กรณีศึกษาการปรับตัวของ AirAsia จากสายการบินสู่ Tech Company | Techsauce

กรณีศึกษาการปรับตัวของ AirAsia จากสายการบินสู่ Tech Company

ภาคท่องเที่ยวยังไม่ทันฟื้นตัว COVID-19 ระลอกที่สามก็ตามมาติด ๆ ทำให้ระหว่างที่รอให้ทั่วโลกกลับมาเดินทางได้ปกตินั้น อาจต้องใช้เวลาอีกหลักปี  เป็นที่ทราบกันดีว่าสถานการณ์เช่นนี้ส่งผลกระทบโดยตรง และอย่างหนักกับ ‘ธุรกิจสายการบิน’ ที่รายได้หลักหายไปมหาศาล ทำให้ต้องปลดพนักงานจำนวนมาก และปรับตัวเพื่อหารายได้ให้เข้ามาชดเชยได้บ้างไม่น้อยเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็น อาหาร ขนมหวาน บินวนไม่ลงจอด การจองตั๋วล่วงหน้าในราคาถูก การเน้นส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ ทั้งหมดนี้ก็เพื่อประคับประคองกิจการให้ดำเนินต่อไปได้บ้าง  

ถ้าสายการบิน ไม่ปรับด้วยด้วยวิธีการต่าง ๆ เหล่านั้น ที่ดูเหมือนว่าเป็นกลยุทธ์ระยะสั้น ที่เน้นการเอาตัวรอด การปรับตัวอย่างยั่งยืน เพื่อกระจายความเสี่ยงของธุรกิจ จากการเรียนรู้บทเรียน COVID-19 จะสามารถทำอะไรได้บ้าง ?

AirAsia

ถ้ามองในอีกมุมหนึ่งที่หลายคนบอกว่าในวิกฤติย่อมมีโอกาส ดังนั้น  COVID-19 เองก็ถือเป็นเวลาทองของการเปลี่ยนแปลง หลายองค์กรได้เลือกช่วงเวลานี้ทำ Digital Transformation ใช้เครื่องมือดิจิทัลในการเปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจให้สอดรับกับโลกที่ไม่แน่นอนในอนาคต โดยเพิ่มความยืดหยุ่น เพิ่มความหลากหลาย กระจายความเสี่ยง เพิ่มช่องทางรายได้ ป้องกันธุรกิจจากดิสรัปชันและการแข่งขันที่สูงขึ้นในอีกหลายปีข้างหน้า

AirAsia ก็เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่โทนี่ เฟอร์นันเดส CEO และผู้ก่อตั้ง เลือกที่จะทรานส์ฟอร์มบริษัทจากเดิมเป็นเพียงสายการบิน ให้กลายเป็น Tech Company  ที่สามารถเป็นผู้ให้บริการได้มากกว่าแค่สายการบินอีกต่อไป แต่ดำเนินธุรกิจข้ามอุตสาหกรรมด้วยการประสาน การท่องเที่ยว อีคอมเมิร์ซ และ Fintech เข้าไว้ด้วยกัน ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์และบริการแปลกใหม่ รองรับลูกค้าจากหลากหลายช่องทาง เปลี่ยนภาพจำ AirAsia ดูทันสมัย ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

AirAsiaภาพจาก futuretravelexperience

Data is a king: ใช้พลังของข้อมูลในการรุกตลาดออนไลน์

หากเราเคยเป็นหนึ่งในผู้ใช้บริการ AirAsia เป็นตัวเลือกในการเดินทาง จะพบว่าขั้นตอนตั้งแต่การจอง ซื้อตั๋วโดยสาร จนกระทั่งขึ้นเครื่องบิน สามารถเลือกทำผ่านเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน ด้วยเหตุนี้เอง ข้อมูลต่าง ๆ ของผู้ใช้ในแต่ละเที่ยวบิน ทำให้ AirAsia ได้แหล่งข้อมูลขนาดใหญ่ที่สามารถนำมาวิเคราะห์พฤติกรรมของลูกค้าทั้งการเดินทาง และวิถีชีวิตประจำวัน เพื่อนำมาปรับปรุงบริการสายการบิน การจัดการภายใน และโปรโมชั่นใหม่ ๆ ที่ดึงดูดให้เราต้องเข้าไปดูเสมอ

เช่นเดียวกัน แม้ในช่วงเวลาวิกฤติเช่นนี้ Data ของลูกค้าก็เป็นฐานที่แข็งแรงสำหรับ AirAsia นำมาต่อยอดใน Digital Transformation สร้างผลิตภัณฑ์และบริการอย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพและตอบโจทย์ลูกค้าทั้งกลุ่มเดิมและหน้าใหม่ให้ได้มากที่สุด 

AirAsia Digital: มากกว่าแค่บริการสายการบิน

ด้วย Data ที่มีอยู่ ทำให้ AirAsia นำมาวิเคราะห์และนำมาสู่แพลตฟอร์มแห่งใหม่ AirAsia Asean Super App สำหรับผู้ใช้งานสมาร์ทโฟน และยกระดับเว็บไซต์ AirAsia โดยทั้งหมดจะเป็นแพลตฟอร์มระบบนิเวศการบริการรูปแบบใหม่ที่นอกจากจะยังให้บริการด้านสายการบินและโรงแรมแล้ว ยังผนวกกับฟีเจอร์ใหม่ที่รวมไปถึงการสั่งซื้อสินค้าแบบออนไลน์บน อี-คอมเมิร์ซ และบริการทางสุขภาพอีกด้วย ออกมาเป็นแพลตฟอร์มที่ชื่อว่า SNAP, OURSHOP และ AirAsia Health

ในด้านของสายการบินและโรงแรม AirAsia ได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบการให้บริการจากเดิมแยกการท่องเที่ยวออกจากที่พัก ออกมาเป็น ’SNAP’ ฟีเจอร์ใหม่ในเว็บไซต์ที่ออกแพคเกจรวมทั้งเที่ยวบินและโรงแรม อำนวยความสะดวกให้นักเดินทางให้สามารถวางแผนการเดินทางได้ในขั้นตอนเดียว

ขณะเดียวกัน ฟีเจอร์ OURSHOP ก็ได้ปรับเปลี่ยนจากการอนุญาตให้สั่งซื้อสินค้าประเภท Duty Free เป็นแพลตฟอร์มรวมอาหารสด โดยตั้งเป้าให้เป็นคนกลางที่ช่วยเหลือธุรกิจรายย่อยให้อยู่รอดท่ามกลางโควิด-19

นอกจากนี้ AirAsia หันมาใส่ใจในบริการด้านสุขภาพ เพราะโควิด-19 ได้ทำให้คนตระหนักในการตรวจสุขภาพเพื่อความปลอดภัยในชีวิตมากขึ้น นั่นก็คือ ‘AirAsia Health’ แพคเกจสุขภาพที่มีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญคอยตรวจสุขภาพแบบครบวงจร ซึ่งรวมไปถึงการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วย เพื่อให้ลูกค้าสบายใจตลอดการเดินทาง

BigPay: บริการการเงินข้ามประเทศ 

หากนึกถึงภาพของธุรกิจฟินเทคกับ AirAsia ก็อาจมองไม่เห็นชัดเท่าไรนัก อย่างไรก็ตาม AirAsia ก็พยายามจะพัฒนาระบบการเงินให้สอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้จ่ายของลูกค้าบนแพลตฟอร์ม จึงนำมาสู่บัตร BigPay บัตรเดบิตที่มาพร้อมแอปพลิเคชันบริการการเงิน ซึ่งทดลองตลาดในประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ก่อนเป็นอันดับแรก

BigPay จะอำนวยความสะดวกกับนักเดินทางบนแพลตฟอร์ม AirAsia ไม่ว่าจะเป็นการยกเว้นค่าดำเนินการซื้อตั๋วเครื่องบิน ผู้ใช้จะได้รับ Big Point หลังใช้งานบัตร BigPay ทุกครั้งเพื่อที่นำเป็นส่วนลดเที่ยวบินและราคาสินค้าอื่น ๆ ได้ อีกทั้ง BigPay ให้เรทการแลกเปลี่ยนสกุลเงินและการกดเงินผ่านตู้ ATM ที่ดีกว่าเจ้าอื่น 

บทเรียนของธุรกิจ : ปรับตัวให้ทันอยู่เสมอไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ไหน

ไอรีน โอมาร์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ด้านการปฏิรูปดิจิทัล และการบริการองค์กร AirAsia Group ได้กล่าวกับทาง Techwire Asia ว่า “สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับองค์กรคือต้องเปิดใจเสมอ และมีรูปแบบการทำงานที่ว่องไว (agile) เพราะทุกอย่างอาจเกิดขึ้นระหว่างทางได้ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการจะต้องเข้าใจว่าตอนนี้ ความต้องการของลูกค้าคืออะไร แล้วสิ่งที่บริษัททำอยู่เป็นอย่างไร เราต้องยอมรับว่าสิ่งต่าง ๆ จะไม่ย้อนกลับไปเป็นเหมือนก่อนการแพร่ระบาดอีกแล้ว พฤติกรรมคนจะเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล ดังนั้นจึงต้องรู้เท่าทันความต้องการดังกล่าว และคว้าโอกาสที่มีอยู่ให้ทัน” 

นอกจากนี้เธอได้กล่าวเสริมว่า “อีกประการที่สำคัญก็คืออย่าประมาท โดยเฉพาะในโลกดิจิทัล อย่าประเมินค่าดาต้าต่ำไป เพราะดาต้าทำให้เราตระหนักได้ว่าเราควรมุ่งปรับปรุงจุดไหน เพื่อที่จะสร้างผลลัพธ์ที่ดีในระยะยาว” 


อ้างอิง: theedgemarkets, Techwire Asia, futuretravelexperience


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เจาะกลยุทธ์ ‘ปรับแต่ไม่เปลี่ยน’ ที่ IKEA ร้านเฟอร์นิเจอร์เก่าแก่เอาตัวรอดในยุคดิจิทัล

กลยุทธสำคัญอย่าง ‘ปรับแต่ไม่เปลี่ยน’ ที่ทำให้ IKEA สามารถรักษาเอกลักษณ์อันโดดเด่นของบริษัท ไปพร้อมกับการปรับตัวท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง...

Responsive image

ทำไมนวัตกรรมถึงสำคัญกับองค์กร และสำคัญมากยิ่งขึ้นในยุค AI

ถ้าเราใช้วิธีเก่า ในการแก้ปัญหาใหม่ หรือถ้าเราใช้โมเดลธุรกิจเดิม กับพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนไปแล้ว ไม่ต้องสงสัยเลยว่าผลลัพธ์จะออกมาไม่ดีนัก และทางออกของปัญหาที่เราอยากชวนทุกคนมารู้...

Responsive image

5 ปัญหาหลักของ HR เมื่อต้องเฟ้นหา Tech Talent ให้ตอบโจทย์องค์กร

5 ปัญหาหลักของ HR เมื่อต้องเฟ้นหา Tech Talent ให้ตอบโจทย์องค์กรยุคใหม่ ด้วย TalentSauce ครอบคลุมทุกความต้องการในการจ้างงาน...