AI หรือ Artificial Intelligence ถูกนำไปใช้กับการขับเคลื่อนธุรกิจต่าง ๆ จนถึงวันนี้ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของ Jubilee iMOMENT ในรูปแบบของ App ที่บันทึกและถ่ายทอดช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองที่พัฒนาโดยบริษัทขายเครื่องประดับเพชรอย่าง บมจ. ยูบิลลี่ เอ็นเตอร์ไพรส์ (JUBILE)
บมจ. ยูบิลลี่ เอ็นเตอร์ไพรส์ ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายเครื่องประดับ เพชรกะรัต และเพชรที่ยังไม่ขึ้นตัวเรือน (เพชรร่วง) ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2536 โดยบิดาของอัญรัตน์ คือ วิโรจน์ พรประกฤต ซึ่งปัจจุบันเป็นทั้งผู้ถือหุ้นใหญ่กว่า 65% และประธานคณะกรรมการบริหาร ทั้งนี้ที่ผ่านมา JUBILE ทำรายได้เฉลี่ยกว่า 1.3 พันล้านบาทในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ขณะที่รายได้ ณ ไตรมาส 3 ของปี 2561 อยู่ที่กว่า 1.2 พันล้านบาท
แม้หลายคนจะมองว่าเทคโนโลยีกับเครื่องประดับเพชรไม่น่าจะมาเกี่ยวข้องกันได้ แต่ อัญรัตน์ พรประกฤต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แห่ง JUBILE ในฐานะผู้บริหารแบรนด์เครื่องประดับเพชร Jubilee มองว่ากระแสการขับเคลื่อนของดิจิทัลที่กระจายไปทั่วโลกกลายเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง จึงทำให้เกิดนวัตกรรมล่าสุดที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อเดือนตุลาคมปีก่อน
“ในธุรกิจอัญมณีไม่ค่อยมีคนนึกถึงด้านเทคโนโลยี แต่ด้วยตอนนี้นวัตกรรมเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เราก็หาสิ่งที่สามารถเชื่อมโยงผลิตภัณฑ์ของ Jubilee กับโลกดิจิทัล”
การผสานระหว่าง App และแหวนเพชรให้ถ่ายทอดช่วงเวลาแห่งความทรงจำ ผ่านนวัตกรรมที่เรียกว่า “ยูบิลลี่ ไอ โมเม้นท์” หรือ Jubilee iMOMENT ซึ่งอัญรัตน์ย้ำว่าเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกของโลก นั้น สามารถเป็นจริงได้ด้วยการใช้เทคโนโลยีกลุ่ม AI มาช่วย
โดยลูกค้าสามารถเปิดเรื่องราวที่บันทึกไว้เพื่อย้อนความทรงจำในแต่ละช่วงเวลาสำคัญเพียงแค่เปิด App จากโทรศัพท์มือถือและส่องกล้องสแกนไปที่สัญลักษณ์ Jubilee หรือ Emblem บนแหวนเพชร ก็จะปรากฎภาพที่ได้ส่งให้ทาง Jubilee บันทึกไว้ ทั้งภาพนิ่ง หรือ วิดีโอ (แต่ในระยะต่อไปลูกค้าสามารถ upload ภาพหรือวิดีโอได้ด้วยตัวเอง)
อย่างไรก็ตามอุปสรรคสำคัญกว่าจะที่จะพัฒนา App ให้สามารถสแกนสัญลักษณ์ Jubilee หรือ Emblem บนแหวนเพชรแล้วให้ปรากฎภาพหรือวิดีโอได้นั้น ต้องใช้เวลาในการพัฒนาราว 1 ปีนับจากที่เริ่มเกิดแนวคิดที่จะทำโครงการนี้ขึ้น
เนื่องจากเดิมระบบจะทำงานได้ต่อเมื่อติดตั้ง Emblem บนวัตถุที่มีพื้นผิวขนาดใหญ่ ซึ่งคงเป็นไปไม่ได้สำหรับตัวเรือนแหวนที่มีหน้ากว้างเพียง 0.30 เซนติเมตร เนื่องจากทาง Jubilee ไม่ต้องการให้รูปทรงของแหวนที่ใช้สำหรับการหมั้นหรือแต่งงานต้องเปลี่ยนรูปไปแล้วขาดความสวยงาม
ทั้งขนาดก้านแหวนที่เล็กมากและทำจากวัสดุที่มันวาว ทำให้ต้องใช้ data set จำนวนมากและทำ Machine Learning หลายรูปแบบมาก เช่น แหล่งกำเนิดแสง ความอ่อนหรือแรงของแสง เป็นต้น จึงใช้เวลาพัฒนานานกว่าจะทำให้ App ใช้งานได้อย่างที่เราต้องการ คือใช้งานง่ายและยังคงความเป็นเครื่องประดับที่สวยงาม
สำหรับที่มาของการริเริ่ม Jubilee iMOMENT นั้น อัญรัตน์เล่าว่า ด้วยมุมมองที่เครื่องประดับเพชรเป็นสัญลักษณ์ของการเฉลิมฉลองและเป็นช่วงเวลาแห่งความสุข ขณะที่โทรศัพท์มือถือเหมือนเป็นอีกหนึ่งอวัยวะของมนุษย์ จึงน่าจะเป็นเครื่องมือที่สามารถเรียกดูภาพหรือเหตุการณ์แห่งความทรงจำขึ้นมาได้ก็น่าจะเป็นการสร้างความประทับใจที่ดีหากลูกค้าสามารถเก็บเรื่องราวสำคัญในชีวิตผ่านแหวนเพชรของ Jubilee ได้
แม้จะเริ่มเปิดตัว Jubilee iMOMENT ด้วยกลุ่มผลิตภัณฑ์แหวนเพชรก่อน แต่อัญรัตน์มองว่า App นี่จะเป็นเครื่องมือในการต่อยอดธุรกิจและเพิ่มมูลค่าเพิ่มใหักับเครื่องประดับเพชรอื่น ๆ ของ Jubilee ได้ด้วย นอกจากนี้ต่อไปก็จะเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ ๆ บน Jubilee iMOMENT เพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ลูกค้าเพิ่มเติมและขยายไปยังธุรกรรมอื่น ๆ อีก โดยมุ่งที่จะสร้างประสบการณ์ที่ดี ซึ่งลูกค้าจะมีกับแบรนด์ Jubilee
หลายองค์กรธุรกิจต่างได้รับผลกระทบจากยุค Digital เข้าครอบงำจะมากบ้างน้อยบ้างก็แล้วแต่ศักยภาพในการปรับตัว แต่ในธุรกิจค้าเครื่องประดับเพชรที่มีแบรนด์ Jubilee เป็นหนึ่งในผู้เล่นหลักนั้น ผู้นำองค์กรอย่างอัญรัตน์ ยืนยันว่า "Digital Disruption ยังไม่สร้างแรงสั่นสะเทือนมากนักเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ"
อย่างไรก็ตาม เธอให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า สุดท้ายแล้วกระแสดังกล่าวก็ไม่น่าจะเป็นความท้าทายซึ่งธุรกิจค้าเพชรสามารถหลีกเลี่ยงได้ รวมถึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเตรียมการปรับเปลี่ยนองค์ประกอบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารธุรกิจไว้ล่วงหน้า
อาทิ ช่องทางในการเข้าถึงลูกค้า ซึ่งแต่เดิมบริษัทเองก็ไม่ได้ดำเนินการดังเช่นปัจจุบัน ที่ดิจิทัลเข้ามามีผลต่อการดำเนินชีวิตของผู้บริโภคแทบทุกคนมากขึ้น โดยต้องวางแผนควรใช้ช่องทางสื่อสารแบบใดให้สามารถเข้าถึงลูกค้าแต่ละกลุ่ม ไม่เหมือนอดีตที่สามารถใช้ช่างทางเดียวกันสำหรับลูกค้าทุกกลุ่ม
เช่นเดียวกับระบบงานหลังบ้านเองก็ต้องปรับเปลี่ยนด้วยเช่นกันเพื่อให้องค์กรบริหารจัดการระบบข้อมูลได้ดี เนื่องจากการมีข้อมูลที่มากกว่าจะช่วยให้ตัดสินใจและวางกลยุทธ์ได้มีประสิทธิภาพกว่า ดังนั้น 3-4 ปีที่ผ่านมา บมจ. ยูบิลลี่ เอ็นเตอร์ไพรส์ ได้ลงทุนและพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้สามารถเก็บข้อมูลในลักษณะที่เรียกว่า Structured data ที่สามารถเรียกดูข้อมูลได้แบบเรียลไทม์และจะออกรายงานข้อมูล 2 ครั้ง/วัน ทั้งนี้แม้ว่าธรรมชาติของธุรกิจค้าเครื่องประดับเพชรจะไม่ได้มีความเคลื่อนไหวรวดเร็วเหมือนธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภคอื่น ๆ แต่ด้วยข้อมูลที่ดีก็เป็นประโยชน์ให้เกิดแนวคิดใหม่ ๆ สำหรับกับการวางแผนธุรกิจในอนาคตได้ดี
อัญรัตน์เพิ่มเติมอีกว่า ทุกวันนี้พยายามลดการตัดสินใจแบบใช้ประสบการณ์ แต่ใช้ Structured data มาเป็นแกนในการประมวลผล และข้อมูลจะช่วยให้สามารถทำงานโดยมุ่งเจาะลูกค้าแต่ละกลุ่มได้ดีขึ้น ซึ่งสุดท้ายแล้วก็จะส่งผลไปยังการบริหารจัดการ ควบคุมต้นทุนต่าง ๆ แล้วเชื่อมโยงไปถึงความสามารถในการทำกำไร อย่างไรก็ตามด้วยกลยุทธ์ที่เกิดจากการวิเคราะห์ข้อมูลที่ดีอาจจะไม่แม่นยำถึง 100% แต่ก็มีความถูกต้องถึง 80%
ดังนั้นปัจจุบันจึงใช้เทคโนโลยีมาช่วยทั้งในแง่ของบริหารจัดการระบบข้อมูลและช่องทางการเข้าถึงลูกค้ากลุ่มต่าง ๆ อีกที้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาธุรกิจ
เราเริ่มเก็บข้อมูลมาเป็น 10 ปีแล้ว โดยทุกวันนี้ก็ยังเก็บอยู่และนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ เช่น รูปแบบการซื้อเพชรในแต่ละช่วงเวลา เพื่อวางกลยุทธ์และปรับปรุงข้อมูลต่อเนื่อง แล้วนำผลไปใช้กับการวางแผนในอนาคต
สำหรับนวัตกรรมอื่น ๆ อยู่ระหว่างการพัฒนาที่เริ่มโครงการมาได้ราว 2 ปีแล้วแต่ยังไม่เสร็จ เนื่องจากต้องสะสม data set จำนวนมาก ซึ่งจะเป็นระบบที่ช่วยจัดการด้านค้าปลีกหน้าร้านได้ดียิ่งขึ้น โดยคาดหวังว่าจะสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า ทั้งนี้ที่มาของการคิดโครงการนี้เกิดจากมองลูกค้าเป็นศูนย์กลาง หรือคิดแทนว่าถ้าเป็นลูกค้าแล้วจะต้องการประสบการณ์แบบไหน หากทำได้ก็น่าจะเกิดประสบการณ์ใหม่ของการมาซื้อเครื่องประดับเพชร
ปัจจุบันเทคโนโลยี Blockchain เริ่มเข้ามามีบทบาทในธุรกิจค้าเพชรในด้านของการติดตามและตรวจสอบแหล่งที่มาของเพชรทุกเม็ด หรือ Traceability นับแต่ที่ออกจากเหมืองจนมาถึงมือผู้บริโภค แม้จะใกล้ได้รับความนิยมมากขึ้นแต่ก็ยังไม่ได้แพร่หลายนัก กระทั่งในต่างประเทศก็มีเพียงบางที่เท่านั้น ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วอัญรัตน์มองว่าในระยะ 2-3 ปีนี้ Blockchain ไม่น่าจะสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลกระทบในวงกว้างต่อวงการค้าเพชร
ในส่วนของ Jubilee เองที่ทุกวันนี้ก็ทำธุรกิจกับทั้งยักษ์ใหญ่อย่าง De Beers Group หรือพันธมิตรอื่น ๆ ที่รับจ้างเจียรนัยเพชรต่างก็รับรู้ว่ามีเทคโนโลยี Blockchain ที่มาช่วยเรื่อง Traceability ได้ ทว่าปัจจุบันเพชรทุกเม็ดก็สามารถตรวจสอบและติดตามได้อยู่แล้ว เพียงแต่ Blockchain จะช่วยรู้ถึงเส้นทางของเพชรแต่ละเม็ดด้วย
"เรามองว่าถ้าสามารถเปิดเผยข้อมูล Traceability ของเพชรได้ก็ยิ่งสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคได้มากขึ้น"
อย่างไรก็ตาม อัญรัตน์เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงที่ควรต้องกังวลและต้องจับตาให้ถ่องแท้คือพฤติกรรมผู้บริโภค ที่ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมใดก็เป็นเรื่องยากที่จะวิเคราะห์หรือมองเห็นรูปแบบที่ชัดเจนของพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบันที่ผันแปรเร็วมาก ที่ด้วยทิศทางนี้จะส่งผลให้หลายธุรกิจอาจจะเติบโตขึ้นขณะที่อีกหลายธุรกิจต้องล้มหายไป
ดังนั้น หนึ่งในความท้าทายของการทำธุรกิจในยุคนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่ต้องเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคในแต่ละช่วงเวลา เพื่อให้สามารถปรับตัวได้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคในทุกช่วงเวลา ยิ่งโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่กำลังเติบโตขึ้นมาก็ยิ่งยากที่จะเข้าใจและมีการเปลี่ยนแปลงที่เร็วมากด้วย
ด้วยเทคโนโลยีแบบ AI จะช่วยเรื่องวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคได้ดีที่สุดในระยะอันใกล้นี้ แม้จะไม่สมบูรณ์ 100% แต่ก็ช่วยชี้แนวทางได้ระดับหนึ่ง
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด