ถอดรหัส Innovation Theater กับดักที่องค์กรต้องก้าวข้าม สู่เส้นทาง Growth Engine อย่างยั่งยืน | Techsauce

ถอดรหัส Innovation Theater กับดักที่องค์กรต้องก้าวข้าม สู่เส้นทาง Growth Engine อย่างยั่งยืน

วิเคราะห์ความท้าทายและโอกาสในการเปลี่ยนความพยายามสร้างนวัตกรรมแบบผิวเผินให้กลายเป็นกลยุทธ์การเติบโตอย่างยั่งยืน จาก Session "From Innovation Theater to Real Growth Engine" ในงาน Techsauce Global Summit 2024 ถอดรหัสเส้นทางนวัตกรรมองค์กรที่หลายครั้งเต็มไปด้วยกับดัก "ดูดีแต่ไม่แก้ปัญหา"

ร่วมอภิปรายโดยผู้นำแวดวงธุรกิจได้แก่ June Chen Principal จาก Singha Ventures , คุณมิหมี อรนุช เลิศสุวรรณกิจ Co-founder & CEO จาก Techsauce, Siti Nurul Narizah M Nizar COO จาก Petronas Ventures และ Mohammad Khoori Emirates Airlines Innovation Team จาก Aviation X Lab และดำเนิน Session โดย Yimie Yong Reporter จาก TNGlobal

Innovation Theater ละครฉากสวย กับดักที่องค์กรต้องก้าวข้าม

ปัญหาที่สำคัญที่สุดของการสร้างนวัตกรรมก็คือการติดอยู่ในกับดักของ Innovation Theater หรือการสร้างภาพลักษณ์ขององค์กรให้ดูเหมือนกำลังขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม แต่ในความเป็นจริงแล้ว เป็นเพียงกิจกรรมที่ผิวเผิน ขาดแก่นสารที่แท้จริง เปรียบเสมือนการแสดงละครที่เน้นความสวยงาม แต่เนื้อเรื่องกลับว่างเปล่า ถือเป็นเรื่องน่าเสียดายที่บริษัทต่างๆ ให้ความสำคัญกับรูปลักษณ์ของความก้าวหน้าแบบผิวเผินมากกว่าผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม

หลายองค์กรที่ตกอยู่ใน Innovation Theater มักจะลงทุนกับเทคโนโลยีตามกระแส แต่สุดท้ายไม่ก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่จับต้องได้หรือสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อธุรกิจอย่างแท้จริง เป็นการสิ้นเปลืองทรัพยากรและบั่นทอนวัฒนธรรมองค์กรในระยะยาว 

June Chen ชี้เป้าปัญหาใหญ่ของ Innovation Theater ไว้ว่า "หลายบริษัทขาดความต่อเนื่องในการผลักดันโครงการต่างๆ และเลือกปิดโครงการก่อนกำหนด" โดยไม่เหลือพื้นที่สำหรับการลองผิดลองถูก แต่เลือกที่จะล้มเลิกไปอย่างง่ายดาย

คุณมิหมี อรนุช กล่าวเตือนว่า “อย่าหลงไปตามกระแส Buzzword อย่าง Blockchain หรือ AI หรือเทรนด์เทคโนโลยี โดยไม่ได้วิเคราะห์ปัญหาและเป้าหมายที่แท้จริงของธุรกิจเสียก่อน" องค์กรควรเน้น แต่ควรมุ่งเน้นไปที่เป้าหมายและแก้ไข Pain Point ที่แท้จริง และเน้นย้ำว่าโครงการอย่าง Hackaton และ Accelerator เป็นเพียงเครื่องมือเชื่อมโยงกับภายนอก  แต่รากฐานที่แท้จริงอยู่ที่กลยุทธ์ที่ตรงกับเป้าหมายขององค์กร

Siti Nurul Narizah M Nizar ได้สะท้อนปัญหาคลาสสิกในองค์กรขนาดใหญ่ คือ การทำงานแบบ Silo หรือการทำงานแบบแยกส่วน แต่ละแผนก แต่ละฝ่าย ต่างคนต่างทำ แต่ขาดการบูรณาการระหว่างแผนกในองค์กร ทำให้เกิดแผนนวัตกรรมมากมาย แต่ไม่ตอบโจทย์ภาพใหญ่ขององค์กร 

ในส่วนของ Mohammad Khoori มองว่า องค์กรที่เติบโตจนยิ่งใหญ่ มักติดกับดัก Comfort Zone ไม่กล้าเปลี่ยนแปลง "ขาดความรู้ความเข้าใจในการนำ Startup มาผสานรวมกับองค์กร" และมองข้ามศักยภาพของนวัตกรรมที่จะเข้ามา Disrupt ธุรกิจ

ผ่าทางลัด สร้าง "Growth Engine" เร่งเครื่องสู่การเติบโต

เพื่อก้าวข้ามกับดักของความผิวเผิน คณะผู้ร่วมเสวนาได้นำเสนอกรอบการทำงานที่จะสร้าง Growth Engine พาองค์กรสร้าง Innovation อย่างแท้จริง ไม่ใช้เพียงละครหนึ่งฉากอีกต่อไป

  • เพราะคนคือหัวใจของการสร้างนวัตกรรม: คุณมิหมีเน้นย้ำว่า "คน" คือหัวใจสำคัญ ต้องสร้าง Innovation Team ที่พร้อมลุย พร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และต้องให้ Incentive ที่จูงใจ อย่าให้รู้สึกว่าทำ Innovation แล้วเหนื่อยฟรี
  • ปรับกลยุทธ์ให้ทันโลก: คุณมิหมีกล่าวว่า การวางแผนแบบเดิมๆ อาจใช้ไม่ได้ในยุคนี้ ต้องมองให้ออกว่าการเปลี่ยนแปลงจะเข้ามาทางไหนและต้องปรับกลยุทธ์ให้ทัน
  • ผู้นำต้องสนับสนุน: June Chen ย้ำชัด "ผู้นำต้องให้ความสำคัญ และสนับสนุนอย่างจริงจัง" ทั้งการอนุมัติงบประมาณ และการมอบอำนาจตัดสินใจอย่างรวดเร็ว
  • วัฒนธรรมองค์กรต้องเอื้อ: June Chen กล่าวอีกว่า "วัฒนธรรมองค์กร" คือสิ่งที่มองไม่เห็น แต่สำคัญมาก ต้องสร้างบรรยากาศที่เปิดกว้าง ให้พนักงานกล้าคิด กล้าเสนอไอเดียใหม่ๆ โดยไม่กลัวความล้มเหลว
  • เชื่อม Innovation เข้ากับเป้าหมายองค์กร: Siti Nurul Narizah M Nizar ย้ำว่านวัตกรรมจะต้องไม่ใช่แค่ Project เล็กๆ แต่ต้องเชื่อมโยงกับเจตนารมณ์เชิงกลยุทธ์ หรือ Strategic Intent ขององค์กร เพื่อสร้างผลกระทบในระยะยาว
  • สร้างระบบที่ชัดเจน: Siti Nurul Narizah M Nizar แนะนำว่า องค์กรต้องมี Framework ในการบริหารจัดการ Innovation ให้เป็นระบบ ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ จนสุดท้ายไม่มีใครรู้ว่า ใครทำอะไร ไปถึงไหนแล้ว
  • อย่ากลัว Start up: Mohammad Khoori แนะนำให้องค์กรต้องเปิดใจ และเรียนรู้วิธีทำงานร่วมกับ Startup ถึงแม้จะกังวลเรื่องความต่างของวัฒนธรรมองค์กร นอกจากนี้ June Chen ได้เสริมว่า"อย่าคิดว่าเราเก่งคนเดียว เราไม่สามารถเป็นผู้เชี่ยวชาญในทุกๆ อย่างได้ จับมือ Startup เติม Expertise ที่เราขาด เพื่อใช้ประโยชน์รวมถึงบูรณาการโซลูชันเหล่านั้นเข้ากับธุรกิจ”
  • สร้าง Innovation Awareness: Mohammad Khoori เสริมว่า "หลายครั้งที่การสร้างนวัตกรรมไม่ประสบความสำเร็จ เพราะพนักงานในองค์กรไม่เข้าใจ" ดังนั้น ต้องสื่อสารให้ชัดเจนว่า ทำไมจะต้องมีนวัตกรรมและสิ่งนี้จะช่วยให้ชีวิตพวกเขาดีขึ้นได้อย่างไร

ก้าวข้าม Innovation Theater ผ่าน 4 มุมมอง จาก 4 อุตสาหกรรม

เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น ผู้อภิปรายทั้งสี่ได้เล่าถึงองค์กรของตนในแต่ละอุตสาหกรรมที่แตกต่างกันมีแนวทางรับมือกับ Innovation Theater และสร้าง Growth Engine ไว้ดังต่อไปนี้

1. Singha Ventures (CVC): การลงทุนอย่างมีส่วนร่วม 

Singha Ventures พิสูจน์แล้วว่า CVC ไม่ใช่แค่การลงทุนเพื่อผลตอบแทนทางการเงิน แต่คือการสร้าง Growth Engine ในระยะยาว โดยทำหน้าที่เป็น "สะพานเชื่อม" ระหว่าง Startup กับองค์กรใหญ่ ช่วยแปลภาษาธุรกิจ จัด Workshop ประสานงาน และผลักดันให้เกิดการนำ Solution ไปใช้จริง ตัวอย่างเช่น การลงทุนใน E-commerce Enabler ที่ช่วยให้ยอดขายออนไลน์ของ Singha โตขึ้นถึง 8 เท่า

2. Techsauce (Ecosystem Builder): เชื่อมจุด สร้างเครือข่าย สู่ Innovation Ecosystem 

Techsauce ในฐานะ Ecosystem Builder มุ่งมั่นเชื่อมโยง Corporate กับ Startup ให้เจอ Match ที่ใช่ โดยอาศัยความเชี่ยวชาญในการทำความเข้าใจ Pain Point ของทั้งสองฝั่ง ออกแบบกิจกรรม เช่น Hackathon ที่ตอบโจทย์ทั้งสองฝ่าย และสร้าง Network ที่แข็งแกร่ง เพื่อขับเคลื่อน Innovation Ecosystem ให้เติบโตอย่างยั่งยืน

3. Petronas Ventures (Corporate): องค์กรใหญ่ ก็คล่องตัวได้

Petronas Ventures แสดงให้เห็นว่า องค์กรขนาดใหญ่ก็สามารถสร้าง Innovation ได้ ด้วยการใช้ Hybrid Model ผสานจุดแข็งของ Corporate และ Startup เข้าด้วยกัน โดยมีทีม Investment ที่ทำงานเร็ว คล้าย VC และทีม Deployment ที่ทำงานใกล้ชิดกับ Petronas เพื่อให้มั่นใจว่า Innovation ตอบโจทย์ที่องค์กรต้องการ และสามารถนำไปใช้ได้จริง 

4. Emirates Airlines (Internal Innovation Team): สร้าง Testing Ground พิสูจน์ Innovation

ทีมนวัตกรรมของ Emirates ทำหน้าที่เป็น "สะพานเชื่อมโยงปัญหา" ของแต่ละฝ่ายในองค์กร เข้ากับ Solution จาก Startup โดยเน้นการทำความเข้าใจปัญหาปัจจุบัน และมองหา Pain Point ล่วงหน้า เช่น เทรนด์ EVTOL ที่กำลังมาแรง จากนั้นจึงคัดเลือก Startup ที่มีศักยภาพ นำ Solution มาทดลองใช้จริงในสนามบินปัจจุบัน ก่อนขยายผลสู่สนามบินแห่งใหม่ที่กำลังก่อสร้าง สะท้อนวิสัยทัศน์ "มองไกล แก้ปัญหา เปิดรับ Disrupt ตัวเอง ก่อนถูก Disrupt"

สุดท้ายผู้อภิปรายได้สรุปเคล็ดลับในการสร้างนวัตกรรมอย่างยั่งยืน โดย June Chen แนะนำให้สร้างสมดุลระหว่างการพัฒนานวัตกรรมภายในและภายนอกองค์กร คุณมิหมี เน้นย้ำถึงความสำคัญของการสนับสนุนจากผู้นำ การสื่อสารให้ทุกภาคส่วนเข้าใจ และการสร้างแรงจูงใจให้ Business Unit ร่วมมืออย่างเต็มที่

ด้านของ Siti Nurul Narizah M Nizar แนะนำให้เชื่อมโยงนวัตกรรมกับเป้าหมายองค์กร สร้าง Ecosystem และเปิดกว้างในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สุดท้าย Mohammad Khoori ย้ำถึงการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน และออกแบบโครงสร้าง ทีม และกระบวนการทำงานให้สอดคล้อง เพื่อให้องค์กรก้าวข้าม Innovation Theater ไปสู่การสร้าง Growth Engine อย่างแท้จริง

สุดท้ายนี้ การสร้างนวัตกรรมที่แท้จริงจำเป็นต้องมีการสนับสนุนจากองค์กร การบูรณาการนวัตกรรมเข้ากับเป้าหมายขององค์กร และการสร้างวัฒนธรรมที่ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ ทั้งหมดนี้เพื่อขับเคลื่อนองค์กรให้ก้าวข้าม Innovation Theater ไปสู่การสร้าง Growth Engine ที่แท้จริงและยั่งยืนในระยะยาว และนี่คือทั้งหมดจาก Session "From Innovation Theater to Real Growth Engine" 


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ไขความลับ Gen AI โอกาส ข้อจำกัด และวิธีใช้ ในการวางกลยุทธ์สำหรับ CEO

เรากำลังประเมินความสามารถของ AI สูงเกินไปหรือไม่? และ AI จะสามารถช่วยเหลือในด้านใดของการวางแผนกลยุทธ์? บทความนี้จะตอบคำถามเหล่านี้ผ่านกรณีศึกษาสองกรณีเกี่ยวกับการใช้ gen AI ในการวา...

Responsive image

เมื่อพายุเศรษฐกิจโหมเข้า CFO จะขับเคลื่อนองค์กรอย่างไร? ดีลอยท์ชวรรู้จัก CFO Trilemma

CFO ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องรับมือกับความผันผวนทางเศรษฐกิจ โดยการสร้างสมดุลระหว่างการฟันฝ่าวิกฤต สร้างคุณค่าระยะยาว และพัฒนาขีดความสามารถของทีม เพื่อความยั่งยืนขององค์กร...

Responsive image

ทำไมองค์กรยุคใหม่ ต้อง AI Transformation องค์กร

Session AI Tranformation โดย ดร.ลิสา พัทธ์วิวัฒน์ศิริ Chief Digital Officer The King Power Corporation และ คุณอรนุช เลิศสุวรรณกิจ CEO & Co-Founder Techsauce ที่ได้ร่วมพูดคุยในหัวข...