รักไม่ยอมเปลี่ยนแปลง Healthcare ก็เช่นกัน ? | Techsauce

รักไม่ยอมเปลี่ยนแปลง Healthcare ก็เช่นกัน ?

ในขณะที่เทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนแปลงโลกและทุกอุตสาหกรรม แต่อุตสาหกรรมหนึ่งที่ไม่เปลี่ยนไปเท่าไหร่เลย ก็คือ Healthcare ซึ่งบทความนี้เป็นบทความพิเศษเรียกว่า Guest Post ซึ่งคุณหมอตั้ม (อายุรแพทย์ และ ผู้ร่วมก่อตั้ง Health at home) ได้เขียนเปิดเผยมุมมองจากประสบการณ์ตรง และอนุญาตให้ Techsauce สามารถนำมาเผยแพร่ได้ ลองมาดูเรื่องราวของ Heathcare Industry กันค่ะ

เคยสงสัยไหมครับว่าทำไมตั้งแต่มีการเข้ามาของ Technology การใช้ชีวิตของเราถูกเปลี่ยนไปอย่างมากมาย บริษัทยักษ์ใหญ่ในหลายอุตสาหกรรมถูกบริษัท Startup เข้ามาท้าทายและกินส่วนแบ่งตลาด (และหลายยักษ์ก็ถูกล้มไปเรียบร้อย)

ผมเป็นคนชอบเรื่องเทคโนโลยีก็อดตื่นเต้นไม่ได้กับเรื่องราวแบบนี้ ผมคิดว่าคนวัยเดียวกับผม รุ่น 80–90s (รุ่นที่ดูสามหนุ่มสามมุม แล้วก็ฟังเพลง 6–2–12 นี่แหละฮะ) ก็คงจะรู้สึกเหมือนกันว่า มันมีการเปลี่ยนผ่านหลายอย่างเลยทีเดียว

แต่มันมีบางอย่างที่แทบไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงเท่าไหร่เลยครับ นั่นคือ… Healthcare นั่นเอง

30 ยังแจ๋ว

10 ขวบ : ผมอยากฟังเพลงก็ต้องซื้อเทปมาฟัง ถ้าทุนน้อย อาจต้องอัดเพลงจากวิทยุเอา ซึ่งมักจะมีเสียงพี่ดีเจแทรกอยู่เสมอ โทรศัพท์หาเพื่อนก็ใช้โทรศัพท์บ้าน ถ้าจีบสาวก็ต้องลุ้นว่าโทรไปแล้วพ่อเขาไม่รับ ส่วนถ้าแพทย์จะคุยกับแพทย์ก็ต้องเขียนจดหมายถึงกัน (ผมถามคุณพ่อที่เป็นหมอ ก็บอกว่าเขียนแบบนี้แหละ)

20 ขวบ : มีการเข้ามาของแผ่น CD คุณภาพเสียงดีกว่าเดิม ทีเด็ดคือเราสามารถฟังเพลงโปรดซ้ำกี่รอบก็ได้ ไม่ต้องเหนื่อยกรอเทป และไม่ต้องกลัวเทปยืด ในเวลานี้เริ่มมีการเข้ามาของ mp3 ที่ทำให้เราฟังเพลงได้เยอะอย่างไม่น่าเชื่อ Vampire คือผู้นำตลาด MP3 (ผมอยากรู้มากว่าเจ้าของคือใคร มันต้องเป็นระดับ Unicorn ในยุคนั้นแน่ๆ ) แต่ถ้าคุณอยากเถื่อนซ้อนเถื่อน คุณต้องซื้อ Vampire แผ่นก๊อป

ส่วนมือถือ ผมได้รุ่นสุดคลาสสิก 3310 มาครอบครอง มันอึดมันทด มันมีเกมงู ตอนนั้นประทับใจว่าเราสามารถโทรหาใครก็ได้ และสามารถส่งข้อความผ่าน SMS ได้เลย โดยไม่ต้องโทรไปบอกกลอนรักผ่าน Call center เพื่อส่งเข้า Pager อีกต่อไป

และแน่นอนครับ ผมยังเห็นรุ่นพี่ผมเขียนจดหมาย เพื่อจะคุยระหว่างแพทย์ด้วยกัน

30 ขวบ (ใช้คำว่าขวบแล้วดูแปลกๆ) : ผมไปเทรนนิ่งอยู่ที่อเมริกา และในเวลานั้นมีการเข้ามาของ Spotify ทำให้เราสามารถฟังเพลงไหนก็ได้ โดยไม่ต้องแม้กระทั่ง Download ให้เปลืองความจำในเครื่อง ผมมี iPhone4 ในครอบครอง ถ้าเทียบได้กับ 3310 แล้วมันก็ว้าวมากๆเลยทีเดียว มันเหมือนทำให้ทุกคนมีเครื่องคอมพิวเตอร์พกพาได้ในมือ การส่ง SMS ระหว่างกันเริ่มลดลง มีเพียงธนาคารที่ยังคิดถึงและส่งหาเรา คำว่า line หรือ Whatsapp เข้ามาเป็นคำสามัญประจำบ้าน

และแน่นอนครับ ผมเองที่เป็นหมอแล้ว ก็ยังเขียนจดหมาย (สามสี) นี่เพื่อสื่อสารระหว่างแพทย์ด้วยกันเอง (รัวมือ)

ถ้าถามท่านผู้อ่าน ก็อาจจะรู้สึกเหมือนกันว่า ทุกอย่างรอบตัวเราเปลี่ยนแปลง แต่ประสบการณ์เรากับ Healthcare แทบไม่เปลี่ยนแปลง การรอพบหมอ การรอรับยา การขอประวัติการรักษา แม้เราอาจจะเดินเข้าโรงพยาบาลแล้วพบว่า มีการตกแต่งที่สวยงามขึ้น มีทีวีเป็นจอแบนติดผนัง มีคุณพยาบาลใช้ iPad แต่ประสบการณ์โดยรวมยังเหมือนๆเดิม

ถ้าเปรียบเทียบให้เห็นภาพผมคิดว่าประสบการณ์ในการไปธนาคารมีการเปลี่ยนแปลงเยอะกว่ามาก จากเบิกเงินที่สาขา เป็นกด ATM จนมาถึงปัจจุบันที่เราโอนเงินผ่านมือถือขณะที่นอนอยู่บนเตียงได้เลย

ผมก็มานั่งคิดว่า ทำไม Healthcare industry ถึงแข็งแกร่งได้ถึงเพียงนี้ ผมว่ามีสาเหตุมากมายครับ แต่ผมอยากยกตัวอย่างหนึ่งที่คิดว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญ และคิดว่าถ้าหลายๆท่านอยากเข้ามาพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมนี้ควรเข้าใจ

อยากไปเร็วไปคนเดียว อยากไปไกลไปด้วยกัน แต่ถ้ามีหลายคนเกินไป……อาจไม่ได้ไปไหนเลย

ในอุตสาหรกรรมอื่นๆ นั้น บริษัท Tech-Startup สามารถทำ Product ที่ให้ผู้ใช้ (User) ใช้ได้โดยตรง สามารถปล่อย Product ออกมาให้ทดลอง เมื่อมีข้อผิดพลาด ก็รีบทำการแก้ไข พัฒนา แล้วนำสู่การปล่อย Product รอบถัดไป หรือที่เราเรียกกันว่า Lean Startup นั่นเอง

แต่สำหรับ Healthcare มีความแตกต่าง เพราะเรามี

(too) Many Stakeholders !

ใช่แล้วครับ ใน Healthcare เรามี “ผู้เล่น” มากมาย นอกจาก Startup กับ User แล้ว ยังมี โรงพยาบาล (Hospital), แพทย์-พยาบาล (Service provider), ประกัน (Insurance),รัฐบาล (Government) ฯลฯ

เปรียบเทียบง่ายๆ เหมือนเราชวนเพื่อนไปเที่ยว

ถ้าเราจะจัดทริปแล้วมีเพื่อนไปกับเราแค่สองคน การวางแผน การทำนัด ก็มักจะใช้เวลาไม่นานนัก ตกลงที่หมายที่จะไป นัดวันว่าง แล้วก็ออกลุย

แต่

ลองนึกถึงเวลาที่เราต้องนัดเพื่อนทั้งกลุ่มซัก 6 คนไปเที่ยวพร้อมกันสิครับ คุณจะเห็นภาพความโกลาหลทันที คนนั้นไม่ว่างวันนี้ ไม่อยากตื่นเช้า คนนั้นไม่กินอันโน้น ไม่นอนแบบนี้ และแน่นอนครับ ทุกคนคงมีประสบการณ์ตรงคือ ทริป มันมักล่ม อยู่เสมอๆ นอกไปจากนั้น …..

Government / Regulator

ไอ้เพื่อนของเราในกลุ่มก็คือ พี่รัฐบาล (Government) หรือ ผู้คุมกฎ (Regulator) ซึ่งเปรียบได้กับ เพื่อนที่ยากและเยอะ คืออันนั้นก็ไม่เอา อันนั้นก็ไม่ได้ เรียกได้ว่าหลายครั้งที่ทริปล่มเพราะมีเพื่อนแบบนี้ในกลุ่ม

บางทริปเราอาจจะไม่สนใจเพื่อนคนนี้ คือไปเที่ยวเลย เดี๋ยวถ้ามันดูสนุก เดี๋ยวค่อยมาชวนมันไปด้วย ผมยกตัวอย่างเช่น Airbnb, Uber ที่ไม่ต้องสนเพื่อนคนนี้ก่อน build ให้ทริปมันสนุก แล้วค่อยมาง้อทีหลัง

สำหรับทริปของ Healthcare นั้นเราไม่สามารถทำแบบนั้นได้ ถ้าทำแบบนั้น สุดท้ายก็จะออกมาในทริปที่ Theranos พึ่งประสบไป แต่มันมีเหตุผลนะครับว่าทำไมต้องเป็นอย่างนั้น เดี๋ยวจะกล่าวต่อไปครับ

ทำอย่างไรดี ?

ทีนี้หลายคนอ่านแล้วอาจรู้สึกดาร์กๆ ว่าถ้าเราใจรัก อยากเข้ามาแก้ไขปัญหา Healthcare เราควรทำหรือไม่ ? ผมคิดว่าเราสามารถทำได้นะครับ แต่เราต้องเข้าใจกฎกติกากันซักเล็กน้อยครับ

3P : Policy + Partnership + Perseverance

3P นี้ผมอ้างอิงจากหนังสือเรื่อง Third wave : ที่เขียนโดย Steve Case ผู้ก่อตั้ง AOL นะครับ เป็นหนังสือที่ดีมาก เพราะเขาได้อธิบายว่า อุตสาหกรรม ที่ยังไม่ถูก disrupt นั้นคืออุตสาหรรมที่มี Regulator เช่น Healthcare, Education, Agriculture ฯลฯ กลุ่มอุตสาหรรม เหล่านี้ไม่สามารถใช้วิธีการทำธรุกิจแบบที่ Second wave ทำ โดยเขาสรุปเป็น 3 P ที่ควรทำความเข้าใจ (และยอมรับ)

policy

เราต้องมีความเข้าใจก่อนว่า “กฎ” ทุกอย่างนั้นถูกออกแบบ และมีขึ้นมาเพื่อการดี เพราะเรื่องของ Healthcare เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิต ไม่ใช่เรื่องที่จะมาทดลอง ทำอะไรเล่นๆได้ ดังนั้นเราต้องยอมรับเลยว่า ถ้าจะเข้ามาเล่นเกมส์นี้ เราต้องเล่นภายในกฎนี้ ไม่ควรจะออกมาบ่นๆ งอแง โทษรัฐบาล โทษกระทรวง ว่าเต่าตุ่น ไดโนเสาร์ (ซึ่งจริงๆก็คงมีส่วนจริงอยู่บ้าง) ไม่งั้นมันก็เหมือนนักกีฬาฟุตบอลที่งอแงอยากใช้มือจับบอลแล้วเถียงกรรมการ

แต่ผมคิดว่า “กฎ” นั้นสามารถเปลี่ยนแปลงได้นะครับ เพราะถ้าเราสามารถพิสูจน์ได้ว่ามันดีต่อผู้ใช้ ซึ่งมันอาจใช้เวลาหน่อย แต่มันเป็นไปได้นะครับ เดี๋ยวในช่วงท้ายจะมายกตัวอย่างให้ฟังต่อ

Partnership

ด้วยลักษณะที่ว่ามานั้น การเข้ามาเพื่อพัฒนา จะเป็นในรูปแบบการจับมือเพื่อต่อยอด เพื่อสร้างเสริมกันต่อ มากไปกว่าการเข้ามา “แทนที่” และ Steve Case ก็เน้นอยู่ว่า ไอ้ Partnership ที่ต้องมีก็คือกับรัฐบาล และผู้คุมกฎนี่แหละ ไอ้แบบจะมาลุยเดี่ยวๆแล้วเป็นผู้ชนะเลย เป็นเรื่องที่ยากมากๆ

และโดยส่วนใหญ่แล้ว ผู้ซื้อรายใหญ่สุด ก็มักจะหนีไม่พ้นรัฐบาลเช่นกัน ถ้าอเมริกาก็คือ Medicare

Perseverance

จากลักษณะของธรุกิจ Healthcare ที่ผ่านมาทำให้คุณต้องทำใจ และ เข้าใจเลยว่า คุณต้องอึด ต้องรอ ดังนั้นนี่คงไม่ใช่เกมเร็วที่แบบว่า เข้ามา 2–3 ปีแล้วจะขอ Exit อะไรแบบนั้น ว่ากันว่าใน Health-tech industry นั้นอาจต้องใช้เวลา 10 ปีขึ้นไปเป็นอย่างน้อย

Health-tech Startups are coming to town

ฟังดูแล้วอาจดูหม่นหมองเล็กน้อยใช่ไหมครับ ทีนี้ผมอยากชวนมาดูแนวโน้มที่น่าสนใจกันบ้างครับ

จะเห็นได้ว่าช่วงห้าปีที่ผ่านมานั้นในอเมริกามีการลงทุนเพิ่มใน Health-tech อย่างก้าวกระโดด ซึ่งมันมีที่มาอยู่บ้างนะครับ อันนี้ผมวิเคราะห์แบบบ้านๆเองล้วนๆนะครับ

ในช่วงสมัย Obama มีการปรับ Healthcare policy อยู่บ้างที่เขาเรียกรวมๆว่า Obamacare มีสองนโยบายที่ผมคิดว่ามีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของ Healthcare

1.ACO : Accountable care organization

ACO เป็นองค์กรที่ถูกจัดตั้งเพื่อเบิกจ่ายงบจาก Medicare (ภาครัฐ) โดยเน้นผูก KPI ต่างๆไว้กับ “คุณภาพ” ในการรักษา เช่น ถ้าคนไข้ Re-admit ลดลง, มี Complication ลดลง, โรงพยาบาลลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกได้ ก็สามารถเบิกเงินก้อนนี้ออกมาได้

ดังนั้นมันเป็นการเปลี่ยน incentive จาก fee for service ที่โรงพยาบาลยิ่งทำหัตถการเยอะ ยิ่งได้เงินเยอะ เป็น fee for value ซึ่งเน้นคุณภาพในการรักษาแทน ทำให้หลายองค์กรเริ่มมองหา Solution จาก Startup ในการเพิ่มคุณภาพในการรักษา

2. HITECH ACT

มีการเทงบประมาณ 30 Billion US เข้ามาเป็น incentive ถ้าโรงพยาบาลนำ Health IT เข้ามาใช้ จะสามารถเบิกเงินก้อนนี้ได้ ดังนั้นภายในเวลา 5 ปี การ Adotption of electronic health records เพิ่มจาก 10% ==> 70% (ใครบอกเงินแก้ปัญหาไม่ได้ ง่อวว )

เมื่อข้อมูลสุขภาพถูกปรับเปลี่ยนเป็น Digital มากขึ้นแล้ว กลุ่ม Digital health startup หรือ health-tech startup ก็สามารถนำข้อมูลไปต่อยอดและใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น

จะเห็นได้ว่าการขับเคลื่อนครั้งใหญ่ๆแบบนี้ มีปัจจัยหนุนมากจาก Policy ที่เปลี่ยนแปลง

3.Money Flow

นอกจากนี้ผมคิดว่ายังมีปัจจัยอื่นๆอีกเช่น เงินลงทุนจากผู้ประกอบการ หรือ นักลงทุนใน Startup รุ่นก่อนที่ Exit ได้ถูกโยกมาลงที่ industry นี้ เนื่องจากสมรภูมินี้ยังไม่มีผู้ชนะ (คงไม่มีใครอยากเอาเงินไปลงทุนสร้าง Social network แข่งกับ Facebook แล้ว ) และ Health care ยังมีปัญหา และ ความท้าทายรอให้แก้อีกเพียบ (ลองจินตนาการเรื่องที่เราหงุดหงิด เมื่อต้องไปหาคุณหมอดูสิครับ)

ปัจจัยหนุนหลายๆอย่างนี้ ทำให้มี Health-tech startup เกิดขึ้นอีกมากมาย

Exit ! — Success story

ปัจจัยหนุนอีกอย่างที่ทำให้ Health-tech Startup เติบโตก็เพราะมีจำนวนการ Exit ของ Startup ที่สูงขึ้นในช่วงปีหลังๆ โดยเฉพาะในปี 2014 ที่มีหลายบริษัทมาก

ข้อที่น่าสังเกตุคือ สัดส่วนในการ Exit นั้นเป็นการควบรวม (M&A = Mergers and Acquisitions) มากกว่าการเข้าตลาด (IPO = initial public offering) เป็นอย่างมาก ซึ่งอาจมองได้ว่า M&A ก็คือการ Partnership แบบหนึง อาจเป็นเส้นทางหลักของการ exit ของ Healthcare industry ก็เป็นได้

(จริงๆมีการ Exit อีกแบบที่เขาไม่ได้ระบุไว้คือการ เจ๊ง นั่นเองฮะ)​

ถ้าผู้ที่เข้ามาควบรวม หรือ ลงทุนในกลุ่ม Health tech Startup ส่วนใหญ่คือ บริษัทยา บริษัทประกัน เครือโรงพยาบาล เพราะกลุ่มนี้ได้ lesson learn จาก industry อื่นๆที่ถูก Startup disrupt แล้วเขาเข้าใจว่าต้องมี Digital transfomation (น่าจะเป็นคำฮิตในปีนี้ในบ้านเราอย่างแน่นอน) แต่ด้วยโครงสร้างบริษัทแบบเดิมๆอาจเกิดขึ้นยาก ดังนั้นการไป Partner กับ Startup ที่มี Innovation นั้นอาจง่ายและเร็วกว่า

กลุ่มบริษัทยาที่มาลงทุนใน Tech Startup company

ประเทศไทย 4.0

อ้างอิงจาก Health tech startup Thailand group : จัดทำโดยคุณขัวญ : Smart healthcare และ คุณแบ๊งค์ Block MD

สำหรับประเทศไทยเรานั้น วงการ Health-tech startup ยังเพิ่งเริ่มต้นขึ้น มีคนภายในวงการ ผันตัวเข้ามาทำ Startup มากขึ้น และมีสายเทคนิคัล ได้โดดนำความรู้จากอุตสาหกรรมอื่นๆ เข้ามาเพื่อร่วมแก้ไขเช่นกัน

พี่กระทิง พูนผล เคยกล่าวไว้ว่า เมืองไทยเราตอนนี้ก็คงจะคล้ายๆ Silicon Valley day 1 แต่ด้วย Ecosystem ของไทย และ บริบท ว่าเราคงจะต่างจาก US หรือประเทศอื่นๆอย่างแน่นอน ทั้งเรื่องจำนวนประชากร ภาษา (อันนี้สำคัญมาก) ซึ่งรัฐบาลไทยควรดูแบบอย่างของรัฐบาล US ในการ support startup ecosystem ให้เกิดขึ้น ซึ่งสิ่งที่รัฐบาล US ทำดีที่สุดในการสนับสนุนคือ

a) change the regulation to support tech

b) do nothing for the rest just keep coffee warm n leave the room

(ขอบคุณข้อมูลจากพี่กระทิงครับ ^^ )

สิ่งหนึ่งผมมั่นใจมากคือ Healthcare มันจะถูกเปลี่ยนแปลงในยุคนี้ ก่อนผมแก่นี่แหละครับ แต่มันจะเปลี่ยนโดยคนไทยเราเอง ( คืออาจจะไม่ใช่ Startup เปลี่ยนก็ได้ แต่เป็นตัว corporate เดิมสร้าง innovation ขึ้นมา) หรือ มันจะเป็นท่าแบบที่บริษัทข้ามชาตินำ Solution เข้ามาให้เราซื้อ….เช่นที่เคยเป็นๆกันมา

โดยส่วนตัวผมเชื่อว่า รอบนี้มันน่าจะเป็นตาของเราบ้างนะครับ เราอาจจะได้ส่งออก solution ไปให้คนอื่นเขาใช้กันบ้าง เพราะจากประวัติศาสตร์การแพทย์เมืองไทย ถือว่ามีการพัฒนาที่โดดเด่น เรายังมี innovation ที่น่าภูมิใจเช่น อสม หรือ ระบบประกันสุขภาพทั่วหน้า ( อันนี้ผมคิดว่า concept มันจ๊าบมาก แต่การ execution ดูไม่ค่อยงามเท่าไหร่)

NEXT Action

ว่าแต่จะเขียนบทความขึ้นมาเฉยๆ โม้โน้นนี่ ไปเรื่อยคงไม่ได้มีประโยชน์เท่าไหร่ ผมมีแนวคิดเกี่ยวกับ Health-tech startup เมืองไทยดังนี้ครับ

#Policy -> Think Big, Act small but FAST

ถ้าท่านผู้อ่านมีส่วนในการกำหนดนโยบาย เป็น Regulator ผมคิดว่าการเปลี่ยนนโยบายแบบเฉียบพลันคงยาก แต่อยากให้นำหลักการ Lean startup มาใช้ครับ คือทำ Prototype ขึ้นมาทดสอบก่อน ลองทำ Sandbox สำหรับ Startup ให้ทดลอง Solution กันในพื้นที่เล็กๆ Sample น้อยๆที่ควบคุมได้ก่อน ถ้ามันพิสูจน์ได้ก็ค่อยนำไปขยายผล เพราะถ้าตั้งท่าว่าต้องตอบทุกคำถามให้ได้หมด ถึงค่อยอนูญาติให้ทำคงไม่ได้ทำเสียที

รพ.เจ้าพระยา.อภัยภูเบศร จับมือกับ Healthtech startup: Zeekdoc, RingMD

ตัวอย่างที่น่าสนใจคือ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ที่ นพ.โอฬาริก ได้ขับเคลื่อน โดยจับมือกับ Health-tech Startup ผมคิดว่าเป็นโมเดลที่น่าสนใจ และอยากให้ Healthcare provider อื่นๆลองนำแนวคิดนี้ไปใช้ได้ครับ

#Partnership -> You don’t have to do everything by yourself

มีอยู่สองสามอย่างที่ผมรู้สึกว่าเป็น Mindset ที่ทำให้มีคนเข้ามาแก้ไขปัญหา healthcare น้อยกว่าที่ควรจะเป็น

เขียนโปรแกรมไม่ได้ ?

หลายคนอาจเข้าใจว่าการทำ Startup นั้นจะต้องเขียนโปรแกรมได้ ซึ่งจริงๆถ้าเขียนได้ก็ดีนะครับ แต่ปัญหาในวงการ Healthcare นั้นไม่ได้ติดที่เรื่อง Technical เท่าไหร่นัก เราสามารถนำ Technology จากอุตสาหกรรมอื่นๆมาประยุกต์ใช้ได้ แต่สิ่งที่เป็นปัญหาหลักๆคือ Domain expert ที่เข้าใจปัญหานั้นอย่างจริงจัง และมันเป็นเรื่อง Know who > Know how

ดังนั้นถ้าท่านคิดว่าเราอินกับปํญหา มี insight ที่รู้จริงจัง แต่ไม่มีความรู้ด้าน Tech เท่าไหร่ ก็ลองมองหา Partnership กับผู้คนสาย Technical ได้ครับ เช่น Hatch ซึ่งเป็น Incubation ของ KMUTT มีน้องๆมากมายที่พัฒนา Healthcare technology แบบ Deep tech

ไม่มีเงิน ?

ปัจจุบันนี้มีหน่วยงานมาสนับสนุนเรื่องเงินทุนครับ เช่น สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ(NIA) หรือ ภาคเอกชนก็มี Accelerator ต่างๆที่ให้เงินทุน พร้อมบ่มเพาะ เช่น Dtac accelerateTrue incube และ AIS the startup (อันหลังเน้นการ Partnership ต่อยอดเป็นหลัก)

อย่าง Health at home ก็ได้เงินสนับสนุนก้อนแรกจาก NIA และจาก dtac Accelerate

#Perseverance : มันคือการวิ่งมาราธอน ไม่ใช่การวิ่งฟรุ๊งฟริ้ง

อย่างที่ได้กล่าวไว้ในตอนต้น เรื่อง Healthcare มันเป็นเรื่องใหญ่ เกี่ยวข้องกับชีวิต ดังนั้นมันต้องใช้เวลาในการพิสูจน์อย่างแน่นอน ถ้าเข้ามาแล้วก็ต้องเตรียมใจ เตรียม Runway ของตัวเองให้พร้อม (เงินทุน, ความเข้าใจกับคนรอบข้าง)

หวังว่าบทความนี้อาจมีประโยชน์กับทุกท่านไม่มากก็น้อยนะครับ ผมเชื่อว่า Healthcare industry ยังมีปัญหาอีกมากมายรอให้ทุกท่านแก้ครับ ถ้าคุณคิดว่ามันใช่ ก็เข้ามาลุยกันครับ

หนังสือแนะนำ

มีหนังสือสองเล่มที่อยากแนะนำถ้าใครสนใจเรื่อง Health-tech startup หรือ Digital healthcare

  1. The Third wave โดย Steve Case ผู้ก่อตั้ง AOL ได้เขียนบรรยายว่าโลกในยุค First wave แรกคือ Building internet infrastructure ผู้ชนะคือ AOL, CISCO, ORACLE ส่วน Second Wave คือยุคที่พึ่งผ่านมา คือการต่อยอดการใช้ Internet ผู้ชนะคือ Google, Facebook, Amazon และ Third Wave คือโลกหลังจากที่ทุกอย่างบนโลกถูกเชื่อมเข้าด้วยกัน ซึ่งจะเหลืออุตสาหกรรมที่ถูกควบคุม เช่น Healthcare, Education, Agriculture, Energy ฯลฯ ( ไว้มีโอกาสจะเขียนสรุปหนังสือเล่มนี้ซักครั้งนะครับ )​

2.The Digital Doctor โดย Robert Wachter เป็นแพทย์ของ UCSF Hospital เป็นผู้เริ่มต้นแพทย์สาขา Hospitalist (แพทย์เฉพาะทางที่ทำหน้าที่ดูแลคนไข้ในอย่างเดียว ) ผมอ่านแล้วคิดว่าเขาเป็นคนที่มีความเข้าใจเรื่องการแพทย์ และประวัติศาสตร์เทคโนโลยี ที่เล่าเรื่องได้ง่ายและสนุกดีครับ

เกี่ยวกับผู้เขียน

นพ.คณพล ภูมิรัตนประพิณ (ตั้ม)

อายุรแพทย์ และ ผู้ร่วมก่อตั้ง Health at home : บริการดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยที่บ้าน

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

รู้จัก เหลียง เหวินเฟิง CEO และผู้ก่อตั้ง Deepseek จากอดีตเฮดจ์ฟันด์ สู่ผู้ท้าทายยักษ์ใหญ่ AI โลก

รู้จัก เหลียง เหวินเฟิง ผู้อยู่เบื้องหลังของ DeepSeek จากอดีตผู้ก่อตั้งกองทุนเฮดจ์ฟันด์ สู่ CEO และผู้ก่อตั้ง Deepseek ที่พกความมุ่งมั่นและวิสัยทัศน์เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งส...

Responsive image

เปิดลิสต์ 3 ประเภท AI Startup ที่นักลงทุน VC สนใจมากที่สุดในปี 2025

ค้นพบ 3 ประเภท AI Startup ที่นักลงทุน VC ให้ความสนใจในปี 2025 ตั้งแต่โซลูชัน AI เฉพาะด้าน โครงสร้างพื้นฐาน AI ไปจนถึงระบบที่น่าเชื่อถือและยืดหยุ่น พร้อมโอกาสใหม่ในการสร้างธุรกิจที่...

Responsive image

วิเคราะห์บทบาท AI ด้านเศรษฐกิจและสังคม ผ่านมุมมองผู้เชี่ยวชาญจาก AI House ที่ดาวอส

ในการประชุม World Economic Forum (WEF) ที่จัดขึ้นที่ Davos นั้นหัวข้อสำคัญที่ได้รับความสนใจอย่างมากคือบทบาทของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขามาร่วมพูดคุยถึง...