Generation gap โจทย์ใหญ่ของรุ่น 4 แห่งค่ายสิงห์ | Techsauce

Generation gap โจทย์ใหญ่ของรุ่น 4 แห่งค่ายสิงห์


Generation gap เป็นหนึ่งความท้าทายของทายาทรุ่น 4 อย่างภูริต ภิรมย์ภักดีต้องเผชิญ ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บุญรอดเทรดดิ้ง จำกัดแห่งกลุ่มบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ซึ่งสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์แบรนด์สิงห์ที่อยู่คู่เมืองไทยมาถึง 85 ปี เพื่อนำพาองค์กรให้ก้าวผ่าน Technology Disruption ควบคู่กับค้นหาโอกาสใหม่ ๆ ที่จะนำมาซึ่งการเติบโตแบบยั่งยืนให้แก่กิจการด้วยกลไกของ CVC ในนาม Singha Venture Capital Fund (กองทุน สิงห์ เวนเจอร์ส)

Singha Venture Capital Fund (กองทุน สิงห์ เวนเจอร์ส) เป็นหน่วยงานด้านการลงทุนที่อยู่ภายใต้บริษัท สิงห์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือที่สำคัญของกลุ่มบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ที่ก่อตั้งเมื่อปี 2477 โดยพระยาภิรมย์ภักดี (บุญรอด เศรษฐบุตร) ผู้นับเป็นรุ่นหนึ่ง

โดย สิงห์ คอร์เปอเรชั่น ดูแลธุรกิจเครื่องดื่มของ บริษัทบุญรอดบริวเวอรี่ ฯ และรับผิดชอบในการบริหารและทำการตลาดของ ผลิตภัณฑ์ เบียร์ โซดา น้ำดื่ม น้ำแร่ธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์ข้าวสารบรรจุถุง และสาหร่ายทะเลทอดกรอบ ภายใต้เครื่องหมายการค้า สิงห์, ลีโอ, เพอร์ร่า, บุญรอดฟาร์ม, พันดี และ มาชิตะ

กระทั่งปัจจุบันลูกหลานของตระกูลผู้เป็นทายาทรุ่น 4 ต่างขึ้นมารับผิดชอบในหลายบทบาทหน้าที่ภายในเครือสิงห์ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ภูริต ภิรมย์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บุญรอดเทรดดิ้ง จำกัด (ดูแลด้านการตลาดและการขาย) และประธานกรรมการบริหาร กองทุน สิงห์ เวนเจอร์ส ซึ่งได้ถ่ายทอดเรื่องราวของบทบาทและภารกิจที่ตัวเขาวางไว้เพื่อปูทางให้กิจการของครอบครัวภิรมย์ภักดียังคงเติบโตอย่างยั่งยืน

สิ่งที่ท้าทายสูงสุดในฐานะผู้นำของ บริษัท บุญรอดเทรดดิ้ง จำกัด คืออะไร

มองว่าเป็นเรื่องของคน เพราะเป็นปัจจัยหลักของกิจการที่อยู่คู่เมืองไทยมาถึง 85 ปีทำให้มี generation gap (ช่องว่างระหว่างวัย) ของคนทำงานในบริษัทค่อนข้างสูง อย่างไรก็ตามจากความสำเร็จในอดีตทำให้คนรุ่นก่อนมีความภาคภูมิใจกับผลงานที่ทำมา ซึ่งมองว่าเป็นเรื่องดี แต่ด้วยความก้าวหน้าของ Technology จึงส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงาน นั่นคือส่วนที่ดีอยู่แล้วก็จะยังเก็บไว้แต่ส่วนที่ไม่ดีก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนให้ดีขึ้น

generation gap ต่าง ๆ ภายในองค์กรมีความท้าทายซ่อนอยู่ จึงมีหลายสิ่งที่ผมต้องเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก

จากเรื่อง generation gap ด้วยความท้าทายดังกล่าวสะท้อนมาที่แผนการทำงานอย่างไร

สิ่งที่ผมทำคือบริหารจัดการคนให้อยู่ในจุดที่เราต้องการ หรือ เราอยากให้ใครทำอะไร เพราะทุกคนต่างมีความเก่งและความดีในตัวเอง จึงอยู่ที่เราจะดึงศักยภาพออกมาให้ได้ โดยต้องรู้ว่าแต่ละคนเก่งในเรื่องใดแล้วเลือกงานที่เหมาะสมกับความสามารถของเขา ยกตัวอย่างเช่นไม่ให้นักวิ่งมาราธอนมาแข่งวิ่ง 100 เมตร แต่กว่าที่จะเลือกนักวิ่ง 100 เมตรมาได้ก็ต้องผ่านการคัดกรองและพิจารณาอย่างถี่ถ้วนมาก่อนเช่นเดียวกับที่ขั้นตอนดังกล่าวคงไม่สามารถทำให้พนักงานเป็นพันคนพึงพอใจได้ทั้งหมด แต่หวังว่าจะสามารถทำให้คนหมู่มากพอใจ

อย่างไรก็ตามหลาย generation ก็มีความท้าทายต่างกันไป ขึ้นกับว่าเราต้องการให้องค์กรขับเคลื่อนไปในรูปแบบใด ซึ่งหากต้องการให้องค์กรเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาวได้นั้น ย่อมต้องมีระบบการทำงานที่ดีพร้อมทั้งมีคนที่สนับสนุนให้ระบบดียิ่งขึ้นด้วย

ผมอยากเห็นองค์กรเติบโตอย่างยั่งยืนที่อีก 100 ปีเราก็ยังอยู่ได้

generation-gap-bhurit-singha

แผนงานของบริษัท บุญรอด เทรดดิ้งฯ ในวันนี้แตกต่างจากอดีตอย่างไร

เราจะต้องมีคนใหม่ ๆ เข้ามาพัฒนาองค์กร แต่สิ่งที่ท้าทายและยากที่สุดคือให้คนพวกนี้อยู่กับเราได้ คือต้องดูแลลูกน้องให้ดี ซึ่งสิ่งที่ผมให้ความสำคัญอันดับหนึ่งคือลูกค้า สองคือพนักงาน และผู้ถือหุ้นมาเป็นอันดับสาม

“พนักงานเราต้องกินดีอยู่ดีก่อนที่เราจะไปช่วยสังคม ถ้ายังไม่มีปัญญาเลี้ยงตัวเราเองเลยแล้วจะไปช่วยสังคมได้อย่างไร”

ภาพรวมการแข่งขันเป็นอย่างไรบ้าง

ด้วยกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ในปัจจุบันทำให้วิธีการต่างไปจากเดิม จึงต้องพัฒนาในด้านอื่น ๆ มากขี้น ไม่ว่าจะเป็นคน การขาย และช่องทางจำหน่าย รวมถึงจากที่เคยแข่งขันแบบหละหลวม ตอนนี้ทุกคนต่างก็ฉลาดขึ้น ระบบต่าง ๆ ก็ดีขึ้น Technology มาช่วยให้ชีวิตเราง่ายขึ้น จึงเป็นเหตุผลที่เราต้องนำแต่ละสิ่งมารวมกันแล้วพัฒนาโครงสร้างเราให้แข็งแรงไม่เช่นนั้นเราก็จะไม่สามารถสู้คนอื่นได้

มีมุมมองเช่นไรต่อเรื่อง Technology Disruption

ด้วยเหตุผลที่เราต้องการให้องค์กรหรือบริษัทอยู่ได้ไปอีก 100 ปี จึงไม่ยอมต้องเป็นฝ่ายที่ถูกคนอื่นมา disrupt ทำให้ต้องพัฒนาตัวเองและเตรียมตัวให้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดในอนาคต

โลกมีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาไปมาก โดยสิ่งที่ทำให้ชีวิตของผู้คนง่ายขึ้นคือ Technology จึงเริ่มมองว่าจะสามารถนำ Technology ที่เพิ่งริเริ่มขึ้นใหม่มาใช้กับชีวิตประจำวันและระบบขององค์กรให้แข็งแรงขึ้นได้อย่างไร

ผมไม่เชื่อว่าคนเราสามารถอยู่ต่อไปถึง 100 ปีได้แต่ Technology หรือระบบต่าง ๆ สามารถทำให้องค์กรของเราแข็งแรงและอยู่ต่อไปได้ วันหนึ่งถ้าไม่มีผมแล้วถ้าระบบดีก็สามารถอยู่ต่อได้

ปัจจัยใดที่จะส่งผลกระทบสูงสุดกับธุรกิจของเครือบุญรอดฯ

เราถือว่าโชคดีที่อยู่ในธุรกิจเครื่องดื่ม ที่ปัจจัยต่าง ๆ ที่จะมา disrupt ตรง ๆ ยังไม่มี เป็นเพียงปัจจัยทางอ้อมมากกว่า ดังนั้นการที่เราไปดูงาน ไปต่างประเทศ หรือแม้กระทั่งไปงาน Techsauce Global Summit ก็เพื่อต้องการไปหา idea ใหม่ ๆ connection ใหม่ ๆ หรือคนใหม่ ๆ เพื่อมาเสริมหรือเติมทัพให้กับองค์กรของเรา

ผมเชื่อว่าการเรียนรู้ไม่มีจุดสิ้นสุดเราสามารถเรียนรู้ได้ทุกวัน สามารถหาสิ่งใหม่ ๆ ได้ทุกครั้งที่ได้ไปดูงานต่าง ๆ เพราะ motivation สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เราได้เห็นอะไรที่สามารถนำกลับมาใช้กับประเทศหรือองค์กรของเราได้

ในฐานะทายาทรุ่น 4 นอกจากสร้างความยั่งยืนแล้ว ต้องการเห็นอะไรเกิดขึ้นในองค์กรอีก

อยากเห็นทุกคนยอมรับการเปลี่ยนแปลงได้ เพราะเชื่อว่าไม่มีใครชอบการเปลี่ยนแปลงแต่เราต้องยอมรับ เพราะ trend ในอนาคตพัฒนาไปในด้านนี้ จึงต้องปรับตัวเราเอง ไปในด้านนี้ ศึกษาเพิ่มเติมในสิ่งที่เราไม่รู้ พัฒนาตัวเราเองให้ดีขึ้น

ผมก็พยายามพัฒนาตัวเองอยู่ เพราะไม่ได้รู้ทุกอย่าง พยายามเรียนรู้หลาย ๆ อย่างเพื่อจะได้พัฒนาตัวเราให้ดีขึ้น

generation-gap-bhurit-singha

กองทุน สิงห์ เวนเจอร์ส มีที่มาอย่างไร

อย่างที่ผมบอกเสมอคือใครจะมา disrupt ได้ต้องเป็นตัวเราเอง ผมไม่ยอมให้คนอื่นมา disrupt บริษัทเรา แต่หลังจากที่เราออกไปค้นหาสิ่งต่าง ๆ ที่จะ disrupt ตัวเราได้ก็ไปพบ Technology หลายอย่างที่ช่วยให้ชีวิตเราง่ายขึ้น แต่ผมจะเน้นลงทุนไปกับสิ่งที่ทำให้ระบบของเราดีขึ้น ให้ service ของเราดีขึ้น ให้คนของเราดีขึ้น ทำให้องค์กรของเราพัฒนาขึ้น

โดยส่วนใหญ่จะเน้นลงทุนในกิจการ Starup ซึ่งระดมทุนในรอบ series B แล้ว เพราะมองว่าเป็นธุรกิจที่เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงแล้ว มีการพัฒนาและสามารถจับต้องได้ในระดับหนึ่ง อีกส่วนคือลงทุนช่วง late series ที่เน้นทำกำไร ทั้งนี้เชื่อว่าทุกกิจการที่เราลงทุนสามารถต่อยอดกับธุรกิจของบริษัทได้หมด

"จากที่เคยตั้งกองทุนไว้ที่ 25 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับปีนี้ก็ขึ้นมาเป็น 100 ล้านเหรียญ เพราะเราให้ความสำคัญกับตรงนี้ค่อนข้างมาก ซึ่งในส่วนที่ลงทุนไปเชื่อว่าสามารถนำมาใช้จริงได้"

อะไรที่ชี้วัดผลสำเร็จของการขยายไปสู่ธุรกิจใหม่ ๆ และได้เรียนรู้อะไรบ้าง

การทำธุรกิจไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่ใช่ทุกคนทำแล้วจะประสบความสำเร็จ เพราะไม่เช่นนั้นทุกคนก็คงรวยกันหมดแล้ว ผมถือว่าการทำพลาดเป็นครูของเรา ซึ่งตัวผมเองได้เรียนรู้การทำงานตั้งแต่ระดับล่างขึ้นมาตั้งแต่เป็นเด็กล้างถังเบียร์ในโรงงานหรือแม้แต่ขับรถโฟล์คลิฟท์ขนสินค้า เพื่อให้ได้เรียนรู้ธุรกิจตั้งแต่รากเหง้าของมันจริง ๆ ได้เห็นภาพที่ชัดเจน เพื่อให้รู้ว่าจะแตกแยกออกไปทำอะไรได้บ้าง แล้วทำอย่างไรให้ประสบความสำเร็จด้วยการลองผิดลองถูก และอย่าไปกลัว เพราะหากมัวแต่กลัวความสำเร็จก็จะไม่มีวันเกิด

"ต้องลองก่อนให้ความผิดพลาดเป็นครูของเราแล้วอย่าทำอีก เพราะทุกคนต่างเคยทำผิดกันหมด ผมมีโอกาสเรียนรู้จากการลองผิดลองถูกแล้วมานำมาใช้พัฒนาตัวเองและให้องค์กรเราแข็งแรงขึ้น"

 คำแนะนำที่จะฝากให้ทายาทธุรกิจที่กำลังเผชิญกับ Digital Disruption อยู่ในขณะนี้

สิ่งที่ผมบอกเสมอคือต้องไม่หยุดที่จะเรียนรู้ เพราะ Technology บางอย่างสามารถมา disrupt ต่อธุรกิจที่เราทำอยู่ได้เพียงแค่ข้ามวัน ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายมาก หากไม่เตรียมตัวเราให้พร้อมก่อนก่อนที่จะไปเจอกับ Technology ที่สามารถ disrupt เราได้ทุกวัน และเรียนรู้สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นให้ได้ดีที่สุด

การทำธุรกิจใน generation ที่สองและสามเป็นสิ่งที่ยาก เมื่อเรามี fat มากก็ต้องพยายามลด fat ให้ตัวเรา lean หรือทำบ้านของเราให้สะอาดก่อน แล้วค่อยออกไปสู้กับคนข้างนอก หากบ้านเรายังสกปรกอยู่หรือ fat ยังมากก็จะทำให้เราเหนื่อยเมื่อต้องออกไปสู้

 

 

 

 

 

 


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ไขความลับ Gen AI โอกาส ข้อจำกัด และวิธีใช้ ในการวางกลยุทธ์สำหรับ CEO

เรากำลังประเมินความสามารถของ AI สูงเกินไปหรือไม่? และ AI จะสามารถช่วยเหลือในด้านใดของการวางแผนกลยุทธ์? บทความนี้จะตอบคำถามเหล่านี้ผ่านกรณีศึกษาสองกรณีเกี่ยวกับการใช้ gen AI ในการวา...

Responsive image

เมื่อพายุเศรษฐกิจโหมเข้า CFO จะขับเคลื่อนองค์กรอย่างไร? ดีลอยท์ชวรรู้จัก CFO Trilemma

CFO ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องรับมือกับความผันผวนทางเศรษฐกิจ โดยการสร้างสมดุลระหว่างการฟันฝ่าวิกฤต สร้างคุณค่าระยะยาว และพัฒนาขีดความสามารถของทีม เพื่อความยั่งยืนขององค์กร...

Responsive image

ทำไมองค์กรยุคใหม่ ต้อง AI Transformation องค์กร

Session AI Tranformation โดย ดร.ลิสา พัทธ์วิวัฒน์ศิริ Chief Digital Officer The King Power Corporation และ คุณอรนุช เลิศสุวรรณกิจ CEO & Co-Founder Techsauce ที่ได้ร่วมพูดคุยในหัวข...