ส่องกระแส ChatGPT เทคโนโลยีเปลี่ยนโลก | Techsauce

ส่องกระแส ChatGPT เทคโนโลยีเปลี่ยนโลก

ตั้งแต่ ChatGPT ถูกเปิดตัวในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 มีกระแสการพูดถึงแชทบอทตัวนี้อย่างล้นหลามในหลายแวดวง เนื่องมาจาก ChatGPT มีระบบ AI ที่สามารถหาคำตอบให้คู่สนทนาได้อย่างรวดเร็ว ด้วยภาษาที่เป็นธรรมชาติและสามารถตอบคำถามที่ซับซ้อนได้ โดยระบบจะรวบรวมข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตทั่วโลก แล้วทำการประมวลผลเพื่อหาคำตอบให้แก่ผู้ใช้ ทำให้มีการพูดถึงความฉลาด และการนำความสามารถของ ChatGPT มาใช้ประโยชน์ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อหลากหลายอุตสาหกรรมในวงกว้าง

บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด จึงได้ทำการเก็บข้อมูลตั้งแต่ 27 พฤศจิกายน 2565 ถึง 12 มีนาคม 2566  ผ่านเครื่องมือ ZOCIAL EYE  พบว่ามีเอ็นเกจเมนต์ทั้งสิ้น 1,811,162 เอ็นเกจเมนต์และมีข้อความที่พูดถึง ChatGPT 12,452 ข้อความ โดยพบเอ็นเกจเมนต์มากที่สุดในช่องทาง Facebook คิดเป็น 50.82%, Twitter คิดเป็น 28.65%, อื่นๆ ได้แก่ ช่องทางข่าว (News), Youtube, Instagram, และ Forum ตามลำดับ

พฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดียเกี่ยวกับ ChatGPT ชัดเจน

จากรูป จะเห็นได้ว่า หลังจากเปิดตัว ChatGPT เอ็นเกจเมนต์ที่เกิดขึ้นจะสูงขึ้นอย่างรวดเร็วผ่านช่องทาง TikTok จากนั้น เริ่มมีการพูดถึงความเคลื่อนไหวในแวดวงเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับ ChatGPT ผ่านช่องทาง Facebook มากเป็นอันดับหนึ่ง สอดคล้องกับการเป็นโซเชียลมีเดียที่มีจำนวนผู้ใช้งาน (Active User) สูงที่สุด* เมื่อเทียบกับช่องทางอื่นๆ ส่วน Twitter ข้อความพูดถึงเรื่องของการแชร์ประสบการณ์ที่ได้จากการใช้ ChatGPT โดยผู้ใช้งาน Twitter ที่ส่วนมากเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ มีความสอดคล้องกันกับช่วงอายุในข้อมูล Demographics คือ ผู้ที่อายุ 18-34 สูงถึง 78% นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้ที่ให้ความสนใจกับเทคโนโลยีแชทบอทตัวใหม่นี้เป็นผู้ชาย 73% และผู้หญิง 27%

ช่วงแห่ง Earned Media กระแสการทำความรู้จัก และบอกต่อ 

หากพิจารณาเอ็นเกจเมนต์หลังเปิดตัวในช่วงกลางเดือนมกราคม 2566 มีการพูดถึงความสามารถของ ChatGPT จากสื่อต่างประเทศ แล้วอินฟลูเอ็นเซอร์ (Influencer) ประเทศไทยจึงนำมาขยายต่อ เช่น การที่แชทบอทตัวนี้สามารถสอบใบอนุญาตทางการแพทย์ของอเมริกาได้ถูกต้องถึง 60% ซึ่งโดยปกติ คะแนนเฉลี่ยของผู้สอบผ่านจะอยู่ที่ 60% จึงจัดว่า ChatGPT สามารถสอบเป็นหมอได้ อีกทั้ง แชทบอทตัวนี้ยังสามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัย Wharton ของสหรัฐอเมริกาได้ รวมไปถึงข่าว Microsoft เพิ่มทุนซื้อหุ้น ChatGPT จาก 1 พันล้านดอลลาร์ เป็น 1 หมื่นล้านดอลลาร์

จากนั้น ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2566 มีการพูดถึง ChatGPT ที่อาจส่งผลกระทบอย่างสูง (Distruption) กับการค้นหาข้อมูลผ่าน Google (Google Search) Google จึงออกมาแถลงในบล็อกว่า แท้จริงแล้ว Google เองก็มี AI แบบเดียวกันที่ชื่อว่า Bard ซึ่งเตรียมจะเปิดตัวเร็วๆ นี้ รวมถึง Baidu ที่ประกาศแชทบอทของตน ‘Ernie Bot’ ซึ่งจะทดสอบเสร็จสิ้นภายในมีนาคมนี้เช่นกัน

ในช่วงเดียวกันนี้เอง อินฟลูเอ็นเซอร์ในไทยก็มีการทดลองใช้และแชร์ประสบการณ์ของตนผ่านสื่อต่างๆ โดยเฉพาะใน Twitter ไม่ว่าจะเป็น การให้ ChatGPT ตัวนี้แก้แกรมม่า ปรับรูปประโยคใหม่ด้วยอารมณ์ในการเขียนแบบต่างๆ เช่น เขียนแบบเป็นทางการ หรือเขียนแบบสุภาพแต่ต้องมีความสนิทชิดเชื้อ การแปลงภาษาของมนุษย์เป็นโค้ดโปรแกรมคอมพิวเตอร์ การแต่งเพลง การดูดวงด้วยศาสตร์ดูดวงดังของโลก และการปรึกษาในเชิงจิตวิทยา

นอกจากนี้ เริ่มมีการกล่าวถึงการใช้ประโยชน์จาก ChatGPT ที่เริ่มพลิกแพลงมากยิ่งขึ้น จากการพัฒนา ChatGPT ให้มีขีดความสามารถสูงขึ้น เช่น การที่นักเขียน 500 คน ใช้ ChatGPT เขียนบทความ และมีวางขายใน Amazon กว่า 200 เล่ม หรือการผนวก ChatGPT เข้ากับแพลทฟอร์มอื่น เพื่อสร้างโครงการที่สามารถโต้ตอบ และเห็นจำนวนผู้เสียชีวิตได้ในโลกจักรวาลนิรมิต (Metaverse)

จากกระแสการพูดถึง ChatGPT ในไทย พบว่า 73% พูดด้วยความรู้สึกเป็นกลาง แต่ผู้ที่พูดถึงในเชิงบวก (Positive) หรือเชิงลบ (Negative) ยังมีจำนวนใกล้เคียงกัน คือ 13% และ 14% ตามลำดับ 

โดยผู้ที่พูดถึงในเชิงบวก (Positive) จะเป็นการพูดในเชิงประโยชน์ และความสามารถของ ChatGPT ไม่ว่าจะเป็นความสะดวกในการหาคำตอบที่ไวกว่า Google Search การช่วยวางแผนงาน และลดเวลาในการทำงาน การช่วยในงานเขียน การเป็นที่ปรึกษาทางด้านธุรกิจ กฎหมาย และจิตใจ การช่วยวิเคราะห์ข้อมูล การช่วยเขียนโค้ด ไปจนถึงการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ เช่น การแต่งเพลง การแต่งนิยาย การเขียนบทภาพยนตร์

ส่วนผู้ที่พูดถึงในเชิงลบ (Negative) จะเป็นเรื่องของความสามารถที่อาจใช้ทดแทนแรงงานมนุษย์ได้ และการนำ ChatGPT ไปใช้ในทางที่ผิด เช่น การทำการบ้านแทน การที่เด็กใช้ ChatGPT จนขาดการฝึกคิดวิเคราะห์ การที่สแกมเมอร์ ใช้ ChatGPT ช่วยคิดวิธีหลอกลวงผู้อื่น การช่วยแฮ็กเกอร์ แฮ็กโปรแกรม เกม หรือการที่ ChatGPT เริ่มตอบแบบมีอารมณ์และความรู้สึกคล้ายมนุษย์ ซึ่งทำให้ ChatGPT ดูน่ากลัว หากทำอะไรให้ไม่พอใจ

แบรนด์ไม่รอช้า พากันเกาะกระแส ChatGPT

ล่าสุด แบรนด์เริ่มเกาะกระแส ChatGPT เพื่อช่วยในเรื่องการทำการตลาด โดย McDonald’s เปิดตัวไก่ทอดรสชาติใหม่ตามคำตอบที่ได้จาก ChatGPT ในคำถามที่ว่า ไก่ทอดที่สมบูรณ์แบบ ต้องเป็นอย่างไร? แล้วแบรนด์ก็ผลิตไก่ทอดที่มีลักษณะเช่นนั้น!  

เราได้เห็นกระแสเกี่ยวกับ ChatGPT จากสื่อและอินฟลูเอ็นเซอร์ไปไม่น้อยแล้ว เป็นที่น่าติดตามต่อไปว่าเทคโนโลยี ChatGPT หรือที่ Microsoft ได้อัปเกรดเป็น GPT-4 ซึ่งทรงพลังยิ่งกว่าเดิม  จะเปลี่ยนโลกได้จริงไหม? บอกเลยว่า….รอชม!

อ้างอิง:

*Facebook เป็นสื่อโซเชียลมีเดียที่มีผู้ใช้ (Active User) 37% จัดเป็นอันดับ 1 ในประเทศไทยข้อมูลจาก We are social https://datareportal.com/reports/digital-2023-thailand




ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

รู้จัก LLMs’ Explainability การเข้าใจกลไกสมอง AI หนึ่งใน Tech Trends 2025 ที่จะมาเปลี่ยนโลกเอไอ

เจาะลึกเบื้องหลัง Large Language Models (LLMs) และเทคโนโลยี LLMs’ Explainability ที่ช่วยเปิดเผยกระบวนการทำงานของ AI จากกล่องดำสู่ความโปร่งใส ความก้าวหน้าที่เปลี่ยนโลก AI ในอนาคต!...

Responsive image

รู้จัก AI Product Management สายงานที่ Andrew Ng ชี้มาแรง

สำรวจบทบาท AI Product Management และเหตุผลที่ Andrew Ng ยกให้เป็นตำแหน่งสำคัญในการขับเคลื่อนผลิตภัณฑ์ AI ตั้งแต่การพัฒนาแนวคิดจนถึงการนำไปใช้งานจริง...

Responsive image

เปิดกลยุทธ์ธุรกิจยุคใหม่ พลิกข้อมูล สู่ขุมทรัพย์ด้วย analyticX ด้วยพลัง Telco Data Insights และ GenAI

ยุคนี้ใคร ๆ ก็พูดถึง Data แต่จะใช้ Data อย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่างหากคือกุญแจสำคัญ! ในสัมมนาสุดเอ็กซ์คลูซีฟ "Unlocking Data-Driven Decisions with Telecom Data Insights" ที่จั...