ยิบอินซอย ทำอย่างไรถึงเป็นบริษัทไอทีที่อยู่มาเกือบ 100 ปี กับเป้าหมายใหม่โตต่อเนื่องไปอีกศตวรรษ | Techsauce

ยิบอินซอย ทำอย่างไรถึงเป็นบริษัทไอทีที่อยู่มาเกือบ 100 ปี กับเป้าหมายใหม่โตต่อเนื่องไปอีกศตวรรษ

‘ยิบอินซอย’ (Yip In Tsoi) ชื่อของบริษัทเก่าแก่ที่อยู่คู่คนไทยมาเกือบ 100 ปี ทำมาหลายอย่างหลายอุตสาหกรรมจนทำให้คนอาจรู้จักกันไปในคนละมุม

แต่แท้จริงแล้ว ยิบอินซอย ถือเป็น ‘บริษัทไอที’ รุ่นเก๋าที่ทำงานอยู่หลังบ้าน ทำหน้าที่เชื่อมโยง และวางระบบดิจิทัลให้กับองค์กรต่างๆ มานับไม่ถ้วนในฐานะ ‘System Integrator (SI)’ เปรียบเสมือนกระดูกสันหลังอีกหนึ่งชิ้นที่เชื่อมต่อระบบสำคัญในอุตสาหกรรมหลักของประเทศ เช่น ไอที ธนาคาร สาธาณูปโภค พลังงาน การแพทย์ และการติดต่อสื่อสาร เป็นต้น

ในวันนี้ ยิบอินซอย ไม่ได้เป็นแค่ผู้ขายระบบไอที แต่เป็น ‘คู่คิด’ ที่อยู่เคียงข้างลูกค้ามาแล้วเกือบศตวรรษ และกำลังก้าวสู่เป้าหมายการเป็นผู้นำด้านไอทีในอีก 100 ปีข้างหน้า

พวกเขาทำได้อย่างไร ?

Techsauce สัมภาษณ์พิเศษกับคุณสุภัค ลายเลิศ กรรมการอำนวยการ และประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บริษัท ยิบอินซอย จำกัด เจาะลึกถึงเบื้องหลังที่ทำให้ยืนหยัดมาได้เกือบศตวรรษ พร้อมกางเป้าหมายที่ต้องการเติบโตอย่างต่อเนื่องในอีก 100 ปีข้างหน้า

หนึ่งศตวรรษผ่านไป ยิบอินซอย คือใคร ทำอะไรกันแน่ ?

ยิบอินซอย ก่อตั้งในปี 1926 เริ่มต้นจากธุรกิจเหมืองแร่ที่สงขลา ก่อนจะขยับขยายสู่ธุรกิจอื่นๆ ไทม์ไลน์ธุรกิจในศตวรรษแรกของ ยิบอินซอย เป็นดังนี้

ยิบอินซอย ในศตวรรษแรก

  • ปี 1926 : เริ่มต้นเส้นทางด้วยธุรกิจเหมืองแร่
  • ปี 1946 : ทำธุรกิจปุ๋ย และเคมีเกษตร โดยนำเข้า และจำหน่ายปุ๋ยเคมีจากเยอรมนีเป็นรายแรกในประเทศไทย
  • ปี 1954 : เริ่มทำธุรกิจเทคโนโลยี
  • 1967 : เริ่มทำธุรกิจการผลิต และการค้า โดยเป็นบริษัทรายแรกที่ได้รับมาตรฐานอุตสาหกรรมไทย (มอก.) ในกลุ่มผู้ผลิตสี
  • ปัจจุบัน : ธุรกิจเทคโนโลยีดิจิทัล

นอกจากกลุ่มธุรกิจข้างต้น ยิบอินซอยยังทำธุรกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจ เช่น ขายเครื่องเขียน พลังงาน รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า รวมถึง Robinhood จากการเข้าซื้อกิจการ Purple Ventures

แต่หากให้จำกัดความถึงตัวตนที่แท้จริง คุณสุภัคบอกว่า ยิบอินซอย คือ ‘บริษัทไอทีเต็มตัว’ มีรายได้หลักมาจากธุรกิจ SI ที่ทำมาอย่างยาวนาน

ตั้งแต่ผมเข้ามาทำงาน 30 ปีแล้ว ยิบอินซอย ทำธุรกิจ SI ตอนนี้ยังเป็น SI อยู่ไม่เปลี่ยนแปลง

คุณสุภัค เล่าย้อนให้ฟังว่า ยิบอินซอย อยู่คู่วงการไอทีไทยมาตั้งแต่ยุคเมนเฟรมคอมพิวเตอร์ ขายระบบให้ราชการ ธนาคาร และกระทรวงต่างๆ

หนึ่งในธุรกิจที่ ยิบอินซอย ทำในยุคนั้นคือ Time Sharing หรือการแบ่งปันทรัพยากรเครื่องเมนเฟรมอันมีมูลค่ามหาศาลให้บริษัทอื่นๆ เช่าใช้ ซึ่งเป็นเรื่องใหม่และมีราคาสูงมากในสมัยนั้น ยกตัวอย่างเช่น บริษัทที่ต้องการประมวลผลเงินเดือนพนักงาน (Payroll) ก็จะนำข้อมูลมาประมวลผลบนเครื่องเมนเฟรมของ ยิบอินซอย นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า ยิบอินซอย อยู่เคียงข้างและสนับสนุนธุรกิจไทยมาอย่างยาวนาน

ปัจจุบัน ยิบอินซอย ยังคงเป็นกำลังสำคัญที่อยู่เบื้องหลังระบบสำคัญๆ ในสังคมไทย คุณสุภัคบอกว่า เราอยู่เบื้องหลังของการทำงานหลังบ้านหลายภาคส่วนอุตสาหกรรม แบบที่คุณไม่ทราบว่าเราอยู่เบื้องหลัง อาทิ ระบบหลังบ้านของธนาคารที่เราใช้ทำธุรกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ไปจนถึงระบบสำคัญๆ ในหลากหลายธุรกิจ ล้วนแล้วแต่เป็นผลงานที่ ยิบอินซอย มีส่วนร่วมในการพัฒนา

ยกตัวอย่างเช่น การให้บริการด้านเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานรายงานทางการเงินสากล (IFRS) แก่สถาบันการเงินและธนาคารต่างๆ ระบบงานหลักของสถาบันการเงินและธนาคารต่างๆ รวมถึงระบบอื่นๆ อีกมากมายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการข้อมูล ความปลอดภัย และการให้บริการลูกค้า

ลูกค้า คือ คู่ค้า ที่ต้องดูแลกันไปตลอด 

เราไม่ใช่แค่ผู้ขาย แต่เป็นคู่คิดที่ช่วยให้ลูกค้าเลือกใช้เทคโนโลยีได้อย่างเหมาะสมที่สุด โดยคำนึงถึง Business Value ของลูกค้าเป็นหลัก

ธุรกิจหลักของ ยิบอินซอย คือ System Intregator (SI) หากเปรียบให้เห็นภาพง่ายขึ้นก็คล้ายกับ สถาปนิก ที่คอยดูแล และออกแบบบ้านให้กับลูกค้า แต่สิ่งที่ทำให้ ยิบอินซอย แตกต่างคือการเป็น ‘ผู้ให้คำแนะนำที่ดี’ 

คุณสุภัค อธิบายว่า สิ่งสำคัญของการทำธุรกิจ SI จะต้องให้คำแนะนำที่ดีกับลูกค้าได้ว่า ควรจะเลือก Adopt เทคโนโลยีอะไรในช่วงเวลานั้นโดยยึดจาก ‘โจทย์ลูกค้ามาเป็นตัวหลัก ไม่ใช่โจทย์ของเราว่าขายตัวไหนแล้วได้กำไรสูงสุด’ 

ถ้าเรา commit กับพาร์ทเนอร์ไหนแล้ว เราจะไม่ทิ้งกลางทาง เราจะจับมือ แก้สถานการณ์ และสู้ไปด้วยกัน แพ้ก็แพ้ด้วยกัน ชนะก็ชนะด้วยกัน นี่คือกฎเหล็กของที่นี่

คุณสุภัค อธิบายว่า งาน SI ก็อาจดูคล้ายกับงานผู้รับเหมา เรื่องที่ไม่คาดฝันอาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา แต่ในเมื่อ ยิบอินซอย ให้คำมั่นสัญญาเป็นพาร์ทเนอร์ไปแล้ว ก็ต้องลุยต่อจนลูกค้าlสำเร็จแม้ว่าบางครั้งต้องเข้าเนื้อก็ตาม หรือพูดอีกอย่างคือ ‘ยิบอินซอย ยอมขาดทุนในกำไร แต่ไม่ยอมขาดทุนในความสัมพันธ์ลูกค้า’ 

เพราะพวกเขาเชื่อว่า การทำงาน SI จะต้องมองให้ไกลกว่า Time Frame แคบๆ ของโปรเจกต์ เพราะ SI คืองานที่ต้องดูแลลูกค้าไปตลอดแม้จะจบงานแล้วก็ตาม ตามปรัชญา ‘ไม่ทิ้งลูกค้า ไม่ทิ้งคู่ค้า’ ของยิบอินซอย

อยู่มาทุกสมัย เพราะใจที่ ‘กล้าเปลี่ยน’

ยิบอินซอย เป็นบริษัทที่อยู่ท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านมาหลายยุคหลายสมัย ทำธุรกิจมาหลายอย่างที่หลายคนอาจจะนึกไม่ถึง เมื่อถามกลับไปว่า ทำไม ยิบอินซอย ถึงกล้าที่จะเปลี่ยนการทำธุรกิจแบบข้ามสาย คำตอบของเรื่องนี้ต้องกลับไปดูตั้งแต่คนเริ่มสร้างบริษัทนี้ นั่นคือ ‘มิสเตอร์ ยิบอินซอย’

คุณสุภัค เล่าว่า มิสเตอร์ ยิบอินซอย หรือคุณปู่ของคุณมรกต ยิบอินซอย (ซีอีโอคนปัจจุบัน) เป็นคนที่ทันสมัยมาก ได้รับการศึกษาจากต่างประเทศ มีทักษะการสื่อสารที่ดี มีคอนเนคชันในมือเยอะ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ยิบอินซอย กล้าเปิดรับเทคโนโลยี และเทรนด์ใหม่มาตั้งแต่ไหนแต่ไร รวมถึงแนวคิดการทำธุรกิจที่ต้อง ‘กล้าเปลี่ยน’ ซึ่งนี่คือ DNA ที่สืบทอดผ่านผู้บริหารแต่ละรุ่นเลยก็ว่าได้

ธุรกิจนี้ต้องกล้าเปลี่ยน ยิ่งธุรกิจไอที ยิ่งต้องเปลี่ยนแปลงให้ทัน สินค้าที่เราขายทุกวันนี้ ต่างจาก 30 ปีก่อนโดยสิ้นเชิง

ทุกๆ สิ้นปี ที่บริษัทมักจะพูดคุยถึงตัวเลขรายได้ และกำไร คุณสุภัค จะหยิบมาถามทีมงานอยู่คือ ‘บริษัทเราก้าวไปข้างหน้าอย่างไรบ้าง ?’ 

“คำว่าก้าวหน้าในที่นี้ หมายถึง บริษัทมีองค์ความรู้ใหม่หรือไม่ มีเทรนด์ธุรกิจใหม่ที่ได้ทำหรือเปล่า สมมติว่าเราสร้างรายได้จากของเดิมที่มีอยู่ ก็อาจพูดไม่ได้ว่าบริษัทเดินไปข้างหน้า เรามุ่งเน้นการพัฒนาองค์ความรู้ และมองหาธุรกิจใหม่ๆ อยู่เสมอ” 

คุณสุภัค อธิบายถึงแนวคิดการทำงานของยิบอินซอยให้เห็นภาพมากขึ้น

คนยิบอินซอย อีกหนึ่งเคล็ดลับความสำเร็จ

แม้จะเป็นบริษัทเก่าแก่เกือบร้อยปี แต่ยิบอินซอยกลับเต็มไปด้วยพลังของคนรุ่นใหม่ พนักงานกว่า 1,900 ชีวิตทำงานที่นี่ คุณสุภัค เล่าว่า เคล็ดลับการดึงดูดคนเก่งคือการนำเสนองานที่ท้าทาย หลากหลาย และเปิดโอกาสให้เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ อยู่เสมอ 

พนักงานจะได้สัมผัสประสบการณ์ทำงานกับลูกค้าหลากหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นธนาคาร ค้าปลีก น้ำมันและก๊าซ หรือพลังงาน ซึ่งนับว่าเป็นการเสริมสร้างความรู้และทักษะรอบด้าน เป็นประโยชน์ต่อการเติบโตในสายงานบริหาร หรือต่อยอดไปยังสายงานอื่นๆ ในอนาคต 

ยิบอินซอย เชื่อว่าการเปิดโอกาสให้พนักงานได้ลองทำสิ่งใหม่ๆ เรียนรู้สิ่งต่างๆ อย่างต่อเนื่อง และทำงานร่วมกับลูกค้าที่หลากหลาย คือ ‘กำไรชีวิต’ ที่หาไม่ได้จากที่ไหน

โตต่ออีก 100 ปี สู่ผู้นำไอทีไทย

วิสัยทัศน์ของ ยิบอินซอย คือการเติบโตอย่างยั่งยืนอีก 100 ปี โดยตั้งเป้าหมายเป็นบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำ เป็นพาร์ทเนอร์ที่เชื่อถือได้ และปรับตัวให้ทันกับเทรนด์ใหม่อยู่เสมอ

ในอีก 100 ปีข้างหน้า ยิบอินซอยจะเป็นยังคงเป็นบริษัทเทคโนโลยีที่ยึด Core Value เดิม เป็นพาร์ทเนอร์ที่เชื่อถือได้ของลูกค้า เป็นบริษัทที่ปรับตัวเข้ากับเทรนด์ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง เราจะไม่หยุดพัฒนา ไม่ว่าเทคโนโลยีจะเปลี่ยนไปอย่างไร ตราบใดที่เรายังคงตอบโจทย์ทางธุรกิจของลูกค้าได้ ยิบอินซอยก็จะยังคงอยู่

สำหรับแผนธุรกิจในศตวรรษต่อไป ยิบอินซอยมีความสนใจในธุรกิจใหม่หลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือธุรกิจพลังงาน (Clean Energy) ซึ่งนับว่าเป็นธุรกิจที่กำลังถูก Disrupt อย่างมาก และมีแนวโน้มที่จะนำเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้น โดยตอนนี้ยิบอินซอย นำร่องลงทุนในธุรกิจมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า (EV Bike) ภายใต้แบรนด์ โซลาริน (Solaryn) ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

นอกจากนี้ ยิบอินซอย จะโฟกัสไปที่เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน เช่น Agri Tech หรือเทคโนโลยีด้านเกษตรกรรม ซึ่งเป็นสายงานที่ยิบอินซอยเคยผ่านมือมาอยู่แล้ว รวมถึงธุรกิจใหม่ด้าน Bio-Nano Tech 

ส่วนธุรกิจหลักอย่าง SI ยังคงอยู่เหมือนเดิม แต่ปรับเป็น ‘SI ยุคใหม่’ หมายถึงการเข้าใจโจทย์ทางธุรกิจของลูกค้า และนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาประยุกต์ใช้ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของทุกฝ่าย ทั้งลูกค้า คู่ค้า และตัวบริษัทเอง ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ยิบอินซอย ยึดถือในการทำธุรกิจมาตลอด

สิ่งที่ผมชอบที่สุดคือ เราต้องทำให้ลูกค้ามี Peace หมายความว่า ทำธุรกิจกับเราแล้วชีวิตลูกค้าต้องดีขึ้น กลับบ้านแล้วนอนหลับได้โดยไม่ต้องกังวลว่าจะมีปัญหาอะไรเกิดขึ้นบ้าง

คุณสุภัค เน้นย้ำถึงการรักษาความสัมพันธ์ในฐานะ SI โดยเฉพาะการเลือกของ หรือโซลูชันให้ลูกค้า ที่ต้องเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้ลูกค้าจริงๆ ไม่ใช่เน้นที่กำไรเป็นหลัก ต้องทำให้ลูกค้ามั่นใจว่าเราได้เลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า เพราะไม่อย่างงั้นความสัมพันธ์ไม่เกิด สิ่งที่เรียกว่ากำไรของธุรกิจนี้ต้องสร้างไปอีก 5 ปี 10 ปี 20 ปี หรือตลอดชีวิตธุรกิจ 

นอกจากการทำธุรกิจแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่จะทำให้ยิบอินซอยอยู่ในวงการไปอีกยาวนาน คือ การส่งเสริมคน และธุรกิจด้านไอทีให้โตไปไกลผ่านบทบาท ATCI

อีกบทบาทหนึ่งที่คุณสุภัค สวมหมวกอยู่คือ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย (ATCI)สมาคมนี้ตั้งขึ้นมาเป็นระยะเวลากว่า 30 ปี เพื่อซัพพอร์ทประเทศไทยในเรื่องของเทคโนโลยี ซึ่งหนึ่งในผลงานคือ การทำภาษีคอมพิวเตอร์ 0% เพื่อให้เกิดการนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด

ATCI ยังมีความสัมพันธ์กับ ASOCIO ซึ่งเป็นเป็นองค์กรนานาชาติ ประกอบด้วยสมาคมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและบริการจาก 24 ประเทศในภาคพื้นเอเซีย-โอเชียเนีย ซึ่งมีหน้าที่ผลักดัน Digital Business ให้เติบโตขึ้น 

จะเห็นว่า ATCI เป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองสำคัญที่กำลังผลักดันด้านไอทีไทยอยู่เบื้องหลัง ผ่านบทบาทสำคัญ 2 อย่าง คือ 

  1. เป็นกระบอกเสียงให้กลุ่มคนที่ทำธุรกิจด้าน IT 
  2. ส่งเสริมธุรกิจด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ 

ซึ่งหนึ่งรูปแบบการส่งเสริมคือการจัด Thailand ICT Awards (TICTA) หรือโครงการประกวดผลงานด้านเทคโนโลยีดิจิทัลแห่งชาติ เพื่อสนับสนุนผลงานด้านเทคโนโลยีดิจิทัลไทย ซึ่งในปีนี้มีการมอบไปกว่า 20 รางวัลในหลากหลายกลุ่มธุรกิจ 

แต่นอกเหนือจากการมอบรางวัลแล้ว สิ่งที่สมาคม ATCI มองคือการปั้นผลงานเหล่านี้ให้ไปเติบโตบนเวทีต่างประเทศ ผ่านการทำ Business Coaching เพื่อเสริมความรู้ต่างๆ โดยผู้เชี่ยวชาญที่สมาคมเป็นพาร์ทเนอร์ด้วย ทั้งด้านการ Pitching การนำเสนอผลงานต่อสายตาชาวโลก ซึ่งนี่จะเป็นอีกหนึ่งสเต็ปสำคัญที่จะทำให้สตาร์ทอัพไทยโตต่อเนื่อง และทำให้วงการไอทีไทเข้มแข็งยิ่งขึ้น

อีกหนึ่งสิ่งที่ ATCI กำลังผลักดันคือ 'Security Chapter' ซึ่งเป็นทีมที่จะเข้ามาดูแลในเรื่องความปลอดภัยไซเบอร์โดยเฉพาะ เพื่อตอบรับกับเทรนด์เทคโนโลยีปัจจุบันที่มีการใช้ Data เยอะมากขึ้นโดยเฉพาะการมาของ AI ซึ่งการมีทีม Secuity Chapter จะช่วยให้ไทยมีกรอบในการพัฒนาเทคโนโลยีโดยคำนึงถึงความปลอดภัยในด้านข้อมูลเป็นสำคัญ

ยิบอินซอย ในวันนี้ แม้ภาพธุรกิจจะต่างจากวันแรกเริ่ม แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงคือ ‘Core Value’ ที่พวกเขายึดถือมาตลอด คือ ความจริงใจ ให้ความสำคัญกับลูกค้าเหมือนเพื่อนคู่คิด คอยดูแลกันไปตลอดชีวิตธุรกิจ รวมถึงความต้องการผลักดันอุตสาหกรรมไอทีให้โตไปไกลกว่าที่เคย

และนี่คือเรื่องราวของ ยิบอินซอย ตลอดศตวรรษที่ผ่านมา และกำลังจะก้าวต่อไปสู่ศตวรรษใหม่ที่อยู่คู่ธุรกิจคนไทยไปอีกยาวนาน

สนใจข้อมูลผลิตภัณฑ์เพิ่มเติม ติดต่อ บริษัท ยิบอินซอย จำกัด
เบอร์โทรศัพท์ : 02 353 8600 ต่อ 3210 หรือ 8432
E-mail: [email protected]


บทความนี้เป็น Advertorial

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ส่องแนวโน้ม Advanced Robotics อนาคตของ Healthcare

ค้นพบแนวโน้มหุ่นยนต์อัตโนมัติในอุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพ สหรัฐฯ เผชิญปัญหาขาดแคลนบุคลากร การนำ Advanced Robotics มาใช้ในโรงพยาบาลและบ้านผู้ป่วย คือกุญแจสำคัญสู่อนาคต...

Responsive image

ตำแหน่ง CRO คืออะไร ? พร้อมเจาะลึก 6 อุปนิสัยสู่ความสำเร็จของผู้บริหารความเสี่ยงยุคใหม่

จากงานวิจัยของ McKinsey จากการสัมภาษณ์เชิงลึกและสำรวจ CRO ปัจจุบันและอดีตมากกว่า 30 รายของสถาบันการเงินหลักทั่วโลก โดยแต่ละรายมีประสบการณ์ในบทบาทนี้มาอย่างน้อย 5 ปี พบว่า CRO ที่ปร...

Responsive image

AI จะเป็น ‘ผู้กอบกู้’ หรือ ‘ผู้ทำลาย’ การ์ตูนญี่ปุ่น

เมื่อประตูสู่วัฒนธรรมและเสาหลักทางเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่นอย่าง อนิเมะและมังงะกำลังถูก AI แทรกแซง อนาคตของวงการนี้จะเป็นยังไง ?...