วันนี้จะดูอะไรดี ? เลือกไปเลือกมาสุดท้ายไม่ได้ดู รู้จัก Streaming Fatigue “ยิ่งตัวเลือกมากยิ่งเหนื่อยใจ” | Techsauce

วันนี้จะดูอะไรดี ? เลือกไปเลือกมาสุดท้ายไม่ได้ดู รู้จัก Streaming Fatigue “ยิ่งตัวเลือกมากยิ่งเหนื่อยใจ”

เคยไหม ถึงแม้จะมี streaming หลายเจ้าในมือ แต่เลือกตั้งนานก็ไม่รู้จะดูอะไร? บริการที่ควรจะสร้างความสุข ความเพลิดเพลินและความสะดวกสบาย กลับกลายเป็นสิ่งที่ทำให้ต้องปวดหัวกว่าเดิมจนมองไม่เห็นความคุ้มค่าของมันอีกต่อไป เพราะว่าตัวเลือกที่เยอะไป ราคาแพงขึ้น คอนเทนต์น้อยลง นำไปสู่ปัญหา Streaming Fatigue หรือภาวะยิ่งตัวเลือกเยอะยิ่งเหนื่อยใจ 

แพลตฟอร์ม Streaming โตแรงแค่ไหนในช่วงที่ผ่านมา ? 

โมเดล Streaming ที่มาพร้อมจุดขายอย่างการ ‘ดูได้ทุกที่ ทุกเวลา’ ได้รับความนิยมไปทั่วโลก ยิ่งในช่วงการระบาดของโควิด-19 ธุรกิจ Streaming Platform ก็เติบโตแบบก้าวกระโดด ส่งผลให้ผู้บริโภคมีตัวเลือกมากมายและก้าวสู่ยุคทองของธุรกิจ ยกตัวอย่างชื่อที่คุ้นหูเช่น Netflix Hulu Disney+ Amazon Prime ฯลฯ 

การเข้ามาของ Streaming Platform ส่งผลให้การรับชมสื่อค่อยๆ เปลี่ยนไปทั่วโลก อ้างอิงจาก Nielsen ในเดือนกรกฎาคมปี 2023 การรับชมสื่อผ่าน Streaming Platform แซงหน้าการรับชมผ่านช่องโทรทัศน์สาธารณะและช่องเคเบิล ด้วยอัตราส่วน 38.7% 20% และ 29.6% ตามลำดับ 

แพลตฟอร์มทุกเจ้าล้วนนำเสนอคอนเทนต์ทั้งสดใหม่และหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ ซีรีส์ วาไรตี้ สารคดี ฯลฯ เพื่อดึงดูดฐานผู้ใช้งาน ด้วยค่าบริการที่จับต้องได้ ในสหรัฐฯ 99% ของครัวเรือนทั้งหมดชำระค่าบริการสตรีมมิงอย่างน้อยหนึ่งเจ้าเป็นต้นไป

สำหรับประเทศไทย ปัจจุบันมี Streaming Platform หลากหลายเจ้าที่ทำตลาดในประเทศและมีกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกันไปเช่น กลุ่มคอนเทนต์สายตะวันตก อย่าง Netflix Disney Hotstar HBO GO กลุ่มคอนเทนต์สายเอเชีย อย่าง Viu WeTV IQIYI Youku เป็นต้น ด้วยคู่แข่งที่มีมากขึ้นเช่นกันทำให้ความพยายามแย่งฐานลูกค้ากันอย่างดุเดือด ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มคอนเทนต์ที่น่าสนใจมากขึ้น โปรโมทในช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ มากขึ้น

Streaming Fatigue เพราะอะไร? 

มีตัวเลือกมากเกินไป

เพราะว่าหลายๆ บ้านเลือกที่จะสมัครทิ้งไว้หลายแพลตฟอร์ม แต่การสมัครหลายเจ้ามากเกินไป ทำให้กว่าจะได้ดูหนังหรือซีรีส์สักเรื่อง กลับใช้เวลานานกว่าเดิมจนทำให้ไม่อยากดู เบื่อ และเหนื่อยล้า หมดอารมณ์ที่จะเลือกต่อ เพราะยิ่งมีทางเลือกมากเท่าไร การค้นหาสิ่งที่ต้องการรับชมก็ยิ่งยากขึ้นเท่านั้นและเป็นสาเหตุหลักของ Streaming Fatigue

นอกจากนี้เลือกดูจากหลายแพลตฟอร์มยังสร้างพฤติกรรม Binge-watching หรือ พฤติกรรมเสพติดจนหยุดดูไม่ได้ นอกจากจะทำให้พักผ่อนไม่เพียงพอแล้ว ยังส่งผลต่อการทำกิจกรรมอื่นๆ ในชีวิตประจำวันอีกด้วย

เศรษฐกิจโลกซบเซา

เมื่อตัวเลือกมากเกินไปไม่ใช่สาเหตุเดียว แต่เพราะเศรษฐกิจซบเซาทั่วโลกนับตั้งแต่ Covid-19 ไปจนถึงปัญหาความตึงเครียดทางรัฐภูมิศาสตร์ ยิ่งทวีความรุนแรงทำให้ค่าครองชีพในแต่หลายประเทศเพิ่มสูงขึ้น และจากการสำรวจของ Capterra 76% รู้สึกว่าความตึงเครียดด้านค่าใช้จ่ายส่งผลให้คนรู้สึกหมดไฟกับการจ่ายค่าบริการ Streaming Platform

ตัวอย่างเช่น ในปี 2022 ปัญหาค่าครองชีพสูงในอังกฤษ ส่งผลให้ชาวอังกฤษเกินครึ่งล้านคนเลือกที่จะตัดการเป็นสมาชิก Streaming Platform เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นและนำเงินไปใช้จ่ายในสภาวะที่ค่าครองชีพสูง

ทั้งเข้มงวด ทั้งแพงขึ้น แต่คอนเทนต์กลับน้อยลง 

ภายใน Streaming Platform เองก็เจอกับปัญหาหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น แรงกดดันจากนักลงทุนในการทำกำไร รวมถึงการประท้วงค่าแรงของกลุ่มผู้ผลิตภาพยนตร์ทำให้ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายมากขึ้น 

ส่งผลให้ Streaming Platform เลือกที่จะปรับตัวด้วยการลดการผลิตคอนเทนต์ใหม่ๆ นอกจากนี้ยังเพิ่มราคาค่าบริการรายเดือนและเข้มงวดกับการแชร์รหัสภายในครัวเรือนมากขึ้น ซึ่งแลกมาด้วยผู้สมัครสมาชิกที่ค่อยๆลดลงเรื่อยๆ โดยในปี 2023 ปีเดียวมีรายงานชี้ว่ามีผู้ยกเลิกสมัครสมาชิกลงถึง 45% จากราคาที่ปรับสูงขึ้น แต่ด้วยโมเดลนี้ทำให้แพลตฟอร์ม ยังสามารถสร้างกำไรได้ตามเป้าแม้ผู้ใช้งานจะลดลงก็ตาม

ความนิยมของวิดีโอสั้นเข้าแทนที่

ในช่วง Covid-19 นอกจาก Streaming Platform จะได้รับความนิยมแล้ว ยังมีเทรนด์ Short Video ที่ได้รับความนิยมสูงอย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกัน เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่นิยมชมคลิปสั้นๆ มากขึ้น เพราะสามารถดูได้ตลอดเวลาไม่ว่าจะเป็นช่วงพักสั้นๆ ระหว่างการเดินทาง ซึ่งช่วยให้อัพเดทข้อมูลใหม่ๆ ได้รวดเร็วภายในไม่กี่นาที 

นอกจากนี้ จากการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์และนักจิตวิทยาตลอด 20 ปี ที่ผ่านมา พบว่าระยะเวลาที่สามารถจดจ่อได้หรือ Attention Spans ลดลงจาก 2 นาทีครึ่ง เหลือเพียง 45 วินาทีเท่านั้น เป็นสาเหตุว่าทำไมแพลตฟอร์มวิดีโอสั้น เช่น TikTik Instagram Reels และ Youtube Short ถึงได้รับความนิยมอย่างก้าวกระโดด โดยในระหว่างปี 2020-2024 TikTok มีผู้ใช้งานเพิ่มสูงถึง 435 ล้านคน ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่า 93.4% จากเดิมและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

Back To Basic ด้วย DVD

หลายคนอาจคิดว่า DVD กลายเป็นอดีตไปแล้ว แต่รู้หรือไม่ว่า หลายๆ คนหันมานิยมวิธีดูหนังแบบดั้งเดิมด้วย DVD อีกครั้ง โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา มีการแนะนำแหล่งซื้อแผ่นราคาถูก หวังช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย และทำให้สามารถเข้าถึงความบันเทิงได้ในราคาที่ย่อมเยาหากเลือกเพียงเรื่องที่สนใจเท่านั้น จึงเป็นอีกทางเลือกที่ช่วยลดการเผชิญกับปัญหา Streaming Fatigue 

ซึ่งวิธีนี้มีข้อดีอาทิ สามารถเลือกดูภาพยนตร์ได้ตามต้องการ หมดกังวลเวลาไม่มีอินเทอร์เน็ต ให้ความรู้สึกเป็นเจ้าของ สามารถสะสมแผ่นภาพยนตร์ที่ชื่นชอบได้ อีกทั้ง DVD ยังให้ภาพคมชัดกว่าใน Streaming Platform รวมถึงเนื้อหาพิเศษในแผ่นที่อาจจะหาไม่ได้ที่อื่น นอกจากนี้ราคายังสามารถจับต้องได้ ทำให้สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้ตามต้องการ

แต่อย่างไรก็ตามก็ต้องแลกมาด้วยความไม่สะดวกในการใช้งานเช่น ต้องใช้เวลาตามหาแผ่นที่ต้องการ ปัญหาที่เก็บแผ่นไม่เพียงพอ ต้องใช้เครื่องเล่น DVD ในการใช้งานในแต่ละครั้ง นอกจากนี้ตัวเลือกภาพยนตร์ใหม่ๆ อาจจะหาดูได้ยากกว่า เป็นต้น

ดังนั้นเมื่อพิจารณาทั้งหมดแล้วการเลือกดูจาก DVD อาจจะแพงกว่าการสมัคร Streaming Platform ได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม DVD ก็ยังคงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ ของผู้บริโภคในการปรับตัวต่อสู้กับภาวะ Streaming Fatigue ที่เกิดขึ้น

แล้วคุณล่ะ คิดว่าจะแก้ปัญหา Streaming Fatigue ได้ยังไง? 

อ้างอิง: theverge, forbes, Spiceworks, bot.or, commonslibrary, Capterra, latimes, Investors, Insysvideotechnologies, verizon, Nielsen, northeastern.edu


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ท่องเที่ยวไทยมีดี แต่ SME ยังไม่พร้อม ?

ธุรกิจท่องเที่ยวจะปรับตัวยังไง เมื่อเจอความท้าทายรุมล้อม ไม่ว่าจะเป็นการปรับใช้เทคโนโลยีในธุรกิจ การรับมือธุรกิจจีนที่เข้ามารุกตลาด และการสร้างบริการท่องเที่ยวให้ตอบโจทย์นักเดินทาง...

Responsive image

อินโดนีเซีย เปิดรับเทคโนโลยีอย่างไร เพื่อสร้างเศรษฐกิจยุคใหม่ ถอดบทเรียนจากงาน Bali International Airshow

อินโดนีเซีย กลายเป็นประเทศเนื้อหอมที่บิ๊กเทคฯ ต่างประเทศแห่เข้าไปลงทุนมากมาย ซึ่งหากนับแค่ช่วงครึ่งแรกของปี 2023 เพียงปีเดียวอินโดนีเซียสามารถสร้างมูลค่าถึง 34,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ...

Responsive image

รู้จัก “Phygital” การตลาดยุคใหม่แห่งอนาคต ผ่านเทคโนโลยี Immersive Experience ของ Translucia

Techsauce จึงอยากพาไปทำความรู้จักกับเทคโนโลยี ‘โลกเสมือน’ ผ่านหนึ่งในผู้เล่นคนสำคัญอย่าง Translucia บริษัทเทคโนโลยีที่พัฒนา Immersive Experience ซึ่งเป็นแนวคิดที่จะเปลี่ยนวิธีการเ...