุนที่มีราคาสูง
Leticia Goncalves ประธาน ADM อุตสาหกรรมอาหารหลักของโลกและเป็นนักลงทุนในบริษัทที่ผลิตเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงอย่าง Good Meat และ Believer Meats เผยว่า บริษัทจำเป็นต้องลดต้นทุน หากต้องการที่จะแข่งขันกับเนื้อสัตว์ทั่วไปที่ได้จากการทำปศุสัตว์ เพราะในปัจจุบันถึงจะมีหลายบริษัทที่สามารถผลิตได้แต่ราคาของเนื้อสัตว์จากแล็บก็ยังแพงกว่าอยู่ดี
แม้ว่าตั้งแต่ปี 2013 ราคาของเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงลดลงทุกปี และจากการสำรวจราคาเนื้อสัตว์ในปี 2021 โดยสำรวจราคาอกไก่ พบว่าอกไก่ที่ได้จากแล็บจะอยู่ที่ 59.87 บาท/100 กรัม แต่ราคาอกไก่ที่ได้จากปศุสัตว์จะอยู่ที่ 33.81 บาท/100 กรัม
ถึงราคาจะขยับเข้ามาใกล้กันมากขึ้น แต่การที่ราคายังแพงกว่าก็ทำให้คนไม่ซื้อไก่จากแล็บกิน เพื่อให้สามารถแข่งขันด้านราคาได้ Leticia Goncalves จึงแนะนำว่า เนื้อสัตว์จากแล็บจะต้องมีต้นทุนในการผลิตต่ำกว่า 22.54 บาท/100 กรัม
ตั้งแต่ปี 2022 เนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงก็แพร่หลายมากขึ้น และมีต้นทุนที่ถูกลงจนมีบริษัทที่ผลิตเนื้อเหล่านี้เกิดขึ้นใหม่มากมาย จากรายงานของ Good Food Institute ในปี 2022 มีบริษัทเหล่าที่ผลิตเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงประมาณ 156 แห่งทั่วโลก
มีการลงทุนมูลค่า 2.8 พันล้านดอลลาร์ในบริษัทที่ผลิต Cultivated meat อยู่ตลอดเวลา แค่การลงทุนในปี 2022 เพียงปีเดียวก็มีมูลค่าสูงถึง 896 ล้านดอลลาร์ ซึ่งกลุ่มลูกค้าที่ช่วยให้ธุรกิจเหล่านี้เติบโตจะเป็นคนในช่วง Gen Z และ Millennials
สำรวจพบว่า Gen Z กว่า 88% และคนรุ่น Millennials เปิดใจและเต็มใจที่จะบริโภค Cultivated meat และผู้คนกว่า 87.2% บอกว่าพวกเขายอมจ่ายเงินเพื่อซื้อเนื้อสัตว์จากแล็บแทนเนื้อสัตว์จากฟาร์มได้ เมื่อได้รู้ถึงข้อดีและประโยชน์ที่มีต่อโลก
อ้างอิง: labiotech, theverge, greenqueen, sentientmedia, gfi.org
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด