Corporate Innovation ของ AP ที่ HR มิติใหม่เป็นแรงสนับสนุน | Techsauce

Corporate Innovation ของ AP ที่ HR มิติใหม่เป็นแรงสนับสนุน

Corporate Innovation เป็นเสาหลักที่บมจ.เอพี (ไทยแลนด์) ยึดถือ และหล่อหลอมขึ้นผ่านกลุ่ม Disruptive Business ด้วยมองว่าเป็นรากฐานสู่การสร้าง solution ซึ่งจะมาคลายปม pain point และส่งมอบบริการที่ดีแก่ผู้อยู่อาศัย ตลอดจนต้องสามารถสร้างผลกำไรได้ รวมถึงยังเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญนอกเหนือไปจากการปั้นแบรนด์ AP ให้ยืนหยัดบนแผนที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ได้อย่างแข็งแกร่ง โดยวิทการ จันทวิมล รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานกลยุทธ์องค์กร และการสร้างสรรค์ ที่เชื่อว่าด้วยการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพจะช่วยปรับมุมมองด้านบริหารทรัพยากรบุคคล (HR) ให้สอดผสานไปกับเส้นทางพัฒนานวัตกรรมได้

อย่างไรก็ตาม หนึ่งในตัวแปรสำคัญที่จะขับเคลื่อนการสร้างนวัตกรรมของค์กรให้ไปถึงจุดหมายนั้น แรงผลักดันเริ่มตั้งแต่ระดับผู้นำองค์กรอย่างอนุพงษ์ อัศวโภคิน ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ที่มีนโยบายให้เริ่มจัตตั้งทีมด้าน Corp Innovation ประมาณต้นปี 2561 

โดยดำเนินการผ่านบริษัทในเครือที่เป็นกลุ่มธุรกิจใหม่ที่นอกเหนือจากอสังหาริมทรัพย์ (Disruptive Business) ได้แก่ บริษัท เคลย์มอร์ จำกัด (ดำเนินธุรกิจการพัฒนานวัตกรรมดีไซน์) บริษัท วาริ จำกัด (ดำเนินธุรกิจสร้างระบบนิเวศที่สนับสนุนการบริหารจัดการคุณภาพชีวิต หรือ LIFE MANAGEMENT ECOSYSTEM และ SEAC (เอสอีเอซี) ศูนย์พัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแห่งภูมิภาคอาเซียน (ดำเนินธุรกิจในการดิสรัปวิธีการเรียนรู้ของคนในองค์กรและคนในสังคมด้วยกระบวนการใหม่)       

จนปัจจุบันเริ่มเห็นโครงการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมโดยบริษัท เคลย์มอร์ ฯ ไม่ว่าจะเป็น ‘KATSAN’ ซึ่งเป็น solution ที่เหมือนผู้คุ้มกันส่วนตัวอัจฉริยะ (Personal Guardian) มาช่วยดูแลความปลอดภัยของการอยู่อาศัยภายในหมู่บ้านจัดสรร หรือแม้แต่ ‘HOMEWISER’ นวัตกรรมดีไซน์ที่จะมาช่วยเรื่องการดูแลและบำรุงรักษาที่อยู่อาศัยในแบบผู้เชี่ยวชาญประจำบ้าน (Personal Home Advisor) 

สำหรับเรื่องราวของการสร้าง Corporate Innovation ที่ผ่านมาได้ถูกบ่มเพาะเช่นไรแล้วจะไปต่อในทิศทางไหน หาคำตอบได้จากบทสัมภาษณ์ของผู้ที่ได้รับมอบหมายให้มาสานต่อภารกิจโดยตรง

Corporate InnovationAP ได้รับผลกระทบจาก Digital Disruption อย่างไร

ถ้าเราพูดถึงการ disruption ที่เกิดขึ้นในโลกนี้ อสังหาริมทรัพย์อาจจะเป็นธุรกิจหลัง ๆ ที่ได้รับผลกระทบ แต่ที่แน่ ๆ คือ เรามีความเชื่อว่าในอนาคตมันจะต้องเกิดขึ้น แต่จะไปในทิศทางไหน ทุกคนก็พยายามค้นหาอยู่ 

ทั้งนี้จะเห็นว่าปัจจุบันธุรกิจที่โดน disrupt ส่วนใหญ่จะเป็นด้านบริการ ขณะที่ทางด้าน real sector ยังไม่โดนมาก แต่ในอนาคตเชื่อว่าในฝั่งด้านก่อสร้างของธุรกิจอสังหาฯ น่าจะได้รับผลกระทบแน่ ๆ 

ถ้ามองระหว่างธุรกิจอสังหาฯ กับ Airbnb ที่หากต้องการสร้างคอนโดมิเนียมมาแข่งกับผู้พัฒนาอสังหาฯ ก็สามารถทำได้ง่าย ๆ เพราะมีข้อมูลสถานที่หรือทำเลซึ่งเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค หรือแม้แต่รู้ว่าลูกค้าสามารถซื้อได้ในราคาเท่าไร ฉะนั้นเมื่อ Airbnb เล็งเห็นโอกาสตรงนี้ แล้วสามารถจัดการและควบคุมต้นทุนในการก่อสร้างได้ดีกว่า ก็จะ disruption ได้ ดังนั้นถ้าเราไม่พัฒนา ไม่รู้จักข้อมูลอะไรเลย แล้วถ้าวันหนึ่งคู่แข่งเหล่านี้เข้ามาในตลาด ก็จะทำให้เราไม่สามารถสู้กับธุรกิจเหล่านี้ได้

สำหรับภาพรวมของ innovation ในธุรกิจอสังหาฯ นั้น จะค่อนข้างไปทางด้านการอยู่อาศัยมากกว่า ไม่ว่าจะเป็น smart home หรือ IoT แต่ที่ยังไม่ค่อยเห็นคือแล้วจะทำอย่างไรในส่วนการก่อสร้าง เพราะทุกวันนี้ยังไม่ถูก disrupt  แต่เราเริ่มเห็นแล้วว่าการก้าวเข้ามาของกระบวนการออกแบบ 3 มิติ ที่ทำให้ต้องคิดว่าจะสามารถ implement อย่างไร เพื่อให้ต่อยอดในอนาคตได้ นี่เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องคิดและทำให้ทันเวลา 

เพราะความยากในการพัฒนาเรื่องพวกนี้คือมีกระบวนการเดิม ๆ ที่ยังประสบความสำเร็จอยู่ หากจะเข้าไปเปลี่ยน อย่างแรกที่จะต้องเจอคือไปเพิ่มกระบวนการทำงานที่ไม่คุ้นเคย สองคือไปเปลี่ยนกระบวนการทำงานทั้งหมด ซึ่งจะไปย้อนแย้งกับวัฒนธรรมเดิมที่มีอยู่ในองค์กร 

อย่างไรก็ตาม บริษัทอสังหาฯ กำลังเริ่มกระบวนการเหล่านี้อยู่ และขึ้นกับความเร็วของแต่ละบริษัทที่อาจจะไม่เท่ากัน แม้รู้ว่าต้องเปลี่ยนแน่ ๆ แต่ที่เป็นความท้าทาย คือไม่รู้ว่าจะเปลี่ยนไปในทิศทางไหน

“ผมคิดว่าเราทุกคนเห็นภาพของ FinTech ที่ทุกอย่างถูกนำมาวางไว้บนโต๊ะหมดแล้ว ขึ้นอยู่ว่าจะตามทันหรือไม่ แต่ธุรกิจอสังหาฯ เปรียบเสมือนของที่ยังอยู่ใต้โต๊ะ จึงไม่รู้ว่าจะไปในทิศทางไหน ทุกคนก็พยายามทำออกมาในมุมมองของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน” 

Corporate Innovationอะไรคือ Pain point ของผู้อยู่อาศัยที่หนักหนาที่สุด แล้วต้องเข้าไปแก้

หลัก ๆ คือเรื่อง security แน่นอนว่าผู้อาศัยก็ต้องการเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก ซึ่งหลายคนที่ย้ายเข้ามาอยู่คอนโดมิเนียมด้วยเหตุผลหลัก คือรู้สึกว่ามันปลอดภัยกว่าบ้าน ทั้ง ๆ ที่หมู่บ้านเองก็เป็น gated community แต่คนก็ยังรู้สึกว่ยังไม่ปลอดภัยเพียงพอ

นั่นคือเราต้องหาทางออกว่าจะมีการป้องกันอย่างไร เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยรู้สึกว่าปลอดภัยมากกว่า เนื่องจากเรามีข้อมูลที่ดี มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย ซึ่งจะไม่พูดถึงเรื่องที่มันเกิดขึ้นไปแล้วแต่จะพูดถึงเรื่องการป้องกันมากกว่า 

นวัตกรรมมีผลต่อการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยหรือไม่

ผมเชื่อว่าคนที่ซื้อบ้านทุกวันนี้ตัดสินใจเลือกทำเล ราคา และความน่าเชื่อถือ ซึ่ง innovation ที่เราสร้างมาทั้งหมด เพราะต้องการความไว้เนื้อเชื่อใจ นั่นคือสิ่งที่แตกต่างระหว่างแบรนด์ใหญ่กับแบรนด์เล็ก 

ส่วนเรื่องทำเลและราคา ก็เป็นเรื่องของผู้พัฒนาอสังหาฯ รายใหญ่ทุกคนเป็นเหมือนกันหมด นั่นคือซื้อที่ดินเก่ง ในแง่ของการต่อรอง และการพัฒนาได้ดี เพราะเรามีตัวเลือกและอำนาจต่อรองในการเลือกซื้อที่ดิน 

แต่จะมีผลมากกว่าเรื่องเทคโนโลยีที่จะเติมเข้ามา คือ จะทำอย่างไรให้เรื่องราคาสามารถแข่งขันได้มากที่สุด และทำได้อย่างมีคุณภาพมากที่สุด นี่คือสิ่งที่ลูกค้ามองมากกว่าเรื่อง IoT และถ้าเราพูดถึงเรื่องนวัตกรรมจริง ๆ คือการที่จัดหาระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับมากกว่า เช่น การให้เครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงแก่ทุกบ้าน และทุกห้องในคอนโด เพื่อมาใช้งาน IoT ตามที่ผู้อยู่อาศัย/ลูกค้าต้องการ

นอกจากนี้เทคโนโลยีที่เราจะเติมเข้ามาเพื่อพัฒนาคุณภาพหรือพัฒนาเรื่องการแข่งขันด้านราคา คือสิ่งที่กำลังให้ความสำคัญอยู่ตอนนี้ ยกตัวอย่างเช่นเทคโนโลยี prefabricate คือการสร้างนอกพื้นที่โครงการ (off-site construction) เป็นการสร้างจากโรงงานแล้วนำมาต่อเติมในโครงการ เพราะได้คุณภาพที่ดีกว่าการใช้ฝีมือแรงงาน เช่น ทำห้องน้ำสำเร็จรูปมาแล้ว ทั้งนี้ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ก็ได้รับการตอบรับที่ดีและแก้ปัญหาในเรื่องจุดบกพร่องต่าง ๆ ที่ส่วนใหญ่เกิดจากระบบน้ำ และ ระบบไฟไปได้ 

อีกอันหนึ่งที่จะพูดถึงคือ BIM (Building Information Modeling เป็นเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาขึ้นสำหรับวงการงานสถาปัตยกรรม และการก่อสร้าง ที่เริ่มตั้งแต่การออกแบบอาคารไปจนถึงการก่อสร้างโดยใช้ระบบคอมพิวเตอร์มาควบคุมกระบวนการต่าง ๆ ) ที่ต้องมาคิดว่าจะต่อยอดเรื่องการพัฒนาคุณภาพอย่างไร ทั้งนี้ในต่างประเทศพัฒนาไปถึงขั้น เริ่มออกแบบเป็น 3 มิติ ส่งเข้าโรงงาน และทำออกมาให้เป็นของจริงได้ ซึ่งวันนี้เรายังไปไม่ถึงขั้นนั้น แต่อย่างน้อยก็สามารถจัดการภายในของเราได้ 

“ผมเชื่อว่าจุดเปลี่ยนที่ธุรกิจอสังหาฯ จะอยู่ต่อหรือจะหายไปในอนาคต ขึ้นอยู่กับการใช้ BIM”

เคยมีผู้เชี่ยวชาญยกตัวอย่างว่า AP  ถือเป็นองค์กรที่ทำ Corporate Innovation ได้ดี แล้วเราประเมินตัวเองอย่างไร และมีจุดไหนที่ต้องการทำให้ดีกว่านี้

ถ้าเป็นเรื่องให้คะแนน ถือว่ายังสอบตกอยู่ เพราะ innovation จะประสบความสำเร็จหรือสร้าง impact จริง จะต้องสามารถสร้างผลกำไร หรือ commercialize ได้ ซึ่งทุกวันนี้โครงการต่าง ๆ ที่อยู่ระหว่างการพัฒนายังไม่มีอันไหนที่เป็นแบบนั้น  

ทั้งนี้คำว่า commercialize อาจจะไม่จำเป็นต้องได้กำไรในวันนี้ เพราะในโลกของ Startup ต้องมีช่วงขาดทุนอยู่แล้ว แต่ต้องมีโอกาสทำกำไรได้ในอนาคต แต่โครงการพัฒนานวัตกรรมของเรายังอยู่แค่ ideate ไปถึง prototype แต่ยังไม่สามารถ commercialize ได้จริง ๆ 

“ผมเชื่อว่าถ้าในช่วงแรกทำได้ดี เริ่มสร้างทีมและวัฒนธรรมในการทำงานได้ในระดับหนึ่งแล้ว แม้ยังมีบางอย่างที่ยังข้ามไปไม่ได้ ซึ่งผมก็ยังเชื่อว่าในโลกของ corporate startup ทุกคนต่างเป็นแบบนี้หมด คือสร้างขึ้นมาแล้วยังก้าวข้ามจุดตรงนี้ไปไม่ได้” 

Corporate Innovation

การบริหารบุคลากรและสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้สอดคล้องกับทิศทางในอนาคต มีการบริหารจัดการอย่างไรบ้าง

มีสองเรื่องหลักที่ผู้บริหารเน้นย้ำกับทาง HR อย่างแรกคือการที่ทุกคนต้องเข้าใจกระบวนการและลูกค้าผ่าน Design Thinking (ตัวช่วยในด้าน Hard Skill ผ่านการร่วมมือกับมหาวิทยาลัย Stanford ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยถือเป็นหนึ่งในหลักสูตรที่ให้พนักงานของ AP ต้องเรียน เพื่อส่งเสริมให้เกิดกระบวนการทางความคิดที่นำไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมดีไซน์) 

อย่างที่สองคือ นวัตกรรมจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าขาด Outward Mindset (กลไกในการเชื่อมโลกเก่ากับโลกใหม่ และเชื่อมคนจากหลายหน่วยงานให้ทำงานร่วมกันอย่างราบรื่น) ที่สำคัญคือต้องรู้จักพูดคุยและรับฟังซึ่งกันและกัน

"นวัตกรรมจะไม่เกิดขึ้น ถ้าเราไม่กล้าพูดและไม่กล้ารับฟัง โดยต้องไม่กลัวว่าจะผิด ซึ่งปัจจุบันต้องเรียนรู้ความผิดพลาด และแก้ไขให้เร็ว"

เช่นเดียวกับเรื่องการวัดผล แม้เมื่อก่อนอาจจะใช้ KPI (Key Performance Indicator หรือเครื่องมือวัดประสิทธิภาพการดำเนินงาน) แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว นั่นคือต้องเปิดโอกาสให้เด็กรุ่นใหม่ ๆ ได้ลองทำก่อน ถ้าทำผิดแล้วแก้ให้ดีขึ้นให้เร็วที่สุด 

ฉะนั้นสิ่งที่จะเข้ามาช่วยได้อย่างมากคือ Outward Mindset โดยคนที่เป็นผุ้ใหญ่กว่าก็ต้องรับฟังคนรุ่นใหม่ ต้องเข้าใจและให้ feedback ในขณะที่เด็กรุ่นใหม่ก็ต้องรับฟังด้วยเหมือนกัน กลายเป็นว่ามันมีสองวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นคือนวัตกรรมและประสบการณ์ 

อย่างไรก็ตาม แน่นอนว่าต้องมีความหลากหลายของช่วงอายุภายในองค์กร จะเห็นว่ามีน้อง ๆ อายุต่ำกว่า 35 ปี ขณะที่ผู้บริหารโดยเฉลี่ยจะอายุ 45 ขึ้นไป จึงมีช่วงวัยที่ห่างกันมาก โดยเฉพาะน้อง ๆ ในทีม innovation ที่เข้ามาก็จะมีอายุตั้งแต่ 28-30 ปี ทำให้ในการทำงานจะเจอคนที่หลากหลายมาก ๆ 

แม้กระทั่งตัวผมเองที่เวลาคุยเรื่อง innovation กับน้อง ๆ ก็จะพบว่าพวกเขาไม่มีประสบการณ์ด้านธุรกิจอสังหาฯ ซึ่งเมื่อเข้ามาทำงานร่วมกับคนที่อยู่ในองค์กรก็ต้องเกิดความขัดแย้งกันบ้าง แต่เราก็ต้องคิดหาวิธีแก้ไขปัญหาเหล่านี้ 

ส่วนใหญ่แล้วเป้าหมายของการสร้างนวัตกรรมและการบริหารด้าน HR มักจะไม่ไปในทิศทางเดียวกัน เพราะ HR จะมี KPI ในการวัดผลอีกแบบหนึ่ง เรามีวิธีการอย่างไรให้ทั้งสองฝั่งไปด้วยกันได้

ผมคิดว่า HR ของ AP เองค่อนข้างเปิดกว้างและรับได้เกี่ยวกับแนวทางพัฒนาด้านนวัตกรรม แต่สิ่งสำคัญที่สุดในปัจจุบันนี้คือการสื่อสาร ซึ่งกระบวนการทุกอย่างที่เราสร้างขึ้นมาต้องมีการพูดคุยกับ HR ตลอดเวลาว่าวัตถุประสงค์คืออะไร สิ่งที่เราจะให้คืออะไร แน่นอนที่สุดว่าในเรื่องสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ก็ต้องรับฟัง HR ด้วยเหมือนกันว่าประมาณเท่าไรที่เหมาะสม จากนั้นก็มาร่วมกันเสนอความเห็นและพูดคุยกันว่าควรจะเป็นแนวทางไหน 

แต่ปัญหาคือแล้วจะวัดผล innovation อย่างไร ซึ่งจำเป็นต้องให้ทาง HR เข้าใจในกระบวนการวัดผล เพื่อให้สามารถอธิบายและชี้แจงกับทีมงาน innovation  ได้อย่างชัดเจน อีกทั้งยังสามารถอธิบายให้คนอื่นฟังได้ด้วย 

เนื่องด้วยกระบวนการทำงานและวัดผลที่ต่างกันระหว่างพนักงานทั่วไปและฝั่งทีม innovation เพราะผลงานจะขึ้นกับศักยภาพของตัวเขาเองเป็นส่วนใหญ่ นั่นคือถ้าผ่านก็ได้รับสิทธิประโยชน์ตามที่ตกลง แต่ถ้าตกก็เริ่มใหม่ตั้งแต่กระบวนการแรก 

นอกจากนี้การทำงานในปัจจุบันคือการร่วมมือกันของแต่ละฝ่าย โดยที่อาศัยความเชี่ยวชาญของแต่ละคน นั่นคือความเชี่ยวชาญของ HR ซึ่งมีข้อมูลและข้อเท็จจริงที่ทำให้ทุกอย่างสมเหตุสมผลได้ ขณะที่มีส่วนแนวคิดใหม่ ๆ ฉะนั้นเมื่อมารวมกันก็จะได้ภาพที่ชัดเจนขึ้น แม้กระทั่งการวัดผลของทีม innovation ก็ถือเป็น innovation ด้วย

แล้วใช้เกณฑ์ใดการวัดผลทีม innovation 

เรายึดรูปแบบจากระบบของ Startups ที่ค่อย ๆ พัฒนาไปทีละขั้น ซึ่งพิจารณาผลงานจากโอกาสที่จะเติบโตและสร้างผลกำไรได้ในอนาคต จึงต่างจากบริษัททั่วไปที่จะให้โบนัสปีละครั้ง แต่ของเราไม่มีเวลามากำหนด นั่นคือคุณจะได้โบนัสก็ต่อเมื่อทำงานได้ผ่านตามเกณฑ์ที่ตั้งไว้ เพราะหากมัวแต่มานั่งรอโบนัส การสร้างนวัตกรรมก็คงจะไม่ขยับไปไหนเลย 

เช่นเดียวกันที่ AP ก็สร้างมาได้จากผู้ก่อตั้ง Startups สองคนคือคุณอนุพงษ์และคุณพิเชษฐ์ (พิเชษฐ วิภวศุภกร ผู้ก่อตั้งร่วมและกรรมการผู้อำนวยการ)  ซึ่งถือว่าผู้ประกอบการโดยสายเลือดอยู่แล้ว เมื่อให้ทั้งสองท่านเป็นคนตัดสินว่าจะให้ผ่านหรือไม่ ก็เหมือนกับ VC  ว่าจะเลือกลงทุนใน  Startups นั้น ๆ หรือไม่


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เปิดคู่มือ 'นวัตกรรมองค์กร' จากบริษัทระดับโลก เลือกอย่างไรให้องค์กรสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืน

องค์กรต่างๆ ทั่วโลกต่างตระหนักถึงความสำคัญของ ‘นวัตกรรม’ ในการขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตและแข่งขันได้อย่างยั่งยืน แต่การเลือกรูปแบบนวัตกรรมองค์กร (Corporate Innovation Model) ที่เหม...

Responsive image

KT Corporation จับมือ Microsoft ยกระดับ AI ในเกาหลีใต้ ส่งผลกระทบถึงไทยอย่างไร?

KT Corporation และ Microsoft ได้ประกาศความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ครั้งสำคัญ โดยมีเป้าหมายเพื่อเร่งการพัฒนานวัตกรรม AI ในเกาหลีใต้ ด้วยมูลค่าการลงทุนหลายพันล้านดอลลาร์ และระยะเวลาความร่ว...

Responsive image

เปิดโลก CVC ทางสู่การเติบโตหรือกับดักบริษัทใหญ่? พร้อมเคล็ด(ไม่) ลับ ทำ CVC ให้สำเร็จ

ในงาน Techsauce Global Summit 2024 Dan Toma Co-founder จาก OUTCOME บริษัทที่ให้คำปรึกษาด้านนวัตกรรม ได้เปิดมุมมองเชิงลึกเกี่ยวกับ Corporate Venture Capital (CVC) ในฐานะเครื่องมือเช...