อะไรทำให้ชาล เจริญพันธ์ และกัน เจติยา มาเป็นหัวหอกของ Digital Ventures Accelerator | Techsauce

อะไรทำให้ชาล เจริญพันธ์ และกัน เจติยา มาเป็นหัวหอกของ Digital Ventures Accelerator

เมื่อพูดถึงชื่อชาล เจริญพันธ์ คนในวงการ Startup รู้จักเขาในฐานะผู้ร่วมก่อตั้ง HUBBA ซึ่งเป็นเครือข่าย Co-working space ที่ใหญ่ที่สุดในไทย ส่วนคุณกัน เจติยา งามเมฆินทร์ นั้นก็มีประวัติน่าสนใจมากมาย ทั้งยังเคยสร้างและขายกิจการในเมืองจีนมาก่อน

ดังนั้นจะว่าไปแล้ว ชื่อหัวเรื่องนั้น มาจากความอยากรู้จริงๆ ของผู้สัมภาษณ์ เชื่อว่าหลายๆ คนก็คงอยากทราบว่า อะไรทำให้คุณชาล เจริญพันธ์ และคุณกัน เจติยา งามเมฆินทร์ หันมารับบทบาทใหม่ เป็นผู้รันโครงการที่ Digital Ventures Accelerator หรือ DVA และบทสัมภาษณ์ต่อไปนี้ พี่ๆ ทั้งสองท่าน จะมาเล่าเรื่องราวความเป็นมาทั้งหมดในมุมมองของแต่ละคน

interview dva team charle jaytiya

พี่กัน - อดีตที่ปรึกษา สร้างธุรกิจ และขายกิจการในประเทศจีน

Banker -> Consultant -> สร้างธุรกิจในจีน -> ขายกิจการ -> ตกหลุมรัก Startup คือเส้นทางของเธอ

พี่กัน : ก่อนหน้านี้พี่เคยทำงานสายแบงค์มาก่อน โฟกัสเรื่อง M&A ซื้อขายกิจการ แล้วก็ได้ไปเป็น Strategic Management Consultant วางกลยุทธ์ให้บริษัทต่างๆ

จุดหักเหอาจจะเป็นตอนที่ไปเมืองจีน อยู่ที่นั่นเกือบๆ 3 ปี แล้วสุดท้ายก็ได้ไปตั้งบริษัทของตัวเอง อาจจะไม่ถึงกับเป็น Startup แต่ก็เป็น SME ที่เริ่มสร้างแบรนด์ได้ มีฐานลูกค้าที่เติบโต จนต้องใช้เทคโนโลยีและแพลตฟอร์มต่างๆ เข้ามาช่วยทำงาน ธุรกิจไปได้สวย แต่ว่าที่บ้านก็อยากให้กลับมาอยู่ที่นี่ ก็เลยขายกิจการ และกลับมาที่เมืองไทย

...แบบว่าห่างไทยไป 3 ปี ก็อยากจะมารู้จักตลาด ซึ่ง Startup เริ่มบูม ได้รู้จัก Startup หลายๆ ทีม

รู้สึกชอบเวลาอยู่กับคนเหล่านี้จังเลย เหมือนเป็นคนที่มีความฝันเป็นของตัวเอง เขามีสิ่งที่เขารัก เราก็มี Energy และคิดว่าจุดของ Accelerator ก็ดูเหมาะกับเรา ซึ่งเคยทำ เคยตั้งธุรกิจของตัวเองมาก่อน เคยเป็นที่ปรึกษาด้านการเงิน ด้านกลยุทธ์หลายๆ อย่าง และการได้ทำงานกับคนที่เขามี Passion อยู่แล้ว น่าจะเป็นสิ่งที่เราชอบและมีความสุข

gun dva

พี่ชาล - ผู้อยู่เบื้องหลังการสร้าง Ecosystem ให้ Startup ในเมืองไทย

พี่ชาล : แบ็คกราวด์พี่ก็เป็น Consultant มาก่อนเหมือนกัน ทั้งทำในบริษัทอื่น และเปิดบริษัทของตัวเองด้วย รวมถึงทำธุรกิจส่วนตัว ประเภท Consumer Product อย่าง Food & Beverage แต่แล้วจุดที่เข้ามาวงการ Startup ก็คือ เรารู้สึกว่าเราอยากกลับไปทำในสิ่งที่เรารัก คือ Consult คือได้ช่วยคนอื่น และรู้สึกว่าคนที่เราอยากช่วยเหลือจริงๆ คือคนรุ่นใหม่ที่อยากทำธุรกิจของตัวเอง (First-time entrepreneur) มันมีความท้าทาย มีหลุมพรางอะไรตั้งเยอะที่พวกเขาต้องเจอ พอเราศึกษาเรื่อง First-time entrepreneur ลึกขึ้นว่าในโลกนี้มีอะไรที่เราช่วยเหลือได้บ้าง ก็ไปเจอกับคำว่า Startup จากการอ่านหนังสือฝรั่ง ซึ่งช่วงนั้นคือปี 2011 กระแส Startup ยังไม่มีในไทย แต่เรารู้สึกว่ามันน่าตื่นเต้นมาก เนี่ยแหละ! คือคนที่เราอยากจะช่วย ทั้งอยากช่วย Startup และอยากทำเองด้วย คือสนใจอยากทำอะไรหลายๆ อย่างแบบ Startup

แล้วเมืองไทยมี Startup เหรอ(วะ)? เราก็เลยเริ่มต้นจากการสร้าง ที่ๆ นึงขึ้นมาเพื่อให้เขามาเจอกันก่อน จึงเป็นจุดเริ่มต้นของ HUBBA ซึ่งเกิดจากไอเดียที่ว่าเราอยากช่วย  หลังจากนั้นเราก็ทำนู่นนี่มาเยอะมาก เราเอาอีเวนท์ใหญ่ อย่าง Echelon มาประเทศไทย เป็นหนึ่งในคนที่ช่วยเอา Geek on the plane เข้ามาในประเทศไทยได้ เป็นผู้ร่วมก่อตั้งสมาคม Thailand Tech Startup Association แล้วก็ทำ Startup ของตัวเองอีกอันนึงคือ Node ล่าสุดก็ทำ Techsauce Summit ในวงการ Startup เรามีส่วนเกี่ยวข้องค่อนข้างเยอะ เพราะอยู่ในวงการมาตั้งแต่มันเริ่มเกิด

ซึ่งสิ่งที่พี่ทำมามากมาย มันก็เกี่ยวกับการช่วย Startup อยู่แล้ว แล้วทำไมถึงมาสนใจในมุมของ Accelerator เป็นพิเศษล่ะคะ?

พี่ชาล : เพราะสิ่งที่ทำให้พี่ว้าวที่สุด ตั้งแต่ปี 2011 คือเราค้นพบ Y Combinator Accelerator ที่สร้างธุรกิจเจ๋งๆ ออกมาได้หลายตัว กระทั่งผู้ก่อตั้งที่มีแต่ไอเดีย ไม่มี Technical background เลย

รู้สึกว่าเป็นอะไรที่ดีมาก นี่คือ The Next Evolution of Consulting แน่ๆ คือ ไม่ได้มีแค่ช่วยแนะนำ แต่ยังให้เงิน แล้วลงไปเล่นจริงเจ็บจริงด้วยกัน

ตอนแรกเราก็ไม่รู้ว่าจะทำได้รึเปล่า ก็เลยสังเกตติดตามมาระยะหนึ่ง พบว่า Y Combinator เกิดได้ เพราะมีหลายอย่างที่ Support หนึ่งคือที่นั่นมี Ecosystem ที่ดี ที่ครบ อีกอย่างหนึ่งก็คือตัวคนที่ก่อตั้ง Y Com เขาคร่ำหวอด มีประสบการณ์ในการทำ Startup ในการโค้ชชิ่งช่วยคนทำ Startup มา แล้วก็เก่งมาก เขาเป็นอาจารย์ที่ Stanford ด้วย

แปลว่ามันไม่ใช่แค่คิดจะทำแล้วจะสำเร็จ มันต้องเป็นช่วงเวลายูเรก้าคือ มีทั้งประสบการณ์ ความน่าเชื่อถือ มีทั้ง Ecosystem ภายนอกที่ดี และ Startup ที่ดี นั่นทำให้พี่ตั้งใจเลือกที่จะเริ่มจาก Co-working space ก่อน

...เพราะ Co-working space จะทำหน้าที่บ่มเพาะ ‘คน’ ก่อให้เกิด Startup และ Ecosystem ก่อนจะมาทำ Accelerator ที่จะมาบ่มเพาะธุรกิจ

charle dva

ถ้าอย่างนั้นทำไม HUBBA ไม่ทำ Accelerator ของตัวเองไปเลย ทำไมพี่ถึงมาทำ Digital Ventures Accelerator

พี่ชาล : มีหลายเหตุผลนะ อย่างแรกคือตลาดในประเทศไทย กับเมืองนอกไม่เหมือนกัน อย่าง Y Combinator เขาให้เงิน ให้ Mentorship ให้ Connection หานักลงทุน เท่านี้ก็เวิร์คแล้ว เมืองนอกตลาดเขาพร้อมที่จะเปิดรับเวลาเรา Launch product ใหม่ๆ ก็พร้อมที่จะมีคนใช้อย่างรวดเร็ว เมืองไทยไม่เหมือนกัน การหาลูกค้าเป็นเรื่องท้าทายที่สุดของธุรกิจในช่วงแรก ดังนั้นสำหรับ Accelerator ในเมืองไทย มันเหมาะสมที่จะมี Corporate มาหนุน (ก็เหมือนที่ SCB หนุน DVA อยู่) เพราะ Corporate มีลูกค้าในมืออยู่แล้ว ไม่อย่างนั้นแล้ว ต่อให้เราให้เงินไป ให้คำแนะนำไป แต่จะขยายธุรกิจก็ยากอยู่ดี ดังนั้นก็เลยคิดว่าถ้าจะทำ Accelerator เราต้องมี Corporate เป็นพาร์ทเนอร์

ทั้งนี้ทั้งนั้น คนที่ดำเนินการเนี่ยแหละสำคัญที่สุด Digital Ventures มีพี่โจ้ ธนา และเราก็รู้สึกเชื่อมั่น พี่โจ้ไม่ได้อยู่ในวงการ Startup มาก่อนก็จริง แต่พี่โจ้ก็ไม่ใช่คนที่มี Mindset แบบ Corporate จ๋า และจุดเด่นคือเป็นคนที่แคร์เรื่องวัฒนธรรมองค์กรมาก และวัฒนธรรมคือสิ่งที่สำคัญที่สุดของ Startup พี่โจ้เป็นแรงบันดาลใจให้หลายคนในด้าน Entrepreneurship และด้านการแก้ปัญหากู้วิกฤตธุรกิจอยู่แล้ว ฉะนั้นเขาจึงเป็นเหมือนไอดอลของเราคนนึง นี่เลยเป็นโอกาส ที่เราจะได้ทำงานร่วมกับพี่โจ้ด้วย

อีกอย่างเราอยากจะช่วยให้มันเกิด คนที่ทำตำแหน่งนี้ได้ก็คงมี แต่ก็มีไม่เยอะ ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา พี่รู้สึกว่ามันถึงจุดที่เราทำมันได้ เราคิดมาตลอดว่า ถ้าทำในเมืองไทย มันควรจะเป็นแบบไหนที่เวิร์ค ถ้าไม่มีใครทำซักที งั้นเราทำเองดีกว่า

มันก็เหมือนเหตุผลที่เราทำ Co-working เราจะรอให้คนอื่นทำ หรือเราจะลุกขึ้นมาทำเอง

Accelerator ที่อยากทำเป็นอย่างไร

พี่ชาล : มีหลายอย่างเลยที่จะทำกัน อย่างแรกเลยคือ พี่คิดว่า Accelerator ควรจะช่วยทีมที่มี Product อยู่แล้วหรืออย่างน้อยที่สุดคือมี Prototype คือเราเจอ Fake entrepreneur มาเยอะ คือมาเป็นผู้ประกอบการเพราะไลฟ์สไตล์ เพราะรู้สึกว่าไม่อยากทำงานบริษัท อยากสบายหรืออยากจะมีตำแหน่ง Co-founder หรือ CEO จะได้เอาไปโชว์ ไปยื่นนามบัตรแล้วรู้สึกเท่อะไรแบบนี้ เป็นความจริงที่ว่ามีหลายคนเป็นอารมณ์แบบนั้น ในขณะที่ผู้ประกอบการตัวจริงจะไม่ได้เกิดขึ้นเร็วเหมือนเพาะเห็ดขนาดนั้น เขาอยากจะแก้ปัญหาจริงๆ แล้วก็พร้อมที่จะล้มเหลว มันก็เป็นเทสอันนึง คือถ้าเขาสร้าง Product จนเสร็จได้เนี่ย อยากน้อยเราก็รู้ว่าหนึ่งคือเขามีความมุ่งมั่น และ Passion มากพอ เพราะมีนะ คนที่ Pitch แล้วชนะได้เงิน ได้รางวัลมา แต่ว่า Product ผ่านมา 2-3 ปีแล้วไม่เสร็จซักที

อย่างที่สองคือ เรื่องเงิน สามปีที่ผ่านมา ตลาดการแข่งขันมันเปลี่ยนไปมาก เงินที่มันเคยพอสำหรับ Startup  สามปีที่แล้ว มันไม่พอแล้วตอนนี้ หลังจากเฟ้นหาคนดีๆ ได้แล้ว เราต้องให้เงินเขามากพอด้วย ที่จะช่วยให้เขาพัฒนาไประดับต่อไป และอยู่ได้ด้วยตัวเอง โดยที่ไม่ต้องพะวงเรื่อง Raise fund รอบต่อไป ที่ DVA เราก็พร้อมที่จะให้เงินสนับสนุนเขา 3 แสนบาท โดยที่ไม่เอาหุ้นด้วย เราเชื่อว่ามันพอที่จะให้เขาอยู่จนจบโครงการ อย่างน้อยก็ไม่อดตายแน่นอน แล้ว Investment ขั้นต่ำ ของเราก็ 1 ล้านบาท เพราะรู้สึกว่านั่นคือ ขั้นต่ำจริงๆ ที่ทีมๆ นึง จำเป็นต้องใช้เข้าตลาด หาลูกค้า เพื่อไป Raise fund ต่อได้ ซึ่งเพดานเราก็ไม่ได้ลิมิตนะ ถ้ามันมีทีมที่ดีจริงๆ แล้ว product มันโตเร็วมากๆ เราก็พร้อมที่จะ support เขามากกว่านั้น ไม่มี one size fits all ของเวลาแล้วก็จำนวนเงิน อย่าง FinTech มันอาจใช้เวลานานกว่า Startup อื่น เพราะมันมีเรื่องของกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้องค่อนข้างเยอะ หรือ Hardware ก็ใช้เวลานานกว่า launch นานกว่า เพราะมีเรื่อง production

พี่ชาล : เราทำ Accelerator เหมือนสิ่งที่เราอยากทำให้ตัวเอง คือสิ่งที่เราอยากให้มีตั้งแต่ตอนที่เราเริ่มทำ Startup แต่มันไม่มีให้เรา นั่นคือถ้าตัวพี่เองไม่อยากจะไปที่นี้ พี่ก็ไม่ทำ ก็ใช้ feedback ของ startup ให้สุดแล้วก็รับ feedback แล้วก็ปรับมาเรื่อยๆ ทุกวันที่พี่ไปคุยกับ Startup แล้วถ้าเขาบอกว่าไม่สนใจ จะถามเหตุผลเขาว่าทำไม? และเราจะกลับมาตอบให้มันดีขึ้น จนตอนนี้พี่คุยกับใครเขาก็สนใจ

พี่กัน : เราเทรน Acceleratorให้เป็นเหมือน Startup แล้วก็จะ improve มันไปเรื่อยๆ ดังนั้น ในระหว่าง Batch ก็จะดีขึ้นเรื่อยๆ เราไม่หยุดอยู่กับที่ แม้แต่ Mentor เราก็จะเทรนเขาเรื่องการเป็นโค้ชที่ดีด้วยนะ สรุปเรา Educate ทุกคนรวมทั้งตัวเราด้วย ก็หวังว่ามันจะเป็น Accelerator ที่ดีอันนึง และเราตั้งเป้าแล้วว่าจะเป็น Top Accelerator ให้ได้

อ่านต่อ: เจาะลึก 10 แนวคิดการทำ Accelerator จาก Digital Ventures Accelerator หรือ DVA ที่ใครๆ ก็พูดถึงตอนนี้

DVA Batch 0 เปิดรับสมัครแล้วถึง 31 สิงหาคมนี้

ได้เห็นเรื่องราวและความตั้งใจของหัวหอกของโปรแกรมทั้งสองแล้ว อดไม่ได้ที่จะรู้สึกอยากเห็นโฉมหน้าของ Startup ในโปรแกรม อีกไม่นานเราจะได้พบกับพวกเขาแล้ว ซึ่งหนึ่งในนั้นอาจเป็นคุณก็ได้นะคะ

ขอฝากทิ้งท้ายเรื่อง DVA Batch 0 กำลังจะหมดเขตส่งใบสมัครวันที่ 31 สิงหาคมนี้แล้ว เข้าไปกรอกแบบฟอร์มได้เลยที่ www.dv.co.th ได้เลย

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

รู้จัก Physical AI เอไอยุคใหม่ที่ Jensen Huang กล่าวถึงคืออะไร ? มีประโยชน์อย่างไร ?

หนึ่งในไฮไลต์สำคัญของงาน CES 2025 คือการที่ Jensen Huang ซีอีโอของ NVIDIA ได้มีการพูดถึงยุคต่อไปของ AI นั่นก็คือ ‘Physical AI’ ซึ่งนับเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญยิ่งที่ AI กำลังจะเข...

Responsive image

4 เทรนด์เทคโนโลยีสุดล้ำที่อาจเปลี่ยนโลกจาก CES 2025

สำรวจเทรนด์เทคโนโลยีล่าสุดจาก CES 2025 ตั้งแต่ AI อัจฉริยะ ยานยนต์ล้ำสมัย ไปจนถึงการพัฒนาชิปกราฟิกและเทคโนโลยีหน้าจอแห่งอนาคตที่เปลี่ยนโฉมการใช้ชีวิตประจำวัน!...

Responsive image

เปิดตัว ‘รถบินแยกร่าง’ XPeng ผสมเครื่องบินกับรถตู้ รุ่น Land Aircraft Carrier ราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท

XPeng Aero HT เปิดตัว Land Aircraft Carrier รถบินได้แบบแยกร่างสุดล้ำที่ CES 2025 พร้อม eVTOL พับเก็บได้ ใช้งานง่าย ราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท วางแผนผลิตเชิงพาณิชย์ในปี 2026...