เจาะแนวคิด CPanel หา Blue Ocean ต่อยอดธุรกิจคอนกรีตดั้งเดิมอย่างไร ให้เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมใหม่ | Techsauce

เจาะแนวคิด CPanel หา Blue Ocean ต่อยอดธุรกิจคอนกรีตดั้งเดิมอย่างไร ให้เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมใหม่

ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า การแข่งขันในโลกธุรกิจปัจจุบันมีความดุเดือดค่อนข้างมากแทบในทุกอุตสาหกรรม ซึ่งทุกธุรกิจจึงต้องมีการปรับตัวเพื่อให้อยู่รอด และมากไปกว่านั้นคือ ต้องเพิ่มพูนศักยภาพในการแข่งขันด้วย ดังนั้นในระยะหลังมานี้เรามักจะได้ยินคำว่า Blue Ocean หรือการหาน่านน้ำสีคราม คือ การหาตลาดที่ไม่ต้องมีการแข่งขันกันอย่างดุเดือด ซึ่งเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่หลายธุรกิจหันมาใช้กันค่อนข้างมากในยุค Disruption

ดังนั้นในบทความนี้ Techsauce จะพาไปพูดคุยกับ ‘ชาคริต ทีปกรสุขเกษม’ ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีแพนเนล จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายผนังคอนกรีตสำเร็จรูป ซึ่งเป็นหนึ่งในกรณีศึกษาที่น่าสนใจ จากการมองหา Blue Ocean ให้กับธุรกิจ ซึ่งเป็นการต่อยอดจากธุรกิจดั้งเดิมอย่างการผลิตคอนกรีต โดยการใส่นวัตกรรมลงไป เพื่อสร้างการเติบโตในตลาดใหม่ที่คู่แข่งน้อย จนกระทั่งทำให้ CPanel ขึ้นแท่นเป็นหนึ่งผู้นำในอุตสาหกรรม Precast ได้ภายในระยะเวลาไม่กี่ปี และปัจจุบันสามารถทำรายได้เติบโตมาอยู่ที่ประมาณ 300-350 ล้านบาท หลังจากก่อตั้งธุรกิจมาได้เพียงแค่ 6 ปีเท่านั้น และยังมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องในทุก ๆ ปี

CPanel-Blue Ocean

ชาคริตสำเร็จการศึกษาจากสายการเงิน โดยได้เข้าศึกษาในระดับปริญญาตรีที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ หลังจากนั้นก็ได้ไปหาประสบการณ์ในการทำงานที่ธนาคารดีบีเอสไทยธนุ ประมาณ  3 ปี แต่จากการมองเส้นทางชีวิตของตนเองว่าต้องเดินไปในแนวทางของการเป็นเจ้าของกิจการ จึงได้ตัดสินใจกลับมาช่วยกิจการที่บ้าน ซึ่งดำเนินธุรกิจผลิตคอนกรีต นั่นคือ บริษัท ผลิตภัณฑ์คอนกรีตชลบุรี จำกัด (มหาชน) ปัจจุบันได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯแล้ว 

และหลังจากที่ได้กลับมาช่วยกิจการครอบครัวสักระยะทำให้เขารู้ว่า การทำธุรกิจไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องของตัวเลขอย่างเดียว จึงทำให้เขาตัดสินใจไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท ด้านการบริหารที่ DePaul University  สหรัฐอเมริกา แล้วได้กลับมาช่วยงานที่บ้านต่อ และเมื่อทำไปสักพัก ก็ได้เห็นโอกาสในการทำธุรกิจที่สามารถต่อยอดจากธุรกิจผลิตคอนกรีตแบบดั้งเดิมได้ นั่นคือ การทำผนังคอนกรีตสำเร็จรูป (Precast Concrete Wall Panel)  ซึ่งเขามองว่าเป็นธุรกิจที่ต่อยอดได้ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี และอาจจะเข้ามา Disrupt ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างแบบดั้งเดิมได้เลยด้วยซ้ำ จึงทำให้เขาตัดสินใจออกมาก่อตั้งธุรกิจของตัวเอง นั่นคือ บริษัท ซีแพนเนล จำกัด (CPanel)

การที่ทำธุรกิจที่คนอื่นอาจจะมองว่ามันไม่ดี แต่ถ้าเรารู้ว่าเราสามารถทำอะไรได้ นี่คือ Skill ที่เรามีมากกว่าคนอื่น ๆ แบบนี้เรียกว่า Blue Ocean ของจริง คู่แข่งน้อย ไม่มีใครเร่ง และเราเองสามารถที่จะ Perform ใน Sector จนก้าวขึ้นเป็นผู้นำอุตสาหกรรมได้

CPanel  ธุรกิจที่เติบโตด้วยการสร้าง ‘นวัตกรรม’ 

บริษัท ซีแพนเนล จำกัด ซึ่งเป็นธุรกิจผลิตและจำหน่ายผนังคอนกรีตสำเร็จรูป หรือที่นิยมเรียกว่า Precast เป็นธุรกิจที่มีพื้นฐานมาจากงานรับเหมาก่อสร้าง (Construction) แต่ด้วยการเข้ามามีบทบาทของเทคโนโลยีทำให้การก่อสร้างกลายเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ง่ายขึ้น ดังนั้นเริ่มมีการเปลี่ยนแนวทางการมองธุรกิจในการขับเคลื่อน คือ การมองพื้นฐานของการตลาด 

ซึ่งจะสังเกตได้จากการขายคอนโดของผู้พัฒนาโครงการในปัจจุบันที่มักจะเน้นขายก่อนสร้าง หรือ Pre-sale เพื่อให้ทันต่อความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น ส่วนด้านการก่อสร้างมักจะเห็นว่าเป็นรูปแบบ Fully Prefabrication หรือการก่อสร้างแบบกึ่งสำเร็จรูป ทั้งหมดภายใน 2-3 ปีนี้  ทั้งนี้อาจจะเกิดจากความเสี่ยงจากการที่ รายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment Report :EIA) สามารถยกเลิกได้ เพราะถ้าหากมีการก่อสร้างที่ยาวขึ้น ส่งผลให้มีโอกาสของการถูกร้องเรียนจากการรบกวนสิ่งแวดล้อมค่อนข้างสูงเช่นกัน 

ภาพจาก  Facebook : CPanel

ชาคริตเล่ากับ Techsauce ว่า จากการที่ปัจจุบันแนวคิดของการพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมและบ้านค่อนข้างที่จะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน สำหรับผู้ประกอบการ คือ ขายก่อนสร้าง หรือที่เรียกว่า Presale แล้วค่อยมาลดระยะเวลาในการก่อสร้างมันจะดีกว่า เพราะมันจะทำให้เป็น Secure Project โดยให้คิดง่าย ๆ เลยว่า การสร้างตึกที่มีความสูง 20-30 ชั้น จากเดิมที่ใช้ระยะเวลาสร้างอย่างน้อย 2 ปี ลดลงมาเหลือ 1.5 ปี  ระยะเวลา 6 เดือนที่หายไปสามารถลดความเสี่ยงในทุก ๆ  ด้านได้ค่อนข้างมาก CPanel เป็นบริษัทผนังคอนกรีตสำเร็จรูปที่มีนวัตกรรมในการทำงานควบคู่กับการก่อสร้างแบบดั้งเดิมได้ ดังนั้นเราจึงเป็นเหมือนตัวช่วยที่เข้ามาปิดรอยรั่วของการทำงานนั่นเอง และนี่จึงเป็นหนึ่งในที่มาของการก่อตั้ง CPanel ด้วย

นอกจากนี้ในปัจจุบันจะเห็นได้ว่าปัญหาหนึ่งของการสร้างตึกในกรุงเทพมหานคร จำนวนที่ดินเหลือพื้นที่ที่สามารถก่อสร้างได้น้อยลงทุกวัน ดังนั้น Precast จึงเป็นเหมือน solution ที่มาตอบโจทย์งานก่อสร้าง เพราะ สามารถสร้างได้ในที่แคบหรือพื้นที่ขนาดเล็ก และรบกวนสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ไม่ต้องมีการเทคอนกรีต ไม่ต้องมีเสียงรบกวน และไม่ก่อให้เกิดฝุ่นมากจนกระทั่งรบกวนสิ่งแวดล้อม เพราะจากที่เราเห็นว่ากรุงเทพเป็นเมืองที่มีฝุ่น PM 2.5 ค่อนข้างมาก ซึ่งส่วนใหญ่มาจากฝุ่นจากการก่อสร้าง  จึงทำให้ปัจจุบันเริ่มมีการเรียกร้องให้เกิด Green Building ในประเทศไทย นั่นคือ Zero Waste No Dust  ดังนั้นธุรกิจผนังคอนกรีตสำเร็จรูป หรือ Precast จึงไม่ได้เป็นผลิตภัณฑ์ที่เข้ามาตอบโจทย์เพียงแค่เรื่องของต้นทุนของผู้ประกอบการเท่านั้น แต่สามารถตอบโจทย์ให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) อื่น ๆ ได้ด้วย 

ตอนที่เริ่มตั้งบริษัทต้องบอกว่าในช่วงแรกเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว เรามีออร์เดอร์เข้ามาค่อนข้างน้อย ซึ่งอาจจะเป็นเพราะว่าลูกค้ายังไม่ค่อยมีความเข้าใจและเชื่อมั่นใน Precast ดังนั้นในการทำงานของเราต้องบอกว่าช่วงนั้นเป็นช่วงที่เหนื่อย แต่เราอยากส่งของทุกวัน จึงบอกลูกค้าไปว่า ให้ส่งแบบมาให้เราเลย ถ้าหาก Template ผิดตรงไหนเราสามารถแก้แบบเลื่อนให้ได้ ซึ่งต้องบอกว่าการแก้แบบเป็นสิ่งที่ยากมาก แต่เราก็พยายามทำให้ลูกค้าให้ได้ และในขณะเดียวกันเราก็ได้เอามาทำให้เป็นแบบสามมิติ (3D)ในการผลิตแบบทุกชิ้น ซึ่งเราก็ทำแบบนี้กับทุกอาคาร มีการประสานงานกับช่างรับเหมาเดิม เมื่อเขาดำเนินการก่อสร้างภายในเสร็จ เราก็สามารถเข้าไปติดตั้งผนังสำเร็จรูปได้ทันที การทำเช่นนี้ทำให้การก่อสร้างสามารถดำเนินการไปได้อย่างรวดเร็ว 

ภาพจาก Facebook : CPanel

ในสมัยก่อนการทำ Precast ไม่ได้เป็นเรื่องที่ทำง่าย ๆ เพราะต้องทำต้นแบบ (Prototype) ก่อน ซึ่งหมายความว่า บ้านหลังแรกที่ผนังเป็น Precast ไม่สามารถขายได้ แต่สำหรับ CPanel จากการที่เราเห็นว่าการทำแบบนี้ค่อนข้างจะทำให้งานล่าช้า และถือเป็น Pain Point ของการทำงาน เราจึงเขียนแบบทุกอย่างให้เป็นสามมิติ (3D) ไม่ต้องมีบ้านหลังต้นแบบ เห็นในแบบเป็นอย่างไร การก่อสร้างจริงก็เป็นแบบนั้น ซึ่งปัจจุบันลูกค้าสามารถที่จะดูแบบผ่านแท็ปเล็ตได้เลย ไม่ต้องมาใช้พิมพ์เขียวเหมือนการก่อสร้างในสมัยก่อน และตอนนี้งานก่อสร้างบางส่วนเริ่มมีการพัฒนาไปถึงขนาดที่ว่าสามารถใช้แว่น VR ดูภาพที่จะเกิดขึ้นเสมือนจริงได้เลย ซึ่งในอนาคตเราก็อาจจะพัฒนาไปถึงตรงนั้น

ตอนที่เริ่มมาทำ Precast จริง ๆ เราได้มีการผลิตแบบ manual ก่อน แต่ปัญหาที่เราพบเจอ คือ กว่าจะสามารถขายให้กับลูกค้าได้ ใช้เวลานานมาก โดยใช้เวลากว่า 8 เดือนกว่าที่จะสามารถส่งมอบบ้านให้กับลูกค้าได้ และอีกปัญหาหนึ่ง คือ เราถือสต็อกแทนลูกค้ามากเกินไป ซึ่งเท่ากับว่า ความเสี่ยงของลูกค้าอยู่กับเรา ดังนั้นจึงทำให้เราเห็นช่องโหว่ของธุรกิจ และได้นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยดำเนินการผลิต

CPanel สร้างนวัตกรรมของเราเอง ซึ่งเกิดจากการที่เรามองจากปัญหาและหาวิธีการแก้ไขมาเรื่อยๆ จนกระทั่งพบวิธีการทำงานที่ดีที่สุดที่ตอบโจทย์ลูกค้าของเรา

Leverage หัวใจสำคัญของการลงทุนในเทคโนโลยี

จากการที่เรามองเห็นช่องว่าง นั่นคือ การสร้างนวัตกรรม และใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย เพื่อตอบโจทย์และแก้ไขปัญหาดังกล่าวที่เราเจอ ดังนั้น การดำเนินงานของ CPanel กระบวนการผลิตจะใช้ระบบออโตเมติกในการ operate ทั้งหมด ซึ่งในการเลือกใช้เทคโนโลยีที่จะมาช่วยในการทำงานนั้น เรามองที่ 2 ปัจจัยหลัก คือ 

หนึ่ง  เทคโนโลยีบางอย่างไม่ใช่แค่รู้สึกว่า “ว้าว” นะ แต่ต้องดูด้วยว่าลูกค้าจะซื้อหรือไม่ ในการสร้างกิจการอะไรสักอย่างต้องบอกเลยว่า Startup กับ อุตสาหกรรม เหมือนกันอย่างหนึ่ง ประเด็นสำคัญ คือ Economy of Scale  

สอง คุณต้องหาให้ได้ว่า โมเดลธุรกิจที่วางมา ลูกค้าคือใคร หรือใครเป็นคนจ่ายเงินคุณ ซึ่งมันเป็น Basic Idea มาก

การลงทุนในเทคโนโลยีหรือการใช้เครื่องจักร เป็นสิ่งที่ยากกว่าใช้คน เพราะต้องยอมรับให้ได้อย่างหนึ่งว่า เมื่อไหร่ที่คุณตัดสินใจจะเปลี่ยนมาใช้เครื่องจักร ต้องอาศัยความพยายามมากกว่าใช้คนประมาณ 10-20 เท่า ต้องพร้อมที่จะเรียนรู้ในสิ่งที่ไม่เคยรู้มาก่อน เพราะสิ่งที่จะได้จากการลงทุนในเทคโนโลยี ในระยะแรกแน่นอนว่าไม่ใช่ความสบาย แต่มันคือ ความเสี่ยง 

ดังนั้นหลักการสำคัญของการลงทุนในเทคโนโลยีเลยก็คือ Leverage หรือที่เข้าใจกันว่าเป็นความสามารถในการเพิ่มมูลค่า โดยที่ไม่ต้องใช้เงินจำนวนมหาศาลนั่นเอง เพราะเมื่อใดก็ตามที่ถ้าหากว่าโรงงานของคุณเดินเครื่องเต็มพิกัด (Fully Operate) แล้วไม่สามารถผ่านจุดคุ้มทุน (Break Even Point) ได้ก็จบ ดังนั้นในวันที่จะลงทุน ต้องมองภาพให้ได้แล้วว่าจะ Break Even ได้อย่างไร และจะต้องขับเคลื่อนการดำเนินงานไปให้ถึงตรงนั้นเร็วที่สุด ซึ่งหมายความว่าต้องทำ Process ให้สั้น แต่ต้องได้ Economy of scale สูง ๆ 

ภาพจาก Facebook : CPanel 

แนวคิดการทำธุรกิจแบบนี้ได้มีการคิดมาตั้งแต่ช่วยธุรกิจครอบครัว ซึ่งต้องบอกว่าเราไม่ได้เป็นเจ้าใหญ่ ดังนั้นจึงต้องมีการคิดว่าของที่เราจะขาย ใครจะซื้อ คิดตั้งแต่ Economy of scale มูลค่าอยู่ตรงไหน สามารถขายแพงกว่าได้หรือไม่ คิดแบบนี้ รอบด้าน เพื่อมาหากลยุทธ์ในการดำเนินงานในแบบของเรา ดังนั้นสิ่งที่ค้นพบคือ เราจะไม่ทำแบบรีเทล  หรือ B2C (Business to Customer) แต่จะขายแบบ B2B (Business  to Business) เพราะความยากที่จะไปแข่งกับเจ้าใหญ่ ซึ่งเขาจะมีลูกค้ารายย่อยค่อนข้างมากนั้น เรามองว่าการทำธุรกิจแบบ B2C กลุ่มนี้จะไม่คุยอะไรที่เป็นวิทยาศาสตร์ แต่จะคุยเรื่องของความเชื่อ แต่การทำธุรกิจแบบ B2B จะค่อนข้างเป็นวิทยาศาสตร์ คือ คุณแค่ test แล้วถ้า prove ผ่านคือจบ ซึ่งนี่ก็เป็นโมเดลธุรกิจของ CPanel 

ผมมองว่าความสวยงามของการเป็นธุรกิจขนาดเล็ก คือ การที่เราต้องดิ้นรนตลอดเวลา มีความหิว และรู้สึกถึงความไม่ปลอดภัย ดังนั้นเราจึงต้องหาทางเพื่อต่อสู้ให้อยู่รอดให้ได้

ก่อนที่จะลงมือสร้าง CPanel ขึ้นมา เราได้มองไปจนถึง Exit Strategy เลย วางไว้ตั้งแต่แรก และตอนที่ทำก็คิดเสมอว่าเราจะสามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้อย่างไร ลดความเสี่ยงให้ตัวเอง และลดความเสี่ยงให้ลูกค้าได้อย่างไร ซึ่งแน่นอนว่าเราต้องเข้าใจลูกค้าว่าเขาอยากได้อะไร เพราะมิเช่นนั้นแล้วถ้าหากเราไม่รู้ว่าลูกค้าอยากได้อะไร ต่อให้คิด Business Model มาสวยหรูแค่ไหนก็เจ๊งได้ และในทางกลับกันหากเราเข้าใจแค่ลูกค้า แต่ไม่เข้าใจตัวเองก็จบได้เหมือนกัน เพราะจะกลายเป็นว่า ตอบโจทย์ลูกค้า แต่ตัวเองรับความเสี่ยงมาเต็ม ๆ อันนี้ก็เป็นไปไม่ได้

ดังนั้นในการสร้างธุรกิจขึ้นมา อันดับแรก ต้องรู้จักตัวเอง และเข้าใจลูกค้า  หลังจากนั้นก็วาง Business Model ให้ชัด อย่าง CPanel ก็จะเป็นเรื่องของโรงงาน ซึ่งง่ายกว่าอย่างอื่น เพราะว่า สามารถเห็นจุดคุ้มทุนได้ชัดเจน และมีการคาดการณ์ล่วงหน้าได้ (Forecasting) ได้ และยิ่งโรงงานของเราใช้เทคโนโลยี ทำให้การทำงานของเราเวลารับงานลูกค้ามาจะมี Cycle time ที่สั้นมาก ซึ่งเราคิดกันคนละแบบกับ Construction แบบดั้งเดิม โดยเราเปลี่ยนแนวคิดจากเดิมที่เป็นการ Build to stock มาเป็น Just in time ซึ่งเป็นแนวคิดเดียวกับโรงประกอบรถยนต์นั่นเอง

จับ Insight ลูกค้า ด้วยความเข้าใจ

สำหรับการทำงาน แม้ว่า CPanel จะเป็นธุรกิจที่จะอยู่ในส่วน supply chain ต้องอย่าไปคิดแค่ว่า จะขายของเพียงอย่างเดียว แต่เราต้องคิดไปอีกว่าเราจะสามารถทำให้ลูกค้าของเราชนะคู่แข่งได้อย่างไร เพราะจริง ๆ แล้วเราไม่สามารถที่จะให้ทั้งอุตสาหกรรมมาเป็นลูกค้าของเราได้ ดังนั้นในธุรกิจผนังคอนกรีตสำเร็จรูป หรือ Precast ที่เราทำมาส่วนใหญ่จะเป็นลูกค้าที่มาจากการ Prefer และเมื่อเขา Prefer เราแล้ว นั่นหมายความว่าเขาไว้วางใจที่จะให้เราเข้าไปมีส่วนร่วม และคาดหวังที่เราจะเป็นตัวช่วยให้เขาสามารถเติบโตได้มากขึ้น เพราะถ้าหากลูกค้าเติบโต เราก็จะเติบโตไปด้วย  

ทั้งนี้กระบวนการทำงานที่นอกเหนือไปจากการผลิตแล้ว เรายังช่วยลูกค้าจัดสรรงานติดตั้งให้ด้วย เนื่องจากเรามีการติดต่อกับฝั่งผู้รับเหมาค่อนข้างมาก ดังนั้นทำให้สามารถเข้าใจลักษณะการทำงาน และเข้าใจถึงความต้องการของลูกค้าในส่วนนี้ ซึ่งเราเก็บรายละเอียดจนถึงการจดจำลักษณะการทำงาน และความชอบของ Project Manager ที่เราทำงานด้วย จึงทำให้เราสามารถ supply งานให้กับลูกค้าได้อย่างตรงจุด 

และที่เราต้องทำถึงขนาดนี้ก็เพราะว่า เราต้องการทำให้กระบวนการทำงานทุกอย่างง่ายที่สุด อย่างที่บอกว่า การทำธุรกิจต้องคิดให้มากกว่าที่เห็น เพราะธุรกิจของเราไม่ได้เป็นเหมือนกับการซื้อของ แล้วเดินเข้าไปหยิบ จ่ายเงิน แล้วจบ แต่ธุรกิจของเรา คือ การทำงานเป็นทีม ดังนั้นเรื่องของการใส่ใจรายละเอียดในคน จึงมีความสำคัญ เพราะทุกอย่างมีการเชื่อมโยงกันหมด

ภาพจาก Facebook : CPanel

ธุรกิจจะโตไว เจ้าของ กับ คนในองค์กร ‘ต้องมองเป้าหมายเดียวกัน’

เมื่อใดก็ตามที่เปิดบริษัทใหม่ อย่างแรกให้ทำใจเลยว่า เราไม่สามารถรู้ได้ว่าเราจะเจอกับอะไรบ้าง หรือคนที่เราเลือกมาร่วมงานด้วยจะเข้าใจและมองภาพเดียวกับเราได้หรือไม่ ดังนั้นสิ่งที่ต้องคิดไว้ก่อนเลยก็คือ ‘การสร้างวัฒนธรรมองค์กร

ในฐานะที่เราเป็นเจ้าของ เราอยากให้ธุรกิจดำเนินไปในทิศทางใด เราต้องถ่ายทอดความเป็นเรา นั่นหมายถึงว่า จะเต็มไปด้วย mindset ของการเป็นเจ้าของกิจการ ไปยังคนในองค์กรของเรา ซึ่งถ้าอยากให้คนในองค์กรเป็นอย่างไร เราก็จะต้องปฏิบัติแบบนั้น เพื่อที่จะทำให้เขามองเป้าหมายเดียวกันกับเรา คือ การทำให้ธุรกิจเติบโต ซึ่งเขาก็จะเห็นภาพตัวเองในอนาคตได้ด้วยว่า เขาเองก็จะเติบโตเช่นเดียวกัน นอกจากการปลูกฝัง mindset เช่นนี้ให้กับคนในองค์กรแล้ว การเทรนนิ่งเพื่อเพิ่มพูนทักษะการทำงานก็เป็นสิ่งสำคัญ 

การทำธุรกิจ โดยเฉพาะการเป็นอุตสาหกรรม บอกเลยว่า ต้องใช้ความพยายามค่อนข้างมาก เพราะชื่อก็บอกว่าให้ อุตสาหะ ถ้าไม่เตรียมใจให้ดี รับรองว่าหมดแรงก่อนแน่นอน เพราะวันใดก็ตามที่คุณขึ้นมาเป็นผู้บริหาร หรือเจ้าของกิจการ แค่เปิดประตู ก็เจอปัญหาแล้ว ดังนั้น นี่เป็นสิ่งที่ต้องยอมรับให้ได้ แต่ที่สำคัญไปกว่านั้น เมื่อเจอปัญหา ต้องทำให้จบ เพราะถ้าปล่อยไป มันก็จะไม่จบ และจะทำอย่างอื่นต่อไม่ได้ 

นอกจากนี้ในระยะหลังเมื่อใดก็ตามที่จะรับพนักงานใหม่เข้ามา สิ่งที่เราให้ความสำคัญเป็นอย่างแรกเลย คือ ทัศนคติ เพราะเราถือว่าเรื่องของทักษะความสามารถเป็นสิ่งที่ฝึกฝนกันได้ แต่ทัศนคติ เป็นสิ่งที่ฝังเลย และเป็นตัวบ่งชี้ได้ว่าเขาพร้อมที่จะรับอะไรใหม่ๆหรือไม่ 

ทุกวันนี้ความรู้ที่เราเรียนกันมา หรือความรู้ในปัจจุบันนี้อาจจะยังใช้ได้อีกแค่ไม่กี่ปี แล้วก็จะเกิดสิ่งใหม่ๆขึ้นตลอดเวลา ดังนั้นทุกวันนี้ไม่ว่าจะเป็นคนรุ่นใดก็ตาม ต้องรู้จักเปิดกว้าง และพร้อมที่จะรับอะไรใหม่ ๆ ตลอดเวลา









ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

มรดกแนวคิด Steve Jobs ที่ส่งต่อถึง Tim Cook เบื้องหลังความยิ่งใหญ่ของ Apple

Tim Cook ยกหนึ่งคำสอนล้ำค่าในการทำงานจาก Steve Job ที่ทำให้ Apple เป็นหนึ่งในบริษัทชั้นนำของโลก ในด้านการส่งเสริมนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ภายในองค์กร นั่นก็คือ ‘ทุกคนสามารถสร้าง...

Responsive image

ทำไมองค์กรต้องมี ‘Innovation Culture’ พื้นฐานที่ขาดไม่ได้ถ้าอยากสร้างนวัตกรรม

ในบทความนี้ Techsauce ขอพาผู้อ่านไปรู้จักคำว่า Innovation Culture หรือ วัฒนธรรมนวัตกรรม อีกฟันเฟืองสำคัญของการสร้างนวัตกรรมองค์กรที่ขาดไปไม่ได้...

Responsive image

เจาะกลยุทธ์ ‘ปรับแต่ไม่เปลี่ยน’ ที่ IKEA ร้านเฟอร์นิเจอร์เก่าแก่เอาตัวรอดในยุคดิจิทัล

กลยุทธสำคัญอย่าง ‘ปรับแต่ไม่เปลี่ยน’ ที่ทำให้ IKEA สามารถรักษาเอกลักษณ์อันโดดเด่นของบริษัท ไปพร้อมกับการปรับตัวท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง...