บทความนี้ Techsauce จะพาไปรู้จัก Edge AI อีกหนึ่งนวัตกรรมที่จะพลิกโฉมอุตสาหกรรมและชีวิตมนุษย์ให้ไม่เหมือนเดิม
ก่อนจะรู้จัก Edge AI เราต้องรู้จัก Edge Computing กันก่อน
Edge Computing หรือการประมวลผลแบบ Edge เป็นกระบวนการที่ทำให้ความสามารถในการเก็บและประมวลผลข้อมูลอยู่ใกล้กับแหล่งกำเนิดหรืออุปกรณ์ที่สร้างข้อมูลมากที่สุด
หากเปรียบเทียบกับการประมวลผลแบบคลาวด์ (Cloud Computing) ทรัพยากรข้อมูลและบริการทั้งหมดจะถูกเก็บรวมไว้ที่ศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่ ข้อมูลจะต้องถูกส่งผ่านไปยังศูนย์ข้อมูล เพื่อวิเคราะห์และส่งกลับมายังอุปกรณ์
แทนที่จะส่งข้อมูลไปเก็บและวิเคราะห์ที่คลาวด์ ซึ่งใช้เวลานาน Edge Computing จะทำให้อุปกรณ์ต่างๆ สามารถเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลได้เองแบบเรียลไทม์ ลดเวลาประมวลผลข้อมูล และทำให้อุปกรณ์ตอบสนองได้อย่างรวดเร็ว
ตัวอย่างการใช้งาน Edge ในชีวิตประจำวันของเราก็เช่น สมาร์ทวอช รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ หุ่นยนต์อัตโนมัติ และเทคโนโลยี IoT ต่างๆ เป็นต้น ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้สามารถเก็บและประมวลผลข้อมูลได้ในตัว
ยกตัวอย่างอุปกรณ์ Edge ในชีวิตประจำวัน เช่น รถยนต์ที่มีระบบเตือนการออกนอกเลน และระบบหลีกเลี่ยงการชน ซึ่งทำงานแบบเรียลไทม์ด้วยการประมวลผลข้อมูลจากเซ็นเซอร์ของรถ ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ หรือการใช้งานระบบบริหารการจราจรอัจฉริยะ (Smart Traffic Management) เช่น สัญญาณไฟอัจฉริยะ ที่สามารถวิเคราะห์จำนวนรถและเลือกเปิดหรือปิดช่องทางเดินรถได้ด้วยตัวมันเอง
นอกจากนี้โรงงานอุตสาหกรรมยุคใหม่ยังมีเครื่องจักรอัจฉริยะที่เก็บและประมวลผลข้อมูลได้ในตัวเอง ผู้ผลิตจึงตรวจจับปัญหาได้แบบเรียลไทม์ ลดความล่าช้า และปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานให้ดีขึ้น
ในด้านสาธารณสุข การพบแพทย์ทางไกลหรือ telemedicine ก็ต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามารองรับ เช่น Wearable Sensors ให้แพทย์สามารถติดตามผู้ป่วยได้แบบเรียลไทม์ ลดความจำเป็นในการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล
เช่นเดียวกัน โดยปกติแล้ว AI จะต้องอาศัยการประมวลผลบนคลาวด์ (Cloud Computing) เพราะต้องใช้พลังและข้อมูลในการประมวลผลมหาศาล ข้อเสียก็คือหากเกิดปัญหาการเชื่อมต่อหรือเน็ตเวิร์กก็จะทำให้ AI ทำงานไม่ได้ทันที หรือทำงานได้ช้า
Edge AI ซึ่งก็คือการผสานความสามารถของ การประมวลผลบน Edge (Edge computing) กับปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้าด้วยกัน ทำให้ตัวอัลกอริธึมของ AI สามารถทำงานได้เองบนอุปกรณ์ที่รองรับ แม้ว่าจะไม่มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ทำให้ประมวลผลข้อมูลได้ไวภายในมิลลิวินาที และตอบสนองผู้ใช้งานได้แบบเรียลไทม์ ปลอดภัยกว่าและต้นทุนน้อยกว่า แม้จะมีฐานจัดเก็บข้อมูลขนาดใหญ่เทียบกับบนระบบคลาวด์ไม่ได้
ในปี 2022 ตลาด Edge AI ทั่วโลกมีมูลค่า 14,787.5 ล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าจะขยายตัวที่อัตราการเติบโตต่อปี (CAGR) ที่ 21.0% ตั้งแต่ปี 2023 ถึง 2030
ปัจจุบันหลายอุตสาหกรรมนำ Edge AI มาเพิ่มประสิทธิภาพของอุปกรณ์การทำงานแล้ว เช่น เครื่องมือสุขภาพอัจฉริยะ เพื่อตรวจสอบอัตราการเต้นของหัวใจ ความดันโลหิต ระดับกลูโคส และการหายใจ ซึ่งเป็นฟีเจอร์ที่มีอยู่ในสมาร์ทวอชทั่วไป
แบรนด์ระดับโลกอย่าง Samsung เองก็ลงทุนในเทคโนโลยี Edge AI มูลค่า 2,200 ล้านดอลลาร์ แทนการใช้ระบบคลาวด์ในการพัฒนาและวิจัยมากขึ้น
อีกตัวอย่างที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมค้าปลีก คือ เทคโนโลยี pick-and-go ของ Amazon ที่เราสามารถเดินชอปปิง หยิบสินค้าใส่ตระกร้าอัจฉริยะ และเดินออกจากร้านได้เลยโดยไม่ต้องต่อคิวแคชเชียร์ เพราะระบบจะหักเงินจากบัญชีหรือบัตรเครดิตที่ผูกไว้กับแอปของ Amazon Go ซึ่งผู้ใช้งานต้องสแกนก่อนจะเข้าร้าน
ปีนี้ เราจะได้เห็นบริษัทยักษ์ใหญ่ตบเท้าออกมาพูดถึงเทคโนโลยีนี้กันบ่อยขึ้นเรื่อยๆ ท่ามกลางกระแสไฮป์ AI ที่มาแรงอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัท Viso.ai มองว่ายิ่งคนใช้ AI แพร่หลาย ก็ยิ่งต้องอาศัยการประมวลผลบน Edge ที่รองรับข้อมูลจำนวนมหาศาลได้และตอบโจทย์กว่าระบบคลาวด์
อ้างอิง : enterprisersproject , xailien , ibm , grandviewresearch
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด