WHA Group จับมือยักษ์ใหญ่พลังงานไทย ร่วมลงทุน เปิดโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม ทางออกปัญหาขยะใน EEC | Techsauce

WHA Group จับมือยักษ์ใหญ่พลังงานไทย ร่วมลงทุน เปิดโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม ทางออกปัญหาขยะใน EEC

ขยะ ถือเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบอย่างเป็นวงกว้าง ซึ่งปัจจุบันถือเป็นสิ่งที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดยที่ผ่านมาหนึ่งในประเด็นสังคมที่มีการกระตุ้นให้เกิดการเรียกร้องกันอย่างหนัก คือ ภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในเขตพื้นที่พัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพราะเมื่อ EEC เกิดขึ้นเต็มรูปแบบ จะส่งผลให้เกิดการเคลื่อนย้ายของทั้งกิจการ โรงงานต่าง ๆ รวมถึงแรงงานที่จะหลั่งไหลเข้าสู่พื้นที่ดังกล่าวจำนวนมาก แน่นอนว่าปัญหาที่จะตามมาคงหนีไม่พ้น ขยะ ซึ่งภาครัฐบาลจะต้องมีนโยบายที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องของการกำจัดขยะอุตสาหกรรม เพราะพื้นที่ดังกล่าว ถือเป็นเขตที่มุ่งเน้นการขับเคลื่อของอุตสาหกรรมเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งก็ได้มีการกระตุ้นให้เอกชนมีการสร้างโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมเพื่อรองรับการกำจัดขยะที่จะเกิดขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก และเป็นหนึ่งในแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วย 

โรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม บริษัท ชลบุรี คลีน เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด

ล่าสุด Techsauce ได้ไปเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมของบริษัท ชลบุรี คลีน เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (CCE) ที่ได้เปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2562 ซึ่งตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ชลบุรี 1 มีพื้นที่ 3,482 ไร่ (1,393 เอเคอร์ หรือ 557 เฮกตาร์) ซึ่งเป็นทำเลยุทธศาสตร์ และเป็นหนึ่งในพื้นที่เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) พร้อมรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ และอุตสาหกรรมดิจิทัล โดยโรงไฟฟ้าดังกล่าวมีกำลังผลิตไฟฟ้าติดตั้ง 8.63 เมกะวัตต์ ซึ่งรองรับการกำจัดขยะอุตสาหกรรมที่ไม่เป็นอันตรายได้ถึง 400 ตันต่อวัน หรือประมาณ 1 แสนตันต่อปี เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับผลิตไฟฟ้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

บริษัท ชลบุรี คลีน เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (CCE) เป็นบริษัทที่เกิดจากการร่วมทุนระหว่างสามบริษัทชั้นนำในสัดส่วนการถือหุ้นที่เท่ากันทั้งหมด โดยการผนึกกำลังกันครั้งนี้เป็นการผสมผสานความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านพลังงาน โดยนำเสนอพลังงานทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม  ได้แก่

  • บริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) (WHAUP) ในเครือดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป เป็นผู้ให้บริการด้านการบริหารจัดการแบบครบวงจรครอบคลุมด้านโลจิสติกส์ นิคมอุตสาหกรรม สาธารณูปโภคและไฟฟ้า รวมทั้งดิจิทัลแพลตฟอร์มชั้นนำของประเทศไทย นอกจากนี้ WHAUP ยังเป็นผู้ให้บริการด้าน การผลิตและจัดจำหน่ายน้ำอุตสาหกรรม การบริหารจัดการน้ำเสีย ตลอดจนผลิตและจัดจำหน่ายไฟฟ้า ก๊าซธรรมชาติ และพลังงานหมุนเวียน


  • บริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) บริษัทในเครือของบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC เป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายพลังงานรายใหญ่ในประเทศไทย กลุ่มบริษัทโกลว์มีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 3,084 เมกะวัตต์ (โดยเป็นสัดส่วนของโกลว์ 2,268 เมกะวัตต์) และไอน้ำ 1,116 ตันต่อชั่วโมง 


  • สุเอซ กรุ๊ป ผู้นำระดับโลกด้านการจัดการทรัพยากรด้วยระบบอัจฉริยะเพื่อความยั่งยืน มีพนักงานกว่า 90,000 คนในห้าทวีปทั่วโลก ดำเนินธุรกิจครอบคลุมการจัดหาโซลูชั่นด้านการจัดการน้ำและขยะ ช่วยอำนวยความสะดวกแก่เมืองและภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ให้สามารถบริหารจัดการทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเพิ่มประสิทธิภาพด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมให้เข้มแข็งขึ้นตามมาตรฐานสากลด้านอุตสาหกรรม


นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการ บริษัท ชลบุรี คลีน เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการ บริษัท ชลบุรี คลีน เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด กล่าวว่า โรงไฟฟ้า CCE ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางเขตอีอีซี จะสร้างประโยชน์ให้แก่ภาคอุตสาหกรรมของไทย สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลของประเทศ พร้อมทั้งสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียนด้วยการจัดการขยะอุตสาหกรรมแบบยั่งยืน แทนการฝังกลบแบบเดิม และการจับมือกับหุ้นส่วนและพันธมิตรของ CCE แสดงให้เห็นว่าเรามีศักยภาพในการผลิตพลังงานสะอาดปลอดจากขยะอุตสาหกรรม เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีแก่สังคมในการผนึกกำลังร่วมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไว้ให้คนรุ่นหลังสืบไป

โรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม ชลบุรี คลีน เอ็นเนอร์ยี่ ครั้งนี้ ใช้เงินลงทุนราว 1,800 ล้านบาท CCE เป็นโรงผลิตไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ได้มาตรฐานควบคุมการปล่อยมลพิษของยุโรป ติดตั้งด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ภายใต้แนวคิดเพื่อความยั่งยืน การมีเสถียรภาพ และการรักษาสิ่งแวดล้อม สามารถกำจัดขยะอุตสาหกรรมให้เป็นเชื้อเพลิงได้กว่า 400 ตันต่อวัน หรือราว 100,000 ตันต่อปี  โรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมแห่งนี้มีกำลังผลิตกระแสไฟฟ้า 8.63 เมกะวัตต์ โดยจะจำหน่ายเข้าระบบของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจำนวน 6.90 เมกะวัตต์ ภายใต้ข้อตกลงซื้อขายไฟฟ้า (PPA) เป็นระยะเวลา 20 ปี

เทคโนโลยีที่สำคัญของโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม 

สำหรับคุณสมบัติทางเทคโนโลยีที่สำคัญของโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม CCE ได้แก่

  • เริ่มต้นที่ห้องโถงและบังเกอร์ที่ใช้เก็บขยะ โดยอาคารรับขยะและบ่อเก็บขยะฯ ได้รับการออกแบบให้เป็นระบบปิด โดยก่นและฝุ่นละอองจะถูกควบคุมไม่ให้ออกไปสู่ภายนอก ด้วยการออกแบบให้ความดันภายในติดลบ และมีระบบกำจัดกลิ่น เพื่อให้ขยะอุตสาหกรรมเกิดการเผาไหม้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด 


  • เทคโนโลยีการเผาขยะที่ใช้เตาเผาแบบตะกรับ (Stoker-Fired or grate-Fired Incinerator) และหม้อไอน้ำแนวนอน  ซึ่งถือเป็นโรงไฟฟ้าที่ได้รับการออกแบบโดยใช้เทคโนโลยีที่น่าเชื่อถือที่สุดในตลาด ซึ่งเป็นเทคโนโลยีในการกำจัดขยะอุตสาหกรรมเดียวกันกับประเทศญี่ปุ่น โดยกระบวนการผลิตได้รับการออกแบบให้ก๊าซไอเสียมีอุณหภูมิสูงกว่า  850 องศาเซลเซียสนานกว่า 2 นาที ซึ่งจุดนี้เป็นสิ่งที่ทำให้มั่งใจได้ว่าไดออกซินและฟูรานได้ถูกกำจัดจนหมด อีกทั้งยังมีหม้อไอน้ำที่ได้รับการออกแบบด้วยเทคโนโลยีที่ทำให้เกิดไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) ต่ำ ซึ่งส่งผลให้โรงไฟฟ้าดังกล่าวมีเสถียรภาพค่อนข้างสูง 


  • ด้านระบบบำบัดไอเสีย โรงไฟฟ้าดังกล่าวได้รับการออกแบบด้วยระบบบำบัดมลพิษในก๊าซไอเสีย ที่ผ่านการพิสูจน์และมีความน่าเชื่อถือ ซึ่งจะประกอบไปด้วย การใช้ระบบฉีดแอมโมเนียแบบไม่ต้องใช้ตัวเร่งปฏิกริยา (Selective Non Catalytic Reduction : SNCR) เพื่อลด NOx รวมถึงมีการควบคุมก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SOx) ไฮโดรเจนคลอไรด์ (HCI) การควบคุมไดออกซิน โลหะหนัก และฝุ่นละออง การบำบัดไอเสียแบบแห้งทั้งหมดของโรงไฟฟ้า CCE ถือว่ามีการควบคุมค่าการระบายมลสารที่ดีกว่ามาตรฐานของประเทศไทย ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป


  • อีกทั้งยังมีเครื่องมือตรวจวัดคุณภาพอากาศแบบต่อเนื่อง (CEMS) โดยทางโครงการจะแสดงผลการปล่อยมลพิษทางอากาศอย่างโปร่งใส ด้วยระบบการแสดงผลออนไลน์ ส่งไปยังเจ้าหน้าที่ภาครัฐ และจอแสดงผลหน้าโรงงาน

ตารางเปรียบเทียบการควบคุมการปล่อยมลพิษทางอากาศ

นอกจากนี้ CCE ได้ลงนามในข้อตกลงการจัดหาขยะอุตสาหกรรมกับบริษัท เวสท์ แมเนจเม้นท์ สยาม จำกัด (WMS) บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านการจัดเก็บ บำบัด และกำจัดขยะของเสียในไทย เพื่อดำเนินการจัดหาขยะอุตสาหกรรม 100,000 ตันต่อปี จากนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ในจังหวัดชลบุรีและใกล้เคียง โดยโรงไฟฟ้าจะนำขยะอุตสาหกรรมเข้าสู่ห้องเผาไหม้เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า โดยใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 

หลังจากที่ได้มีการวางแผนและก่อสร้างโรงไฟฟ้า ตลอดจนทดสอบการทำงานตามข้อกำหนดของการเชื่อมต่อเข้าระบบการไฟฟ้าภูมิภาคตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โรงไฟฟ้า CCE  ได้เริ่มดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2562 ก่อนระยะเวลาที่กำหนดไว้ในข้อตกลง PPA ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2562

อย่างไรก็ตามการเปิดโครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม ในเขตพื้นที่อีอีซี ถือเป็นสัญญาณที่ดี ของการกระตุ้นให้เกิดความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เป็นไปตามกฎระเบียบที่ถูกต้อง และสอดคล้องกับนโยบายการนำขยะไปฝังกลบต้องเป็นศูนย์ นโยบาย 3R (ลดการใช้ ใช้ซ้ำ นำกลับมาใช้ใหม่) อีกทั้งยังสามารถช่วยลดความเสี่ยงมลพิษที่จะเกิดในดิน และจะเป็นมรดกที่เลวร้านแก่คนรุ่นรุ่นหลัง รวมถึงสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ประมาณ 22,400 ตันต่อปี (คำนวนจากการปล่อยก๊าซ CO2 ต่อหน่วยการผลิตไฟฟ้าในประเทศไทยจำนวน 0.41 กิโลกรัม CO2 ต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง) 



ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ญี่ปุ่นส่ง AI สุดล้ำ ปฏิวัติวงการแพทย์ แก้วิกฤตขาดแคลนหมอในไทย

ในยุคที่เทคโนโลยีก้าวล้ำไปไกล แต่ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ยังคงเป็นความท้าทายสำคัญของประเทศไทย ล่าสุด สตาร์ทอัพชั้นนำจากญี่ปุ่นได้นำเทคโนโลยี AI มาช่วยแก้ปัญหานี้ สร้างความ...

Responsive image

Gartner เผย! 10 เทรนด์เทคโนโลยี 2025 ที่ผู้นำต้องปรับตัวรับตามให้ทัน

โลกเทคโนโลยีก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว องค์กรธุรกิจและผู้นำด้านไอทีจึงต้องปรับตัวให้ทัน Gartner บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำระดับโลก ได้เผย 10 เทรนด์เทคโนโลยีเชิงกลยุทธ์ (Strategic Technology T...

Responsive image

เจาะลึกอนาคต Data Center - Cloud Service ไทย อัพเดท ปี 2024 Big Tech ลงทุนในไทยแล้วกี่เจ้า ?

บทความนี้จะพาไปเจาะลึกบริษัทที่เข้ามาลงทุนในไทย พร้อมศักยภาพ แนวโน้ม และโอกาสในการลงทุน Data Center และ Cloud Service ในประเทศไทย ที่กำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด พร้อมต่อยอดให้ไทยกลา...