Cyborg 'มนุษย์จักรกล’ กับการเข้ามากำหนดนิยามใหม่ให้ศักยภาพมนุษย์ | Techsauce

Cyborg 'มนุษย์จักรกล’ กับการเข้ามากำหนดนิยามใหม่ให้ศักยภาพมนุษย์

คนชอบถามว่า เป็นหมอ ก็ดีอยู่แล้ว มาทำ Startup ทำไม?

เราชอบตอบทีเล่นทีจริงว่า ก็เพราะ ‘คิดน้อย’ ไง ถึงได้มาทำ Chiiwii เพราะ ถ้ามัวแต่ ‘คิดเยอะ’ คงไม่ได้ลงมือทำสิ่งที่อยากทำ หรือควรจะทำสักที

‘หมอแม้ว, พญ.ศกุนี นิรันดร์วิชย’ แพทย์เฉพาะทางผิวหนังและโรคเส้นผม จบจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ผู้ร่วมก่อตั้งเวปไซต์ Chiiwii.com และแอปพลิเคชันปรึกษาแพทย์ออนไลน์ (Telemedicine) ในชื่อ Chiiwii LIVE โดยมีจุดเริ่มต้นเล็กๆ ในใจ ที่เพียงแค่อยากให้ทุกคนมีโอกาสเข้าถึงข้อมูลสุขภาพที่ถูกต้องเชื่อถือได้ ในโลกแห่งความล้นหลามของข้อมูลบนโลก Social

มนุษย์สามารถเป็น Cyborg ได้หรือไม่?

อ้างอิงรูปจาก robohub

ถ้าเราเคยสูญเสียขาทั้งสองข้าง จากกีฬาปีนหน้าผา เรายังจะกล้ากลับไปปีนหน้าผาอีกไหม?

Hugh Herr เด็กวัยรุ่นชายวัย 17 ปี เคยประสบอุบัติเหตุตกเขา จากกีฬาปีนหน้าผา และเกิดภาวะ Frost bite บริเวณขาทั้งสองข้าง จนเป็นเหตุให้เขาต้องถูกตัดขา และสูญเสียขาทั้งสองข้างไปในที่สุด

จากเด็กที่ไม่เคยสนใจเรียนเลยในวันนั้น...

มาวันนี้สามสิบกว่าปีให้หลัง Herr ได้พยายามจนได้รับตำแหน่ง Professor จาก MIT ในฐานะที่เป็น Project director และนักวิจัยจาก The Center for Extreme Bionics, MIT Media Lab ในผลงานสร้างชื่อ ที่เขาพัฒนาร่วมกับทีมนักวิจัย เรื่อง ‘Bionic Prosthesis’ หรือ ‘Bionic limbs’ หรือ ‘ขาเทียมที่สามารถสั่งการได้ด้วยสมองของมนุษย์’ ในชื่อเรียกว่า ‘BiOMs’

ใช่ค่ะ เขาสร้างขาใหม่ทั้งสองข้างให้ตัวเขาเอง และไม่ใช่แค่ขาเทียมธรรมดา แต่เป็นขาเทียม ที่สามารถสั่งการได้ด้วยสมองของเขาเอง ทำให้เขาสามารถกลับมาเดิน และแม้แต่วิ่งได้อีกครั้ง

Bionic limbs นี้ ทำงานได้อย่างไร?

ผู้พิการที่ถูกตัดขา จะได้รับการตรวจเช็คเส้นประสาท ปมประสาทที่เหลืออยู่ และการทำงานของกล้ามเนื้อบริเวณปลายสุดของขาที่ถูกตัด หลังจากนั้นจะทำการเชื่อมต่อ ขาส่วนที่เหลือกับตัวขาเทียม Bionic limbs เพื่อให้มีการนำผ่านสัญญาณไฟฟ้าได้ ตรงนี้เองจะเป็นส่วนที่เชื่อมต่อ และส่งสัญญาณ เพื่อรับคำสั่งจากสมอง ให้สามารถควบคุม ออกคำสั่งขาเทียม ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวได้ตามใจนึก ขาเทียม ‘BiOMs’ นี้ถูกนำไปใช้กับผู้พิการแล้วกว่า 1,000 ราย นั่นคือ เมื่อปี 2014...

Herr ยังคิดว่า การทำงานของขาเทียมของเขา ยังสามารถสมบูรณ์แบบได้มากไปกว่านี้อีก...

ในปี 2017 Herr พบว่า การเคลื่อนไหวของมนุษย์ เมื่อสมองสั่ง จะส่งมายังกล้ามเนื้อ และทำให้เกิดการยืดหดตัวสลับกันไป หรือ ‘agonist-antagonist myoneural interface, AMI’ จึงเป็นที่มา ของ Bionic limbs รุ่นถัดมาของเขาที่ทำงานได้ดีขึ้น และในที่สุด ได้ถูกนำไปใช้งานจริงกับผู้พิการ ร่วมกับศัลยแพทย์ ที่ Brigham and Women’s Faulkner Hospital, Boston, USA ได้สำเร็จ

ถ้าเราเป็น Herr เราจะทำอะไรต่อไป?

แน่นอนว่า มีขาเทียมแล้ว ก็คงทำแขนเทียม หรืออวัยวะภายนอกเทียมอื่นๆ ต่อไป แต่ Herr ไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่อวัยวะเทียมของระยางค์ร่างกายเท่านั้น Herr และทีม กำลังพัฒนาต่อยอด ในการทำ ‘ระบบประสาทดิจิตอล, Digital Nervous System (DNS)’ เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคเกี่ยวกับระบบประสาทและสมอง เช่น อัมพฤกษ์ อัมพาต, Parkinson’s disease, ลมชัก หรือแม้แต่ โรคซึมเศร้า มีอาการดีขึ้นได้อีกด้วย

ในโลกมีประชากรกว่า 11.4 ล้านคน ที่เป็นผู้ป่วยที่ถูกตัดแขนหรือขา (Amputee) จนกลายเป็นผู้พิการในที่สุด 40 ถึง 80 ราย ต่อประชากร 1 ล้านคน กำลังเป็นผู้พิการแขนขาอ่อนแรง (Paralysis) แต่ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เราจะเห็นคนเหล่านี้กลับมาเดินได้ วิ่งได้ เต้นรำได้ หรือแม้แต่กอดคนที่เขารักได้อีกครั้ง

Herr เป็นตัวอย่างของผู้ที่ไม่เพียงแต่สามารถยอมรับความจริงได้ ไม่โทษชะตาชีวิตในวันที่เขาต้องสูญเสียขาทั้งสองข้างไป เขายังพัฒนาเทคโนโลยี ที่ไม่เพียงเพื่อช่วยเหลือตัวเขาเอง แต่ยังช่วยผู้พิการหลายสิบล้านคนในอนาคตได้อีกด้วย ดังที่ Herr เคยกล่าวไว้ใน Ted Talk ของเขาในปี 2014 บนเวที Herr ได้ยืนด้วยสองขา Bionic limbs ที่สร้างมาจากฝีมือของเขา ได้เดิน ได้วิ่ง และได้โชว์ภาพที่เขาสามารถกลับไปปีนเขา กีฬาที่เขารักได้อีกครั้ง พร้อมทั้งเล่าถึงแรงบันดาลใจของเขาและทีมนักวิจัยด้วยความภาคภูมิใจ

‘At that time, I didn’t view my body as broken. I reasoned that a human being can never be ‘broken’. Technology is broken. Technology is inadequate.’

แล้วถ้าเป็นเราล่ะ ถ้าเราต้องสูญเสียขาทั้งสองข้าง จากกีฬาปีนหน้าผาไปในวันนั้น เรายังจะกล้ากลับไปปีนหน้าผาอีกไหม? หรือตอนนี้เราจะกำลังทำอะไรอยู่?

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ทำไมคนสหรัฐฯ เดือดร้อนกับการแบน TikTok ? 3 เหตุผลที่ TikTok สำคัญกับชาวสหรัฐฯ มากกว่าที่คิด

เจาะลึก 3 เหตุผลที่การแบน TikTok อาจส่งผลกระทบต่อชาวอเมริกันมากกว่าที่คิด ทั้งด้านเศรษฐกิจ อาชีพ และการเชื่อมโยงในยุคดิจิทัล...

Responsive image

รู้จัก Physical AI เอไอยุคใหม่ที่ Jensen Huang กล่าวถึงคืออะไร ? มีประโยชน์อย่างไร ?

หนึ่งในไฮไลต์สำคัญของงาน CES 2025 คือการที่ Jensen Huang ซีอีโอของ NVIDIA ได้มีการพูดถึงยุคต่อไปของ AI นั่นก็คือ ‘Physical AI’ ซึ่งนับเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญยิ่งที่ AI กำลังจะเข...

Responsive image

4 เทรนด์เทคโนโลยีสุดล้ำที่อาจเปลี่ยนโลกจาก CES 2025

สำรวจเทรนด์เทคโนโลยีล่าสุดจาก CES 2025 ตั้งแต่ AI อัจฉริยะ ยานยนต์ล้ำสมัย ไปจนถึงการพัฒนาชิปกราฟิกและเทคโนโลยีหน้าจอแห่งอนาคตที่เปลี่ยนโฉมการใช้ชีวิตประจำวัน!...