เมื่อพายุเศรษฐกิจโหมเข้า CFO จะขับเคลื่อนองค์กรอย่างไร? ดีลอยท์ชวรรู้จัก CFO Trilemma | Techsauce

เมื่อพายุเศรษฐกิจโหมเข้า CFO จะขับเคลื่อนองค์กรอย่างไร? ดีลอยท์ชวรรู้จัก CFO Trilemma

ความผันผวนกลายเป็นเรื่องปกติในโลกธุรกิจของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ว่าจะเป็นความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ เศรษฐกิจที่แปรปรวน หรือการพัฒนาเทคโนโลยีที่รวดเร็ว สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นแรงผลักดันที่ท้าทายธุรกิจอยู่เสมอ สำหรับ CFO หรือประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน การขับเคลื่อนองค์กรในสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนนี้ต้องการการตัดสินใจที่แม่นยำและการจัดลำดับความสำคัญอย่างรอบคอบ ซึ่งถูกเรียกว่า "CFO Trilemma" ที่ต้องรักษาสมดุลระหว่าง 3 ด้านสำคัญ ได้แก่

  • การรับมือกับความผันผวน: ความสามารถในการฝ่าฟันพายุเศรษฐกิจและพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ถือเป็นหัวใจสำคัญ
  • การสร้างคุณค่าในระยะยาว: เน้นสร้างธุรกิจที่ยั่งยืน ไม่ใช่เพียงแค่กำไรระยะสั้น แต่ให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในวงกว้าง
  • การยกระดับขีดความสามารถ: เสริมสร้างทีมการเงินให้แข็งแกร่งด้วยทักษะและเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อเตรียมรับมือกับการเติบโตในยุคดิจิทัล

บทความนี้ศึกษาเจาะลึกในแต่ละองค์ประกอบของ CFO Trilemma  โดยดีลอยท์ได้ทำการสำรวจ CFO จำนวน 46 ท่าน จากประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และ เวียดนาม ร่วมกับการสัมภาษณ์ CFO รายบุคคลอีก 15 ท่าน และสรุปมาเป็นแนวปฏิบัติสำหรับ CFO ที่ต้องการนำองค์กรของตนไปสู่อนาคตที่เติบโตและยั่งยืน

เผชิญหน้ากับพายุ : แนวทางเชิงรุกในการจัดการความผันผวน

CFO ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตระหนักถึงกระแสทางเศรษฐกิจที่โหมกระหน่ำอย่างรุนแรงทั่วภูมิภาค แต่แทนที่จะยอมจำนน CFO กลับเลือกการทำงานเชิงรุกอย่างรอบคอบ โดยร้อยละ 37 ของ CFO ยังคงมองแนวโน้มเศรษฐกิจในเชิงบวก และ ร้อยละ 50 ของ CFO มองโอกาสทางการเงินของบริษัทในอีก 12 เดือนข้างหน้าในเชิงบวกด้วยเช่นกัน

เพื่อความอยู่รอด CFO ต้องมีความเข้าใจพลวัตภายนอกอย่างลึกซึ้ง โดยความเสี่ยงภายนอก 3 อันดับแรกที่ CFO ให้ความสนใจเป็นพิเศษ ประกอบไปด้วย  ภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ร้อยละ 80  ปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์ ร้อยละ 63  และการชะลอตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ ร้อยละ 41

ในฐานะผู้นำเชิงรุก CFO ควรมีการเตรียมพร้อมที่สำคัญ ดังต่อไปนี้

  1. กำหนดฉากทัศน์เพื่อรับมือกับอาร์มาเกดดอน พัฒนาแบบจำลองทางการเงินที่แข็งแกร่ง โดยผสมผสานการทดสอบภาวะวิกฤตและฉากทัศน์กรณีที่เลวร้ายที่สุด เพื่อให้แน่ใจว่ามีกระแสเงินสดที่มากพอ และ ใช้แบบจำลองเป็นแนวทางในการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์
  2. ให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพการดำเนินงาน เพิ่มความพยายามในการลดต้นทุนอย่างจริงจัง โดยพิจารณาทุกรายละเอียดในงบการเงิน และมองหาวิธีใหม่ ๆ ในการเพิ่มรายได้
  3. การกระจายความเสี่ยงเชิงกลยุทธ์ สำรวจตลาด ผลิตภัณฑ์ และ และช่องทางการหารายได้ใหม่ๆ เพื่อลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาตลาดใดตลาดหนึ่ง หรือ ผลิตภัณฑ์ใดผลิตภัณฑ์หนึ่งมากเกินไป

เหนือกว่าผลกำไร : กำหนดคุณค่าใหม่ ๆ

บทบาทของ CFO ยกระดับไปไกลกว่าการบริหารการเงินอย่างเดียวเหมือนที่ผ่านมา ร้อยละ 78 ของ CFO ระบุว่าจำเป็นต้องเปลี่ยนบทบาทเพื่อรองรับความคาดหวังที่เพิ่มขึ้นของทีมบริหาร โดยร้อยละ 78 กล่าวว่า CFO ต้องรับบทบาทผู้นำการเปลี่ยนแปลง และ ร้อยละ 61 ระบุว่า CFO มีหน้าที่รับผิดชอบใหม่ ๆ ที่ต้องดูแล

ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต้องการให้ธุรกิจเพิ่มความสำคัญกับปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และ การกำกับดูแล (ESG) และ แสดงความมุ่งมั่นในการสร้างคุณค่าในระยะยาว ไม่เพียงสำหรับผู้ถือหุ้นเท่านั้น แต่สำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด ร้อยละ 96 ของ CFO ให้ความเห็นว่าพวกเขามีกระบวนการ/แผนการที่เพียงพอเพื่อปฏิบัติตามข้อกำหนดต่าง ๆ ในด้าน ESG โดยร้อยละ 89 พร้อมหรือเตรียมพร้อมในระดับหนึ่งในการจัดการด้านความยั่งยืน และ ร้อยละ 76 คาดว่าจะเห็นกฎระเบียบใหม่ ๆ ด้าน ESG ในช่วง 2-5 ปี ที่จะมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญกับการรายงานด้านการเงินของบริษัทด้วย

การเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลให้ CFO ต้องมีแนวปฏิบัติต่าง ๆ ดังนี้

  • เป็นผู้สนันสนุนและผลักดันการริเริ่มโครงการด้าน ESG โดยมีบทบาทเชิงรุกในการพัฒนาและดำเนินกลยุทธ์ด้าน ESG ที่แข็งแกร่ง สร้างความโปร่งใสในการรายงานข้อมูล และ สำรวจนวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ
  • ยอมรับมุมมองที่หลากหลายของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เปลี่ยนมุมมองจากเดิมที่มุ่งเน้นผู้ถือหุ้นเป็นหลัก ไปสู่การพิจารณาความต้องการและความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่กว้างขึ้นรวมถึงพนักงาน ลูกค้า ผู้จัดหา และ สังคมโดยรวม
  • คิดใหม่เกี่ยวกับการวัดประสิทธิภาพ รวมตัวชี้วัดด้าน ESG และ ตั้งเป้าหมายด้านความยั่งยืนให้เข้ากับระบบการจัดการประสิทธิภาพและบาลานซ์สกอร์ เพื่อขับเคลื่อนความรับผิดชอบและวัดคุณค่าในระยะยาว

องค์ประกอบด้านทุนมนุษย์ : บุคลากรเป็นกลยุทธ์ธุรกิจที่สำคัญ

CFO ตระหนักว่าการดึงดูด รักษา และ พัฒนาบุคลากรที่มีศักยภาพเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้องค์กรสามารถฝ่าฟันความซับซ้อนของการดำเนินธุรกิจสมัยใหม่ ร้อยละ 63 ของ CFO ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เลือกใช้การพัฒนาประสบการณ์การทำงานบนการทำงานจริง ร้อยละ 63 เน้นการใช้โปรแกรมรางวัลและยกย่องพนักงาน และ ร้อยละ 52 ใช้โปรแกรมพี่เลี้ยงหรือโครงการสนับสนุนอื่น ๆ

แนวปฏิบัติสำคัญสำหรับ CFO ในมิตินี้ ได้แก่

  • การดึงดูดและรักษาบุคลากรที่มีความสามารถ จัดการกับความท้าทายที่เพิ่มขึ้นของการขาดแคลนบุคลากรโดยเสนอแพ็คเกจค่าตอบแทนที่แข่งขันได้ ส่งเสริมสภาพแวดล้อมการทำงานที่เป็นบวก รวมถึงสนับสนุนและมอบโอกาสสำหรับการเติบโตในสายอาชีพ
  • การยกระดับและฝึกอบรมบุคลากร เสริมทักษะที่จำเป็นเพื่อการเติบโตในอนาคตให้กับทีมการเงิน ลงทุนในโปรแกรมการฝึกอบรมที่เน้นด้านการวิเคราะห์ข้อมูล เทคโนโลยีระบบอัตโนมัติ รวมถึงเรื่อง Generative AI
  • การส่งเสริมการทำงานที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล สนับสนุนการวิเคราะห์ข้อมูลและการใช้เทคโนโลยีในทีมการเงิน ในขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญกับการตัดสินและการตีความของบุคลากรในการขับเคลื่อนข้อมูลเชิงลึกและการตัดสินใจ

สิ่งที่ CFO สามารถนำไปใช้ได้จากเรื่องนี้

รายงาน CFO Trilemma ได้นำเสนอความท้าทายและโอกาสสำหรับ CFO ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เลือกแนวทางเชิงรุกต่อความผันผวน การกำหนดคุณค่าใหม่ที่เหนือกว่าผลกำไร และ การให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคคลกร เพื่อให้ CFO สามารถกำหนดตำแหน่งองค์กรของตนเพื่อความสำเร็จที่ยั่งยืนต่อ ๆ ไป

เราได้รวบรวมคำถามที่เป็นประโยชน์ในการประเมินกลยุทธ์ปัจจุบันของทุกองค์กร ดังนี้

  • ท่านมีการเตรียมพร้อมอย่างเพียงพอในการขับเคลื่อนองค์กรในสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ผันผวนหรือไม่
  • ท่านสามารถสร้างสมดุลระหว่างความสามารถในการทำกำไรระยะสั้นกับการสร้างคุณค่าระยะยาวสำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดอย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่
  • ท่านกำลังลงทุนในการพัฒนาบุคลากร และ เตรียมความพร้อมด้วยทักษะที่จำเป็นเพื่อการเติบโตในอนาคตที่ขับเคลื่อนด้วยดิจิทัลหรือไม่

ด้วยการประเมินจุดแข็งและจุดอ่อนขององค์กรของคุณในแต่ละด้าน CFO จะสามารถพัฒนาแผนงานเพื่อรับมือกับความท้าทายของบทบาทนี้ และนำองค์กรไปสู่การเติบโตที่ยั่งยืนต่อไป

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ไขความลับ Gen AI โอกาส ข้อจำกัด และวิธีใช้ ในการวางกลยุทธ์สำหรับ CEO

เรากำลังประเมินความสามารถของ AI สูงเกินไปหรือไม่? และ AI จะสามารถช่วยเหลือในด้านใดของการวางแผนกลยุทธ์? บทความนี้จะตอบคำถามเหล่านี้ผ่านกรณีศึกษาสองกรณีเกี่ยวกับการใช้ gen AI ในการวา...

Responsive image

ทำไมองค์กรยุคใหม่ ต้อง AI Transformation องค์กร

Session AI Tranformation โดย ดร.ลิสา พัทธ์วิวัฒน์ศิริ Chief Digital Officer The King Power Corporation และ คุณอรนุช เลิศสุวรรณกิจ CEO & Co-Founder Techsauce ที่ได้ร่วมพูดคุยในหัวข...

Responsive image

ถอดรหัส Innovation Theater กับดักที่องค์กรต้องก้าวข้าม สู่เส้นทาง Growth Engine อย่างยั่งยืน

วิเคราะห์ความท้าทายและโอกาสในการเปลี่ยนความพยายามสร้างนวัตกรรมแบบผิวเผินให้กลายเป็นกลยุทธ์การเติบโตอย่างยั่งยืน จาก Session "From Innovation Theater to Real Growth Engine" ในงาน Te...